การประชุมเครือข่ายพัฒนาเยาวชนไทย ครั้งที่ 3


         บันทึกการประชุมเครืยข่าย ครั้งที่ 2 อ่านที่นี่ (click)

         การประชุมครั้งที่ 3 จัดเมื่อวันที่ 18 ก.ย.50 ที่สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA - www.pda.or.th) ที่สุขุมวิท ซ.12  โดยเน้น ลปรร. เรื่อง "ธุรกิจเพื่อสังคม"

ผมขอบันทึกความปรับทับใจจากการประชุมโดยย่อ
 - วิธีการพัฒนาเยาวชนของ PDA   ให้เยาวชนพึ่งตนเองและมุ่งทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน   โดยโครงการ อบย. (องค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชน) เน้นการทำธุรกิจเลี้ยงตัวเอง  และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน  ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน
    เป็นวิธีการสร้างคนให้แก่หมู่บ้านโดยเน้นที่เยาวชน   ให้เยาวชนรวมตัวกันเรียนรู้จากการทดลองทำโครงการเล็ก ๆ  เชื่อมโยงกับ อบต.และผู้นำชุมชนในหมู่บ้าน   ผมมองว่าจะเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
   ความสำเร็จอยู่ที่การกำหนดเงื่อนไขของโครงการอย่างแยบยล   ให้เยาวชนที่มาร่วมโครงการได้ใช้ศักยภาพร่วมกัน  และเป็นกลไกขับเคลื่อนความเข้มแข็งของชุมชนระดับหมู่บ้าน
   เมื่อ อบย. หลาย อบย. ในตำบลรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกับ อบต. ก็เกิดความเข้มแข็งของชุมชนระดับตำบล
 - มีเยาวชนในโครงการ อบย. จาก จ.บุรีรัมย์ 1 คน และจาก จ.กระบี่และพังงา 7 คน  มาเล่าเรื่องความสำเร็จที่ตนภาคภูมิใจสะท้อนให้เห็นผลสำเร็จของโครงการ อบย. ที่น่าชื่นชมยิ่ง
 - การพัฒนาเยาวชนโดยการตั้งโรงเรียน ชื่อ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์   เป็น รร.ระดับประถม  คุณภาพเทียบเท่าโรงเรียนนานาชาติ   มีมาตรฐานระดับสากล  จากการประเมินภายนอกโดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย   สรุปได้ว่า บรรลุผลตามวิสัยทัศน์ "ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข  เต็มศักยภาพ  เป็นคนดีและเก่ง  สอดคล้องกับวิถีชีวิต  และกลมกลืนกับวิทยากรสมัยใหม่สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  พร้อมด้วยคุณธรรม ภูมิปัญญาและสำนึกในความเป็นพลเมืองดี"
 - เห็นโอกาสสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรที่ทำงานพัฒนาเยาวชนหลากหลายด้าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสร้างความเข้มแข็งของการจัดการภายในองค์กร  เพื่อให้องค์กรทำงานสร้างคุณค่าให้แก่สังคม   เกิดการยอมรับนับถือจากสังคมมากขึ้น
   องค์กรเหล่านี้เป็น NGO   ผมมองว่า "ทุน" ในการดำเนินการนอกเหนือจากทุนที่เป็นเงินแล้ว  ทุนที่เป็นขีดความสามารถในการบริหารจัดการให้เกิดกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคม  มีความสำคัญไม่น้อยกว่าทุนที่เป็นเงิน
 - มูลนิธิสยามกัมมาจลจะต้องค่อย ๆ พัฒนาทักษะด้านการทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายพัฒนาเยาวชนไทย   เพื่อสร้าง synergy ระหว่างองค์กรที่ทำงานด้านนี้ซึ่งมีผู้เตือนในที่ประชุมว่า  องค์กรเหล่านี้ร่วมมือกันยาก  เพราะเป็น "คู่แข่ง" แย่งทุนจาก donor ซึ่งกันและกัน
 - มูลนิธิสยามกัมมาจลมีความท้าทายที่จะดำเนินการเพื่อให้คุณค่าหลักของตนต่อสังคมไทย  ไม่ใช่อยู่ที่เงินที่จะให้ในฐานะ donor แต่คุณค่าหลักอยู่ที่การเป็นผู้จัดการเครือข่ายองค์กรที่ทำงานพัฒนาเยาวชนเพื่อสร้าง synergy ระหว่างกิจกรรมขององค์กรเหล่านี้  ไปสู่การพัฒนาเยาวชนไทยที่ได้ผลอย่างกว้างขวาง
   คุณค่าของพลังเครือข่าย  สูงส่งกว่าคุณค่าของเงิน
 - มูลนิธิสยามกัมมาจล เน้นการทำหน้าที่ Network Coordinator ทำหน้าที่ empower เครือข่าย  ไม่เน้นการเป็น donor
 - การประชุมเครือข่ายครั้งที่ 4 กำหนดวันที่ 17 ธ.ค.50 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ในหัวข้อ "การสื่อสารกับสังคม"
 - ประเด็นที่มูลนิธิสยามกัมมาจลจะเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายได้แก่
       - ฐานข้อมูล
       - การพัฒนาศักยภาพของภาคี
       - เวที ลปรร. และขยายผลกิจกรรมของเยาวชน

                     

บรรยากาศในห้องประชุมตอนเช้า  คุณมีชัย กำลังเล่าความสำเร็จของ PDA

                     

                          ส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม              

                     

                        อีกส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม

                     

                     เยาวชนจากกระบี่ ในโครงการ อบย.

วิจารณ์  พานิช
 18 ก.ย.50

 

หมายเลขบันทึก: 129610เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2007 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2012 03:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับคุณอาวิจารณ์ ^^

เสียดายที่วันประชุมไม่ได้มีโอกาสสนทนากับคุณอาครับ

หลังการได้ฟังการทำงานและแนวความคิดของคุณมีชัย รู้สึกว่าได้กำลังใจและแรงบันดาลใจในการทำงานขึ้นเยอะเลยครับ

เคยมีแนวความคิดคล้ายๆคุณมีชัยแล้วไปปรึกษาอาจารย์ด้านส่งเสริมSMEs (ซึ่งตอนนั้นไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินว่า CSR มันคืออะไร) โดยมีแนวความคิดที่ว่าจะสร้างเศรษฐจริยธรรมให้เกิดขึ้น หากมีหน่วยงานของรัฐเช่น สสว.หรือ สถาบันส่งเสริมSMEs ช่วยสนับสนุน 

คำตอบที่ได้รับคือ ธุรกิจก็ส่วนธุรกิจ การกุศลก็ส่วนการกุศล ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้นในมุมมองของคนส่วนใหญ่ ตอนนั้นรู้สึกเหมือนตัวประหลาดในสายตาของเขาเหล่านั้น พอได้มาฟังคุณมีชัยและทราบถึงการทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง PDA รวมถึงการไม่รอหรือหวังการช่วยเหลือจากหน่วยงานของทางราชการแล้ว (ซึ่งท่านก็พูดเองว่า ลองไปคุยกับธนาคารไทยพานิชย์ดูสิ เขาจะบอกว่าคุณมีชัยมันบ้า)

ความในใจตอนนี้ที่อยากจะพูดก็คือ ขอบคุณ...ขอบคุณที่มีคนบ้าแบบคุณมีชัย .....ที่ไม่หยุดแค่ความคิด แต่ลงมือทำทันที

หากสร้างกระแสและอาศัยความร่วมมือจากองกรค์ธุรกิจที่ไม่ใช่ทำเพื่อสร้างภาพ เราคงจะหยุดยั้งวิกฤตสังคมจากกระแสบริโภคนิยมได้บ้าง

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท