อนุทิน 139555


จุรีรัตน์
เขียนเมื่อ

ว่าด้วยเรื่องน้ำปานะ
น้ำปานะ คือ เครื่องดื่มที่คั้นจากลูกไม้ หรือ น้ำคั้นผลไม้ จัดเป็น "ยามกาลิก" คือ ของที่พระภิกษุสงฆ์รับประเคนไว้แล้วฉันในช่วงหลังเที่ยงไปได้ทั้งวันทั้งคืนก่อนรุ่งเช้า
ผู้บัญญัติให้เกิดมีการดื่มน้ำปานะขึ้นเป็นท่านแรกคือ เกณยชฎิล ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกพระวินัย เล่มที่ 5 ข้อที่ 86 ว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำปานะ หรือน้ำดื่ม 8 ชนิดคือ
1. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะม่วง
2. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลหว้า
3. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด
4. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด
5. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะซาง
6. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลจันทน์ หรือผลองุ่น
7. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลเหง้าบัว
8. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะปราง หรือผลลิ้นจี่
และทรงอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด ยกเว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก น้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง และทรงอนุญาตน้ำอ้อยสด
สรุปได้ว่า ในเวลาวิกาลพระท่านสามารถดื่มน้ำผลไม้ได้ทุกชนิด เว้นผลไม้ที่มีผลใหญ่กว่าผลมะตูม หรือผลมะขวิด วิธีทำก็ต้องคั้นเอาแต่น้ำ และกรองให้ไม่มีกาก จะทำให้สุกด้วยแสงอาทิตย์ก็ได้ แต่ห้ามผ่านการสุกด้วยไฟ
น้ำที่ห้ามพระสงฆ์ดื่มในยามวิกาล
น้ำจากมหาผล คือผลไม้ใหญ่ 9 ชนิด คือผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง
น้ำที่ได้จากธัญชาติ 7 ชนิด มีข้าวสาลี ข้าวเปลือก หน้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวแดง ข้าวฟ่าง
น้ำที่ได้จากพืชจำพวกถั่ว มีถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น
รวมถึงน้ำนมสด ก็ไม่จัดเป็นน้ำปานะ เพราะนมสดถือเป็นโภชนะ (คืออาหาร) อันประณีต ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล
ส่วนโภชนะอันประณีตอีก 5 อย่าง คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แม้จะเป็นอาหาร แต่ก็เป็นเภสัช คือยาด้วยพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันได้ทั้งในกาลและวิกาล คือฉันได้ไม่จำกัดเวลา

มาถึงตรงนี้แล้ว ก็เป็นอันเข้าใจได้เลยว่า ทั้งนม, น้ำเต้าหู้, นมถั่วเหลือง, โอวัลติน กาแฟ ไม่จัดว่าเป็นน้ำปานะ ฉะนั้นจะจัดน้ำปานะถวายพระก็ต้องระวังกันด้วยนะครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท