เลขานุการทางคณะสงฆ์ เป็นตำแหน่งซึ่งบัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๓ และบัญญัติหน้าที่ไว้ว่า "ทำหน้าที่การเลขานุการ" เจ้าคณะชั้นตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค หน เป็นตำแหน่งที่มีปริมาณงานมากและขอบเขตกว้างขวาง งานซึ่งเกี่ยวกับการเลขานุการย่อมมีมาก ต้องจัดผู้ทำหน้าที่ไว้โดยตรง ท่านบัญญัติให้เลขานุการมีเฉพาะหน้าที่ มิได้ให้มีอำนาจดังเช่นตำแหน่งอื่น แม้เจ้าคณะจะมอบหมายอำนาจ ก็หามีอำนาจตามที่มอบหมายไม่ จึงแตกต่างจากตำแหน่งรองเจ้าคณะ รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งตำแหน่งรองเจ้าคณะเป็นต้นนี้ ตามปกติเป็นตำแหน่งไม่มีอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อเจ้าคณะหรือเจ้าอาวาสมอบหมายแล้ว ย่อมมีอำนาจหน้าที่อย่างสมบูรณ์ เพราะเป็นตำแหน่งพระสังฆาธิการซึ่งบัญญัติไว้เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ช่วยผู้บังคับบัญชาโดยตรง เลขานุการทางคณะสงฆ์ เป็นตำแหน่งพิเศษตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ โดยกำหนดให้มีหน้าที่พร้อมกับการแต่งตั้ง แต่ไม่มีอำนาจดังเช่นเจ้าคณะ หน้าที่เลขานุการคณะสงฆ์นั้น บัญญัติไว้โดยสรุปว่า "ทำหน้าที่การเลขานุการ" มิได้แยกรายละเอียดแห่งหน้าที่ไว้ดังอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะหรือเจ้าอาวาส แต่คำว่า "การเลขานุการ" นั้น เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวาง เจ้าคณะผู้บังคับบัญชามีอำนาจหน้าที่ขยายกว้างเพียงใด การเลขานุการย่อมขยายตามเพียงนั้น หน้าที่การเลขานุการในการปกครอง การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ การสาธารณสงเคราะห์ และการนิคหกรรม ย่อมเป็นหน้าที่ของเลขานุการ แต่เลขานุการปฏิบัติในฐานะช่วยเหลือผู้บังคับบัญชา มิได้ปฏิบัติในฐานะผู้บังคับบัญชา เพื่อสะดวกแก่การศึกษา จึงประมวลหน้าที่ของเลขานุการทางคณะสงฆ์ที่เห็นว่าสำคัญ ๗ อย่าง ได้แก่ ๑. จัดการทุกอย่างเกี่ยวกับงานสารบรรณ ๒. รักษาผลประโยชน์และทรัพย์สินของสำนักงาน ๓. ควบคุมดูแลกิจการต่าง ๆ ของสำนักงาน ๔. จัดหาอุปกรณ์การปฏิบัติงาน และอุปกรณ์ทางวิชาการไว้ประจำสำนักงาน ๕. เป็นภาระเกี่ยวกับการประชุม ๖. ประสานกับพระสังฆาธิการและหน่วยงานหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ๗. ช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม
ไม่มีความเห็น