ณ แดนดิน ถิ่นบุหงา ปัตตานี (๑)


เรื่องมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ฉันรู้ว่า ตัวเองสอบเอ็นทรานซ์ผ่านเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในสาขาวิชาเอกปรัชญา ที่ตนเองเลือกไว้เป็นอันดับหนึ่งได้ .. สิ้นเสียงจากโทรศัพท์ ที่ปลายสายเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับตรวจสอบผลการคัดเลือกการเข้ามหาวิทยาลัย ฉันก็วิ่งด้วยหัวใจพองโตไปหน้าบ้าน และตะโกนออกไปสุดเสียงว่า “ฉันเอ็นฯติด ม.อ.ปัตตานี”

เสา เพื่อนสนิทตั้งแต่ม.ต้น ถึงม.ปลาย ก็เอ็นท์ติดที่นี่ด้วยเหมือนกัน เราจึงเดินทางจากหาดใหญ่มาสอบสัมภาษณ์และรายงานตัวด้วยกัน

ถนนวงเวียนหน้ามหาวิทยาลัย คือ จุดที่รถตู้จอดให้เราสองคนลง

“นี่หรือ ม.อ.ปัตตานี” ฉันคิดในใจ

“ทำไมป้ายชื่อมหา’ลัย ถึงได้เล็กนัก เล็กซะยิ่งกว่าโรงเรียนของเราอีก” คำถามแรกจากฉัน

“นั่นสิ แต่ฉันว่า เราเข้าไปข้างในกันเถอะ” เสาตอบ

เราสองคนเดินเข้าไปภายในมหาวิทยาลัย น้อมรับการต้อนรับของทิวสนสองข้างทาง ที่กำลังสะบัดใบเรียวเล็กแหวกว่ายสายลม คล้ายกำลังร่วมแสดงความยินดีกับเราสองคน เราสองคนเดินไปพร้อมกับความเงียบและใบสนที่กำลังโบกทักทายได้ไม่นานมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งก็วิ่งผ่านมา พร้อมกับเสียงดังมาแต่ไกล โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว

“น้อง น้อง นั่นน้องนี่นา น้องใหม่ โอ๊ย!! น้องใหม่มาแล้ว” เสียงจากชายคนที่กำลังขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งรูปร่างเป็นชาย แต่เสียงกลับคล้ายเป็นหญิง ตะโกนไม่ได้ศัพท์ แล้วมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวก็เข้ามาเทียบเราด้วยคำถาม

“น้องใหม่ใช่มั้ย ขึ้นเลยน้อง เดี๋ยวพี่ไปส่ง ซ้อนสามไปเลยน้อง ไม่ต้องเดิน ร้อน เดี๋ยวพี่พาไปเอง” ชายคนดังกล่าวชักชวน

เราสองคนยิ้ม และซ้อนท้ายรุ่นพี่ไปแต่โดยดี ความรู้สึกอุ่นใจเอ่อขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก “รุ่นพี่ รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเป็นแบบนี้เองหรือ” ฉันได้แต่คิดในใจ พร้อมกับฟังเสียงรุ่นพี่ พึมพำไปตลอดทางว่า “น้อง โอ๊ยน้องมาแล้ว”

เราคงจะเป็นนักเรียนกลุ่มแรกที่เดินทางมาสอบสัมภาษณ์และรายงานตัว ทำให้รุ่นพี่คนดังกล่าว ซึ่งมีหน้าที่เป็นหนึ่งในองค์การนักศึกษา ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลรับน้องไม่ให้ตื่นกลัวกับการสอบ ดีใจเป็นพิเศษ เราเพิ่งรู้ในทีหลังว่า แกเป็นประชาสัมพันธ์ขององค์การนักศึกษาคณะนี้ ชื่อพี่โน้ต เอกญี่ปุ่น ปี 3

ไม่นานพี่โน้ตก็พาเรามานั่งพักที่หน้าอาคารองค์การนักศึกษา ซึ่งผ่านการใช้งานของนักศึกษามาหลายรุ่น สภาพจึงเก่า และเริ่มทรุดโทรม

“น้องๆคะ นี่บังลีคะ” พี่โน้ตแนะนำ

เรากล่าวทักทายเพียง สวัสดี และเงียบไป บังลี ผู้มีประสบการณ์การเป็นน้องใหม่คงเข้าใจดีว่า ความใหม่ของนักศึกษาหรือที่พี่ๆเรียกเราว่า พวก freshy นั้นเป็นยังไง จึงเริ่มบทสนทนาก่อน

“เพิ่งมาถึงใช่มั้ย มาจากไหนล่ะ เดี๋ยวพี่จะพาไปดูตึก 19 แล้วคืนนี้พักที่ไหน นอนหอพักที่นี่ก็ได้ คืนนี้ก็มีกิจกรรมสำหรับน้องที่มาสอบสัมภาษณ์ ไม่ต้องกลัวหรอก สัมภาษณ์น่ะ ผ่านกันทุกคน มีที่ไม่ผ่าน ก็คนที่ตอบว่าไม่อยากเรียนเท่านั้นแหละ แล้วใครจะไปตอบล่ะจริงมั้ย” บังลี เริ่มบทสนทนายาวยืด เพื่อผ่อนคลายเราสองคน

“มาจากหาดใหญ่ค่ะ หนูจองโรงแรมแถวนี้ไว้แล้วค่ะ พอดีมีรุ่นที่บ้านบอกว่าให้มาพักโรงแรมแถวนี้ก็ได้ ไม่ไกลจากม.อ.มาก” ฉันตอบ

“เหรอ ถ้างั้นก็ไม่เป็นไร แต่คืนนี้อย่าลืมมาร่วมกิจกรรมนะ รับรองสนุกแน่” บังลีชวนอีกครั้ง

“ไปโน้ต พาน้องเค้าไปดูที่สอบสัมภาษณ์พรุ่งนี้” บังลีหันไปคุยกับพี่โน้ต

ด้วยบุคลิกที่นิ่ง สุขุม และใจดี แม้เราจะไม่รู้ว่าบังลี เรียนอยู่ปีไหน และทำหน้าที่อะไร แต่ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า บังลีคงมีตำแหน่งอะไรสักอย่างภายในองค์การนักศึกษา เพราะท่าทีที่แสดงถึงพลังที่สามารถแสดงออกมาอย่างอ่อนโยนได้อย่างลงตัวของบังลี ทำให้ใครที่ได้พูดคุยด้วยคงรูสึกเลื่อมใสได้ไม่ยาก

เช้าวันสอบสัมภาษณ์ เราสองคนนั่งตุ๊กตุ๊กมาถึงมหา’ลัยตั้งแต่เช้า พบเพื่อนๆมากมายที่มาจากจังหวัดต่างๆในภาคใต้ เพราะการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือการสัมภาษณ์นักศึกษาที่สามารถสอบคัดเลือกผ่านแบบรับตรงเข้ามาได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้สอบคัดเลือกนักเรียนจากจังหวัดต่างๆภายในภาคใต้เองทั้งหมด

รุ่นพี่ให้พวกเราเข้าแถวเรียงเป็นสาขาวิชา ทำให้เราได้พบหน้าเพื่อนร่วมเอกเป็นครั้งแรก ซึ่งเอกปรัชญาที่ผ่านการเอ็นท์ตรงครั้งนี้มีทั้งหมด 9 คน

อ้น จากหาดใหญ่ วิทยาลัย เพื่อนชายตัวสูงที่ดูจะคล่องแคล่วที่สุด เพราะมาจากโรงเรียนประจำจังหวัดชื่อดัง ที่ใครก็รู้จักว่านักเรียนโรงเรียนนี้เก่งแค่ไหน

ดา สาวหมวยจากหาดใหญ่วิทยาลัยเช่นกัน ดาดูจะสนิทและกลายเป็นคู่หูกับอ้นตั้งแต่วันแรกที่เจอ ด้วยความที่เป็นคนคล่องแคล่วด้วยกันทั้งคู่

โอม เพื่อนจากมหาวชิราวุธ หรือโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่เรียกว่า “มหา”

ปืน จากกระบี่ ฉันจำไม่ได้ว่าปืนมาจากโรงเรียนอะไร เพราะไม่คุ้นเคยกับชื่อโรงเรียนที่อยู่ต่างจังหวัดกับตัวเองนัก

ออย สุราษฎร์ ออยเป็นสาวหมวยใส่แว่นที่ยิ้มเก่ง น่ารัก เธอสดใส ร่าเริง เป็นกันเอง และพยายามทักทายทำความรู้จักกับเพื่อนในเอกทุกคน จนใครๆก็จำเธอได้

ต้อง ภูเก็ตวิทยาลัย ต้องเป็นผู้หญิงที่รูปร่างสูงมาก สูงจนน่าตกใจ เพราะเธอสูงเกือบ 180 เซนติเมตร ซึ่งนับว่าหาได้ยากในส่วนสูงของผู้หญิงไทยรุ่นกลางเก่ากลางใหม่อย่างเรา

ก้อย โคกโพธิ์ โคกโพธิ์เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี และสาเหตุที่เราจำเธอได้แม่น เพราะเธอจะแนะนำตัวเสมอว่า ก้อยโคกโพธิ์ในสำเสียงภาษาถิ่นใต้ ที่นักเรียนจากหาดใหญ่อย่างเราไม่ค่อยได้พูด จนบางครั้งถูกกล่าวหาว่า “เด็กในเมืองไม่ยอมพูดใต้ กลัวทองแดง”

หน่อย หาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา หน่อยมาจากโรงเรียนเดียวกับฉัน แต่น่าแปลกที่ฉันไม่เคยเห็นและพูดคุยกับหน่อยเลยตลอดสามปีที่เรียนมัธยมปลาย สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเรียนคนละห้อง แต่สาขาคณิต- อังกฤษที่ฉันเรียน ก็มีเพียงสองห้องเท่านั้น คือห้องฉันและห้องหน่อย

และ เกต ซึ่งก็คือตัวฉัน

การสอบสัมภาษณ์กินเวลาไม่นาน อาจารย์ผู้สอบถามคำถามเพียงสองสามคำถาม ซึ่งดูเหมือนว่าพวกเราจะผ่านการสอบกันหมดทุกคนอย่างที่บังลีว่า ถ้าไม่ตอบไปว่า “ไม่อยากเรียน”

หลังจากสอบสัมภาษณ์ พวกเราต้องไปลงชื่อจองหอพักกันที่กองกิจการนักศึกษา นักศึกษาที่มาเรียนที่นี่ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอื่นๆ มีเพียงประมาณสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อาศัยอยู่ที่ปัตตานี ดังนั้น เราจึงต้องอาศัยหอพักภายในมหาวิทยาลัยที่ถือว่าถูกที่สุดและปลอดภัยที่สุดเป็นที่พักพิงหลังจากนี้ไปอีกสี่ปี

ช่วงเวลากว่าครึ่งปีหลังจากรู้ผลว่าชีวิตตัวเองจะเดินไปทางไหนต่อหลังจากจบมัธยม ช่างโกลาหลกับการเตรียมตัว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้านักศึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง และแสนจะจำเป็นสำหรับผู้หญิงอย่างเรา การหาข้อมูลเกี่ยวกับปัตตานี ที่ทั้งชีวิต 17 ปีมานี้ไม่เคยแม้จะย่างกรายผ่านไป แต่ก็คงไม่เท่ากับเพื่อนๆอีกหลายคน ที่มีเวลาไม่ถึงสองเดือนกับการเตรียมตัว เพราะความโชคดีของฉันที่ไม่เลือกเอ็นฯใหม่ หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “เอ็นท์กลาง” ด้วยเหตุผลที่ว่า ฉันเหนื่อยกับการสอบมามากพอแล้ว ในระบบการคัดเลือกแบบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ “เอ็นท์ตรง” จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับฉันในตอนนี้ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ..

28 พฤษภาคม 2543 เบ็นซ์รุ่นเก่าบรรทุกผู้โดยสาร 5 คน แล่นไปพร้อมกับรถกระบะโตโยต้าอีกคันที่เต็มไปด้วยสัมภาระ และผู้โดยสารอีก 5 คน กลายเป็นขบวนคาราวานย่อมๆ ที่บรรทุกสัมภาระเต็มคันรถ รวมทั้งมอเตอร์ไซต์อีกหนึ่งคัน แม่ น้อง ญาติๆ และเพื่อนบ้านต่างพร้อมใจกันมาส่งฉัน เหมือนเป็นการเริ่มต้นอะไรสักอย่างที่ดี ที่ทุกคนต่างปลาบปลื้ม รวมทั้งฉันที่รู้สึกอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก

เรามาถึงหอ 5 ประมาณบ่ายโมง หอพักที่ฉันเลือกไว้ตั้งแต่วันมารายงานตัว แต่ก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของห้องเลยสักนิด รู้เพียงว่า หอ 5 เป็นหอแรกของมหา’ลัย และเป็นหอที่มีห้องน้ำภายในห้องเพียงหอเดียวจากทั้งหมดแปดหอ โดยที่หอ 1 ถึง หอ 4 เป็นหอสำหรับผู้ชาย และหอ 5 ถึง หอ 8 เป็นหอสำหรับผู้หญิง ไม่เพียงแต่เป็นหอแรก และมีห้องน้ำในตัวเท่านั้น หอ 5 ยังถือว่าเป็นหอที่มีห้องกว้างที่สุด ใช้แบบแปลนเดียวกับแปลนที่สร้างโรงแรม รวมทั้งผีดุที่สุดอีกด้วย
(อ่านต่อฉบับหน้า)

หมายเลขบันทึก: 249020เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2009 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2017 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อ่านบันทึกแล้วทำให้นึกถึงตอนผมเป็น "น้องใหม่"

ขอบคุณเรื่องราวที่ดี ๆ ครับ :)

ขอบคุณครับ

อ่านเพลินดี ได้บรรยากาศน้องใหม่

"กลัวทองแดง หมายถึงอะไรครับ"

การรำลึกถึงอดีตมักมีเสน่ห์เช่นนี้เสมอ

สำหรับคำว่า "ทองแดง"

ทำความเข้าใจเพิ่มเติมที่

http://gotoknow.org/blog/natthawut/15940

(ขอขอบคุณณัฐวุฒิ พงศ์จันทรเสถียร เจ้าของ blog ค่ะ)

สวัสดี  เข้ามาเยี่ยม ทักทาย มีปัญหารการเข้าบล๊อก ทำอย่างไร บอกวีธีการหน่อย

สวัสดีค่ะ

สำหรับความคิดเห็นที่ 4 ที่ได้สอบถามเกี่ยวกับการใช้งานไว้นั้น

ทางทีมงานรบกวนส่งอีเมล์มาสอบถามรายละเอียดทางอีเมล์ผ่านระบบที่ http://gotoknow.org/email/webmaster ค่ะ เพื่อให้ทางทีมงานสามารถให้ข้อมูลได้โดยตรงนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีดี ที่ชวนให้รุ่นพี่(รุ่นปู่)ได้รำลึกถึงความหลังครั้งเป็นน้องใหม่ที่ มอ.ตานี(ตั้งแค่ปี 2527) ที่นี่คือที่สร่างเราให้เป็นคนดีของสังคม สมกับพระราชปณิธาน พระบรมราชชนก ว่า ให้ถือกิจส่วนตัวเปนประโยชน์ที่สอง กิจส่วนรวมเปนประโยชน์ที่หนึ่ง.

เราเข้ารหัส 44

ก็ยังทันเห็นพี่โน้ต ญี่ปุ่น นะ

เธอรหัสอะไร

ได้ข่าวมาว่าตอนนี้โน้ตญี่ปุ่นไปเป็นแอร์ เอ๊ย สจ๊วต อยู่การบินไทยนะถ้าจำไม่ผิด ^^

บันทึกพาดพิงถึงหลายตัวละครจริง ต้องอนุญาตไว้ ณ ที่นี้ สามารถติดต่อได้โดยตรงหากไม่สะดวกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท