AAR มหกรรม KM เบาหวาน


KM เคลื่อนสังคมได้

ช่วงบ่ายมหกรรม KM เบาหวานวันที่ ๓ ผู้เข้าประชุมบางส่วนทยอยกลับกันไปบ้างแล้ว เหตุการณ์แบบนี้ดูจะเป็นเรื่องปกติที่พบได้ หลังพัก รับประทานอาหารว่าง ก็เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการประชุมเราตั้งใจจะให้ผู้เข้าประชุมได้ทำความรู้จักกับ AAR และเอากลับไปใช้ต่อ

คุณธวัช หมัดเต๊ะ เปรียบเทียบว่า AAR ก็เหมือนกับ “การคุยกัน คั่นระหว่างยก” ยกตัวอย่างมวยที่ระหว่างพักยกก็ต้องคุยกันว่ายกต่อไปจะยังไง เครื่องมือนี้นำมาจากการทำงานของทหารระหว่างสงคราม เราแจกกระดาษสีแดง ชมพู เหลือง เขียว ที่คุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน ตัดไว้เป็นรูปหัวใจ ให้กับผู้เข้าประชุม ดิฉันดัดแปลงรูปแบบนี้มาจากกิจกรรมการพัฒนาแกนนำของทีมพุทธชินราชที่รีสอร์ทในพรหมพิราม เพราะเห็นว่าเป็นรูปแบบที่ไม่เป็นทางการดีและสื่อถึงความรู้สึก

คุณธวัชบอกคำถาม AAR ๕ ข้อ ให้ผู้เข้าประชุมเขียนชื่อของตนเองในกระดาษรูปหัวใจที่ได้รับและเลือก AAR ในประเด็นที่อยากแสดงความรู้สึกมากที่สุด ระหว่างนั้นมีการฉาย VDO นานประมาณ ๑๑ นาทีกว่า เป็นภาพบรรยากาศการประชุมทั้ง ๓ วัน และการสัมภาษณ์ผู้เข้าประชุมบางส่วน ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ และผู้ป่วย สิ่งที่ผู้เข้าประชุมหลากหลายสาขาวิชาชีพและผู้ป่วยสะท้อนออกมาว่าเขาได้อะไรบ้าง มีความรู้สึกอย่างไร แสดงให้เห็นว่าการประชุมของเราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แล้ว และยังเกิดความรู้สึกดีๆ อีกมากมาย

งานส่วนนี้มาจากคำแนะนำของอาจารย์วิจารณ์ ส่วนผู้ที่ทำให้เกิดขึ้นได้คือคุณเอก ไพโรจน์ ที่เมื่อคืนตัดต่อ VDO จนไม่ได้นอน และทีมงานอีก ๑ คน รวมทั้งคุณหญิง นภินทร ที่คอยประกบช่วยเหลือ มองหาผู้ที่จะให้สัมภาษณ์

ต่อจากนั้นเราเก็บ AAR ที่ผู้เข้าประชุมในห้องเขียนใส่กระดาษรูปหัวใจ เอามาใส่กล่องใหญ่แล้วจับฉลากให้ผู้เข้าประชุมได้พูด AAR ๓ คน ที่ถูกจับฉลากออกมามี แพทย์ พยาบาล และนักโภชนาการ ดิฉันดีใจที่แพทย์บอกว่าตนเองได้แง่คิดจากผู้ป่วย พยาบาลปิ๊งกระบวนการ และทุกคนได้ความรู้ที่จะเอาไปใช้ต่อได้

ได้เวลา ๑๕.๔๕ น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวปิดประชุม ย้ำว่า “ความรู้อยู่ในการปฏิบัติ การปฏิบัติคือการเรียนรู้” เราใช้คนไข้เป็นตัวตั้ง เราใช้ความปรารถนาร่วม ซึ่งภาษา LO เรียก Shared vision

 

 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวปิดประชุม

Shared vision นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตระหนักด้วยว่าแต่ละคนแต่ละวิชาชีพมีความสำคัญ ต้องมี Team work แล้วก็มี Team learning เราสามารถสร้างความรู้ได้จากการปฏิบัติของเรา เป็น Personal mastery เมื่อเราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราเข้าใจคนอื่น เข้าใจวิธีคิดรวมทั้งเข้าใจตนเองด้วย ซึ่งก็คือ Mental models เมื่อเราทำงาน เรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวิชาชีพ ข้ามไปยังผู้ป่วย เราจะเห็นว่าต้องทำหลายเรื่อง ต้องทำเป็นระบบเบาหวานและระบบย่อยๆ มีหลายระบบปนกันอยู่ โยงไปสู่ Systems thinking ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วคือ ๕ discipline ของ Peter Senge อาจารย์วิจารณ์บอกว่าเอาทฤษฎีใส่เข้าไปลองตีความให้เห็นว่าที่เรากำลังทำอยู่เป็นส่วนหนึ่งของ LO

เรายิ่งทำงาน ยิ่งนานไป ยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ การดำเนินงานเฉพาะ KM DM เมื่อเข้าไปสู่ชุมชน มันทำให้ชุมชนเข้มแข็ง งานอย่างนี้ก็มหัศจรรย์ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของ กระบวนการอย่างนี้จะเคลื่อน learning society

ปิดประชุมอย่างเรียบง่าย ความจริงตลอดการประชุมก็ไม่มีพิธีรีตองอะไร ทุกอย่างง่ายๆ ไปหมด ไม่น่าเชื่อว่าเวทีนี้ทั้งบุคลากรสหสาขาวิชาชีพและผู้ป่วยได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างกลมกลืน ไม่มีแปลกแยก ผู้ป่วยรายที่ถูกสัมภาษณ์บอกดิฉันว่า “เขาไปสัมภาษณ์ ฉันน้ำตาจะไหล มางานนี้ หมอดูแลดีมาก ไม่มีรังเกียจเลย”

เมื่อดิฉันกลับมาถึงบ้าน รีบเอากระดาษรูปหัวใจที่ผู้เข้าประชุมเขียน AAR ออกมาอ่าน นับได้ ๑๒๒ ใบ อ่านแล้วรู้สึกชื่นใจมากที่ผู้เข้าประชุมได้อะไรที่เกินความคาดหวังและได้ “มากกว่าความรู้” หลายคนได้แรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำอะไรต่อ เช่น “เอา KM DM ไปใช้กับคนไข้รอบข้างอย่างแน่นอนที่สุด” “จะสร้างเครือข่ายในอำเภอ”  คุณหมอสุพจน์ รอดอยู่ บอกว่า “แต่ก่อนเบื่อการดูแลแผล DM มากๆ จากการมาอบรมครั้งนี้คงทำให้แผลผู้ป่วย DM หายเร็วขึ้น”

คุณชาลิสา คอสุจริต บอกอย่างกระตือรือร้นว่า “จะเอา KM กลับไปใช้กับเพื่อนร่วมงาน.......จะไปใช้พรุ่งนี้เลย”

การเขียน AAR ในกระดาษรูปหัวใจ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกอิสระ แสดงความรู้สึกออกมาจากใจได้ง่าย หลายคนวาดรูปแสดงความรู้สึกแทรกมาด้วย ดิฉันจะให้ทีมทำงานทุกคนได้อ่าน AAR เหล่านี้ด้วยตัวเอง

 

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการประชุม ๓ วันนี้คือความมหัศจรรย์ของ KM ซึ่งทำให้ดิฉันเชื่อยิ่งขึ้นว่า “KM เคลื่อนสังคมได้”

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 115400เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2007 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์วัลลาคะ

         ดิฉันเชื่อว่า แม้เพียงคำพูดประโยคสั้น ๆ ในกระดาษหัวใจ AAR ก็สามารถทำให้หัวใจจิตอาสาอย่างอาจารย์หัวใจพองโตได้  ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ

        ติดตามเรื่องเล่า มหกรรม KM DM ของอาจารย์ทุกตอน อ่านแล้วเห็นภาพ เพลิดเพลิน ร่วมรู้ เรียนรู้ .......ฯลฯ ขอบพระคุณสำหรับสิ่งดี ๆ ในเวทีนี้ค่ะ

     ยินดีกับพี่วัลลาที่จัดงานประชุมแบบลูกผสมแนวใหม่ของเราได้อย่างราบรื่นและกลมกลืน ผมเชื่อว่าหัวใจกระดาษหลากสีเหล่านี้เป็นยิ่งกว่าน้ำทิพย์ใดๆหล่อเลี้ยงหัวใจคนทำงานอย่างเราให้มีพลังทำสิ่งดีๆแบบนี้ต่อไปอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยนะครับ คาดว่างานมหกรรมคุณภาพของ พรพ น่าจะเป็นอีกงานนึงที่ใช้ทดสอบพลังใจกันอีกครั้งครับ

ผมอ่านเรื่องราวบันทึกของอาจารย์วันนี้เองครับ

นึกถึงบรรยากาศ ที่มีกิจกรรมมากมาย แต่ผมว่าคนทำงานไม่เหนื่อยนะครับ  ดูจากผลงานแล้ว

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท