kong
นาย ก้องเกียรติ เติมเกษมศานต์

การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน (2) : เรื่องเล่าจากลาดยาว


การเข้าไปจัดกิจกรรม จะเป็นการเข้าไปเรียนรู้พร้อมกับครู และนักเรียน ไม่ใช่เข้าไปสอน

จากบันทึก http://gotoknow.org/blog/kongkiet/177265  มีเรื่องเล่าจากผู้ประชุมหลายเรื่อง เช่น

เรื่องเล่าจากโรงพยาบาลลาดยาว โดยคุณสิริรัตน์  ทองห่อ

                คุณสิริรัตน์ เป็นทันตาภิบาลอยู่ที่โรงพยาบาลลาดยาว  คุณสิ เล่าว่าทันตาภิบาลที่โรงพยาบาลลาดยาวแบ่งโรงเรียนรับผิดชอบเฉลี่ยคนละเท่า ๆ กัน โดยโรงเรียนที่ได้รางวัลกิจกรรมทันตสุขภาพคือโรงเรียนสังฆวิถี (ได้รางวัลในปี 2548) และโรงเรียนบ้านทุ่งแม่น้ำน้อย (ได้รางวัลในปี 2549) ทั้ง 2 แห่งได้รางวัลหมวดกิจกรรมการเรียนรู้  โดย

-          โรงเรียนที่ได้รางวัลเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อดีตรงที่บริหารจัดการได้ง่าย

-          ในปีแรกจะมีปัญหาขัดข้องเนื่องจากมีเวลาในการจัดกิจกรรมน้อย เพราะศูนย์แจ้งจังหวัดในเดือนกุมพาพันธ์ ซึ่งกว่าจะประชาสัมพันธ์ โรงเรียนก็ปิดเทอมแล้ว  ดังนั้นกว่าโรงเรียนจะเตรียมตัวก็เป็นเดือนพฤษภาคม (เปิดเทอม)  ซึ่งจังหวัดจะออกประกวดเดือนกรกฎาคม ดังนั้นโรงเรียนมีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น แต่ปัญหานี้ในปีต่อมาจะไม่ค่อยมี เพราะโรงเรียนรู้และได้เตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว

-          วิธีการประชาสัมพันธ์ในปีแรกคือการส่งจดหมายไปโรงเรียนทั้งหมด (83 แห่ง) ซึ่งได้ผลตอบรับกลับมาว่ามีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 12 แห่ง  ซึ่งได้ออกประเมินในระดับ CUP ก่อน ที่จังหวัดจะออกประเมิน

-          ในปีต่อมาได้ประชาสัมพันธ์โดยจดหมายเช่นเดิม แต่ได้นำโรงเรียนที่ได้รางวัลในปีแรกคือโรงเรียนสังฆวิถี มานำเสนอกิจกรรมในที่ประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจให้โรงเรียนอื่น ๆ สนใจเข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้น

-          นอกจากนั้นได้มีการประสานงานกับ ผอ. สพฐ. ซึ่งได้มีการทำงานกันมาก่อนแล้ว ซึ่ง ผอ. ก็เข้าใจ และเป็นแรงจูงใจให้โรงเรียนได้ทำกิจกรรมมากยิ่งขึ้นด้วย

-          ในส่วนของโรงเรียนที่ได้รางวัลนอกจากเป็นการโชว์ผลงานแล้ว ก็มานำเสนอก็เป็นผลงานวิชาการส่วนของครูด้วย

-          ดังนั้นในปีที่ 3 การทำงานในโรงเรียนจึงง่ายมากยิ่งขึ้น

-          คุณสิ ได้สรุปแนวทางการจัดกิจกรรมในโรงเรียนดังนี้

·       ความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ การพบปะ เห็นหน้าพูดคุยกันบ่อย ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

·       ต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนเป็นอย่างดี ซึ่งการที่จะรู้ข้อมูลพื้นฐานจะต้องเข้าไปในโรงเรียนบ่อย ๆ

·       หาบุคคลสำคัญ ที่จะเป็นผู้ทำให้งานสำเร็จ ซึ่งอาจเป็น ผอ. หรือครูอนามัย

·       พยายามให้ข้อมูลแก่โรงเรียนตามข้อกำหนดกิจกรรม บางกิจกรรมอาจจะต้องเข้าไปสอนและทำเป็นตัวอย่าง เช่นการวิเคราะห์ตัวชี้วัด

·       การประสานงานเรื่องการให้บริการเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งโรงเรียนต้องอาศัยความร่วมมือจากสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลในการออกบริการ เช่น การรักษาทันตกรรม การเคลือบร่องฟัน

·       เด็กต้องมีความรู้ สามารถประยุกต์ สร้างนวตกรรม ซึ่งถ้าเด็กผ่านหลักสูตรการจัดทำโครงงานในโครงการเด็กไทยทำได้ จะทำให้เด็กมีความสามารถในส่วนนี้

·       ในส่วนของเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำกิจกรรม โรงเรียนมีความพร้อมในส่วนนี้อยู่แล้ว  อาจต้องเข้าไปจัดเป็นหมวดหมู่ในดูง่ายมากยิ่งขึ้น

·       ที่สำคัญก็คือการเข้าไปจัดกิจกรรม จะเป็นการเข้าไปเรียนรู้พร้อมกับครู และนักเรียน ไม่ใช่เข้าไปสอน

·       สุดท้ายกิจกรรมทุกอย่างไม่ว่าจะเกี่ยวกับเราเองหรือไม่ เมื่อครูเอยปาก เราไม่ควรปฎิเสธ ควรรับไว้ก่อน แล้วค่อยไปถามผู้รู้มาตอบภายหลัง

หมายเลขบันทึก: 177270เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2008 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เห็นด้วยเลยค่ะ กับที่ Highlight ไว้ "การเข้าไปจัดกิจกรรม จะเป็นการเข้าไปเรียนรู้พร้อมกับครู และนักเรียน ไม่ใช่เข้าไปสอน"
  • ขอบคุณค่ะ หมอก้อง ที่นำมา ลปรร. สู่กันฟัง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท