น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การส่งเสริมสุขภาพคนไทย (5) ... การนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่การกระทำ ทำกันได้อย่างไร


เศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะเน้นที่ตัวหลักคิดนี่ ก็จะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ 5 เรื่อง คือ ความมีเหตุมีผล ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกัน ความรอบรู้ คุณธรรม และท้ายสุด ผมแถมเรื่องเป้าหมายหลัก คือ การที่เรามีสังคมที่สมดุล และมั่นคง พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง

ในส่วนของการนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่การกระทำ ทำกันได้อย่างไร ลองดูบันทึกนี้นะคะ

ยกตัวอย่างบางเรื่องบางข้อ เพราะว่า บางท่านอาจไปเจอคำถามเหล่านี้ เพราะว่าในอดีตบางท่านอาจจะไม่กล้าตอบ หรือไม่แน่ใจว่าใช่ หรือไม่ใช่ แต่วันนี้เรามาลองตอบพร้อมๆ กันนะครับ

  • ... เวลาที่เราพูดถึงความยากจนในชนบทก็ดี การบริโภค การออม สินค้าฟุ่มเฟือย การกู้หนี้ยืมสินก็ดี
  • สิ่งเหล่านี้ผมเอามารวมกัน คล้ายๆ กับเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ประชาชนอย่างพวกเราทำได้ จะสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ต้องมาดูกันอีกที
  • แต่สิ่งที่เป็นหัวใจแน่นอนน่าจะอยู่ในคอลัมภ์ด้านขวามากกว่า เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะเน้นที่ตัวหลักคิดนี่ ก็จะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ 5 เรื่อง คือ ความมีเหตุมีผล ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกัน ความรอบรู้ คุณธรรม และท้ายสุด ผมแถมเรื่องเป้าหมายหลัก คือ การที่เรามีสังคมที่สมดุล และมั่นคง พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง
  • ลักษณะอีกอันหนึ่งที่จะตามมา หลังจากที่เราทราบถึงความคิดหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ที่อยู่ในคอลัมภ์ด้านขวาแล้วนะครับ
  • สิ่งที่พวกเราต้องทำกันก็คือ เราจะต้องรู้จักประยุกต์แนวคิด 5 เรื่องที่อยู่ด้านขวา ประยุกต์ไปเป็นกิจกรรมด้านซ้ายให้ได้
  • เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งที่พวกผม หรือวิทยากรพูดถึงกัน ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงจะต้องเน้นให้ประชาชนที่ประสงค์จะนำไปใช้ ประยุกต์ใช้ได้เป็น เพราะธรรมดาในตัวหลักคิด หรือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะมีลักษณะที่เป็นนามธรรม ก็คือ พอประมาณก็เป็นนามธรรม ความมีเหตุมีผล แต่ถ้าจะให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ท่านต้องประยุกต์ใช้เป็นครับ
  • ผมจะขออนุญาตประยุกต์ใช้ในบางกรณี เช่น
  • กรณีกู้หนี้ยืมสิน จะเห็นได้ว่า การกู้หนี้ยืมสิน เป็นเศรษฐกิพอเพียงก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ... ลำพังมีใครเดินมาคนหนึ่ง หรือมีหน่วยงานเราไปกู้เงินมา 2 ล้านเพื่อลงทุน แล้วบอกว่า เป็นหรือไม่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ยังสรุปไม่ได้ครับ ... ต้องถามต่อว่า ทำไมถึงต้องกู้ กู้มาทำไม อย่างนี้เป็นต้น
  • ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่ามีคนคนหนึ่ง อยากไปลงทุนทำร้านอาหาร ... ถ้าคนคนนั้น ครอบครัวพื้นเพทำร้านอาหารอยู่แล้ว มีคูหาขายอยู่แล้ว 2 คูหา ขายดี มีคนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนที่ไม่พอจะนั่ง และประสงค์ที่จะขยายต่อจาก 2 คูหา จะเซ้งต่อเป็น 3 คูหา ก็ไปกู้เงินธนาคาร กู้มาที่จริงธนาคารให้กู้ 2 ล้านบาท แต่เจ้าของร้านก็บอกว่า ผมขอกู้สักล้านเดียวก็แล้วกัน เพราะว่ามีเงินออมไว้แล้ว จะได้ไม่ต้องกู้มาก เพื่อที่จะไปขยายร้านต่อ
  • ... ลักษณะแบบนี้ ถ้าถามผม ผมคิดว่า เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกัน เพราะว่าร้านมีลูกค้าล้นอยู่แล้ว เปิดอีก 1 คูหา ก็คิดว่า ยังมีคนเข้ามา และไม่น่าจะเจ๊ง ครอบครัวก็มีความรอบรู้ในธุรกิจที่ทำ การลงทุน การกู้ยืมเงินก็กู้แบบพอประมาณ ไม่ใช่ต้องการเงิน 2 ล้าน แต่กู้มา 7 ล้าน เพื่อจะเอาเงินไปเที่ยวเมืองนอก ก็เกินความจำเป็น เพราะฉะนั้นการกู้ในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการกู้เงินที่มีเหตุมีผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันครับ … ก็จะสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • ซึ่งตรงกันข้ามกับอีกกรณีหนึ่ง สมมติว่า มีนักลงทุนอีกคนหนึ่ง ก็อยากจะกู้ไปทำร้านอาหารเหมือนกัน แต่คนนี้ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน เริ่มต้นชีวิตด้วยการรับราชการ พอรับราชการมาได้ช่วงหนึ่งแล้วก็อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำร้านอาหารเอง พอทำเป็นบ้าง แต่ไม่ค่อยเก่ง พอทานได้บ้างแต่ไม่ค่อยอร่อยนัก ถ้าจะกู้เงิน 1 ล้าน หรือ 2 ล้านไปลงทุน อาจจะเสี่ยง
  • เพราะว่าช่วงแรกๆ ลูกค้าอาจจะยังไม่ติด และจะมีสายป่านผ่อนไปถึงกี่เดือน แล้วคนถึงจะรู้จัก หรือกว่าจะได้พัฒนาฝีไม้ลายมือขึ้นมา เผลอๆ เจ๊ง เจ๊งเสร็จก็ต้องวิ่งมาหางานประจำทำใหม่ เพราะฉะนั้นการกู้เงินในลักษณะที่สอง ถึงเรียกว่าไม่ค่อยจะสอดคล้องกับลักษณะของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะไม่มีเหตุผลอันควร ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีความรอบรู้ในกิจกรรมที่ทำ เป็นต้น
  • นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การกู้ยืมเงิน เป็นไปได้ทั้งสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และไม่สอดคล้องครับ
  • เรื่องอื่นก็จะคล้ายๆ กัน เช่น โครงการขนาดใหญ่ มีคนถามพระองค์ท่านเองเลยครับว่า “เศรษฐกิจพอเพียงต้องทำอะไรแบบเล็กๆ ใช่มั๊ย ใหญ่ๆ ไม่ใช่ ใช่มั๊ย” ... ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงรับสั่งว่า "ก็ดูตัวอย่างของโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็เป็นโครงการใหญ่ เป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง ถึงแม้จะใช้เงินเป็นหมื่นล้าน แต่ว่าสร้างได้ 2 ปี 3 ปี ก็คุ้มแล้ว เพราะว่าสามารถป้องกันน้ำท่วม ป้องกันความเสียหายได้เกินมูลค่าการลงทุนอีก"
  • เพราะฉะนั้นการใช้หลักความมีเหตุมีผล ศึกษาความคุ้มค่าของกิจกรรม ก็นำไปสู่การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ได้
  • มีข้อหนึ่งที่ง่ายๆ ก็คือ การลดการบริโภค หรือพึ่งการออม ผมว่า หลายท่านคงจะนึกออกได้ ว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้แปลว่า เราต้องกินน้อยๆ อยู่บ้านเล็กๆ แต่ความหมายของการบริโภคสินค้า หรือการจับจ่ายใช้สอยนี้ จะหมายถึงคำว่า หลายครั้งที่เราประสงค์จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง นำมาใช้นี้ สิ่งที่พระองค์ท่านอยากจะเห็น ก็คือการที่พวกเรารู้จักสำรวจรายจ่ายของเราบ้าง และถ้าเป็นไปได้ ก็ลองดูความเป็นเหตุเป็นผลว่า สิ่งของที่เราซื้อมาในแต่ละวัน แต่ละเดือน มันจำเป็นไหมที่จะต้องซื้อ จะต้องมี
  • ถ้าเป็นอาหารการกิน จำเป็นจะต้องซื้อมาทำ ท่านก็ซื้อเถอะ ไม่ต้องกังวล บางคนมีลูกอยู่ในวัยเรียน ท่านก็ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการเรียนลูก บางคนก็อาจจะเรียนดนตรีไทย ส่งเสริมให้เรียนก็ไม่ผิด บางครอบครัวอยากให้ลูกมีนิสัยการอ่าน ก็ซื้อหนังสือให้ลูกอ่าน
  • การใช้จ่ายเหล่านี้ ผมไม่คิดว่า ขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงครับ แต่เวลาที่เราพูดถึงการบริโภคให้น้อยลง คงจะหมายถึงว่า กรณีที่เราสำรวจรายจ่ายแล้ว พบว่า มีรายจ่ายบางส่วนที่ไม่จำเป็นเอาเสียเลย และเกิดขึ้นบ่อยๆ ในกิจกรรมทุกๆ วัน บางคนซื้อหวยมากเกินไป ถ้าเป็นผู้ชาย กินเหล้า สูบบุหรี่มากเกินไป เพราะว่าค่าใช้จ่ายพวกนี้ บางทีก็ลดลงได้
  • สำหรับสุภาพสตรีที่ผมวิเคราะห์ (อาจเกินขอบเขตก็ขอประทานโทษครับ) เสื้อผ้านี่ ซื้อกันมากเกินไปหรือเปล่า
  • ผมเป็นผู้ชาย ผมยังว่าผมมีเสื้อมากเกินไปเลยครับ อย่างเสื้อยืด มันมาจากไหนไม่รู้ เกินความจำเป็น (ที่ในตู้ ที่ผมใส่อยู่ทุกวันนี้) มีอยู่ 4 ตั้ง ใส่จริงๆ 3 ตัว ผมก็ไม่รู้ว่า ความไม่พอดีเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ก็คงเป็นเพราะว่าเวลาเราไปเที่ยวที่ไหนๆ เห็นเสื้อสวยๆ เราก็อดซื้อไม่ได้ และท้ายสุดคือ ไม่ค่อยได้ใส่เท่าไร ก็จะกองอยู่กับบ้าน และก็เสียดาย เพราะว่ามอดมันกินเสียแล้ว เป็นต้น
  • แต่ถ้าได้สำรวจรายจ่ายบ้าง ก็จะทำให้เราลดรายจ่ายบางประเภทลงไป และที่ผมพอจะเสริมได้คือ เรื่องการบริโภค หรือการใช้จ่าย
  • ถ้าเรามามองที่หมวดความพอประมาณนี้ ขอเรียนเบื้องต้น ความพอประมาณ อย่าไปแปลว่า ให้ใช้น้อยๆ บริโภคน้อยๆ นะครับ ความพอประมาณหมายความว่า อะไรที่ทำมากไปก็ทำให้น้อยลง และในทางตรงกันข้าม คือ อะไรที่ท่านทำน้อยไป ช่วยทำให้มากขึ้น นี่คือ ความหมายของคำว่า ความพอประมาณ
  • ... ค่าใช้จ่ายก็เหมือนกัน หมวดไหน เช่นในครอบครัวของผม ถ้าเป็นไปได้ ผมจะไม่ซื้อเสื้อผ้าตัวเองภายใน 6 เดือน – 1 ปี เพราะว่าที่มีอยู่นั้นมีมากเกินไป และถ้าเป็นไปได้ ผมอยากที่จะประหยัดได้ เพื่อไปซื้อหนังสือให้ลูกอ่าน เพราะผมอยากให้ลูกมีนิสัยการอ่าน แต่ถ้าผมย้อนคิดไปนะ 6 เดือนที่ผ่านมา ผมไม่เคยซื้อหนังสือให้ลูกสักเล่ม ไม่รู้เอาเงินไปทำอะไรหมด ฟังไม่ขึ้นใช่ไหมครับ
  • ... นี่คือตัวอย่างว่า ความพอดีพอควร ก็หมายถึงการปรับลดในบางเรื่อง ทั้งเหตุและผล และปรับเพิ่มในบางเรื่องที่ควรจะปรับ
  • การออมก็จะคล้ายๆ กัน ในบางครอบครัวที่มีเงินออมแล้ว ลดค่าใช้จ่ายบางส่วนในเรื่องการออม ก็จะทำให้พวกเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น สำหรับบางครอบครัว การออมก็เป็นเรื่องยากลำบาก
  • เคยมีคนขับรถแท็กซี่เขามาบอกว่า เขาได้ยินหลักปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียง แล้วเขาขอไม่ใช้ได้มั๊ย เพราะเขาบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง กับชีวิตแท็กซี่ไปด้วยกันไม่ได้ เนื่องจากแท็กซี่เป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย และยากจน วันๆ หนึ่ง ได้เงินหักค่าส่งรถ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เหลือกลับบ้าน 300-400 บาท หรือ 100-200 เท่านั้นเอง ซึ่งเอาให้ลูกให้ภรรยาไปซื้อกับข้าวก็หมดแล้ว แล้วผมจะเอาที่ไหนมาออม ถ้าผมออมเงิน ผมทำไม่ได้หรอก ก็ขอไม่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • อันนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไรนัก ที่บอกว่า ออมเท่านั้นถึงจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ที่จริงอาชีพขับแท็กซี่นำหลายๆ ส่วนของแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้นะครับ ไม่ใช่ไปเน้นที่การออม เพราะถ้าไปเน้นตรงนั้นแล้วก็จะทำให้ผิดเพี้ยนไป
  • ใช้เรื่องภูมิคุ้มกันก็ได้เป็นต้น เราก็อาจพยายามหาวิธีขับรถแท็กซี่ที่สามารถการันตีรายได้ขั้นต่ำให้เราได้ ในแต่ละวันเช่น แท๊กซี่สร้างภูมิคุ้มกันอย่างไรครับ คือ เวลารับลูกค้า หรือผู้โดยสาร ถ้าท่านรับแบบขาจรตลอด ท่านก็จะเสี่ยง ไม่รู้ว่า วันๆ ท่านได้ลูกค้ากี่คน แท๊กซี่บางคนเขามีภูมิคุ้มกัน คือ เขามีลูกค้าประจำ เช้า-เย็น เช้า เขาจะรับบ้านนี้ไปส่งเด็กที่โรงเรียน เย็นเขาก็จะมีลูกค้าประจำผู้สูงอายุที่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง เขาก็จะไปขับรถให้บ้านอีกหลังหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาก็จะได้ลูกค้าเช้า 1 เจ้า เย็น 1 เจ้า ก็จะมีรายได้แน่นอนละ 300-400 บาท ส่วนกลางวันเขาก็จะไปร่อนหาลูกค้าใหม่ๆ ดีกว่า แท๊กซี่อื่นๆ ที่ไม่มีลูกค้าประจำตลอดเวลา เป็นต้น
    เพราะฉะนั้น แต่ละคน แต่ละอาชีพ ก็จะสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้ในแง่มุมมิติที่แตกต่างกัน

ดีมั๊ย ดีมั๊ย ... ถ้าเข้าใจแล้ว ก็ส่งต่อไปให้เพื่อนฝูงได้รับทราบด้วยนะคะ ... นี่ก็เข้าหลัก เศรษฐกิจพอเพียงด้วยไง เพราะเราได้รู้ และเราก็ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย ... ส่วนหลักธรรมะ ก็คือ ได้บุญละค่ะ 

รวมเรื่อง น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การส่งเสริมสุขภาพคนไทย

 

หมายเลขบันทึก: 92585เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
อินทร์ทนง หลักทรัพย์
มีข้อมูลหลากหลายเหมาะแก่การศึกษาคับ
  • นำไปใช้ด้วยก็ดีนะคะ คุณอินทร์ทนง
  • ขอบคุณค่ะ ที่มาเยี่ยมชม

๛๐๛งงหาไท่เจอคราฟ

  • สวัสดีค่ะ คุณ มุก และ คุณ ออฟ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท