การเลื่อนขนานโดยมิชอบ


คำแปลของ "Wrong Translation"

อ่านหนังสือแปลหลาย ๆ เล่ม แล้วเวียนหัว

ที่เวียนหัว ไม่ใช่เพราะเนื้อหาหนัก หรือเป็นเพราะอ่านหลาย ๆ เล่ม

หนักไม่ว่า ขอให้ชอบเถอะ

แต่เวียนหัวเพราะแปลไม่ 'เนียน' เกิด 'การเลื่อนขนานโดยมิชอบ' ของความหมาย

เป็น wrong translation ในเชิงความหมาย แม้ตามลายลักษณ์ จะถูกเนื้อต้องความก็ตามที

ลองดูเป็นตัวอย่าง ว่าแปลทื่อ ๆ จะน่ากลัวขนาดไหน

wrong (ศัพท์นิติศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) = "การกระทำผิด, การกระทำที่มิชอบ" 

translation (ศัพท์คณิตศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) = "การเลื่อนขนาน"

รวมกัน แทนที่จะบอกว่า "แปลผิด" ก็กลายเป็น "การเลื่อนขนานโดยมิชอบ"

แบบนี้ไม่ใช่แปลแบบ "ขวานผ่าซาก" หรอก แต่แปลแบบ "เถรส่องบาตร" หรือจะบอกว่า "ตาบอดคลำช้าง" ก็คงได้

ลองมาดูกันทีละคำก็ได้

คำแรก Rule of thumb

แปลกันจัง ว่า กฏนิ้วหัวแม่มือ

อยากแปลให้เนียน ก็ดันใช้ กฏนิ้วหัวแม่โป้ง ซะอีก

สักวันหนึ่ง อาจไปถึงขั้น "กฏดัชนีแปะโป้ง"

ไปได้ไกล..ถึงโรงตึ๊งแน่ะ

วลีนี้ ถ้าจะแปลให้รู้เรื่อง น่าจะแปลว่า "สรุปคร่าว ๆ" หรือ "ข้อสังเกต" ก็ได้ หรือ "กฎทั่วไป" หรือ "กฎอย่างง่าย" ก็น่าจะได้

(ที่มาหรือรากเหง้าใช้คำนี้ ใครรู้ช่วยบอกให้เอาบุญด้วยครับ สงสัยมาแต่เด็กแล้ว)

และอีกคำ

Gold standard

เห็นแปลกันจัง ว่า "มาตรฐานทองคำ" !

ศัพท์ราชบัณฑิตใช้ "มาตราทองคำ" สำหรับแวดวงรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์

ถ้าชิน ก็คงไม่แปลก

แต่ถ้าไม่ชินล่ะครับ ?

สมัยโบราณ ทองคำเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดในการอ้างอิง ใช้คำนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ตั้งแต่เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ สหรัฐยกเลิกมาตรฐานการอ้างอิงค่าเงืนให้ไม่ต้องผูกติดกับทองคำ คำนี้ก็มีความหมายที่แปร่ง ๆ ตกยุคไป เพราะกลายเป็นว่า ทองเป็นเีพียงตัวเลือกหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ กลายเป็นว่า สิ่งที่อยู่สูงกว่าทอง กลายเป็นทองคำขาว (platinum) หรือไม่ก็กลายเป็น Brent Crude Oil ไป

เพื่อให้แน่ใจว่าราคาของ Brent มีเสถียรภาพหน่อย ต้องเป็นแบบซื้อ futures ด้วยนะ ไม่เอาราคา spot

หรือถ้าเกิดราคาทองแดงเกิดทะยานขึ้นร้อนแรงที่สุด ก็ต้องมี "มาตรฐานทองแดง"

คนใต้คงแซ่ซร้องขานรับมาตรฐานทองแดงเป็นมาตรฐานสากลอย่างพร้อมเพรียง

(ก็..เบ่อ..ทองแดงมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอยู่แล้วนั๊น...)

คงสนุกดี ถ้าเราบอกว่า กระบวนการวิจัยของเรา อ้างอิงตาม 'มาตรฐานทองคำขาว" หรือ "มาตรฐานน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือแบบซื้อขายล่วงหน้า 6 เดือน" ซึ่งจะทำให้มาตรฐาน gold standard บานปลายไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์

โถ...มี gold standard แล้ว ก็ควรต้องมี platinum standard สิ

โป๊ะเช๊ะ ... เกิดมาตรฐาน double standard

..หลงทางไปได้ไกลอีกแล้วสิเรา...

ตกลงว่า gold standard จะแปลว่าอะไรดี ?

ผมเองใช้ "มาตรฐานอ้างอิง" หรือ "มาตรฐานที่สูง/ดีที่สุด"

แปลแล้วดีที่สุดจริงไหม - ไม่ทราบ

มีผู้ท้วงผมว่า ในทางระบาดวิทยา ใช้แยก gold standard กับ reference standard โดยให้ gold standard อยู่สูงกว่า

การแปลว่า "มาตรฐานที่ดีที่สุด" หรือ "มาตรฐานที่เป็นเลิศที่สุด" จึงน่าจะเป็นทางออกที่ลงตัว

ยังมีอีกหลายคำ นึกได้ค่อยมาแก้ต่อเติม

เชิญร่วมวงครับ กติกาคือเฉพาะศัพท์ที่แปลแล้ว "โหด-มัน-ฮา"

หรือจะเอาแบบ "ไทย เป็น อังกฤษ" ก็ได้

ผมจะล้างหูรอ...

หมายเลขบันทึก: 45805เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2006 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วขำ แกมยิ้มค่ะ โดยเฉพาะ "การเลื่อนขนานโดยมิชอบ"  สนุกดีค่ะ แต่นึกไม่ออกว่าจะร่วมวงด้วยคำอะไร 

อ่านมันส์ อ่านสนุกมากค่ะอาจารย์ :) ไอ้เรื่องแปลออกมาได้คำแปลกๆ นี้มีเยอะจริงๆ นะค่ะ

+ อิ อิ..มาเจอผู้แสดงความคิดที่ 3...อึยยยยยยย...

+ อ่านแล้วเพลินดีค่ะ...แต่ไม่ทราบว่า...จะเอาคำไหนมาแลกเปลี่ยนค่ะ...

+ แต่ทำให้คนที่ไม่ประสีประสากับภาษาอังกฤษ...ได้รู้ไว้ใช่ว่าค่ะ....

+ ขอบคุณมากมายค่ะ....

เดี๋ยวพักจากงานมีที่เคยจด ๆ ไว้ค่ะ

ชอบค่ะ (เวลาอ่านหนังสือบางเล่มจึงเปิดคู่เลยค่ะไทยด้วย อังกฤษด้วย แล้วก็ยังงง ก็มี)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท