สู้ด้วยยุทธศาสตร์ รบด้วยสติปัญญา ตัดสินแพ้ชนะกันด้วยข้อมูล


เงื่อนไขสำคัญคือข้อกำกัดเรื่องเวลาต้องไม่มี แต่ความเข้าใจร่วมกันเป็นส่วนสำคัญที่สุด

     ประโยคคม ๆ ข้างต้น ผมอ่านเจอครั้งแรกนานมาแล้วแต่จำไม่ได้ถือว่าลืมไปเลยไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มา หรือเจ้าของประโยค จนมาได้ยินอีกครั้งที่พี่เล็ก (อุทัย บุญดำ) แกนนำเครือข่ายสินธุ์แพรทองพูดเมื่อคราวไปร่วมจัดค่ายฝึกนักจัดการชุมชน เมื่อปีกลาย อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค.51 ที่ผ่านมา ผมได้ขอให้พี่เล็กพูดขึ้นมาในตอนที่ สพช.ได้ชักชวนทีมงานพวกเรา ศวพถ.และเครือข่ายสินธุ์แพรทอง ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกับนักพัฒนาสุขภาพชุมชนจากทั้ง 4 ภาค ณ โรงแรมหลุยแทเวิร์น กทม.

     "สู้ด้วยยุทธศาสตร์" เป็นคำเรียงที่ใช้แทนคำว่าจะคิดพัฒนาอะไรต้องใช้แผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการทำมาอย่างมีส่วนร่วม และยอมรับที่จะนำมาใช้ รู้สึกเป็นเจ้าของร่วม โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่นี่เราเรียกและใช้กระบวนการทำยุทธศาสตร์ว่า "การจัดเวที" ซึ่งเป็นเวทีสร้างความเข้าใจร่วมกัน จนตกผลึกได้ออกมาเป็นเป้าหมาย แนวทาง และตัวชี้วัด เงื่อนไขสำคัญคือข้อกำกัดเรื่องเวลาต้องไม่มี แต่ความเข้าใจร่วมกันเป็นส่วนสำคัญที่สุด

     "รบด้วยสติปัญญา" ไม่ได้หมายถึงการสู้รบจริง ๆ ที่เป็นการทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตายด้วยกำลังและอาวุธ แต่จะหมายถึงการพูดคุย อภิปราย หรือการ Discussion ด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีการใช้มติเสียงข้างมาก แต่เป็นการสรุปร่วม ที่นี่เรามักจะเรียกว่าจะสรุปก็ต่อเมื่อเห็นพ้องต้องกันทุกคน ไม่มีใครอภิปรายอะไรแล้ว การทำอย่างนี้ได้ก็ต้องไม่มีเงื่อนเวลาเข้ามาเป็นข้อจำกัด หรือคำที่ลุงช่วง (ช่วง เรืองจันทร์) นายกสมาคมคนตาบอด จ.พัทลุง มักจะพูดเตือนพวกเรา ศวพถ.เสมอ ๆ คือ รีบคิดนะดี แต่ใจเย็น ๆ อย่ารีบสรุป และอย่ารีบเร่งทำจนเกินไป ตรงนี้คงหมายถึงการนำข้อมูลที่จะพูดต่อจากนี้มาใช้ประกอบการเดินต่อในแต่ละระยะ ซึ่งเป็นการประเมินผลเพื่อปรับกระบวนนั่นเอง

     "ตัดสินแพ้ชนะด้วยข้อมูล" สำรับข้อมูลที่ว่าจะหมายถึง Data, Information & Knowledge ในภาษาถิ่นใต้ของเราไม่ได้แยกคำสองสามคำนี้ออกจากกัน หากแต่พี่เล็กใช้คำว่าข้อมูลพูดได้ ข้อมูลพูดเอง เช่นจะปรับเปลี่ยนให้ชาวบ้านลดการใช้สารเคมีในแปลงเกษตร ไปบอกอย่างไรเขาก็ไม่ลด ละ เลิก แต่โดยกระบวนการคือการทำให้เขาได้เจาะเลือดตรวจปริมาณสารตกค้างในร่างกาย แล้วเทียบกันกับคนที่ไม่ใช้เลย พยายามทำให้ได้ใช้คนไม่ต้องมาก เมื่อผลออกมา เขาก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเอง โดยไม่ต้องพูดอะไรเลย เพราะข้อมูลมันพูดแทนเราเอง เป็นต้น การตัดสินแพ้ชนะก็เหมือนกันไม่ได้มุ่งไปที่การแพ้ชนะจริง ๆ ในสนามการต่อสู้ แต่หมายถึงการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ การจะรู้ว่าบรรลุแล้วหรือยัง เกิดอะไรขึ้นบ้าง จะต้องแก้ไขอย่างไร หากยังไม่บรรลุ หรือที่บรรลุได้นั้นมีเงื่อนไขอะไร ก็เป็นข้อมูลตามนัยยะของคำเรียงข้างต้น

     ตอนประชุมกลุ่มย่อยในส่วนของ สพช.ภาคใต้ เราตัดสินใจใช้คำเรียงนี้เป็นหัวใจหลักของการเคลื่อนงานในห้วงเวลาต่อไป และวันนั้นเราเข้าใจร่วมกันเป็นอย่างดีโดยมีพี่เล็กและน้องนา (ณัฐชยา ทองศรีนุ่น) ซึ่งเป็นกรรมการบริหารและเลขานุการ ศวพถ.เป็นสักขีพยายาน ตลอดจนเชื่อมความเข้าใจของพวกเราที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ ให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ ตรงนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

หมายเลขบันทึก: 171788เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2008 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีคะ

เป็นยุทธศาสตร์ ที่เห็นชัด และ อธิบายได้เห็นภาพมากเลยคะ ชอบตรงนี้มากคะ Discussion ด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีการใช้มติเสียงข้างมาก เพราะส่วนมากที่เห็นเวลาประชุม มักจะ ถามว่าใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยแล้วยกมือ แต่ในตรงกันข้าม หากเราใ้ห้เค้า Dicuss เราอาจได้ประเด็นที่แตกฉานไป และ เพิ่มความเข้าใจกัน ลดความแตกร้าวได้ ขอบคุณมากคะ

P

ชายขอบ

  • รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

ไม่แน่ใจว่าคำพูดของใคร แต่น่าจะตรงกับวรรคสุดท้าย ตัดสินแพ้ชนะกันด้วยข้อมูล

เจริญพร

น้องชายขอบ

อ่านแล้วชอบ...ขอนำมาเป็นหลักคิดหลักการทำงานส่วนตัวครับ...

น้องปู

พิดพิงไปถึงน้องปูหน่อยนะ...ที่ว่า.......ส่วนมากที่เห็นเวลาประชุม มักจะ ถามว่าใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยแล้วยกมือ แต่ในตรงกันข้าม หากเราใ้ห้เค้า Dicuss เราอาจได้ประเด็นที่แตกฉานไป และ เพิ่มความเข้าใจกัน ลดความแตกร้าว......สงสัยว่าเมื่อให้เขา Dicuss กันแล้วที่สุดจะต้องลงมติอีกไม๊หากว่าจำต้องเอามติ

ท่านพระมหาชัยวุธ

พาดพิงความเห็นของท่านพระมหาชัยวุธหน่อย .....ที่ว่า....รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง .....จากเมืองจีนไม่ละท่าน ซุนหวู่ ..ซุนวู ผมก็ไม่แม่นเหมือนกัน ฉันเพลแล้วท่องกูเกิลเอาก็ได้นะท่านนะ

สวัสดีครับ คุณก้ามปู

     ยินดีครับที่เป็นประโยชน์ ในระบบราชการมักจะติดปัญหาตรงนี้อีกมากนะครับ เพราะมักจะมีเงื่อนไขเวลา/กรอบเวลา เข้ามา แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีตัวอย่างเลย ยังคงจำได้ใช่ไหมครับบรรยากาศของการประชุมเครือข่ายนายทะเบียน UC มีมติร่วมกันโดยไม่เคยต้องยกมือนี่ครับ

นมัสการหลวงพี่ชัยวุธ

     ผมมองว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" นี่มีครบทั้ง 3 ส่วนที่ว่านะครับ ไม่เพียงแต่มี/ใช้ข้อมูลนะครับ คำว่า "รู้" ตรงนั้นที่ยกขึ้นมากล่าว รากศัพท์เดิมของเจ้าของคำพูดน่าจะ (เดาเอา) ให้ความหมายมากกว่า "to know" เช่น "omniscient" แต่ผมก็ไม่กล้าใช้ เพราะยังไม่ซาบซึ้งจริง ๆ ต่อคำ ๆ นี้
     หากหลวงพี่จะกรุณาต่อยอดให้แตกฉาน ก็จะเป็นคุณูปการยิ่งครับ

นมัสการครูนงฯ พี่บ่าวที่เคารพรักและนับถือ

    น่าสนใจมากครับ ประเด็นที่บอกว่า discuss กันแล้วหากจะยังต้องใช้มติจะยกมือหรือไม่อย่างไร เท่าที่ใช้ ๆ กันอยู่นะครับ คือการขานมติว่าเป็นเอกฉันท์ (100%) หากไม่มีใครค้านแล้วหรือไม่มีใครอภิปรายอะไรต่อแล้ว ก็ถือว่ามีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ครับ

"รบด้วยสติปัญญา ตัดสินแพ้ชนะด้วยข้อมูล " ข้อมูลที่พูดได้ ให้ข้อมูลพูดเอง ดีค่ะเป็นวิธีการสื่อสารที่เห็นภาพชัดเจน เข้าใจ โดยไม่ต้องพูดให้มากความ อย่างเรื่องที่พี่ชายขอบยกตัวอย่าง ที่ให้ชาวบ้านได้เห็นผลกระทบจากการใช้สารเคมีในแปลงเกษตร ทำให้นึกถึงซองบรรจุยาสูบ.. เหมือนจะบอกอะไรคนสูบ ก็ไม่รู้ว่าข้อมูลที่พูดได้ที่ซองยาสูบจะได้ผลแค่ไหน??

น้องแสงตะวัน...ครับ

     นั่นนะสินะ จะได้ผลอย่างไรบ้าง อยากทราบผลการประเมินนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท