วิถีข้าวคนอมลองและยั้งเมิน


ภูมิปัญญาชุมชน วัฒนธรรมข้าว

วิถีข้าวชาวยั้งเมินและอมลอง

 

            ช่วงนี้  ไปศึกษาชุมชนร่วมกับทีมงานมหาวิทยาลัยนอทร์เชียงใหม่ เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบยุ้งข้าว  โดยรับผิดชอบข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาข้าวและยุ้งข้าวของคนอมลองและยั้งเมิน  อ.สะเมิง  จ.เชียงใหม่  การพูดคุยและเดินเยี่ยมบ้านตามที่เขาเชิญชวน   ทำให้ได้ความรู้ที่น่าสนใจมากมาย  อาทิ

  1. ลักษณะบ้านอมลอง  ต.แม่สาบ อ.สะเมิง เป็นบ้านที่อยู่บนพื้นที่สูงมีภูเขาโอบ

ล้อม เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างไทลื้อ  ปะกากะยอ และไทยวน   ส่วนบ้านยั้งเมิน ต.ยั้งเมิน อ.สะเมิง  เป็นบ้านที่อยู่บนพื้นที่สูงมีภูเขาโอบล้อม เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างไทใหญ่ และไทยวน  ทั้งสองเป็นหมู่บ้านเกษตรกรที่พัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  และยังคงสืบทอดวัฒนธรรมชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น  

       2.การบูชาเจ้าที่ก่อนหว่านกล้า   การแฮกนาก่อนปลูกข้าว  หลังการไถนาก่อน

การหว่านกล้าชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นสรวงไปบูชาเจ้าที่เพื่อขออนุญาตที่การเพาะปลูกจากนั้นเพื่อข้าวกล้าโตเต็มที่จะทำพิธีแฮกนาก่อนปลูก และข้าวที่มักนิยมปลูกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแฮกนาคือ  ข้าวก่ำ ซึ่งถือว่าเป็นพญาข้าว

         3.การเลือกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง  ด้วยสาเหตุขนาดความสูงของลำต้นพอดี  ไม่เตี้ยเพราะทำให้ไม่สะดวกต่อการเกี่ยวข้าว  และไม่เอื้อประโยชน์ในการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวเพื่อการคุมดินในการปลูกหอมกระเทียม หรือเป็นอาหารสำหรับวัว  ที่สำคัญข้าวต้นสั้นเวลาต้นข้าวล่มจะทำให้ชิดดิน  เมล็ดข้าวสกปรก หรือเมื่อเกี่ยวข้าวฟาดตอฟางรอให้แห้ง  หากมีปัญหาฝนตกน้ำท่วมขังข้าวจะเปียก  รวงข้าวจะจมน้ำ

        4.การส่งสะตวงเชิญสัตว์ที่มารบกวนข้าว  คุณลุงในหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า  เมื่อมีหนอนมากินต้นข้าว  ชาวบ้านจะนิยมใช้ต้นกล้วยมาทำเป็นสะตวง  ใช้ดินปั้นเป็นรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆและใส่อาหาร ขนม น้ำ ลงในสะตวง   พร้อมทั้งใช้ไม้ไผ่ทำชั้นเล็ก ๆ สูงระดับอก  ปักลงกลางนา สำหรับวางสะตวงและให้พ่อหนานในหมู่บ้านกล่าวคำบูชาเทวดา  เชิญมารับของเซ่นไหว้และขอให้นำสัตว์ที่มากินต้นข้าวออกไปจากนา  จากนั้นไม่เกินสองวันพวกหนอนก็จะหายไป  ทั้งนี้ยังบอกอีกว่า  ต้องไม่ใช้สารเคมีทำร้ายพวกสัตว์ต่าง ๆ  หากทำร้ายสัตว์แล้วการเซ่นไหว้จะไม่ได้ผล  สำหรับพิธีกรรมนี้ยึดถือปฏิบัตินับจากอดีตตราบปัจจุบัน

         5.การเชิญข้าวใส่ยุ้ง  จะเปิดตำราว่าด้วยผีกินข้าว  เพื่อหาฤกษ์ดีว่า  วันไหนดี  เพราะหากได้ฤกษ์ไม่ดีตกวันผีกินข้าวมักจะมีปัญหาข้าวหมดเร็วและข้าวไม่พอกิน

          6.การสร้างยุ้งข้าวหรือหลองข้าว  แต่เดิมการสร้างยุ้งข้าวจะต้องสร้างตามตำราที่กำหนดไว้ว่า  ลูกคนที่ 1 – 10 ควรจะสร้างยุ้งข้าวในทิศทางไหน  และหากจำเป็นต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่  ก็จะสร้างในบริเวณเดิม   สำหรับรูปทรงยุ้งข้าวในอดีต  นิยมสร้างเป็นทรงใต้ถุนสูงมีเสาคู่หกต้น  มีขอบเชิงรอบห้องเก็บข้าว  มีชายคาคุมของเชิงโดยรอบ และประตูห้องเก็บข้าวจะมีไม้แผ่นกั้น โดยไม้แผ่นเหล่านี้จะเขียนหมายเลขกำกับลำดับที่ เพื่อให้สามารถใส่กลับคืนอย่างถูกต้อง     ในอดีตบริเวณขอบเชิงจะใช้สำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว   เมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องมือการเกษตร   แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันยุ้งข้าวโบราณได้หายไปจากชุมชน เหลือเพียงไม่กี่หลัง  ด้วยเหตุผลว่า  เสาที่ฝังดินเริ่มผุ  ไม่สะดวกต่อการขนถ่ายข้าว ประกอบกับมีคนติดต่อซื้อในราคาแพง  ดังนั้นยุ้งข้าวที่พบเห็นจึงเป็นยุ้งข้าวสมัยใหม่  ขนาดเล็กไม่มีรอบเชิง  ทำให้ไม่มีที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืช  และมักจะมีปัญหาการถูกฝนฉาดเกิดความชื้นได้

          7.วันจกข้าว  หลังจากนำข้าวใส่ยุ้งฉาง ก่อนการตักข้าวเปลือกใหม่มาใช้  ชาวบ้านจะใช้ทัพพีตักข้าวใส่กระปุงหรือถัง  ก่อนจะใช้ภาชนะอื่นตักข้าว  และวันจกข้าวครั้งแรกต้องดูกฤษ์ระหว่างไม่ให้เป็นวันปากสัตว์  เพราะหากเป็นวันปากสัตว์ จะทำให้ข้าวหมดไปอย่างรวดเร็ว

         8.วันตานข้าวใหม่และพิงหลัวพระเจ้า  นิยมทำในช่วงเดือนมกราคม หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว  เมื่อนำข้าวไปขัดสีแล้วต้องนำมาให้พ่อแม่รับประทาน  และถวายพระก่อน  โดยจะมีการกำหนดวันทำบุญตานข้าวใหม่  และชาวบ้านจะนำทั้งข้างนึ่งและข้าวเปลือกไปทำบุญ  โดยข้าวเปลือกนั้น  วัดสามารถนำไปขายเป็นปัจจัยบำรุงวัด  ส่วนกลางคือ ก็จะมีพิธีกรรมพิงหลัวไฟพระเจ้า  ซึ่งจัดบริเวณวัด

           9.การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์  จะคัดเลือกจากเมล็ดพันธุ์ที่เกี่ยวว่า  มีลำต้นแข็งแรง  รวงข้าวเต็ม  สีสวย  ไม่มีข้าวลีบ  และแยกจากข้าวที่จะตีหรือฟาด จากนั้นนำไปฟาด จะฟากเพียงสองครั้งสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์  หากเมล็ดพันธุ์จากนาตนเองไม่ดี  ก็จะไปขอแลกกับเพื่อนบ้าน  โดยจะสังเกตว่า  ข้าวใครที่ให้ได้ผลดี ในระหว่างการเวียนเอามื้อเอาวัน  และจะมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุก 3 – 4 ปี หรือเมื่อเกิดโรค  ในบางครั้งมีคนต่างหมู่บ้านมาขอซื้อเมล็ดพันธุ์ก็จะขายในราคาเดียวกับข้าวเปลือกทั่วไป  ไม่ตั้งราคาสูงเช่นข้าวพันธุ์ที่พ่อค้าขาย

            10.การนับจำนวนที่นา   หาจะถามว่า  มีนามากน้อยเพียงใด  จะถามว่า  ทำนากี่ต๋าง เพราะต๋างคือหน่วยนับจากการตวงเมล็ดข้าว   โดยการหว่านข้าวกล้า  จะคำนวณว่า  พันธุ์ข้าวจำนวน  1 – 1.5 ต๋าง จะสามารถปลูกข้าวได้ 3 – 4 ไร่     ดังนั้นหากใครทำนาหลายต๋างก็หมายถึงมีนามากนั้นเอง   ซึ่งวิธีการนี้เกิดจากการการทำนาแบบนาดำ  ในขณะที่นาหว่านใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวมากกว่านาดำประมาณเกือบสองเท่า  ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงไม่นิยมทำนาหว่าน

            11. สัตว์ต่างดาวในหมู่บ้าน   สำหรับบ้านยั้งเมิน  ตอนนี้กำลังมีปัญหาสัตว์ต่างดาวหรือต่างถิ่นบุกรุกทำลายพืชผักของชาวบ้าน  คือ  หอยทาก ซึ่งคาดว่า มาจากรถขนดินที่นำดินมาถมในหมู่บ้านและนำเอาตัวอ่อนของหอยทากติดตามด้วย  และเมื่อตัวอ่อนได้แหล่งอาหารดี จึงทำให้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว

            12.เครื่องมือการเก็บเกี่ยวข้าว  พบว่า  ชาวบ้านยังใช้เคียวเกี่ยวข้าว  เกี่ยวเสร็จก็นำข้าวผึ่งบนตอให้แห้งประมาณ  3 – 4 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของแสงแดด  โดยชาวบ้านจำทดสอบว่า ข้าวแห้งพอดีโดยการแกะดูสีของเมล็ด  และสังเกตจากน้ำหนักของต้นข้าวที่แห้งเบาขึ้น  จากนั้นชาวบ้านจำนำต้นข้าวไปกองรวมเป็นจุด ๆ เรียกว่า  การเมาะข้าว  เพื่อรอการฟาดหรือตีข้าว  สำหรับการฟาดหรือตีข้าวนั้น  แต่เดิมชาวบ้านนิยมใช้ครุเป็นภาชนะรองการฟาดและใช้สาดกะลาปูข้างล่างเพื่อรองรับเมล็ดข้าวที่กระเด็น   ปัจจุบันนี้นิยมใช้ผ้าเต๊นฑ์ปูรองแทนสาดกะลาและใช้แคร่ว่างเพื่อฟาดข้าว   ข้าวที่ฟาดเสร็จก็รอการพัดเอาเศษเจือปนออก  แต่เดิมนิยมใช้ก๋าสำหรับพัดวี  ปัจจุบันชาวบ้านสร้างนวัตกรรมเอง  โดยใช้เครื่องหญ้ามาติดตั้งใบพัดลม จากเครื่องเก่าที่ชำรุดแล้ว  ซึ่งพบว่า  มีแรงเป่าสูง สามารถลดแรงงานคนได้จำนวนมาก   อีกสองสิ่งที่หายไปชุมชนคือ  ควาย  ซึ่งถูกแทนที่ด้วยรถไถนาเดินตาม และกระปุงหรือเปี๊ยด  ที่แทนที่ด้วยกระสอบพลาสติก แต่เดิมกระปุงเป็นสิ่งมีค่า  โดยกระปุงหนึ่งคู่แลกกับข้าวเปลือกหนึ่งหาบคู่เช่นกัน

            ที่สำคัญยังได้พบเห็นและฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานด้วงลักหลัว  ซึ่งเป็นด้วยขนาดความยาวของลำตัวประมาณ  2.5 นิ้ว  ความกว้างประมาณ  ½ นิ้ว  มีลำตัวสีน้ำตาล  บริเวณปีกมีสีขุระสีน้ำตาลลักษณะเหมือนท่อนไม้หลัว (ฟืน) เรียงโดยรอบลำตัว   เขาเล่าว่า  แต่ก่อนมีชายหนุ่มคนหนึ่งชอบลักขโมยไม้หลัว(ฟืน)ของชาวบ้านเป็นประจำ  ต่อมาเมื่อตายไป  จึงไปเกิดเป็นด้วงที่ลักษณะปีกคล้ายแบกไม้หลัวติดตัวตลอดเวลา  และด้วยความอับอายจึงต้องแอบซ่อนตัวใต้ใบไม้กิ่งไม้  ดังนั้นด้วงชนิดนี้จึงชอบเกาะตามกิ่งไม้พุ่ม ที่มีใบไม้บัง

            13. การเก็บรักษาเครื่องจักสาน  โดยได้เห็นการเก็บเครื่องสาน เหนือเตาครัวซึ่งเป็นเตาที่ใช้ฟืนในการหุงต้ม  เพื่อป้องกันมอดหรือราเกาะทำลายเครื่องจักสาน  ซึ่งวิธีการหายไปพร้อมกับการหุงต้มที่ใช้เตาแก๊ส  แต่ที่อมลองและยั้งเมินยังคงมีให้พบเห็น

          เหนืออื่นใด  ตอนที่ไปบ้านยั้งเมิน  ได้มีโอกาสดียิ่งคือ  ได้กราบครูบาอินถา  ซึ่งคนสะเมิงนับถือ มีฉายาว่า  เทพเจ้าแห่งยั้งเมิน   ครูบาท่านอายุ  90 ปี ยังแข็งแรง  สายตาดี หูดี เดินคล่องแคล่ว  ท่านมีเมตตาสูงมากซักถามว่า เรามาทำไม  และพรมน้ำพุทธมนต์ให้พร เพื่อเป็นสิริมงคล   นับว่า  การลงพื้นที่สะเมิงนี้  ได้ทั้งความรู้  ได้พบเห็นความสุขของวิถีชุมชน  ได้พิสูจน์ความเชื่อว่า   ชุมชนมีพลัง  และได้พลังพุทธคุณ

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 451700เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2011 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เจริญพรอาจารย์รุ่งทิพย์

ข้อมูลรายละเอียดดีมากเลยอาจารย์

จะขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อ

ขอบคุณอาจารย์ที่นำความรู้มาแบ่งปัน

นำลิงก์เรื่องยุ้งข้าวมาฝากอาจารย์

                       

การฝัดข้าวด้วยสีฝัดข้าว กระด้ง วัฒนธรรมการลงแขก - เอาแรง การขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง และเทคโนโลยีพอเพียง ของชุนบ้านตาลินและชุมชนเกษตรกรหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรค์ และชาวนาโดยทั่วไปในภาคกลางและภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย บางแห่ง เช่น ภาคเหนือและภาคใต้ อาจมีวิธีการและใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป
ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ที่มาภาพและข้อมูล http://www.gotoknow.org/blog/civil-learning/233623?page=1

แลหน้าวิถีโลก มองย้อนวิถีไทย

ยุ้งข้าวหายไปไหน
ที่มา..http://www.gotoknow.org/blog/totien2/451128

กราบนมัสการพระมหาแล

ขอบพระคุณสำหรับการแวะเยี่ยมเยือนและรูปภาพคะ

เปิดโลกทัศน์มากมาย ขอบคุณอาจารย์รุ่งทิพย์อีกครั้ง

นมัสการพระคุณเจ้า

ดีใจอย่างยิ่งที่ทราบว่า มีนิสิตที่แสวงหาความรู้เช่นท่าน ขอให้ตั้งใจพัฒนาตนเองต่อไปนี้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท