BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑

สิงคากสูตร เป็นพระสูตรสำคัญยิ่งในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ เนื้อหาทั่วไปว่าด้วยหลักดำเนินชีวิตที่ง่ายๆ เข้าใจไม่ยาก และสามารถปฏิบัติได้เลย ซึ่งพวกเราเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว เช่น หน้าที่ของพ่อแม่ การคบมิตร  และเรื่องอบายมุข เป็นต้น.... อาจกล่าวได้ว่า หลักจริยธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนาเกือบทั้งหมด มีปรากฎอยู่ในพระสูตรนี้

นิทานโดยย่อเล่าว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์... ตอนเช้าวันหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จออกจากวัดเข้าไปยังพระนครเพื่อบิณฑบาตนั้น ก็ทรงเห็นนายสิงคาลกะ ซึ่งเป็นลูกนายบ้าน กำลังนอบน้อมทิศทั้ง ๖ (หน้า หลัง ซ้าย ขวา บน และล่าง) จึงตรัสถามว่า ดูกรลูกนาย เธอนอบน้อมทิศอย่างนี้เพราะเหตุอะไร ?

ลูกนายบ้านจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พ่อสั่งไว้เมื่อใกล้ตาย ว่าให้นอบน้อมทิศทั้ง ๖ ข้าพระพุทเจ้าเมื่อระลึกถึงคำของพ่อ จึงได้กระทำอย่างนี้ ...

พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า ในวินัยของพระอริยเจ้าจะไม่นอบน้อมทิศอย่างนี้  นายสิงคาลกะสงสัยจึงทูลถามเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า

ดูกรลูกนายบ้าน อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้วทั้งโลกนี้และโลกหน้า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

และเนื้อหาต่อไปทั้งหมด จะเป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายข้อความข้างต้น....

..................

เนื้อหาตามข้อความข้างต้นนั้น จำแนกเป็นหัวข้อได้ดังนี้ 

  • ละ                    กรรมกิเลส ๔
  • เว้น                  บาปกรรมโดยฐานะ ๔
  • ไม่เสพ             ทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖
  • ไม่มี                 กรรมอันลามก ๑๔
  • ควรนอบน้อม  ทิศ ๖

ตามหัวข้อเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า ๔ ข้อแรกเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ หรือไม่พึงได้ ไม่พึงมี ไม่พึงถึง... ส่วนข้อสุดท้ายเป็นสิ่งควรกระทำ หรือพึงให้เกิดขึ้น... ประมาณนี้

.................

ถามว่า นายบ้านผู้เป็นพ่อของเขาจึงได้สั่งไว้ทำนองนี้เพราะเหตุอะไร ? 

ก็มีนิทานเพิ่มเติมตามคัมภีร์อรรถกถาว่า พ่อและแม่ของนายสิงคาลกะได้บรรลุธรรมชั้นโสดาบัีน... แม้จะพร่ำบอกพร่ำสอนลูกชายให้ทำบุญทำทานเพียงใด เขาก็ไม่กระทำตาม โดยอ้างเหตุผลทำนองว่า...

ผมไม่อยากจะทำ เพราะเวลาเข้าไปหาพระนั้น พอก้มลงไหว้ก็เจ็บหลัง... ถ้าคุกเข่าลงกราบ หัวเข่าก็ด้าน... ถ้าต้องนั่งกราบที่ดินเสื้อผ้าก็ต้องสกปรก... พอไหว้หรือกราบแล้วก็จำเป็นต้องสนทนาด้วย... การสนทนากันทำให้เกิดความคุ้นเคยสนิทสนม... และความคุ้นเคยกลายเป็นความจำเป็นต้องนิมนต์มาฉัน ต้องถวายปัจจัยไทยธรรมอะไรอีก จึงไร้ประโยชน์และทรัพย์สมบัติก็ย่อมเสื่อมไป... ประมาณนี้

นายบ้านพ่อของเขาเป็นคนฉลาด คิดว่า คำสั่งของพ่อที่ใกล้ตายย่อมเป็นสิ่งสำคัญ หลังจากเราตายไปแล้ว เมื่อเขาคิดถึงเรา เขาจะนึกถึงคำของเรา แล้วเขาก็จะทำตาม.... เมื่อเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าผ่านมาในเวลาเช้าทรงเห็นเขาแล้วก็จะทรงตรัสถาม แล้วได้โอกาสแสดงธรรมแก่เขา... ประมาณนี้

ดังนั้น เมื่อนายสิงคาลกะได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงทักท้วงว่าในวินัยของพระอริยเจ้าจะไม่ทำการนอบน้อมทิศอย่างนี้ เขาจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า เพราะสำเนียกอยู่ว่า พ่อของเขาศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงใคร่จะทำให้ถูกตามคำสั่งของพ่อ.... ประมาณนี้

................

สำหรับผู้สนใจต้องการอ่านพระสูตรนี้โดยละเอียดเชิญที่ http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=3923&Z=4206

ส่วนอรรถกถาพระสูตรนี้ (อรรถกถา คือ คัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฏก) ก็เชิญที่  http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=172

ส่วนในบันทึกนี้ ผู้เขียนจะนำรายละเอียดของหลักธรรมในพระสูตรนี้มาเล่าในตอนต่อๆ ไป

หมายเลขบันทึก: 132127เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2007 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
P

สุคล ศรีอ่อน

ท่านอ่านธรรมดา แม้ไม่มีความเห็นไม่ต้องบอกมาก็ได้...

ถ้ามีความเห็นต่างประเด็นออกไป บอกมาจะดี เพราะจะมีมุมมองใหม่ๆ เกิดขึ้น.... 

อามันตา 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท