Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี (65) "ผู้นำการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน" ... เรียนรู้ด้วยตัวเอง


ปกติผมชอบในการล้อมวงกับชาวบ้าน แล้วคุยกันจนได้ข้อสรุป แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะผมมั่นใจว่า การปฏิบัติเท่านั้นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความรู้ต่างๆ ที่ชัดเจน มันเกิดจากการปฏิบัติมากกว่าการพูด

 

ปาฐกถาพิเศษ ช่วงปิด มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 4 เราได้ฟังเรื่องเล่าของ คุณประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านที่ท่านเป็นปราชญ์อย่างแท้จริงเลยนะคะ เพราะท่านสั่งสมประสบการณ์มาช้านาน จนมีเรื่องเล่า การทำงานที่เยอะแยะมากมาย มาวันนี้คงจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของท่าน ... มาเล่าสู่กันฟังค่ะ ดิฉันขอถอดเรื่องเล่าของท่าน มา ลปรร. กันนะคะ

คุณประยงค์ รณรงค์ ท่านได้เล่าเรื่องประสบการณ์ของท่านไว้ในวันนี้ ...

ผมขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เป็นนักวิชาการนะครับ ผมเป็นแค่ชาวบ้านคนหนึ่ง ที่บอกว่า เป็นการปาฐกถาพิเศษ ผมก็รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เพราะไม่ค่อยชอบเท่าไร ... ปกติผมชอบในการล้อมวงกับชาวบ้าน แล้วคุยกันจนได้ข้อสรุป แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะผมมั่นใจว่า การปฏิบัติเท่านั้นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความรู้ต่างๆ ที่ชัดเจน มันเกิดจากการปฏิบัติมากกว่าการพูด

เพราะฉะนั้น เริ่มต้นคือการพูด ... การพูด คือการเรียนรู้

ที่จริงผมไม่ได้รู้เรื่อง การจัดการความรู้ หรือ KM ต่างๆ เท่าไรนัก แต่ไม่ทราบว่าตอนไหน ที่ผมหลงเข้ามาอยู่ในเครือข่ายการเรียนรู้ ของหมอวิจารณ์ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้

ในที่สุด ผมก็มีส่วนที่ได้ทำการทดลองเรื่องต่างๆ ร่วมกัน ในที่สุด ก็เป็นแนวทางหนึ่ง เป็นตัวอย่างหนึ่ง เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราได้ทำเรื่องการเรียนรู้ โดยที่ผมสร้างโอกาสจากเรื่องการเรียนรู้มาก่อน เพราะผมจบแค่ ป.4 ครับ ... แต่ผมก็ไม่หยุดเรื่องที่จะหาความรู้ แต่ผมไม่มีวุฒินะครับ ไม่มีวุฒิแม้แต่ กศน. ก็ไม่ได้เข้าไปเรียนตรงนั้น แต่ผมเรียนด้วยตัวเอง

ที่ผมเรียนด้วยตัวเอง ที่จะมาเล่าในเบื้องต้นในครั้งนี้ ก็เพราะ ผมพบว่า แนวทางที่ผมก้าวมาถึงปัจจุบันนี้ มันเป็นการเริ่มต้นด้วยไม่มีความประทับใจ เพราะผมพอมีครอบครัวแล้ว ผมมีลูกตั้ง 5 คน และผมจบแค่ ป.4

... แต่ตั้งใจให้ลูกผมได้มีการเล่าเรียนได้ถึงที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ... เพราะฉะนั้นผมก็ต้องเรียนไปพร้อมกับลูก คือ ต้องการจะสอนการบ้านให้ลูก พอลูกจบ ป.4 ผมขึ้น ป.5 ผมก็ต้องเรียน ป.5 เพื่อต้องการจะสอนการบ้านให้ลูกให้ได้ พอลูกขึ้น ป.6 ผมก็ต้องเรียน ป.6 ผมก็ต้องสอนการบ้านลูกตลอดเวลา ลูกขึ้น ม.1 ม.2 ม.3 ถึง ม.6 ผมก็เรียนตาม ... เรียนโดยที่เพื่อต้องการจะสอนการบ้านเท่านั้นเอง

ในที่สุด ความรู้ของผมถึงแม้จะไม่มีวุฒิ แต่ผมก็รู้ตามไปแต่ละเรื่อง แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องหรอก ... เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า การที่เราไม่หยุดนิ่งในการที่จะให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง และไปสัมพันธ์กับเรื่องที่มันเปลี่ยนแปลง ก็สามารถทำให้เราเท่าทันสถานการณ์ตอนนั้นได้อย่างต่อเนื่อง

พอผมสรุปเรื่องตัวเองตอนนี้ขึ้นมาได้ ... ผมก็คิดว่า คนเราที่อยู่ในชนบท ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ และเป็นผู้ที่ขาดความรู้เหมือนผมนี่เยอะมากเลย

เพราะฉะนั้น ผมก็คิดว่า ผมมีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการอย่างไร ทำให้คนในชุมชน ในชนบท ได้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าเราไม่เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราก็กลายเป็นเครื่องมือของส่วนใดส่วนหนึ่ง ตอนไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน ... ถ้าเรามีการศึกษา มีการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดเวลา ก็ทำให้เราสามารถจะไปเท่าทันสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไป

แต่ผมไม่สามารถจะเป็นผู้สอนชาวบ้านได้ เพราะผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้สอนใครได้ ... ผมถึงต้องมีวิธีการที่ทำให้ชาวบ้านมาสนใจเรื่องการเรียนรู้ ก็ได้ทำกิจกรรมอะไรต่างๆ ขึ้นมา เพื่อต้องการสอดแทรกเรื่องการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เรื่องที่ทำให้เกิดความสนใจ ก็ต้องทำเรื่องที่เขามีปัญหาอยู่ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอาชีพหลัก เรื่องยางพารา ที่มีปัญหาตลอดเวลา ชาวบ้าน ชาวสวนยางพาราเป็นหนี้เป็นสินกันเยอะแยะวุ่นวายกันไปหมดเลย เพราะฉะนั้นทุกคนมีปัญหาคล้ายๆ กัน

รวมเรื่อง Learn 4 Change ที่เมืองทองธานี

 

หมายเลขบันทึก: 153439เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2007 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท