เวทีขับเคลื่อนและร่วมเรียนรู้กระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ (๑)


กฎหมายถ้าไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ก็เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึก

เมื่อวันที่ ๑-๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ดิฉันได้เข้าประชุมเวทีขับเคลื่อนและร่วมเรียนรู้กระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ในนามของเครือข่ายสถาบันการศึกษาพยาบาลศาสตร์ ณ ห้องประชุมแอสแคปฮอล์ล อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

การประชุมครั้งนี้เป็นงานใหญ่ มีผู้ร่วมงานประมาณ ๑,๔๐๐ คน นอกจากพวกเราคนไทยแล้ว ยังมีตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศ ทูตานุทูตจากหลายประเทศ  ผู้เข้าประชุมถูกจัดเป็นกลุ่มเครือข่ายต่างๆ รศ.มาลินี ธนารุณ ได้เล่าบรรยากาศของการประชุมไปบ้างแล้ว (อ่านที่นี่)

ช่วงที่รอการเปิดประชุมอย่างเป็นทางการ มีการแสดงของศิลปิน ศุ บุญเลี้ยง ซึ่งร้องเพลงเพราะๆ ให้ฟัง แต่ดิฉันไม่ค่อยได้ตั้งใจฟังสักเท่าไหร่ เพราะมัวทักทายพูดคุยกับคนที่รู้จักหลายๆ คน ในพิธีเปิดมีกิจกรรม “ร้อยเรียงเรื่องราวการปฏิรูประบบสุขภาพสู่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ” ผ่านละครเพลงโดยสโมสรผึ้งมหัศจรรย์ (ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับสโมสรผึ้งน้อยหรือเปล่า) ที่มี VCD สลับไปด้วย ทำให้เรารู้ว่า ๗ ปีกว่าจะถึงวันนี้ เรื่องราวของ พ.ร.บ.สุขภาพ เดินมาอย่างไรบ้าง

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการจัดงาน กล่าวรายงานประมาณ ๕ นาที และบอกว่าการจัดประชุมครั้งนี้ทดลองจัดในรูปแบบกึ่งสมัชชาสุขภาพ เพื่อให้องค์กรภาคีเครือข่ายได้คุ้นเคยกับการประชุมอย่างเป็นระบบ

นายกรัฐมนตรี ประธาน คสช. กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติกับการสร้างสุขภาวะ” ว่าพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติไม่ใช่กฎหมายทางการแพทย์หรือสาธารณสุขทั่วไป สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการออกแบบเครื่องมือใหม่ให้แก่สังคมไทย ตามที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสีกล่าวว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคม เป็นเครื่องมือของทุกฝ่ายในสังคมเพื่อทำให้เกิดสุขภาวะ ไม่รอให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว ท่านนายกรัฐมนตรียินดีให้การสนับสนุน

สมัชชาสุขภาพทำงานเกินกว่าเรื่องของความเจ็บไข้ได้ป่วย การมาประชุมวันนี้ มาช่วยกันคิดงานที่สำคัญ.................นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวถึงหลักคิดที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของบุคคลและสังคม คือปรัชญาเศรฐกิจพอเพียง ประชาชนควรใช้ชีวิตแบบเดินสายกลาง ต้องวางอยู่บนความพอดีและพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย ฯลฯ

ต่อจากนั้นเป็นการพักรับประทานอาหารว่าง เนื่องจากมีผู้เข้าประชุมจำนวนมาก การบริการจึงค่อนข้างติดขัดล่าช้า แต่เราก็หาทางจนได้รับประทานอาหารว่าง เพราะเมื่อเช้ารีบมาประชุมจนไม่ทันได้รับประทานอาหารเช้า แถมกว่าจะถึงเวลาอาหารกลางวันก็ตั้ง ๑๒.๓๐ น. ตามปกติดิฉันมักจะไม่รับประทานขนมเบเกอรี่ วันนี้ไม่มีทางเลือก ต้องแก้หิวไว้ก่อน

กลับเข้าห้องอีกครั้ง มีการเสวนาเรื่อง “พ.ร.บ.สุขภาพฯ จะมีน้ำยาจริงหรือ” มีผู้ร่วมเสวนาถึง ๘ คน โดยมีพิธีกรอาชีพคือคุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธุ์ ดำเนินรายการ

ดร.เสรี พงศ์พิศ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงกล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีวิญญาณ (soul) และจิตวิญญาณ (spirit) เราควรให้ความสนใจความระหว่างบรรทัด ท่านเห็นว่า พ.ร.บ.ให้กรอบที่ดี ต้องหาแผนงาน กิจกรรม ตัวชี้วัดเพื่อให้วิญญาณที่สร้างมาแล้วเติบโตและมีความสมบูรณ์ พ.ร.บ.พยายามปลดปล่อยคนไทยจากสังคมอุปถัมภ์ (ปลดปล่อยความคิด) อยู่ในอำนาจของคนในวิชาชีพ (หมอเป็นเทวดา ยาเป็นของวิเศษ) ให้พึ่งตนเองได้ทางสุขภาพ คืนสุขภาพให้ประชาชน พ.ร.บ. ฉบับนี้พูดเรื่องคุณธรรม เรื่อง “กินเป็น ใช้เป็น อยู่เป็น” ทำอย่างไรให้กินอาหารเป็นยา ไม่ใช่กินยาเป็นอาหาร ทำอย่างไรให้ป่าเป็นโรงพยาบาล ต้องสร้างข้อมูลความรู้เพื่อเป็นบานให้สุขภาพ ประชาชนเป็นเจ้าของสุขภาพ ต้องเริ่มจากตัวเขา ครอบครัว และชุมชนเป็นอันดับแรก

นายเล็ก กุดวงษ์แก้ว จากสกลนคร บอกว่าเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่รู้กฎหมายนิดหน่อย เรื่องชีวิตของคนเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีคนที่มีความเข้าใจ การเปลี่ยนความคิดเป็นเรื่องยากที่สุดในโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ ควรมีคนไปประสานจัดเวทีแลกเปลี่ยนให้เขา จัดบ่อยๆ ให้เรียนรู้แบ่งปันสิ่งดีงาม ยิ่งหลายคนยิ่งมีหลายเรื่อง คนที่จะประสานนี้ต้องเข้าใจลึก (การสรรหาตัวบุคคลที่จะลงไปในพื้นที่) เมื่อคนเปลี่ยนความคิด ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม ค่านิยม และวิถีชีวิตได้ คุณเล็กฝากเรื่องการหาคนที่จะไปช่วยกระตุ้น และบอกว่าระบบการศึกษาของเราไม่มีหลักสูตรสำหรับชีวิต ถ้าจะให้ดีควรเชิญ อบต. ผู้นำชุมชน มาปรับกระบวนทัศน์ (กระบาลทัศน์) เสียก่อน

นางรัตนา สมบูรณ์วิทย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.จะมีน้ำยาหรือไม่อยู่ที่ “คน” ยกตัวอย่างกรณีมาบตาพุด พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เป็นของประชาชนจริงๆ กฎหมายตัวนี้มีบทกำหนดลงโทษน้อยมาก เจตนารมณ์ในการสร้าง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการสร้างสุขภาพ เน้นสร้างนำซ่อม ถือว่าเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้ามากและทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทลายกำแพงของสังคมที่เดิมตกเป็นหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ คนที่จะลงไปแนะนำต้องเป็นตัวอย่าง กฎหมายเป็นตัวหนังสือ ต้องไปติดตามว่าเอาไปใช้ได้จริง ทำให้เป็นจริงได้อย่างไร เรื่องของสุขภาพคือทุกเรื่อง จะมีน้ำยาหรือไม่อยู่ที่ผลการทำงานของสมัชชาและภาคี

นายสมชาย แสวงการ ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน บอกว่ารู้เรื่องนี้น้อยมาก เห็นแต่ไม่รู้รายละเอียด จะทำอย่างไรที่จะทำให้ พ.ร.บ.นี้ขับเคลื่อนออกมา พระเอกคนเดิม (แพทย์) ต้องลดบทบาทลง สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ต้องเอาเข้ามาร่วม


ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่าแพทย์ทั่วประเทศดีใจและสนับสนุนที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในสุขภาพของตนเอง แพทย์จะทำหน้าที่ให้องค์ความรู้แก่ประชาชน แพทย์จะเป็นหลัก แพทย์ดูแลสุขภาพประชาชน แพทยสภาดูแลแพทย์ ยอมรับว่าแพทย์สื่อสารไม่เป็น โดยหลักการแล้วเห็นด้วยกับเนื้อหาของ พ.ร.บ. มีเพียงบางมาตราที่ยังมีปัญหา เช่น พินัยกรรมชีวิต แพทยสภายุคใหม่จะเน้นความโปร่งใสใส่ใจประชาชน ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กร และตบท้ายด้วยข้อมูลตัวเลขภาระงานของแพทย์ว่าทำงานหนัก ก็ย่อมมีพลาดได้ อย่างไรก็ตามแพทยสภาขอสนับสนุน พ.ร.บ.

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพา อธิบดีกรมอนามัย เตือนว่าอย่าเพิ่งไประเริงกับสิ่งที่ได้มา เหมือนกับได้กุญแจมาลูกหนึ่ง (กุญแจเริ่มต้นที่จะไขไปสู่ความยุ่งยาก แต่ถ้าผ่านความยุ่งยากไปได้ก็คือความสำเร็จ) ต่อไปกลุ่มที่จะเข้ามาจะต่างจากเดิม เช่น กลุ่มปกป้องผลประโยชน์ จะยุ่งยากกว่าเดิม กฎหมายถ้าไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ก็เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึก ยังมีเรื่องที่ต้องประสานอีกมาก

หน่วยราชการต้องปรับวิธีการทำงาน ระวังกับดักและหลุมพราง ที่ต้องระวังที่สุดคือกรอบงบประมาณ จะทำให้เกิดความไม่เป็นมิตร งานนี้เป็นการ “ชกเป้าใหญ่ แต่หวังเป้าเล็ก” ชกเป้าใหญ่เพราะหวัง พ.ร.บ.ระดับประเทศ การหวังผลเป้าใหญ่ต้องใช้เวลามาก ต้องหวังผลเป้าเล็ก เช่น เฉพาะประเด็น เฉพาะพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับการกระจายอำนาจด้วย ถ้าไปเอาตัวใหญ่ แล้วดันตัวใหญ่ลงล่าง อาจไม่สำเร็จ (ไม่มีน้ำยา)

นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ตัวแทนนักธุรกิจ ออกตัวว่าตนเองคล้ายตัวแทนสื่อมวลชนที่รับรู้เรื่องนี้น้อยมาก รับรู้นานๆ ครั้ง ใน พ.ร.บ.นิยามสุขภาพในวงกว้าง รวมสุขภาวะของสังคมด้วย อาชีพธุรกิจเก็บตัวตลอด ไม่ค่อยแสดงจุดยืนออกมา นพ.ประเวศพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจออกมามีส่วนร่วมในการพัฒนาและรับผิดชอบสังคมมากขึ้น จาก พ.ร.บ. ไปสู่ธรรมนูญและเอาไปใช้ มองว่าการเอาไปใช้ให้ได้ผลยังมีอุปสรรค key word คือความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วม และความคาดหวังของสังคม

ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมต้องเริ่มจากภายในของธุรกิจเอง (ผลิตของดี ไม่เป็นโทษต่อผู้บริโภค กำไรพอควร) สังคมต้องเข้มแข็ง ความรับผิดชอบของธุรกิจจึงจะยั่งยืน เช่น การเรียกคืนของในต่างประเทศ ของไทยไม่เคยเกิดขึ้น สะท้อนความเข้มแข็งของสังคม อีกอย่างคือการสร้างนโยบายสาธารณะที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน จะเกิดการยอมรับได้ง่าย ตัวอย่างเรื่องเขื่อนปากมูลที่ใช้เวลานานมากแล้วยังไม่จบ หาก พ.ร.บ. มีน้ำยาจริง จะได้ไม่เฉพาะระบบสุขภาพ แต่จะได้ทุกๆ ส่วนของสังคม

นางสาวจุฑามาศ แพงเวียง ตัวแทนเยาวชน เปรียบ พ.ร.บ.เหมือนยา แต่ยังไม่มีวิธีการใช้ (ธรรมนูญ) ฟังผู้ใหญ่แล้ว อยากให้แปลงเป็นฉบับที่เด็กเข้าใจง่าย การเอาไปสู่ประชาชน ไม่ใช่จู่ๆ เอาหมอที่ไหนไม่รู้ลงไปบอก ควรเอาคนในชุมชนที่พูดแล้วน่าฟัง ถ้าทุกๆ คนที่มาได้เอาความรู้ไปเผยแพร่ พ.ร.บ.ก็จะมีประโยชน์แน่นอน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 144399เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท