พัฒนาชมรมผู้สูงอายุต้นแบบที่ ศูนย์ฯ 9 ตอนที่ 7 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ จังหวัดตาก


 

น้องรุ้งนิยา เพชรกำแหง มานำเสนอ กิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุจังหวัดตากค่ะ น้องมากับ คุณลุงละมัย ทองนุช ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ชมรมต้นแบบทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุของที่นี่ กับ น้องยุรนันท์ แสงทอ ผู้ให้การสนับสนุนชมรมฯ ค่ะ

งานส่งเสริมสุขภาพช่องปากของจังหวัดตาก ในภาพรวม

ประชากรผู้สูงอายุของจังหวัดตาก ปี 2551-2553 มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และสภาวะทันตสุขภาพของผู้สูงอายุจังหวัดตาก มีฟันใช้เคี้ยวอาหาร ร้อยละ 40.7 ผส. มีฟันใช้งานได้ 20 ซี่ ร้อยละ 57.03 เมื่อปี 2553 มีผู้สูงอายุที่ได้รับบริการใส่ฟันเทียม 289 ราย จากเป้าหมาย 225 ราย

ชมรมผู้สูงอายุของจังหวัดตากมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายที่อำเภอจะต้องมีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 ตำบล 1 ชมรม และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง

ข้อมูลทั่วไปของชมรมผู้สูงอายุ

จังหวัดตากมี 9 อำเภอ จะมีชมรมทุกตำบล สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ บางอำเภอมีน้อย (อำเภอเมือง มี 30-40 คน) ส่วนใหญ่จะมีเยอะ

การส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุในจังหวัดตาก ปีนี้มีเป้าหมาย 1 อำเภอ 1 ชมรม โดยได้มีการนำงานทันตฯ เข้าไปในชมรมผู้สูงอายุทุกอำเภอ

งานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุเริ่มทำเมื่อปี 2553 มีเป้าหมาย 1 จังหวัด 1 ชมรม ซึ่งจังหวัดได้ชมรมผู้สูงอายุตำบลพะวอ เป็นชมรมต้นแบบ

แนวทางการจัดกิจกรรม การส่งเสริมทันตสุขภาพกลุ่มวัยสูงอายุ จังหวัดตาก ปี 2554

กิจกรรมแรก เป็นการพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมทันตสุขภาพ ... โดยเชิญชมรมผู้สูงอายุทั้งจังหวัดมาร่วมกิจกรรมให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพ แบ่งกลุ่ม ลปรร. โดยเชิญชมรมผู้สูงอายุตำบลพะวอ ชมรมผู้สูงอายุต้นแบบปี 2553 มาเป็นวิทยากร ลปรร. เล่าให้ชมรมฯ อื่นๆ ได้รับรู้ ได้ฟัง เพื่อที่จะได้นำไปเป็นแบบอย่างในการทำกิจกรรมต่อไป เรียกได้ว่า เป็นชมรมพี่ที่ได้ดำเนินการมาก่อนชมรมอื่นๆ

กิจกรรมที่ 2 เป็นการประกวดชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมทันตสุขภาพดีเด่นระดับจังหวัด ... บูรณาการกับงานส่งเสริมสุขภาพของ สสจ. ร่วมประกวดชมรมผู้สูงอายุ โดยดูทั้งสุขภาพทั่วไป และสุขภาพช่องปาก

ได้ชมรมผู้สูงอายุดีเด่นระดับจังหวัด ชนะเลิศ คือ ชมรมผู้สูงอายุบ้านสองแคว เทศบาลนครแม่สอด มีนวัตกรรมผักปั๋ง รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ชมรมผู้สูงอายุบ้านทุ่งกง อ.วังเจ้า รองชนะเลิศอันดับสอง ชมรมผู้สูงอายุบ้านแม่จะเรา อ.แม่ระมาด

ชมรมผู้สูงอายุบ้านสองแคว เคยได้รับรางวัลชมรมผู้สูงอายุดีเด่นระดับเขต ปี 2551 ในระดับประเทศ ได้รับรางชมรมผู้สูงอายุของหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ปี 2552 และ ปี 2553 เป็นชมรมผู้สูงอายุที่สนับสนุนให้วัด ได้เข้าร่วมประกวดวัดส่งเสริมสุขภาพ ของวัดเชตวันคีรี ทำให้วัดได้รับรางวัลที่ 1 ระดับเขต ปี 2554 เป็นชมรมผู้สูงอายุดีเด่นระดับเขต

กิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุตำบลพะวอ อ.แม่สอด

ข้อมูลทั่วไป

ตำบละวอ มีสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ 652 คน มี 6 หมู่บ้าน ชมรม หมู่ที่ 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขต 17 หมู่ที่ 3 เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เรียกว่า บ้านปูแป้

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

  • การประชุมประจำเดือน ชมรมฯ ตำบลพะวอ มีการประชุมร่วมกันทั้งตำบล ทุกหมู่บ้าน เดือนละครั้ง มีที่ประชุม 3 แห่ง เป็นการประชุมสัญจร เพราะเห็นว่าผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ถ้าประชุม 300 คน จะเบื่อ จึงทำประชุมสัญจรไป 3 แห่ง ที่แรก เป็นวัดเจตะวรรณคีรี ที่ต่อไป คือ วัดสว่างอารมณ์ และวัดห้วยปูแป้
  • การประชุมนี้ส่วนมาก มีการออกกำลังกาย และการเชิญเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นเกียรติ เช่น ครู เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภาทนายความ ไปให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย และอื่นๆ โดยเฉพาะ อบต. จะเป็นแม่งานใหญ่ และเป็นที่ปรึกษาของ ชมรมฯ
  • การรับประทานอาหารร่วมกัน โดยห่ออาหารมาจากบ้าน ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่ มีการแลกเปลี่ยนอาหารกิน และนั่งคุยกัน
  • กิจกรรมการออกกำลังกาย ปี 2551 มีกิจกรรม 2 อย่าง คือ กระบอง และฟ้อนเจิงเริงระบำ เป็นนวัตกรรมของตำบลพะวอ
  • นวัตกรรมใหม่ ปี 2552 คือ นวัตกรรมออกกำลังกาย เคียเถาว์เก้าชีวิต โดยใช้เถาวัลย์ มาทำท่าออกกำลังกาย เพราะในพื้นบ้านมีเยอะ
  • กิจกรรมลด ละ เลิก ต่อต้านการสูบบุหรี่ เราทำทุกปี
  • กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน เมื่อก่อนเป็นงบประมาณของ สสส. ตั้งแต่ปี 2550 จะมีสมาชิกเป็นอาสาสมัคร ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ที่ติดเตียง ผู้ชรา ผู้พิการ ไปไหนไม่ได้ จะไปเยี่ยม มีการอบรมอาสาสมัคร เรื่อง การแนะนำกินยา ไปช่วยนวด ช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ให้ผู้สูงอายุติดเตียง ไปให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ เดือนหนึ่งไป 2 ครั้ง ทุกหมู่บ้าน
  • กิจกรรมเรื่อง ส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ ทำตอนปลายปี ชมรมฯ ได้ไปอบรมที่ลำปาง และกลับมาทำ เชิญสมาชิก อสม. และฝ่ายต่างๆ มาประชุมหารือกันว่า จะมีวิธีการแบบไหน และหางบประมาณไหน
  • โครงการคืนรอยยิ้ม แก่ผู้สูงวัย ตำบลพะวอ โดยจัดกิจกรรม อบรมให้ความรู้ ฝึกทักษะการแปรงฟันโดย อสม. และเจ้าหน้าที่ สอ.
  • กิจกรรมตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มีการวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต เจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ ตรวจฟัน
  • แจกอุปกรณ์ให้แก่สมาชิก ได้แก่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก้วน้ำ

การอบรมการให้เกี่ยวกับช่องปาก มีเมนู แนะนำอาหารอ่อนหวาน มีน้ำพริกกะปิ บวบ ที่เกี่ยวกับอาหารผู้สูงอายุ

 

ยาสีฟันสมุนไพรทำเอง จากภูมิปัญญาท้องถิ่น มีผู้สูงอายุเป็นหมอสมุนไพร แนะนำให้ใช้ อบเชย ใบข่อย ดินสอพอง กานพลู พิมเสน สารส้ม การบูร ใบฝรั่ง 8 อย่างนี้ ที่เป็นใบนำมาตากแดด และมาคั่วให้แห้ง และนำมาบดรวมกัน เป็นยาสีฟัน ... ยาสีฟันสมุนไพรสูตรนี้ มีสรรพคุณ 2 อย่างหลักๆ คือ รักษารากฟัน และระงับกลิ่นปาก

ปี 2555 มีแผนทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ในเรื่อง

  • ตรวจฟันแก่สมาชิก
  • ย้อมสีฟัน
  • จัดแนะนำเมนูอาหาร
  • ประกวดผู้สูงอายุฟันดี
  • ก่อนตั้งกองทุนแปรงสีฟัน ยาสีฟัน
  • ทำยาสีฟันสมุนไพร … สาธิตการทำให้แก่สมาชิก

ชมรม ผส. ตำบลสองแคว 1

เป็นหนึ่งใน 20 ชุมชนผู้สูงอายุ ในเขตเทศบาลนครแม่สอด เดิมเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีชื่อว่า บ้านพะหน่อแก ต่อมามีคนไทยจากถิ่นอื่นหลายพื้นที่ในภาคเหนือ โดยชาวบ้านชื่อ นายปัน ใจทึก เดิมอยู่หมู่บ้านสองแคว ตำบลนาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง อพยพมาทำมาหากินในหมู่บ้านนี้เป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเจ้าของถิ่นฐานเดิม อพยพไปอยู่ที่อื่น หมู่บ้านนี้ได้เจริญขึ้น จนได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านสองแคว

นครแม่สอดได้แบ่งเขตหมู่บ้านออกเป็นชุมชน เรียกเป็นชุมชน สองแคว 1 และชุมชนสองแคว 2

ประวัติความเป็นมาของชมรมผู้สูงอายุสองแคว 1

ชมรมผู้สูงอายุสองแคว 1 ตั้งขึ้นเมื่อ 25 กย.2547 ตามแผนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลนครแม่สอด จัดตั้งหน่วยบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ในรูปแบบคลินิกชุมชนอบอุ่น แบ่งเขตความรับผิดชอบการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กับ รพ.แม่สอด เป็นผลให้ชุมชนสองแคว 1 รับขึ้นทะเบียนบัตรทองกับ คลินิกชุมชนอบอุ่น

ชุมชมสองแคว 1 จึงเป็น 1 ใน 10 ชุมชนที่คลินิกชุมชนอบอุ่น กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครแม่สอด ต้องรับผิดชอบดูแล

วิสัยทัศน์ของชมรม ... เป็นศูนย์รวมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุทางด้านสุขภาพอนามัย สุขภาพกาย สุขภาพจิต อารมณ์ สังคม ตลอดจนพัฒนาผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่า ทั้งความรู้ และประสบการณ์ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ และภูมิปัญญากับชมรมอื่นๆ ได้

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งชมรมฯ

  1. เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพอนามัยที่พึงประสงค์ สามารถดูแลตนเอง สมาชิกในครอบครัว และชุมชนได้
  2. เพื่อให้ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชน มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต อารมณ์ สังคม ของผู้สูงอายุ
  3. เพื่อช่วยผู้สูงอายุมีความพร้อมในการปรับตัว เข้าสู่บทบาทของผู้สูงอายุ
  4. พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ให้เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ และประสบการณ์ เป็นผู้ถึงพร้อมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และเป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่า เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ทางด้านต่างๆ ให้แก่ชนรุ่นหลัง ให้ชุมชน และท้องถิ่น
  5. เพื่อเฝ้าระวังภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ และสร้างความตระหนัก เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดี เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาว
  6. ติดตามผลการบำบัดรักษาผู้สูงอายุ ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และภัยคุกคามด้านสุขภาพ
  7. เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุตระหนักเห็นคุณค่าของตนเอง

ปัจจุบัน ชมรมฯ มีสมาชิก 170 คน สามัญ 76 คน วิสามัญ 94 คน สมาชิกสามัญที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ 70 คน ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง 4 คน และผู้สูงอายุที่ป่วย ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 2 คน

ชมรมฯ เป็น 1 ใน 20 ชมรมผู้สูงอายุ เทศบาลนครแม่สอด มีการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ มีระเบียบชมรม ภายใต้การนำของนายสุธรรม แสงหล้า ประธานชมรมผู้สูงอายุ

กิจกรรมประจำเดือนที่จัดในชมรมฯ มีดังนี้

  1. กิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ
  2. กิจกรรมตรวจสุขภาพ โดย บุคลากรสาธารณสุข และ อสม. ประจำชุมชน
  3. กิจกรรมการให้ความรู้ด้านสุขภาพประจำเดือน จากบุคลากรสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น
  4. กิจกรรมบำบัด เช่น ให้คำปรึกษาแนะนำยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อรัง ที่ผู้สูงอายุทานเป็นประจำ ติดตามผลการรับประทานยา และการรักษาต่อเนื่อง หรือจัดกิจกรรมบำบัดเฉพาะโรค เช่น ดนตรีบำบัดเพื่อขจัดความเครียด โภชนาบำบัด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  5. กิจกรรมการออกกำลังกาย
  6. กิจกรรมนันทนาการ
  7. กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องต่างๆ โดยทีมพี่เลี้ยงสัญจร ซึ่งเป็นการรวบรวมผู้สูงอายุที่มีความรู้ในด้านต่างๆ มาเป็นวิทยากรให้แก่ชมรมผู้สูงอายุชมรมอื่นๆ ซึ่งภารกิจนี้ รับผิดชอบโดย คณะกรรมการอำเภอแม่สอด
  8. กิจกรรมสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน โดย อาหารสำหรับผู้สูงอายุ จะเน้นอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และเนื้อปลา

ชมรม ผส. ชุมชน สองแคว 1 มีความเข้มแข็ง มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ

ชมรมฯ เป็นชมรมหนึ่งใน 20 ชุมชน มีนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพ กับวัด โรงเรียน ชุมชน สังคม เช่น นวัตกรรมรำกลองยาว กะลามะพร้าวมหัศจรรย์ และผู้สูงอายุชุมชนสองแคว 1 ได้ประยุกต์องค์ความรู้ มาเป็นรำกลองยาวกะลามะพร้าวมหัศจรรย์ โดยประยุกต์ท่าออกกำลังกายโดยกะลามะพร้าว เป็นท่ารำจำนวน 6 ท่า ดังนี้

  1. ท่าเริงระบำ ประโยชน์ แก้ปวดหลัง แก้ปวดกล้ามเนื้อแขน และไหล่ คลายกล้ามเนื้อหลังและไหล่
  2. ท่าขึ้นต้นมะพร้าว ประโยชน์ คลายกล้ามเนื้อน่อง หลัง แขนและไหล่
  3. ท่ากินมะพร้าว ประโยชน์ คลายกล้ามเนื้อแขน หลัง ระบบทางเดินหายใจ
  4. ท่าขูดมะพร้าว ประโยชน์ บริหารกล้ามเนื้อเอว แขน และไหล่
  5. ท่าหันหลังชนกันคั้นน้ำกะทิ ประโยชน์ บรหารกล้ามเนื้อหลัง แขน ไหล่ และเนื้อขา
  6. ท่ากรองกะทิ ประโยชน์ บริหารเอว กล้ามเนื้อหลัง แขน และไหล่

และชมรมฯ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก โดยจัดทำโครงการเม็ดสีย้อมฟัน จากดอกผักปั๋ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพช่องปากส่วนใหญ่ เป็นปัญหาที่สำคัญของผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาพช่องปากและฟัน เป็นสิ่งที่ชมรมฯ ต้องให้ความสำคัญ ชมรมฯ ได้รับการตรวจเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพช่องปาก จากบุคลากรสาธารณสุข รพ.แม่สอด และคลินิกชุมชนอบอุ่น กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

ผู้สูงอายุมีความเข้มแข็ง เนื่องจากมีต้นทุนทางสังคมที่ดี เช่น มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตสาธารณะ ผู้สูงอายุมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา แกนนำในการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค และเป็นอาสาสมัครจิตอาสา ได้แก่ กิจกรรมอาชีวบำบัด กิจกรรมเกศาบำบัด กิจกรรมดนตรีบำบัด กิจกรรมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

โครงงานเม็ดสีย้อมฟัน

ที่ชมรมฯ จะพบว่า ผู้สูงอายุ 70-80% มีปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปาก

ชมรมฯ จึงช่วยกันคิดว่า เราน่าจะมีเรื่องของการดูแลสุขภาพช่องปาก ว่าจะทำอย่างไรให้ฟันของเราแข็งแรง

มีผู้เสนอว่า ถ้าอยากให้ฟันแข็งแรง ต้องหมั่นดูแลฟัน โดยการแปรงฟัน โดยเน้นการแปรงฟัน วันละ 2 ครั้ง คือ ก่อนนอน และตอนเช้า

แต่เรื่องของการแปรงฟันให้สะอาด ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ยังมีการแปรงถูกบ้าง ผิดบ้าง ... จึงได้ปรึกษากัน ได้รับคำแนะนำว่า ลองให้ผู้สูงอายุย้อมสีฟันดู จะทำให้เห็นว่า ท่านแปรงฟันสะอาดหรือไม่

ตอนแรก ใช้เม็ดสีที่ได้จากโรงพยาบาล แต่เนื่องจากว่า ไม่ได้รับการสนับสนุนบ่อยครั้ง เลยคิดว่า ต้องหาอะไรมาแทน บางรายที่มีปัญหาเรื้อรัง คือ บอกกี่ครั้งก็ยังติดสีอยู่ ก็จะเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อเม็ดสีย้อมฟันบ่อย จึงคิดที่จะหาวัสดุพื้นบ้าน และใช้แทนกันได้ เคยเห็นหลายๆ ที่เขาใช้ขมิ้นบ้าง ดอกอัญชัญบ้าง

เคยลองเอาขมิ้นมาทำ ปรากฎว่าจะแปรงออกยากมาก ต้องใช้ทำเป็นผงก่อน ทำให้ขั้นตอนทำค่อนข้างยุ่งยาก เลยมาดูว่า มีวัสดุอื่นอีกไหม ที่อยู่ในท้องถิ่น แล้วทำได้ง่ายกว่า ขมิ้น หรือดอกอัญชัญ

มาพบ ดอกผักปั๋ง หรือผักปัง ที่ขึ้นตามรั้ว โดยเฉาะในชุมชน สองแคว 1 เป็นผักพื้นบ้านที่เขาปลูกกันแทบทุกครัวเรือน พอเม็ดแก่ ก็เลยเด็ดออกมา เอามาลอง ตอนแรก เอามาเคี้ยวก่อน และแนะนำให้กวาดลิ้นไปทั่วปาก และบ้วนน้ำเล็กน้อย และไปแปรงฟัน ก็ใช้ได้

อีกวิธีหนึ่ง ลองเอาเม็ดประมาณหยิบมือ มาบี้ คั้นเป็นน้ำ และทำการย้อม ตามที่ทันตแพทย์แนะนำ คือใช้สำลีก้อนเล็ก หรือ คอตตอนบัด จุ่ม และทาให้รอบ ปรากฎว่า ใช้ได้เหมือนกัน

รวมเรื่อง พัฒนาชมรมผู้สูงอายุต้นแบบที่ ศูนย์ฯ 9

 

หมายเลขบันทึก: 460327เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2011 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

งานพัฒนาผู้สูงอายุเป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริม ในส่วนของผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลและมีคนดูแลเลี้ยงดู
ในกรณีที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งโดยเจตนาและไม่เจตนจากลูกหลานหรือญาติซึ่งมีอยู่ในสังคมนับวันจะทวีเพิ่มมากขึ้น
ผู้สูงอายุกลุ่มนี้คงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการเยียวยา และมีปัญหาทางกายและสุขภาพจิต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดความสุขและความอบอุ่นในบรรยากาศของความเป็นครอบครัว
ไม่ทราบว่าจะยื่นมือเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องอย่างเข้าใจปัญหาอย่างไร
และการดูแลทั้งการดูแลในบ้านและการดูแลนอกบ้านในอาคารรวมที่จัดไว้ให้หรือไม่อย่างไรคะ

  • Ico48
  • เห็นด้วยค่ะ ว่า เราคงจะต้องมีการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ
  • เช่น ตอนนี้ ในแง่ของกรมอนามัย เราจะมุ่งที่ ผู้สูงอายุที่แข็งแรง สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยกันเองได้ และไปช่วยผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ติดเตียง ได้ เรื่องนี้ เป็นความสามารถที่ท่านช่วยกันเองได้
  • ในเรื่องความต้องการที่มากขึ้น ที่ต้องอาศัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ต้องจัดระบบลงไปช่วยกัน มีผู้คิดทำกันบ้างแล้ว เช่น โรงพยาบาลสองหมื่นเตียงของนครศรีธรรมราช และอื่นๆ ... เป็นลักษณะของชุมชน ที่จะให้การช่วยเหลือ ในรูปแบบต่างๆ กันไป
  • และก็คงจะมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องลงไปวิเคราะห์ และจัดระบบให้เหมาะสมนะคะ
  • ขอบคุณนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท