ข้อเรียนรู้จากการเรียนการสอนบาลี


 

ข้อความต่อไปนี้ส่งมาทางไลน์   โดย ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา  นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   

“ผลสอบบาลี ปี 2567 ทำให้ เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น 4 อย่างที่วัดโมลีโลกยาราม

พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.9 Ph.D.) เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600

เปิดเผยว่าได้เกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้น 4 อย่างที่วัดโมลีโลกยาราม หลังจากประกาศผลสอบบาลีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 ที่วัดสามพระยา  

อัศจรรย์ 4 อย่างนั้นได้แก่

1) ผลสอบบาลีของสำนักเรียนบาลีวัดโมลีโลกยาราม ทุกชั้นได้รวมกว่า 300 รูป   เป็นสถิติใหม่ของสำนักและของประเทศไทย

2) สามเณรสอบ ป.ธ.9 ได้และจะเป็นนาคหลวง มีมากถึง 9 องค์ เป็นตัวเลขที่สูงมาก นอกจากเป็นประวัติของสำนักเรียน ยังเป็นประวัติศาสตร์ของการเรียนและการสอบบาลีของไทยด้วย

3) สามเณร ภาณุวัฒน์ ทุ่งกองมน อายุ 17 ปี สามารถสอบประโยค ป.ธ.9 ได้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน 

ในอดีต สามเณรอายุน้อยที่สุดที่เคยสอบ ป.ธ.9 ได้นั้นอายุ 18 ปี แต่เกิดในรัชกาลที่ 3 คือ สามเณรสา วัดราชาธิวาส เป็นสมเด็จพระสังฆราชในรัชกาลที่ 5

อีกหนึ่งองค์คือ สามเณรปลด วัดเบญจมบพิตร สอบได้ ป.ธ.9 เมื่ออายุ 18 ปีในรัชกาลที่ 5 และเป็นสมเด็จพระสังฆราชในรัชกาลที่ 9 (ทั้งสองรูปสอบแปลปากเปล่า มิใช่ข้อเขียน เช่นในปัจจุบัน)

4) พระวรัญญู วรธมฺมิโก เปรียญ สอบ ป.ธ.9 ได้เป็นครั้งที่ 2 จัดว่าเป็นเปรียญ 18 ประโยคองค์ที่ 2 ต่อจากสมเด็จพระสังฆราช สา ปุสสเทโว

พระมหาวรัญญู หรือพระมหาสองสูน นั้น เคยสอบ ป.ธ.9 ได้ แล้วลาสิกขาไปดูแลพ่อที่ป่วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย จึงกลับมาอุปสมบทใหม่ และสมัครสอบ ป.ธ.9 อีกครั้ง ก็ได้สมปรารถนา

เรื่องอัศจรรย์ที่ว่านี้ไม่ใช่เกิดโดยบังเอิญ แต่เป็นเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของสำนักเรียนที่ประกาศว่า "จะเป็นสำนักเรียนคุณภาพ ส่งทรัพยากรมนุษย์สู่สังคม"

 พระธรรมราชานุวัตร สุทัศน์ วรทัสสี เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 13 เมื่อ พ.ศ.2555 หลังจาก พระพรหมกวี (วรวิทย์) เจ้าอาวาสองค์ที่ 12 มรณภาพ จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าคณะภาค 10 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554

เมื่อเป็นจ้าอาวาส ได้พัฒนาสำนักเรียนมาโดยลำดับ จนสามารถอยู่ในอับดับหนึ่งของสำนักเรียนบาลีใน กทม.หลายปีติดต่อกันถึงปัจจุบัน

จากรายงาน ในวันฉลองเปรียญธรรม พ.ศ.2566

พระธรรมราชานุวัตร เจ้าสำนักเรียนยุคที่ 3 พ.ศ.2555 ถึงปัจจุบัน 

พระรัตนมุนี เจ้าสำนักเรียนยุคที่ 1 พ.ศ. 2534-2538 

พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ) เจ้าสำนักเรียนยุคที่ 2 พ.ศ.2540-2554) 

ได้รายงานว่า เมื่อเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าสำนักเรียน ได้พัฒนาการศึกษาทั้งแผนกธรรมและบาลีอย่างต่อเนื่อง ผลปรากฏว่ามีผู้สอบบาลีได้เกิน 100 รูป ตั้งแต่ พ.ศ.2554 เป็นต้นมา เช่น ปี 2565 มีผู้สอบได้ทุกชั้น จำนวนมากถึง 263 รูป อันดับหนึ่งของประเทศ

และที่ประกาศผลสอบเมื่อ 30 มีนาคม 2567 จะมีผู้สอบได้ ทุกชั้น เกินกว่า 300 รูป

ที่แน่นอนที่สุด มีผู้สอบ ป.ธ.9 ได้มากถึง 25 รูป จากผู้สอบได้ 76 รูปทั่วประเทศไทย

 ถามว่า ปธ.9 สอบได้ 25 รูปนั้น สำนักวัดโมลีฯ ส่งสอบเท่าไร เจ้าสำนักตอบโดยไม่ลังเลว่า ส่งสอบ 39 รูป ตัวเลขน่าพอใจ เพราะสอบได้เกิน 50%

ถามว่าปีหน้าจะส่งสอบ ป.ธ.9 เท่าไร ท่านตอบว่าประมาณ 30 รูป

 ปัจจุบัน วัดโมลีโลกยาราม มีพระภิกษุ สามเณร ป.ธ.9 อยู่ประจำรวมกว่า 70 รูป แต่ละรูปทางวัดมอบงานให้ทำ เช่น เป็นครูสอนนักธรรม  และบาลี ไม่มีใครอยู่ว่าง ๆ    อย่างไรก็ตาม ก่อนเป็นครูต้องได้รับการฝึกอบรมความเป็นครูก่อน ซึ่งจัดอบรมในสำนัก

แต่ปี 2567 จะมีการบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กับวัดโมลีโลกยาราม เพื่อเปิดอบรม ความเป็นครูอาชีพ ใหัแก่ภิกษุสามเณร จบแล้วได้ประกาศนียบัตร ปวค. การันตีคุณภาพ  ในปีการศึกษาแรกจะส่งเข้าอบรมจำนวน 30 รูป 

ทางวัดยังสนับสนุน ให้ทั้งทุนและโอกาสแก่ผู้จบ ป.ธ.9 ได้เรียนระดับปริญญาโทตามถนัด

พระธรรมราชานุวัตร เจ้าสำนักเรียนบาลีชื่อดังแห่งยุค ได้เปิดเผยว่าการที่สำนักเรียนประสบความสำเร็จดังที่ทราบในปัจจุบัน เพราะทางสำนักกระจายความรับผิดชอบให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ครูผู้สอน และมีผู้อุปถัมภ์ (แต่ยังน้อย)   และเหนืออื่นใด ตัวนักเรียนต้องมีใจรัก ขยัน อดทน และสมองดีด้วย

เพื่อจะรู้การพัฒนาของนักเรียน เมื่อมีผู้สมัครมาเรียนโดยเฉพาะสามเณร ต้องสอบการอ่านการเขียน เพราะเด็กจบ ป.6 ยังอ่านหนังสือไม่ออกมีมาก

ถ้าพบปัญหา ก็จัดให้เรียนภาษาไทยกันใหม่ เพื่อให้เข้าสู่ระบบการศึกษาธรรมบาลีต่อไป

โดยเจ้าสำนักย้ำว่าใครอยู่ที่วัดโมลีฯ ต้องเรียนหนังสือ ถ้าไม่เรียนต้องออกจากวัด ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น

ระหว่างเรียน ต้องสอบวัดผลทุกเดือน เพื่อประเมินผลการเรียนว่าพัฒนาอย่างไร ต้องแก้ไขอะไร

สุดท้ายท่านเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นเจ้าคณะภาค 10 รองแม่กองบาลีสนามหลวง กล่าวว่า ภาษาบาลีคือลมหายใจพระพุทธศาสนา ผู้รู้บาลีคือรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร อย่างไร เข้าใจความหมายดีจึงเผยแผ่พุทธศาสนาถูกต้อง ยั่งยืน ผู้ไม่รู้บาลี จะแปลพุทธพจน์ผิดเพี้ยน เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา

จึงเชิญชวนผู้สนใจมาเรียนบาลี เพราะขณะนี้สำนักเรียนวัดโมลีฯ จัดเรียน จัดสอนบาลี ออนไลน์ ชั้นประโยค 1-2 และชั้นประโยค ป.ธ.3 สำหรับบุคคลทั่วไป

สนใจสอบถามรายละเอียดที่ โทร 08 9660 1464” 

ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ซึ่งเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ของ มอ. ชี้แจงว่า 

“พระธรรมราชานุวัตร ท่านสอนดีมากๆครับ ติดตามชมบทเรียนภาษาบาลีกว่า 650 ตอน ที่ท่านสอน ได้ที่นี่ครับ 

https://pali-online.in.th/

(โครงการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการโดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมกับวัดโมลี และ มสธ.โดยการสนับสนุนจากสำนักพระพุทธศาสนาฯ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และ กองทุน DEPA ครับ)   พอดีผมมีส่วนร่วมพัฒนาโครงการนี้ และได้เห็นความตั้งใจดีของพระธรรมราชานุวัตร จึงขอขยายความครับ  โครงการนี้มีคณะผู้เชียวชาญด้านบาลีอีกหลายคน ทำงานสนับสนุนพระธรรมราชานุวัตร ในเรื่องของการควบคุมคุณภาพของบทเรียน การทำให้เนื้อหา inclusive กับฏรงเรียนสอนบาลีที่แตกต่างแนวกับวัดโมลี รวมทั้งคุณภาพของการบันทึก/edit รายการ

ชุดหลัง ที่เป็น เปรียญธรรม๓ ภาพประกอบ จะสร้างออกมาได้สวยมาก เพราะใช้ AI ช่วยวาดภาพตามถ้อยความอธิบาย จนออกมาดีกว่าการจ้างคนมาวาด ในเวลาที่สั้นกว่ามาก ชุด ปธ๓ กำลังอยู่ระหว่างการผลิต และทะยอยออกสู่ผู้เรียนทุกสัปดาห์ครับ”

ผมฝันเห็นวิธีการคล้ายๆ กัน ที่ทำในนักเรียนชั้นประถมและมัธยมบ้าง

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 718234เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2024 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2024 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท