เปิดอาคารห้องปฏิบัติการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์


จากสาเหตุที่อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ไม่สามารถรับน้ำหนักของเครื่องซีทีซึ่งหนัก ๑.๗ ตันได้ คณะเทคนิคการแพทย์จึงตัดสินใจสร้างอาคารห้องปฏิบัติการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ตั้งของเครื่องซีที 4 slices ดังกล่าว อาคารหลังนี้เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้เวลาในการก่อสร้างนานประมาณ ๑๐ เดือน

คำกล่าวรายงานเปิดอาคารห้องปฏิบัติการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐

กราบเรียน
     ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
     รองศาสตราจารย์นายแพทย์ฉัตรชัย ศรไชย คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์
     คณะกรรมการมูลนิธิรามาธิบดี โรงพยาบาลรามาธิบดี
     คณะกรรมการประจำคณะ คณะเทคนิคการแพทย์
     คณาจารย์และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
     กระผมรองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ขอรายงานความเป็นมาของอาคารห้องปฏิบัติการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พอสังเขปดังนี้ครับ
     คณะเทคนิคการแพทย์และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีความร่วมมือกันทางด้านวิชาการเป็นอย่างดี ด้วยไมตรีจิตและมิตรภาพที่แนบแน่นมาโดยตลอด คณาจารย์จากภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาฟิสิกส์การแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะเดียวกัน นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้นักศึกษารังสีเทคนิคเข้าฝึกงานในโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นประจำทุกปี
     และโดยที่โครงการศูนย์วินิจฉัยก้าวหน้าและรังสีร่วมรักษา หรือ AIMC ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของการบริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สังกัดศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีระดับ ตติยภูมิทางรังสีวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ทางด้านการเรียนการสอน และการวิจัย โดยมีพันธกิจร่วมกับภาควิชารังสีวิทยา ซึ่งมีเครื่องมือทางรังสีที่ทันสมัยครบครัน หนึ่งในนั้นคือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเครื่องซีทีชนิดความเร็วสูง MDCT ยี่ห้อ GE รุ่น LightSpeed QX/I Plus ชนิด 4 slices ซึ่งใช้งานที่ AIMC ในช่วงประมาณปี ๒๕๔๖-๒๕๔๘ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางรังสีที่มีราคาสูงมาก และเนื่องจากเทคโนโลยีเกี่ยวกับซีทีได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันเป็น 64 และ 256 slices ตามลำดับ ทำให้โครงการ AIMC จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการพัฒนาดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามความมุ่งหมายของหน่วยงาน โครงการ AIMC จึงได้จัดหาเครื่องซีทีชนิด 64 slices มาทดแทนรุ่น 4 slices และได้บริจาคเครื่องรุ่น 4 slices ซึ่งยังใช้งานได้ดีมากให้กับคณะเทคนิคการแพทย์ โดยความดูแลรับผิดชอบของภาควิชารังสีเทคนิค เพื่อนำเครื่องซีที 4 slices มาใช้ในการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขารังสีเทคนิคและการวิจัยต่อไป ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิคและคณะเทคนิคการแพทย์รู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง ต่อความมีน้ำใจที่กว้างใหญ่ไพศาลของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในครั้งนี้
     ในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ คณะเทคนิคการแพทย์ได้เริ่มเข้าทำการถอดประกอบเครื่องซีที 4 slices ซึ่งกำลังใช้งานที่ AIMC อย่างเร่งด่วนเพราะ AIMC จำเป็นต้องใช้สถานที่เพื่อติดตั้งเครื่องซีที 64 slices จากนั้นได้ทำการขนย้ายมาเก็บไว้อย่างดีรอการติดตั้งที่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยใช้เวลาถอดประกอบและขนย้ายจนแล้วเสร็จนาน ๑๓ ชั่วโมง คือเริ่มถอดน็อตตัวแรกเวลา ๑๕.๐๐ น. ไปแล้วเสร็จเวลา ๔.๐๐ น.หรือตีสี่ ของวันถัดไป สาเหตุที่เมื่อขนมาแล้วต้องนำมาเก็บไว้ก่อน ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งได้ทันทีเพราะ อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ไม่สามารถรับน้ำหนักของเครื่องซีทีซึ่งหนัก ๑.๗ ตันได้
     เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๘ ได้มีพิธีการมอบเครื่องซีที 4 slices อย่างเป็นทางการ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณพรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธี มีศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งมอบให้กับรองศาสตราจารย์นายแพทย์ฉัตรชัย ศรไชย คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์
     และจากสาเหตุที่อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ไม่สามารถรับน้ำหนักของเครื่องซีทีซึ่งหนัก ๑.๗ ตันได้ คณะเทคนิคการแพทย์จึงตัดสินใจสร้างอาคารห้องปฏิบัติการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ตั้งของเครื่องซีที 4 slices ดังกล่าว อาคารหลังนี้เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้เวลาในการก่อสร้างนานประมาณ ๑๐ เดือน และขณะนี้อาคารหลังนี้ได้ปรากฏอยู่ตรงหน้าของทุกท่านแล้ว
     หลังจากอาคารห้องปฏิบัติการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สร้างเสร็จแล้ว เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ ได้นำเครื่องซีที 4 slices ซึ่งเก็บไว้อย่างดีเข้าติดตั้งในอาคารหลังนี้ ใช้เวลา ๗ วันสำหรับการติดตั้งจนเสร็จสมบูรณ์ ขณะนี้ใช้งานได้ดีเหมือนเดิม และได้ใช้ในการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขารังสีเทคนิคและการวิจัย ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และอาจกล่าวได้ว่า ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันผลิตนักรังสีเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทยที่มีเครื่องซีทีที่ทันสมัยมากขนาดนี้ ขอกราบเรียนว่าขณะนี้มี
    • นักศึกษารังสีเทคนิคระดับปริญญาตรีจำนวน ๑๒๐ คนต่อปีการศึกษาใช้ซีทีเครื่องนี้เพื่อการศึกษาทั้งหมดและในปีการศึกษา ๒๕๕๐มีนักศึกษาใช้เครื่องซีทีเครื่องนี้เพื่อทำภาคนิพนธ์จำนวน ๓ เรื่อง
    • มีนักศึกษารังสีเทคนิคระดับปริญญาโทจำนวน ๓ คนใช้ซีทีเครื่องนี้เพื่อทำวิทยานิพนธ์
    • มีนักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาฟิสิกส์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้ในการทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง Physical Performance Characteristics in Computed Tomography: Experimental Comparison of Single and Multislice CT using Catphan Phantom ซึ่งได้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อ เดือนมีนาคม ๒๕๕๐
    • และในช่วง ๓ วันนี้ คือวันจันทร์ที่ ๒๘ ถึง วันพุธที่ ๓๐ พฤษภาคม ภาควิชารังสีเทคนิคร่วมกับโครงการศูนย์พัฒนาบุคลากร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดอบรมเรื่อง “พื้นฐานการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เทคนิคและการควบคุมคุณภาพ รุ่นที่๑“ ให้กับนักรังสีเทคนิคและผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องจำนวน ๒๔ คน โดยได้จัดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ฝึกกับเครื่องซีที 4 slices เครื่องนี้ด้วย และเนื่องจากมีผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรมจำนวนมาก ถึงประมาณ ๗๐ คน จึงได้เตรียมการจัดอบรมรุ่นที่ ๒ ขึ้นในระหว่างวันที่ ๓-๕ กันยายน ๒๕๕๐
           ทั้งหมดที่ได้กราบเรียนมานี้ คือความเป็นมาของอาคารห้องปฏิบัติการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พอสังเขปครับ
           และอันดับต่อจากนี้ไป ขอเรียนเชิญรองศาสตราจารย์นายแพทย์ฉัตรชัย ศรไชย คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ กล่าวต้อนรับ
      ขอเรียนเชิญครับ
คำสำคัญ (Tags): #ct
หมายเลขบันทึก: 100752เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2007 19:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท