Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี (72) "ผู้นำการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน" ... ข้อสรุปของคนจริง ทำจริง


เราไม่มีความรู้จริงในตรงนั้น แต่ถ้าเราสร้างความร่วมมือ สร้างความสัมพันธ์ในการจัดการความรู้ ความร่วมมือหลายๆ ฝ่ายก็สามารถจะจัดการได้

 

นั่นคือ ส่วนหนึ่งที่เราคิดว่า เราไม่มีความรู้จริงในตรงนั้น แต่ถ้าเราสร้างความร่วมมือ สร้างความสัมพันธ์ในการจัดการความรู้ ความร่วมมือหลายๆ ฝ่ายก็สามารถจะจัดการได้ ผมคิดว่า การจัดการความรู้ของคุณหมอวิจารณ์ที่ทำตรงนี้ ผมไม่ค่อยเข้าใจว่า KM มันคืออะไร แต่พอบอกว่า การจัดการความรู้ ผมคิดว่า น่าจะสอดคล้องกับเรื่องที่ผมทำอยู่ คือ การจัดการความรู้

ที่จริงผมไม่มีความรู้ที่จะสอนใครได้ทั้งหมดหรอก แต่ผมก็สามารถที่จะจัดการได้ ความรู้ที่ทำเรื่องอาชีพรอง อาชีพเสริม การพัฒนาอาชีพหลักตรงนี้

  • เรามีความรู้พื้นฐานอยู่ในพื้นที่แล้ว ก็มาก อะไรที่เป็นความต้องการที่คนอยากจะเรียนรู้
  • แต่เราไม่มีคนที่รู้ในพื้นที่
  • เราก็ไปประสานคนที่รู้จากภายนอก เครือข่ายของพวกเรา ก็ไปให้ความรู้
    ... อะไรที่เป็นความรู้ที่อยู่ในหน่วยงานราชการ เราก็ประสานให้เขาไปให้ความรู้ได้
    ... อะไรที่เป็นความรู้อยู่ในสถาบันการศึกษา อยู่ในมหาวิทยาลัย เราก็ไปประสานกับสถาบันการศึกษา ไปให้ความรู้ตรงนี้ได้
  • นี่ผมคิดว่า เป็นการจัดการความรู้ ผมไม่ได้รู้ ผมรู้บางเรื่อง ผมไม่รู้ทุกเรื่อง แต่ผมสามารถจัดการความรู้ได้ในทุกเรื่องทุกด้านได้ คือ การจัดการความรู้ที่สามารถจะมีฐานในการจัดการความรู้อยู่ในพื้นที่ จะสะดวกมากเลย 

ผมถึงพยายามเรียกร้อง และผลักดันให้เกิดแนวทางออกไปทั่วประเทศ เพิ่งปีนี้ละที่ได้รับการยอมรับ

และมีการทดลองเกิดขึ้น ที่เขาเรียกว่า กลุ่มของปราชญ์ชาวบ้าน ทดลองขึ้นมา 40 ศูนย์ ในปี 50 นี้ และทดลองในการที่จะให้การจัดการความรู้ในท้องถิ่นต่างๆ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างเยอะ คือ ความไม่พร้อม คำว่า การจัดการความรู้ หลายคนก็นึกว่า เขามีความรู้เรื่องอะไร แล้วเขาก็จะทำเรื่องนั้นเพียงเรื่องเดียว ไม่พอครับ

การจัดการความรู้นี้มันต้องจัดการในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ไม่ใช่รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว แล้วก็จะอยู่รอด ไม่ใช่

บางคนมีความถนัด เก่ง เกี่ยวกับเรื่องกองทุน ทำเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ ทำเรื่องจัดสวัสดิการ หรือกองทุน ทำได้ แต่เรื่องเดียวนั้นไม่พอ ชาวบ้านไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นอีกเยอะ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ เรื่องการจัดการทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ มันต้องมีความสมบูรณ์ในทุกเรื่องทุกด้าน ถึงจะไปแก้ปัญหาในชุมชนได้

เพราะฉะนั้น การจัดการความรู้จะต้องมีแผนในการการจัดการที่ไปครอบคลุมวิถีชีวิตของชาวบ้านในหลายๆ เรื่องได้

เพราะฉะนั้น หน่วยงานต่างๆ ที่ได้เริ่มในการที่มีการปรับเปลี่ยน ปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านถูกหน่วยงานต่างๆ เอาไปเป็นส่วนของเขา พัฒนาชุมชนก็ไปตั้งกลุ่มขึ้นมา กลุ่มนี้เป็นของพัฒนาชุมชน กศน. ก็ไปตั้งกลุ่ม กศน. ขึ้นมา การเกษตรก็ไปตั้งกลุ่มเกษตรขึ้นมา การสาธารณสุขก็ไปตั้งกลุ่มสาธารณสุขขึ้นมา

ซึ่งเมื่อเช้าผมก็ได้ไปฟังในห้องที่บอกว่า คนหนึ่งมีเสื้อตั้งหลายตัว เวลาไปส่วนนั้นก็ใส่เสื้อตัวหนึ่ง เวลาไปส่วนนี้ก็ใส่เสื้ออีกตัวหนึ่ง

แต่ผมได้ทดลองแล้วครับ "คำว่า บูรณาการ หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถจะบูรณาการในหน่วยการได้ นอกจากชาวบ้านจะบูรณาการหน่วยงาน" ผมได้ทดลองทำแล้ว ผมทำแผนแม่บทตรงนั้นเสร็จเรียบร้อย

การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ ผมบอกว่า เราจะต้องเป็นตัวตั้งนะ ไม่ใช่ให้หน่วยงานเข้ามาเป็นผู้มีบทบาทหลักในการพัฒนา แล้วให้ชาวบ้านเป็นผู้มีส่วนร่วม ผมไม่เอาแล้วนะ เพราะผมได้ร่วมมานานแล้ว และผมไม่ได้คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ ผมขอให้คนของเราเป็นตัวตั้ง และให้หน่วยงานของคุณเข้ามามีส่วนร่วม คือ กลับหน้ากลับหลังกันนิดเดียว

ถึงแม้หน่วยงานคนนี้เข้ามารับผิดชอบ พอระยะหนึ่งชาวบ้านช่วยกันพัฒนาให้เขาได้ซีได้ขั้น และเขาก็ไปรับตำแหน่งที่สูงขึ้น ผมว่าไม่รู้ใครพัฒนาใครกันที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้ดีขึ้นเท่าไร แต่หน่วยงานกลับมีความดีความชอบ ได้ไปรับตำแหน่งใหม่ ... คนมาใหม่ไม่เอา ไอ้ที่ทำไว้ก่อนแล้วไม่เอา เพราะไม่ได้เป็นแนวคิดเขา ก็มาทำเรื่องใหม่ สร้างเรื่องใหม่

ผมก็ประกาศว่า เราขอเอาพื้นที่ของชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา และให้หน่วยงานเข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วม ใครจะมา ใครจะไปไม่เกี่ยว แต่เข้ามาใหม่ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา ตอนนั้นละ เขาหาว่าผมเป็นคอมมิวนิสต์ใหม่ เขาบอกว่า ผมไปยุยงส่งเสริมชาวบ้านให้กระด้างกระเดื่องกับอำนาจรัฐ

... แต่ที่จริงเรื่องที่เราทำ เราไม่ได้ทำเรื่องใคร เราทำเรื่องของตัวเองเป็นหลัก ว่าอะไรที่เราควรจะทำ อะไรที่เราควรจะหลีกเลี่ยง เพราะถ้าทำแล้วมันเกิดปัญหาขึ้นมา มันไม่คุ้ม เพราะปัญหาที่มีอยู่แล้วก็ยังแก้ไม่ได้ ไปสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาทำไม แนวคิดตรงนี้มันทำให้เกิดการสวนกระแส

ในช่วงหนึ่ง ผมบอกว่า ถ้าเราไม่ปรับแนวคิด เรายังคิดเหมือนเดิม เรายังทำเหมือนเดิม และยังแก้ไม่ได้เหมือนเดิม เราจะทำมันทำไม ถ้าเราคิดว่า อะไรมันจะแก้ปัญหาได้ จะดีกว่าเดิม และเราก็จะไปทำในสิ่งที่มันแปลกกว่า เดิม มันจะเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เกิดการพัฒนาได้

แนวคิดนี้ได้เริ่มทดลองใช้มาตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อปี 2540 ที่ผมคิดว่าสามารถทำได้ ก่อนหน้านั้นทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านเขาไม่มั่นใจ เพราะหน่วยงานราชการหาว่าอย่างนั้น หาว่าอย่างนี้ ชาวบ้านก็ลังเล

แต่พอถึงตั้งแต่ปี 2540 เราใช้วิธีนี้ ในที่สุดก็สามารถจะทำให้ร่วมมือกันได้ เพราะเรามีความเข้าใจราชการมากยิ่งขึ้น เพราะเขาต้องรับนโยบายลงไป เขาต้องรับแผนงานต่างๆ ลงไป ถ้าเขาทำไม่ได้เขาก็ไม่มีอะไรมารายงานด้วย เพราะฉะนั้น การที่มาปรับมาคิดกัน คือ พอทางราชการเอาแผนงาน เอานโยบายลงไป แล้วเราไปคุยกัน ว่า ถ้าปรับตรงนี้นิดหนึ่ง ให้มันสอดคล้องกับที่เราต้องการด้วย และให้เขาใช้ประโยชน์ไปรายงานด้วย ในที่สุดเราก็สามารถทำได้ เพราะเราทำอะไรแต่ละเรื่อง เราจะประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามา

ในเวลาเดียวกัน งานเดียวกัน เรื่องเดียวกัน ทั้งพัฒนาชุมชน ทั้งเกษตร ทั้ง กศน. ทั้งสาธารณสุข เข้ามาร่วมกัน และทุกหน่วยงานตรงนี้ สามารถเอาไปรายงานเป็นผลงาน กพ. ได้ทั้งหมดเลย เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถได้ประโยชน์จากการร่วมมือกันทำ เพราะทุกคนทุกหน่วยงาน ผมว่า เป้าหมายหลักถ้าพูดให้ตรงๆ ก็คือ ทำอย่างไรให้ชาวบ้าน ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขมากขึ้น แต่ผลงานก็ต้องมีด้วย ไม่ใช่ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างเดียว แต่ผลงานเขาไม่ได้ เขาก็ไม่อยากทำเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นการที่จะมาทำความเข้าใจกัน ว่า ทำอะไรก็ตาม ส่วนไหนที่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน และชาวบ้านได้ประโยชน์ ส่วนไหนกี่ส่วนจะทำให้เกิดผลงานของทางราชการที่ไปเกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ตรงนี้ละ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และการขยายผลออกไปนี้ ผมคิดว่าไปได้กว้างขวางพอสมควร เพราะกระบวนการนี้ได้เอาไปใช้กับศูนย์เรียนรู้ในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ

ในที่สุด ผมก็ไม่แน่ใจว่า แนวทางที่เราได้ทดลองทำมาจนมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ให้การสนับสนุนส่งเสริมมากพอสมควร และมีความเข้าใจมากพอสมควร แต่หลังจากนี้ไป ที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งใหม่ เขาจะเอาต่อไปหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่เนื่องจากชุมชนที่เราได้ร่วมมือทำกันมาแล้ว คิดว่า ใครจะมา เราไม่เกี่ยว เรื่องที่เราต้องการจะทำ เราก็ทำได้ต่อไป แนวทางที่จะสร้างความมั่นคงในการที่จะพึ่งตนเองได้มากขึ้น

ผมคาดว่า ถึงแม้รัฐบาลไหนมา ถ้าชาวบ้านมีความเข้มแข็งในการที่จะสร้างจุดยืนของตัวเอง และไปประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ก็จะทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้น ที่ผ่านมาไม่ยั่งยืนก็อย่างที่ผมเรียนแล้วว่า คนนี้มา เอาความคิดมาด้วย และมากำหนดให้ชาวบ้านต้องทำอย่างนี้ แต่พอคนใหม่มา ความคิดที่คนก่อนทำไว้ไม่ต่อเนื่อง เอาเรื่องใหม่ๆ เข้ามาลง และทำให้ชาวบ้านไล่ร่วมกันตลอดเวลา ถึงไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง

เพราะต่อไปนี้ ผมคิดว่า แนวทางที่ต้องไปสนับสนุน ส่งเสริมแนวความคิดของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านก้าวไปสู่เป้าหมายที่เขาทำแผนไว้แล้ว จะเกิดความยั่งยืน เกิดความมั่นคงได้มากขึ้น สถาบันการศึกษา หรือทางหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องการจัดการซึ่งความรู้ ผมคิดว่า มีความจำเป็น และก็จะต้องมีเจ้าภาพที่จะต้องเป็นเรื่องหลักตรงนี้ให้มากขึ้น และก็จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างที่เห็นผล และยั่งยืนได้ในอนาคต

เพราะฉะนั้น มันมีอยู่หลายเรื่องที่ผมไม่สามารถนำมาลงรายละเอียดในตรงนี้ได้ เพราะเวลาจำกัด เพราฉะนั้นในชั่วโมงนี้ก็หมดแล้วครับ

ผมบอกแล้วว่า "ผมไม่มีวิชาการ แต่ผมมีประสบการณ์" แต่ประสบการณ์ของผมก็มีค่อนข้างเยอะ เพราะในการจัดการที่ทำออกมาเป็นผลงานต่างๆ ผมไม่ได้เอามาเล่าในวันนี้เพราะมันจะยืดยาวมาก เช่น การจัดการเรื่องข้าว ที่พัฒนามาเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพราะผมจัดการเรื่องข้าวที่นครศรีธรรมราช จากตันละ 1,300 บาท ที่เป็นข้าวหัวเมือง ให้มามีมูลค่าถึง 15,050 บาท จากข้าวเปลือก 1 ตัน โดยความร่วมมือในการจัดการตรงนี้ จากข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสาร จากข้าวสารมาเป็นแป้งขนมจีน และแป้งขนมจีนมาเป็นเส้นขนมจีน ที่เราร่วมมือกันในเครือข่ายยมนา ในกลุ่มชาวนา ชาวสวนผลไม้ ชาวสวนยาง และผู้ที่ทำเส้นขนมจีนด้วย ตรงนี้มันเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่ง ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ยาวพอสมควร คงจะเป็นโอกาสหน้าครับ

... จบตอนเรื่องเล่าของคุณประยงค์ รณรงค์ ที่ตรงนี้นะคะ และคาดว่า คงได้มีโอกาสฟังเรื่องเล่าประสบการณ์ของท่านต่อไป อีกไม่ช้านาน ... นี่คงเป็นข้อสรุปหนึ่งของคนจริง ทำจริง คุณประยงค์ รณรงค์ ค่ะ

รวมเรื่อง Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี

 

หมายเลขบันทึก: 153693เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2007 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท