๑๒. เมื่อผม “เป็นผู้ประเมินภายนอก”


หลังจากผมเป็นวิทยากร และอาจารย์มหาวิทยาลัยมาหลายปี  ทำให้ผมพบกับคำพูดของคนในวงการศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึง“วังวนวิปริต วงจรอุบาทว์” ต่อสภาพปัญหาการจัดการศึกษาของไทยหลายประการ เช่น พอนำสภาพปัญหาการจัดการขึ้นมาเป็นหัวข้อกรณีศึกษา ในด้านสภาพปัญหามักตอบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  แต่พอให้ช่วยกันหาสาเหตุของปัญหา มักพบว่า ความคิดของครูหรือนักศึกษามักจะเห็นแตกต่างกัน บางทีก็แย้งกันแบบตรงกันข้าม อาทิ พอถามผู้บริหารสถานศึกษาก็มักจะตอบว่าปัญหามาจากนโยบายของผู้บังคับบัญชาระดับกระทรวง กรม เขตพื้นที่การศึกษา  ชอบคิดให้โรงเรียนทำกิจกรรมส่งเสริมบ่อย จึงไม่มีเวลาที่จะจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพได้เต็มที่   พอถามคณะครูบ้าง ก็บอกว่าปัญหามาจากผู้บริหารสถานศึกษาที่มอบหมายให้ทำงานพิเศษ และกิจกรรมส่งเสริมมากเกินไป รวมทั้งมีผู้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ่อยมากต้องเสียเวลาจัดงานต้อนรับเตรียมเอกสาร วีดิทัศน์เพื่อนำเสนอให้ผู้ตรวจเยี่ยมชม  บางครั้งก็ต้องฝึกซ้อมเด็กแสดงกิจกรรมต้อนรับด้วยรูปแบบใหม่ๆ  จนไม่มีเวลาสอนเด็กได้เต็มที่  และในแง่การเรียน มักบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยตั้งใจเรียน สนใจแต่เล่นโซเชียล ไม่ค่อยเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์ แต่ที่ทุกฝ่ายเชื่อตรงกัน คือ เด็กนักเรียนสมัยหลังๆ ไม่มีคุณภาพ  สังคมเสื่อมโทรม  การศึกษาจึงตกต่ำ

ทำให้ผมสะกิดใจสงสัยว่าคำตอบจริงๆ ควรเป็นเช่นใด  การเป็นวิทยากรฝึกอบรมและวิทยากรกระบวนการ  แม้จะรู้สภาพปัญหา  ก็รู้เท่าที่ครู ผู้บริหารบอกเท่านั้น  ไม่ได้รู้จากสภาพจริง  แม้ผมเคยเป็นครูมาก่อนก็ตาม แต่ก็คิดว่าแต่ละยุคสมัยก็มีบริบทต่างกัน จึงไม่ได้ปักใจเชื่อไปทางใดทางหนึ่ง ต่อมาผมก็ไปลองเคยพูดคุยกับเด็กนักเรียนที่เป็นลูกหลาน หรือถามพวกลูกๆของบุคคลที่เคยเป็นศิษย์มาก่อน เขาก็บอกว่า ช่วงหลังโรงเรียนหยุดเรียนบ่อยมาก ครูสอนไม่รู้เรื่อง เข้ามาสอนก็บ่นตำหนิเกือบหมดเวลาเรียน ดีแต่สั่งทำงาน ทำกิจกรรม แล้วก็ไป ไม่เคยแนะนำใดๆ เอาใจใส่แต่เด็กที่ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง  ชอบเอา ๐ และ ร  มาขู่บ่อยมาก สอบวัดผลก็แอบเพิ่มคะแนนให้เด็กโปรด  ตัดสินลำเอียงไม่เป็นธรรม  ฯลฯ

ตอนที่ผมเคยเป็นครูผู้สอน ก็ได้แต่สอนในวิชาตนเอง  รับผิดชอบในการสอนอย่างเดียว  ไม่เคยศึกษาสภาพปัญหานักเรียนของตัวเองแบบจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกัน  มีแต่รับฟังปัญหาที่เด็กนักเรียนที่ผมสอน หรือเด็กนักเรียนจากชั้นอื่น วิชาอื่นมาระบายเท่านั้น  และแม้ว่าช่วงหลังผมจะเคยเข้าไปในสถานศึกษา  ก็ไปในฐานะวิทยากรบ้าง  กรรมการตรวจประเมินบ้าง ก็มีเวลาแค่ครึ่งวัน ได้แต่เยี่ยมดู และชมเอกสารแบบฉาบฉวยในห้องที่ทางโรงเรียนเตรียมต้อนรับเท่านั้น  ในช่วงเป็นอาจารย์พิเศษได้รับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทที่ศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอน แต่ก็เป็นการศึกษาเพียงประเด็น หรือด้านใดด้านหนึ่ง รวมทั้งแม้ว่าจะเคยอ่านรายงานผลการศึกษา ผลการวิเคราะห์ ผลการประเมิน ผลการวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ต่อสภาพปัญหาการจัดการศึกษามามากมายก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าตัวเองยังไม่ทราบสภาพปัญหาการจัดการศึกษาและสาเหตุอย่างแท้จริงอยู่นั่นแหละ  เนื่องจากส่วนมากการศึกษาสภาพปัญหาการจัดการศึกษา หรือการจัดการเรียนการสอนมักได้ข้อมูลมาจากการส่งแบบสอบถามไปให้ผู้เกี่ยวข้องตอบ ซึ่งก็อาจได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะ “อคติ” ของผู้ตอบแบบสอบถาม ก็ได้แต่ตั้งใจว่า คงมีสักครั้งที่ตัวผมจะเข้าใจสภาพปัญหาการจัดการศึกษาของเมืองไทยอย่างแท้จริงได้บ้าง

ก็ให้มีเหตุทำให้ความหวังผมเป็นจริงได้ เนื่องจากในปี ๒๕๔๔ ผมได้รับการชักชวนจากคุณดวงกมล สุขสำราญ  หัวหน้าฝ่ายวิชาการโรงเรียนเทคโนภาคเหนือ  มาสมัครเป็นผู้ประเมินกับบริษัทกรรมการคุณภาพไทย ที่คุณนที พุคยาภรณ์ เจ้าของโรงเรียนเทคโนภาคเหนือ นครสวรรค์ได้จัดตั้งขึ้น  ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) คัดเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นผู้ประเมินภายนอกรุ่นแรกที่จะออกไปประเมินสถานศึกษา  การเข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้ ทำให้ผมได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกมากมายทั้งด้านเจตนารมณ์ เกณฑ์การประเมิน วิธีการหาข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล และแนวทางการประเมินอย่างกว้างขวางครอบคลุมการจัดการศึกษาทุกด้าน   

การได้เป็นผู้ประเมินภายนอก  ทำให้สามารถเข้าไปศึกษาสภาพการดำเนินการต่างๆทุกด้านของสถานศึกษาตามสภาพจริง(แม้ว่าสถานศึกษาจะเตรียมตัวแค่ไหนก็ตาม)อย่างเจาะลึกเชิงประจักษ์  แต่ละครั้ง สมศ.กำหนดให้เข้าไปประเมินสถานศึกษา ๓-๔ วัน จึงได้มีโอกาสศึกษาข้อมูล เอกสาร สังเกตการทำงานของฝ่ายบริหาร/ครู การสอนของครูทุกห้องเรียน การเรียน พฤติกรรมต่างๆของนักเรียน และการทำงานของบุคลากรทุกฝ่ายได้อย่างละเอียดทุกแง่มุม บางครั้งมีโอกาสได้เข้าไปในห้องเรียน ได้พูดคุยซักถามนักเรียนถึงความรู้ที่เรียนในชั่วโมงนั้นๆ  และยังได้สัมภาษณ์/สนทนาพูดคุยกับผู้บริหาร กรรมการสถานศึกษา  ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนรอบสถานศึกษาทั้งที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ  รวมทั้งขอให้บุคคลดังกล่าวช่วยตอบแบบสอบถาม หรือแบบทดสอบด้วย ทำให้ผมได้ข้อมูลเชิงลึกที่อาจกล่าวสรุปแบบรู้ได้ว่า “ใครเป็นตัวการ” และ “อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง”ที่ส่งผลให้การจัดการศึกษาของประเทศไทยล้มเหลว และขาดประสิทธิภาพมาตลอด  (แม้จะได้รับงบประมาณในการจัดการศึกษาแต่ละปี ๓-๔ แสนล้านบาท ถือว่ามากที่สุดกว่าทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน)  

นอกจากไปประเมินสถานศึกษาในฐานะผู้ประเมินภายนอก  ยังทำให้ผมได้มีโอกาสทำบุญกุศลให้กับชีวิตความเป็นครูและชีวิตในสังสารวัฏเพิ่มอีก  ทั้งการให้ความรู้ หรือคำแนะนำวิธีการทำงาน การสอนให้มีประสิทธิภาพขึ้น  มีโอกาสชี้แนะให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงของสถานศึกษานั้นๆ   บางครั้งผมได้บริจาคเงินช่วยสถานศึกษาซื้อสิ่งของ/พัฒนาอาคารสถานที่ตามที่เห็นสถานศึกษานั้นขาดแคลน, ซื้อข้าวสารให้สถานศึกษานำไปทำอาหารกลางวันให้นักเรียน,  บางแห่งก็ซื้อขนม/ไอศกรีมเลี้ยงนักเรียนในวันสุดท้ายของการประเมินตามที่นักเรียนต้องการ (ส่วนมากเป็นโรงเรียนชนบทและมีนักเรียนไม่ถึงร้อย) นึกถึงคราใด ก็อิ่มใจ และขอบคุณ สมศ., บริษัทกรรมการคุณภาพไทย ที่ทำให้ชีวิตผมมีคุณค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

ผมทำหน้าที่ผู้ประเมินภายนอกแค่ ๘ ปี (๒๕๔๔-๒๕๕๑) พอประเมินสถานศึกษาในรอบที่ ๒ (๒๕๔๙-๒๕๕๓) ไปได้ ๒ ปีกว่า  ก็เกิดการอิ่มตัวจากความเข้าใจ(เกิดปัญญา)ต่อสภาพปัญหาการจัดการศึกษา  และจากความเบื่อหน่ายต่อความจำเจซ้ำซากต่อการทำงานของบุคลากรในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกี่ปี ถูกประเมิน ถูกตรวจเยี่ยมไม่รู้กี่ครั้ง ก็ยังทำงานและสอนเหมือนเดิม ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เห็นกับตาได้เลย  ทำให้ผมยิ่งมี “อคติ” ต่อครูและผู้บริหารสถานศึกษามากขึ้น และบางแห่งผมถึงกับทนไม่ไหวอยากออกจากสถานศึกษาแห่งนั้นทันที ไม่อยากพูดคุย ไม่อยากเป็นผู้ประเมินภายนอกอีก  เพราะไม่ว่าอะไรๆ ที่ถูกสอบถามถึงพฤติกรรมของนักเรียน สภาพห้องเรียน สภาพห้องสุขา หรือถามถึงผลการเรียนของสถานศึกษาที่ต่ำลงทุกปี  ทุกคนจะใจตรงกันกล่าวหาโทษเด็กนักเรียนทันทีว่า “ไม่เอาใจใส่การเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ขี้เกียจ ชอบดูหนัง ฟังเพลง ทำตัวไร้สาระไปวันๆ ชอบเล่นโซเชียล ดื้อรั้น ไม่เคารพเชื่อฟังครูอาจารย์ ไม่มีจิตสำนึก ไม่เห็นแก่ส่วนรวม”  รวมทั้งร่างกายผมเกิดการเพลียล้าที่ต้องขับรถเดินทางไปประเมินสถานศึกษาทุกสัปดาห์ตามตำบล อำเภอ จังหวัดที่ไกลมากขึ้นทุกวัน  ต้องปรับตัวทั้งที่พัก อาหาร อากาศเสมอ บางครั้งก็เจ็บป่วยจากภูมิแพ้ หวัด ท้องเสีย เพราะปรับตัวไม่ทันบ่อยครั้งขึ้น  ตลอดจนช่วงนั้นผมเกิดการเบื่อหน่ายต่อสังคมไทยที่เกิดการแตกแยกทางความคิดมากขึ้น จะพูดสนทนากับใครก็ต้องระแวง เพราะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีทัศนคติอย่างไร จะใช้ภาษาหรือสำนวนที่เราเคยชินก็ต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เข้าใจผิด คลาดเคลื่อนต่อเจตนาแท้จริงในการสื่อสาร จนหลายคนมีเพื่อน/คนในครอบครัวบาดหมางใจ กลายเป็นศัตรูกันก็มี  และยิ่งมีการรวมตัวของพวกที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดี รักชาติมากกว่าผู้อื่น  อยากกำจัดฝ่ายตรงข้ามตนเองให้สูญหาย หรือเงียบเสียงไป ด้วยการใส่ร้ายป้ายสีตามข้อมูลที่ตนเองได้รับรู้  แม้ว่าจะยังไม่รู้ชัดว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ปักใจเชื่อไปแล้ว กลายเป็นกระแสดราม่า(ไล่ล่าแม่มด) มีการลอบทำร้าย ฆ่าฟัน ทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างจริงจัง จนสังคมปั่นป่วนวุ่นวายไร้มาตรฐาน(สองมาตรฐาน)มากขึ้นทุกวัน   เมื่อเหตุการณ์ที่ผมพบ ทำให้จิตใจผมไม่พร้อมที่จะทำงานกับสถานศึกษาต่อไป ผมจึงต้องขอหยุดเลิกการเป็นผู้ประเมินในที่สุด   ครั้งแรกไปวัด มีความคิดตั้งใจออกบวช แต่มีพระอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งแถวศรีราชาทักท้วงความคิดในใจว่า “ถ้าอยากบวชอย่าเพิ่งบวช ถ้าไม่อยากบวชเมื่อไหร่ค่อยออกบวช ออกบวชไปตอนนี้ก็ไม่ได้อะไร มีแต่โทสะความคับใจ อึดอัดใจ จะกลายเป็นไปสร้างบาปเวรกรรมมากขึ้น” และ “คุณยังดูใจไม่เป็น” ผมจึงต้องระงับการออกบวชไว้ก่อน 

ผมได้ออกตรวจ/เยี่ยม/ประเมินสถานศึกษาในฐานะผู้ประเมินภายนอกหลายปี รวมๆคงประมาณ ๓๒๐ แห่ง (ภาคเรียนละ ๑๘-๒๐ โรงเรียน) ประเมินทุกระดับทั้งระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา พบเจอสถานศึกษาทุกขนาดตั้งแต่มีนักเรียนจำนวน ๑๑ คน ไปจนถึง ๓,๐๐๐ กว่าคน  ก่อนออกประเมินสถานศึกษา ผมคิดและเชื่อว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งจะมีสภาพปัญหา หรือการทำงานที่แตกต่างกันออกไปตามขนาดของสถานศึกษาและบริบทของสถานศึกษา แม้เมื่อประเมินไป ๒-๓ ปี ผมก็ยังคิดและเชื่อว่าน่าจะยังมีสถานศึกษาที่จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กนักเรียนทั้งสถานศึกษาอย่างมีคุณภาพ เป็นระบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพอยู่บ้าง กลับพบว่าทุกสถานศึกษาที่ผมเข้าไปประเมินต่างก็มีสภาพปัญหาและการทำงานที่เหมือนๆกัน ไม่มีความแตกต่างทางลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างชัดเจน แต่บางสถานศึกษามีความต่างตรงที่รูปแบบ เช่น การแต่งกาย อาคารสถานที่ โปรแกรมการเรียน หลักสูตรพิเศษ  แต่พฤติกรรมการทำงาน และการจัดการเรียนการสอนก็ยังเหมือนกันอยู่ดี  มีความแตกต่างที่ความเข้มงวดกวดขัน หรือระดับของปัญหาเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน (สรุปความต่างอยู่ที่ : เหมือน แต่ ไม่เท่า) 

เช่น แผนการสอนที่ไม่ได้จัดทำให้ตรงตามหลักสูตร ส่วนมากคัดลอกมาจากสำนักพิมพ์  ไม่ได้สอนตามแผนที่เสนอผู้บริหารให้อนุมัติ  มีแต่สอนอธิบายตามหนังสือแบบเรียนที่ใช้  แผนปฏิบัติงานที่ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทของสถานศึกษา แผนแม่บทก็ไม่ได้นำมาจากการวิเคราะห์วิสัยทัศน์ พันธกิจ,  กิจกรรม/โครงการไม่เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ ไม่มีกระบวนการทำงานที่ดี (กิจกรรม/โครงการก็มักนิยมลอกเลียนแบบโรงเรียนอื่น), หรือกระบวนการฝึกอบรมที่เป็นไปตามหลักจิตวิทยา หรือหลักการทางทฤษฎีใดๆ, และเมื่อทำกิจกรรม/โครงการเสร็จสิ้น ก็ไม่มีรายงานสรุปผลการจัดกิจกรรม/โครงการ, แถมบางโรงเรียนมีกิจกรรม/โครงการส่งเสริม-สนับสนุนจำนวนมากไป บางแห่งมีถึง ๒๐๐ โครงการ/กิจกรรมก็มี ฯลฯ พูดง่ายๆ ถ้ายึดตามมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินของ สมศ. รับรองได้ว่าทั้งประเทศจะมีสถานศึกษาไม่ถึง ๕๐ แห่งที่ทำงานได้ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงตามทั้งหลักสูตรและมาตรฐานที่วางไว้ 

และยิ่งที่ตลกที่สุด คือ การประเมินในรอบระยะที่ ๑ ผมขอดูเอกสารที่ทางสถานศึกษาอ้างอิงในการสรุปข้อมูล  ก็ตอบว่าลืมเอาไว้ที่บ้าน หรือไม่ก็บอกว่าหาไม่เจอ บุคลากรที่รับผิดชอบไม่อยู่  พอการประเมินในรอบระยะที่ ๒  ก็ยังอ้างแบบเดิม  แถมมีการวิจารณ์เพิ่มว่า  การที่ผลการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพนั้น  เป็นเพราะการประเมินภายนอกที่ชอบขอดูเอกสาร  ทำให้ครูต้องทิ้งการสอนเพื่อไปจัดเตรียมเอกสารเพื่อให้ผู้ประเมินดู  พอผมย้อนว่าผ่านการประเมินรอบแรกไปแล้ว ๕ ปี  พวกคุณมัวทำอะไรกันอยู่  เอกสารที่สามารถยืนยันเป็นหลักฐานว่าพวกคุณทำงานอย่างมีคุณภาพจึงไม่สำเร็จสักที  ก็เป็นอันเงียบไป,  แต่ที่น่าชมสถานศึกษา ได้แก่ ความพยายามในการจัดทำรูปเล่มเอกสารที่สรุปตามมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้ได้สวยงาม  และการนำเสนอด้วยรูปแบบทันสมัย   

ปกติสถานศึกษาทุกแห่งจะทราบว่า ผู้ประเมินภายนอกจะเข้ามาประเมินในวันเวลาใด  จึงพัฒนาอาคารสถานที่ทุกแห่งให้สะอาด สวยงาม เรียบร้อย กำชับบุคลากรให้ตั้งใจทำงาน กวดขันนักเรียนให้ตั้งใจเรียน  และเตรียมจัดสถานที่เอาไว้นำเสนอข้อมูล และต้อนรับ   ถ้าสถานศึกษาแห่งไหนไม่ดีจริง แม้ผู้บริหารและครูจะทำให้โรงเรียนดูดีในวันประเมิน นักเรียนและผู้ปกครองมักจะให้ข้อมูลตรงข้าม(ทรยศ)กับโรงเรียนเสมอ  เช่น นักเรียนเกือบทุกแห่งมักบอกกับผมว่า “ลุงมาบ่อยๆได้ไหม” พอผมถามว่า “ทำไมล่ะ” นักเรียนช่วยกันตอบว่า “พอลุงมาโรงเรียนสะอาดมาก ห้องน้ำก็สะอาด  โรงอาหารก็สะอาด อาหารก็ดีขึ้น ครูก็พูดจาไพเราะขึ้น ไม่ดุ”  ส่วนผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็กระซิบบอกว่า ครูและผู้บริหารจะมาสาย  เลิกเรียนเร็ว ปิดโรงเรียนบ่อย ไม่ค่อยได้สอน ปล่อยให้นักเรียนเล่นมากกว่าเรียน ตีเด็กเก่ง ฯลฯ ส่วนผู้ที่ให้ข้อมูลได้ดีที่สุด ก็คือ ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่รอบบริเวณโรงเรียน  และมีร้านค้าอยู่หน้าโรงเรียน  เพราะทั้งเห็นพฤติกรรมครู ผู้บริหาร นักเรียนทุกวัน  และได้ยินเสียงครูอบรม(ด่า-ตำหนิ)นักเรียนทุกเช้า เพราะครูพูดผ่านเครื่องขยายเสียง ชาวบ้านที่อยู่แถวนั้นก็ได้ยินชัดเจนทุกวัน  แต่ชาวบ้านก็อดทน เงียบเสียง ไม่กล้าบ่นตำหนิสถานศึกษา เพราะสถานศึกษาและครูเป็นของทางราชการที่ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้  ถ้าผู้ปกครองคนใดพอมีทรัพย์สินเงินทองบ้าง  ก็จะส่งลูกหลานไปเรียนกับโรงเรียนในเมืองที่มีชื่อเสียงว่าสอนดี  คำตอบของนักเรียน และชุมชนจำนวนหนึ่งที่พบเจอ จึงสะท้อนให้เห็นว่า ปกติสภาพจริงของสถานศึกษานั้นๆ เป็นอย่างไรได้อย่างชัดเจน ?

การเข้าไปประเมินแต่ละสถานศึกษาของผมนั้น ปกติวันแรกผมจะไปถึงโรงเรียนประมาณ ๐๗.๐๐ น. แล้วเดินสำรวจรอบๆ โรงเรียน บางครั้งก็พบพูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น แล้วยืนสังเกตนักเรียนมาโรงเรียนอย่างไร แล้วทำอย่างไรเมื่อพบเจอครูหน้าประตู จากนั้นก็เดินดูสภาพสนาม อาคารต่างๆ ในบริเวณโรงเรียนทุกจุด  แล้วค่อยชมการทำกิจกรรมหน้าเสาธง  การแยกย้ายเข้าห้องเรียน การถอดรองเท้าขึ้นชั้นเรียน หรือห้องเรียน หลังจากนั้นจึงเข้าห้องที่ทางโรงเรียนเตรียมต้อนรับ นำเสนอข้อมูลโรงเรียนให้ชมทางวีดิทัศน์ จากนั้นจึงเป็นการแนะนำตัวคณะผู้ประเมิน และวัตถุประสงค์ที่เข้ามาประเมิน แจ้งกำหนดการการทำงานของคณะผู้ประเมินในแต่ละวันให้ทราบ หลังจากนั้นคณะผู้ประเมินก็จะแยกย้ายไปทำภารกิจเก็บข้อมูลแต่ละด้านตามความถนัดและต้องการ ส่วนมากผมจะขอเก็บข้อมูลด้านผู้เรียนและครู  เพราะผมเชื่อว่าเด็กจะเป็นเช่นไรก็อยู่ที่ตัวครู/ผู้บริหาร   ในวันแรกผมไม่ค่อยชอบนั่งศึกษาเอกสาร/กิจกรรม/โครงการที่โรงเรียนเตรียมไว้แต่ละตัวบ่งชี้ตามมาตรฐาน แต่ผมอยากเห็นพฤติกรรม/บุคลิกลักษณะของนักเรียน พฤติกรรมการสอนของครู ความรู้ความสามารถของนักเรียนทุกห้องมากกว่า ซึ่งสถานศึกษาขนาดเล็กหรือกลาง วันเดียวก็พบนักเรียนได้ทุกระดับชั้นแล้ว ทำให้ผมสามารถมองเห็นผลการประเมินได้ในระดับหนึ่ง เช่น ถ้าพบเห็นว่านักเรียนส่วนมากเก่งจริง ดีจริง ผมจึงจะสอบถามว่าเกิดจากใคร ด้วยวิธีการใด หรือ กิจกรรมใด ผมจึงจะตามไปดูเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงกิจกรรม/โครงการนั้นๆ  แต่ถ้านักเรียนส่วนใหญ่ไม่ดีจริง ไม่เก่งจริง เก่ง ดี เพียงบางคนหรือเป็นส่วนน้อย ผมจะไม่ถามหรือไปดูเอกสารที่เตรียมไว้ในห้องรับรองเลย  สิ่งที่ผมอยากรู้ก็คือ เพราะใคร หรืออะไรที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่เก่ง ไม่เข้าใจสิ่งที่เรียน หรือมีความประพฤติที่ไม่เรียบร้อยในที่สาธารณะ การที่ผมมักจะเดินเยี่ยมชมการเรียนของนักเรียนทุกห้อง บางครั้งก็เข้าไปพูดคุยสนทนาทดสอบความรู้ความสามารถของนักเรียนในวิชาที่เรียนในชั่วโมงนั้นด้วย  พักเที่ยงก็ตามไปชมการรับประทานอาหารของนักเรียน  ช่วงเลิกเรียนก็สังเกตการกลับบ้านของนักเรียน และย้อนกลับไปชมสภาพห้องเรียนต่างๆอีกครั้ง ซึ่งก็เจอสภาพจริงๆ ของสถานศึกษานั้นๆ ทุกครั้งเช่นกัน

วันที่สองในการประเมิน ก็ทำเหมือนวันแรกในตอนเช้า แต่ส่วนมากจะเยี่ยมชมนักเรียนที่เจอในสถานที่ต่างๆ ทักทาย ชวนคุยไปเรื่อยๆ (สอบถามทางอ้อม) พอ ๐๙.๐๐ น. ก็ขอให้ทางโรงเรียนส่งตัวแทนนักเรียนมาทดสอบการคิดวิเคราะห์ ให้ตอบแบบสอบถามสภาพปัญหาการเรียน และแบบวิเคราะห์สภาพจิตใจ  ถ้าโรงเรียนใดมีนักเรียนไม่ถึง ๑๐๐ คน ผมมักจะขอให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมตอบด้วย นอกจากจะเป็นการตอบแบบสอบถามเพื่อได้ข้อมูลตามสภาพปัญหาจริง  ยังได้ทดสอบประเมินการอ่าน การเขียน การคิด การให้เหตุผลของนักเรียนไปพร้อมด้วย  แต่ที่เด็กชอบมาก คือ แบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ เพราะต้องช่างสังเกต พิจารณาความเชื่อมโยงเหตุการณ์ การระบุสาเหตุ ผลที่จะเกิดต่อไป และการสรุป  มีที่เด็กชอบอีกอย่าง ก็คือ ได้ระบายความอึดอัดใจ บางทีก็คับแค้นใจ ด้วยความคิดเห็นตามสภาพปัญหาที่นักเรียนเจอในแต่ละวัน   ช่วงที่นักเรียนตอบแบบสอบถาม และทำแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์อยู่นั้น ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ผมก็ได้ขอให้คณะครูช่วยทำแบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดการศึกษา และแบบสอบถามสภาพปัญหาการทำงานและวิชาชีพครูไปด้วย  ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดกลางหรือใหญ่ ผมจะขอความอนุเคราะห์ใช้เวลาหลังเลิกเรียนประมาณ ๑ ชั่วโมง  ตอบแบบสอบถามและทำแบบทดสอบ  ในช่วงบ่ายมักจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา คณะครู และคณะกรรมการนักเรียน เพื่อสอบถามสภาพปัญหา อุปสรรค ความต้องการในการพัฒนาสถานศึกษาและการจัดการศึกษา ผลจากการพูดคุยพบว่า ส่วนมากคณะกรรมการสถานศึกษา ไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง ส่วนมากมาประชุม เพราะผู้บริหารขอคำปรึกษาในการหาเงินมาพัฒนาสถานศึกษามากกว่า

วันที่สามในการประเมิน ช่วงเช้าก็ทำเหมือนวันแรก ทักทายนักเรียนตามที่ต่างๆ เยี่ยมชมนักเรียนตามห้องเรียนที่ยังไม่ครบ บางแห่งผมก็ออกไปหาข้อมูลบางอย่างเพิ่มเติมตามวัด ตามชุมชนจากข้อมูลที่พบในแบบสอบถามของนักเรียนและครู  ช่วงพักเที่ยงก็จะขอให้ผู้ประเมินช่วยกันสรุปตัดสินว่า แต่ละตัวบ่งชี้/มาตรฐานควรอยู่ในระดับใด ถ้าเห็นไม่ตรงกัน ก็จะขอเหตุผลและข้อมูลเพิ่ม จนสามารถสรุปได้ เพื่อแจ้งผลการประเมินพร้อมเหตุผลข้อมูลให้กับผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษารับทราบ ส่วนมากสถานศึกษาจะยอมรับผลการประเมิน แต่จะมีบางแห่งก็คัดค้านในบางมาตรฐาน ส่วนมากจะเป็นมาตรฐานด้านผู้เรียน และผู้บริหาร ก็ต้องอธิบายถึงเหตุผลและข้อมูลที่ผู้ประเมินพบเจอ แต่บางทีก็ต้องให้ความรู้เพิ่มเติมหลักการกระบวนการทำงานแบบต่างๆ อธิบายหลักการสอนตามธรรมชาติรายวิชา อธิบายหลักทางจิตวิทยา อธิบายหลักสูตร อธิบายการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง อธิบายวิธีออกข้อทดสอบตามจุดประสงค์/ตัวชี้วัด/ในลักษณะต่างๆ อธิบายวิธีวิเคราะห์ข้อทดสอบเพิ่มเติม จนกว่าคณะครู ผู้บริหารจะหายสงสัย คลางแคลงใจ หลายแห่งใช้เวลาในการแถลงด้วยวาจาพร้อมอธิบายจนถึง ๒๐.๐๐ น. ก็มี  ซึ่งมักจะเป็นสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ในระดับประถมศึกษามักจะเป็นโรงเรียนอนุบาลระดับจังหวัด  หรือเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่  ซึ่งผมก็พร้อมจะอธิบายและถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจอย่างเต็มที่ เพราะนี่คือจุดมุ่งหมายหลักที่ผมตั้งใจมาเป็นผู้ประเมินภายนอก  และผมก็ถือว่าผมได้ทำบุญกุศลให้กับชีวิตตนเองด้วยอีกทางหนึ่ง   

จากการที่ผมขอความอนุเคราะห์ให้ครูและนักเรียนช่วยตอบแบบสอบถามสภาพปัญหา ทำให้ผมได้ข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำมาวิเคราะห์ หรือสรุปสาเหตุได้เลย แถมยังได้ข้อมูลส่วนตัวเชิงลบของทุกฝ่ายอย่างที่ไม่คิดว่าจะเจอในวงการศึกษา เช่น การทุจริตคอรัปชั่น, การลวนลาม, การล่วงละเมิดทางเพศ, ชู้สาว, การขู่จะไม่ให้ ๒ ขั้น หรือไม่ทำเรื่องย้ายให้ ถ้าไม่ร่วมมือทุจริต หรือเปลี่ยนแปลงเอกสารหรือบำเรอกามให้กับผู้บริหาร,  การไม่ยอมทำงาน-เบียดบังเวลาราชการและการสอน, การขายของแลกกับคะแนน/การยอมบำเรอกามและมอบเงินแลกกับเกรด, การทะเลาะตบตี, การทำร้ายร่างกายนักเรียน, การด่าทอนักเรียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย, การใช้นักเรียนทำงานยิ่งกว่าลูกจ้าง ฯลฯ ถ้าไม่ยอมทำตาม “คนที่ชอบเรียกตนเองว่าครู” ก็จะด่าทอ ทำร้าย หรือขู่ไม่ให้คะแนน ไม่ให้จบก็มี 

ผมคุยไป สัมภาษณ์ไป และอ่านแบบสอบถามที่นักเรียนหรือครูตอบมา เกิดอาการแน่นอก สะเทือนใจทุกครั้ง ก็ได้แต่สงสาร ปลอบใจให้กำลังใจ หรือแนะนำให้อดทนเข้มแข็ง บางทีก็แนะนำให้กล้าเปิดเผยแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไปพร้อมเอกสารหลักฐานข้อมูลและบันทึกของบุคคลที่เสียหาย  เพื่อให้ดำเนินการย้ายหรือลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง  ส่วนมากเรื่องจะเงียบ บางทีหน่วยงานที่รับเรื่องแอบมาบอกบุคคล(ส่วนมากเป็นผู้บริหาร) นั้นให้ทราบเสียอีก จึงเกิดการขู่นักเรียนหรือครูที่เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ประเมินทราบ แต่บางครั้งก็ได้ผลมีการลงโทษหรือย้ายเกิดขึ้น  ทำให้ครูและนักเรียนผู้ปกครองมีความสุขไปตามๆกัน

ถ้าท่านอ่านสิ่งที่ผมเขียนในหลายบทความ จะเห็นว่าผมมีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติเชิงลบกับบุคลากรของสถานศึกษาเสมอ  ซึ่งผมก็ขอยอมรับว่าเป็นความจริง  เพราะยิ่งผมได้ออกไปประเมินสถานศึกษามากขึ้น ผมก็ยิ่งมีทัศนคติเชิงลบต่อบุคลากรของสถานศึกษามากยิ่งขึ้นทุกวัน  เนื่องจากผมพบเจอบุคลากรของสถานศึกษาหลายแห่งที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ตั้งใจทำงาน มาโรงเรียนไปวันๆ มาก็สาย กลับก็เร็ว ไม่อุทิศตนเพื่อพัฒนานักเรียนให้เต็มตามศักยภาพและสมรรถภาพ ไม่มีจรรยาบรรณวิชาชีพครู ไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู ไม่เคยจัดการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผลให้เป็นไปตามหลักสูตร มีแต่ให้ทำแบบฝึกหัดในหนังสือ หรือสอนตามหนังสือแบบเรียนที่ใช้  ไม่เคยเห็นความสำคัญของหลักสูตร สอนตามใจฉัน นึกอยากจะสอนก็สอน นึกอยากจะบ่น ดุ ด่าเด็กทั้งชั่วโมงก็ทำ บางแห่งก็เจอให้เด็กเหยียบ นวด ถอนผมหงอก ล้างเท้า ตัดเล็บให้  บางแห่งก็ให้เด็กไปล้างรถ เลี้ยงลูกให้ครู บางแห่งก็แอบหลบจากโรงเรียนไปเลี้ยงไก่ชน ไปทำอาชีพส่วนตัว แล้วจะไม่ให้ผลการทดสอบของนักเรียน เช่น ผลการสอบ O-net ทุกระดับ มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า ๕๐% ทุกวิชาทุกปีหรือ  และผลการทดสอบเข้ามหาวิทยาลัย คะแนนเฉลี่ยทุกวิชาก็ยังต่ำกว่า ๕๐ % เช่นเดียวกัน   ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่เชื่อผมแบบสนิทใจ  ท่านก็ลองพิมพ์คำว่า “ผลการทดสอบแห่งชาติ” หรือ “ผลการทดสอบเข้ามหาวิทยาลัย” ลงใน Google ท่านจะพบกับข้อมูลมากมายที่ปรากฎตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมา  หรือท่านจะเข้าไปชมรายละเอียดผลการทดสอบของ สทศ.ได้ที่เว็บไซด์  https://www.niets.or.th/th/  หรือเว็บไซด์ของที่ประชุมอธิการบดี https://www.mytcas.com/stat/ ก็ได้  ซึ่งเมื่อท่านชมแล้ว ท่านจะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเด็กไทยจึงไม่เก่งในทุกๆด้าน  ไม่มีคุณภาพพอเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน  เพราะแม้ผลการทดสอบความรู้ของครูในวิชาต่างๆ ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการจัดสอบขึ้น (๒๕๕๐-๒๕๕๒) ครูบางคนยังได้คะแนนต่ำกว่านักเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกวิชาเสียอีก  น่าจะมีผู้ปกครองที่กล้าหาญ ยอมเสียเวลาฟ้องศาลปกครองว่าการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่ลูกหลานตัวเองเรียนอยู่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี  จึงทำให้นักเรียนในความปกครองของตนมีศักยภาพและสมรรถภาพตามหลักสูตรที่วางไว้  ไม่คุ้มกับภาษีและค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ผู้ปกครองจ่ายไปสักครั้งก็ดีเหมือนกัน

แม้ว่าส่วนใหญ่ผมจะพบเจอสิ่งที่ไม่น่าพึงประสงค์ในสถานศึกษาทั่วไป   แต่ผมก็พบเจอสถานศึกษาบางแห่ง แต่ส่วนมากมักเป็นโรงเรียนเอกชน (รวมกับครั้งที่ผมไปตรวจเยี่ยมชมสถานศึกษา เพื่อประเมินโรงเรียนคุณธรรมด้วย) ที่พยายามเข้มงวดในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ  มีกระบวนการทำงานที่ดีในหลายด้าน  พยายามกระตุ้นนักเรียนให้ใฝ่เรียนรู้  มีศักยภาพในการเรียนรู้  มีความรอบรู้ ขวนขวายที่จะฝึกอบรม บ่มเพาะ ขัดเกลานักเรียนให้มีทักษะฝีมือ สมรรถภาพ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างทั่วถึงทั้งโรงเรียน เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญ อ.ลำนารายณ์ อ.เมือง จ.ลพบุรี,  โรงเรียนเซนต์โยเซฟ จ.นครสวรรค์ จ.ตาก จ.เพชรบูรณ์, โรงเรียนบรรจงรัตน์ จ.ลพบุรี, โรงเรียนเทพนารี จ.แพร่, โรงเรียนอนุบาลทิพยาหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์, โรงเรียนอินทโมลี จ.สิงห์บุรี, โรงเรียนโรงเรียนบ้านน้ำวิ่ง อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์, โรงเรียนอนุบาลอ่างทอง จ.อ่างทอง, โรงเรียนศรีมิลินทร์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

แม้สถานศึกษาส่วนมากจะยังไม่สามารถผลักดันกระบวนการที่ดีมีคุณภาพในการพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพให้กับนักเรียนได้อย่างทั่วถึงทั้งโรงเรียนก็ตาม  แต่ก็มีสถานศึกษาบางแห่งที่มีจุดเด่นบางด้าน ซึ่งผมชื่นชมและประทับใจมาก เช่น  โรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ จ.แพร่ ที่มีระบบการจัดการ-การดำเนินการของศูนย์อาหาร ที่สามารถส่งเสริมจริยธรรมคุณธรรม สุขภาพของนักเรียนได้ดีมาก, และการสอนของหมวดวิชาศิลปะที่ส่งเสริมพัฒนาสุนทรียภาพให้กับนักเรียน, โรงเรียนร้องกวางอนุสรณ์  จ.แพร่ ที่เด่นเรื่องการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น  ดัดแปลงบ้านพักครูให้เป็นที่ทำการของศูนย์ลูกเสือ ห้องพักพยาบาล และการสอนฝึกการประดิษฐ์ของหมวดคหกรรม, โรงเรียนไทยชนะศึก จ.สุโขทัย ที่มีผู้บริหารที่มีอุดมคติ จิตวิญญาณครูสูงมาก เป็นที่พึ่งกับคณะครูทั้งด้านวิชาการและเรื่องส่วนตัว  ฝึกนักเรียนทำเกษตรพืชผักสวนครัวอย่างเป็นระบบครบวงจร, โรงเรียนศรีสโมสร จ.ชัยนาท ที่ส่งเสริมการเล่นวอลเล่ย์บอล จนนักเรียนระดับ ป.๑ ขึ้นมา ก็เล่นได้ตามกฎ กติกาทุกอย่าง และน่าทึ่งที่นักเรียนมีสุนทรียภาพทางด้านนาฏศิลป์-ดนตรีท้องถิ่นในหัวใจ  พอนักเรียนรุ่นพี่เปิดเทปเพลงท้องถิ่น(เซิ้ง)ในช่วงพักกลางวัน  นักเรียนทุกระดับต่างมีอาการขยับตัว ทำท่ามือรำและร้องตามทันที,  โรงเรียนบ้านน้ำวิ่ง อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ นอกจากจะพัฒนานักเรียนอย่างทั่วถึงทั้งโรงเรียน ที่เด่นมาก คือ ผู้บริหารรู้จักเด็กอย่างละเอียดทุกคน เด่นทั้งการเรียน จริยธรรมคุณธรรม บุคลิกมารยาท การทำงานของคณะกรรมการนักเรียนตามระบอบประชาธิปไตย การดูแลเรื่องสุขภาพ และความสะอาดร่มรื่นของอาคารสถานที่, โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ที่เด่นเรื่องกิจการคณะสีที่ให้นักเรียนรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมการเรียนด้านภาษาต่างประเทศอย่างเต็มที่, โรงเรียนอุดมดรุณี จ.สุโขทัย ที่เด่นในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่น หมวดวิชาศิลปะ และคหกรรม ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้ด้วยตนเองจากสื่อที่มีขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจน ติดตั้งอยู่รอบแหล่งเรียนรู้นั้นๆ, โรงเรียนสักงามวิทยา จ.กำแพงเพชร ที่ผู้บริหารเอาใจใส่ กวดขันนักเรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์  ด้วยระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิด, โรงเรียนคลองลานจินดาศักดิ์จ.กำแพงเพชร ที่เด่นตัวนักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน ใฝ่เรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพตนเองสูงมาก, โรงเรียนบ้านหนองแดน จ.กำแพงเพชร ที่เด่นในการจัดกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี ได้อย่างครบถ้วนตามหลักสูตร และที่น่าทึ่ง คือ การจัดระเบียบแถวได้สวยงามเป็นระเบียบอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

นอกจากนั้นผมยังพบเจอครูที่เก่ง มีความรู้ลึกซึ้งในวิชาที่สอน ใช้หลักจิตวิทยา และหลักการสอนในการถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่อง มีจิตวิญญาณความเป็นครูทุ่มเทช่วยเหลือเด็ก พยายามแก้ปัญหาให้กับเด็ก มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพให้กับเด็กอย่างเต็มที่ เช่น ครูอนุบาลโรงเรียนบ้านมอสมบัติ จ.กำแพงเพชร, ครูอนุบาลโรงเรียนบ้านห้วยไคร้ จ.สุโขทัย, ครูโรงเรียนอนุบาลไอรฎา จ.กำแพงเพชร ที่มีเทคนิคการสร้างเสริมประสบการณ์ให้นักเรียนได้ตื่นเต้น ตื่นตัว ตื่นใจ  เน้นฝึกพัฒนาการทั้ง ๔ ด้านอย่างจริงจัง  ไม่เน้นแค่ทำกิจกรรม,  ครูคหกรรมโรงเรียนนิคม ๖ (หนองปล้อง) จ.กำแพงเพชร, ครูภาษาอังกฤษโรงเรียนบ้านน้ำวิ่ง จ.นครสวรรค์, ครูภาษาอังกฤษโรงเรียนบ่อยายส้ม จ.ชัยนาท, คุณครูแสงทอง อรุณ คุณครูยุพา มั่นเมือง โรงเรียนตากพิทยาคม ที่สามารถสอนภาษาอังกฤษจนนักเรียน มีความรู้คำศัพท์อย่างกว้างขวาง สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว, คุณครูรักไทย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี ที่สอนคณิตศาสตร์ได้เข้าใจง่าย  ปรับพื้นฐานการเรียนคณิตศาสตร์ให้เด็กทุกคนอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย  นักเรียนทุกคนชื่นชมและเคารพรักทั้งโรงเรียน ฯลฯ ที่กล่าวมานั้นเป็นครูที่ผมประทับใจ ส่วนครูที่ผมชื่นชมความเสียสละ การทุ่มเทในการสอน การผลิตสื่อ ยังมีอีกมากมายจนไม่สามารถเอ่ยถึงได้ครบหมดทุกท่าน   พูดง่ายๆว่าเมืองไทยนี้โชคดีมาก  แม้ระบบการจัดการการศึกษาตามสถานศึกษายังไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีพอก็ตาม  แต่ก็ยังมีผู้บริหารและครูที่มีอุดมคติ และจิตวิญญาณครู ทุ่มเทชีวิตและจิตใจในการสอน ในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนอย่างแท้จริง  โดยไม่สนใจที่จะทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะตนเอง หรือออกไปสอนพิเศษ  หรือขวนขวายหาตำแหน่งหน้าที่ในสถานศึกษา แถมบางครั้งต้องเสียสละทรัพย์สินเงินทองส่วนตัวเพื่อผลิตสื่อ ผลิตเอกสารประกอบการเรียน ช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา  เด็กไทยจำนวนหนึ่งจึงยังมีคุณภาพ มีความรู้ มีความสามารถในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพส่วนตัวได้เป็นอย่างดี  จึงขอขอบคุณ “คุณครู” ทุกท่านด้วยความเคารพอย่างยิ่ง 

ทั้งๆที่รัฐบาลแต่ละยุคได้ทุ่มเทงบประมาณเพื่อการประเมินคุณภาพการศึกษา ให้กับ สมศ. ปีละไม่ต่ำกว่า ๓๕๐ ล้านบาท โดยหวังว่าการประเมินภายนอกที่ สมศ.ดำเนินการ และผลการประเมินจะทำให้สถานศึกษานำไปแก้ไขปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการทำงาน การสอน ให้มีกระบวนการที่ดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งของสถานศึกษาและระดับประเทศให้สูงขึ้น  แต่เมื่อเทียบกับผลการทดสอบ O-net ของสถานศึกษาในแต่ละปี และภาพรวมระดับประเทศ  หรือผลการทดสอบจากแหล่งต่างๆ เช่น ผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผลการสอบของภาคเอกชนที่ช่วยกันกระตุ้นนักเรียนและสถานศึกษาให้ออกมาทดสอบความรู้ความสามารถทักษะฝีมือของนักเรียนอย่างกว้างขวางทั่วถึงทุกจังหวัด  และผลการทดสอบของ PISA  (https://pisathailand.ipst.ac.th/news-21/)  กลับพบว่าไม่มีความแตกต่างเพิ่มขึ้นที่เห็นได้ชัด หรือสูงขึ้นกว่าก่อนมีการประเมินคุณภาพภายนอกเมื่อปี ๒๕๔๔ แต่อย่างใด แถมมีแนวโน้มที่จะมีคะแนนเฉลี่ยตกต่ำลงไปกว่าเดิมทุกปี  (https://www.bbc.com/thai/articles/c6prx0em6d6o) 

จากประสบการณ์ที่ผมออกไปเป็นผู้ประเมินภายนอกตามสถานศึกษาหลายร้อยแห่ง  แล้วสรุปข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาเพื่อทำรายงาน  เป็นผู้ตรวจอ่านรายงานก่อนส่ง สมศ./โรงเรียน  และแก้ไขรายงานตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิของ สมศ.แนะนำ  ซึ่งผมขอสรุปปัญหาและสาเหตุที่ทำให้สถานศึกษา หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่นำผลการประเมินภายนอกไปพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นตามที่แนะนำไว้ในรายงานนั้นเป็นเพราะเหตุใด ดังนี้

๑. ตัวผู้ประเมิน 

๑.๑ ผู้ประเมินภายนอกส่วนมากยังขาดความรอบรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา  โดยเฉพาะหลักสูตร  หลักการสอน หลักจิตวิทยา และการวัดผลประเมินผลตามหลักการที่แท้จริง  จึงทำได้แค่เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ หรือหาเอกสารมาเป็นหลักฐานตามมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้เท่านั้น  ไม่กล้าประเมินจากการสังเกตพฤติกรรม หรือประเด็นรายละเอียดตามเกณฑ์พิจารณาแต่ละตัวบ่งชี้อย่างครบถ้วน

๑.๒ ผู้ประเมินภายนอกส่วนใหญ่ มักเป็นข้าราชการครูที่เกษียณอายุมาแล้ว จึงมีความเห็นใจ และเกรงใจเพื่อนครูที่ยังทำงานอยู่ ไม่กล้าที่จะประเมินไปตามสภาพจริง การประเมินจึงให้ระดับดีไปก่อน เพื่อช่วยให้ผู้บริหารและครูไม่เครียดจากการประเมิน ๓ วัน

๑.๓ ผู้ประเมินภายนอกมักจะจดข้อมูลบันทึกภาคสนาม (field notes) ลงในช่องว่างที่ สมศ.ทำแบบฟอร์มขึ้นมาตามตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา จึงทำให้ผู้ประเมินจึงเข้าใจว่า สมศ.ต้องการให้เขียนในเชิงลักษณะสรุปข้อมูล เช่น นักเรียนมีจริยธรรม คุณธรรม นักเรียนรู้จักประหยัดในการใช้ทรัพย์สินของโรงเรียน โดยไม่ลงรายเอียดว่าไปพบเจอนักเรียนที่ไหน ทำอะไร ทำอย่างไรจึงสรุปว่าประหยัด  (แต่พอผู้ประเมินส่วนหนึ่งบันทึกภาคสนามแบบลงรายละเอียดแต่ละชั่วโมงนาทีว่า เจออะไร คุยกับใคร เช่น ๐๗.๐๐ น. เดินทางถึงหน้าโรงเรียน พบว่า ครูเวรยืนหลบอยู่ด้านในประตูโรงเรียน ไม่มีครูยืนด้านหน้าโรงเรียนเพื่อคอยดูแลการข้ามถนน และพฤติกรรมของนักเรียน พบว่า นักเรียนส่วนมากเดินเท้าจากบ้านมาโรงเรียน มีส่วนหนึ่งขี่จักรยานมา ทุกคนแต่งกายเรียบร้อย ยกมือไหว้ครูพร้อมกระเป๋าและสิ่งที่ติดตัวมา   ๐๗.๓๐ น. เดินไปคุยกับชาวบ้านที่มีร้านค้าหน้าโรงเรียน พบว่า ชาวบ้านส่วนมากชื่นชมครู ก. ที่ขยันสอน เด็กรักมาก แต่ไม่ชอบ ผอ.ที่มาโรงเรียนสาย ชอบดุ ตำหนินักเรียน ฯลฯ จากบันทึกแบบนี้ ค่อยบอกว่าสามารถเป็นข้อมูลยืนยันหลักฐานในตัวบ่งชี้มาตรฐานใดได้บ้าง แต่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ สมศ. แต่งตั้งให้มาตรวจอ่านรายงาน กลับบอกว่าไม่ดี เขียนแบบครอบจักรวาลเหมือนยาหม้อใหญ่  จะใช้เป็นข้อมูลหลายมาตรฐานได้อย่างไร)

๑.๔ ผู้ประเมินภายนอกส่วนมากต้องสรุปแต่ละตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานพร้อมด้วยหลักฐานที่มีเอกสารยืนยันในบันทึกภาคสนามของ สมศ. จึงนั่งแต่ศึกษาเอกสารของโรงเรียนที่เตรียมไว้แต่ละมาตรฐานในห้องรับรอง ไม่ค่อยเดินสำรวจรอบๆโรงเรียน หรือไปเยี่ยมชมห้องเรียน และห้องต่างๆ เพื่อให้เห็นสภาพจริงการทำงานของครู การเรียนของนักเรียน

๑.๕ ผู้ประเมินภายนอกส่วนมาก ไม่ได้ใช้หรือไม่มีเครื่องมือในการประเมินที่หลากหลายใช้ในการเก็บข้อมูลแต่ละตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานนั้นๆ เช่น เวลาไปเยี่ยมชมการสอนของครูตามห้องเรียนต่างๆ ก็ไม่มีแบบบันทึกสภาพห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ชั้น สิ่งของในห้องเรียน และพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละห้อง  ไม่มีแบบสังเกตพฤติกรรมการสอน ไม่มีแบบประเมินแผนการสอน ไม่มีแบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจของครูเกี่ยวกับการจัดการศึกษา  ไม่มีแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ ไม่มีแบบสอบถามสภาพปัญหาการเรียนการสอนของครูและนักเรียน การที่ไม่มีหรือไม่ได้ใช้เครื่องมือในการประเมินอย่างครบถ้วนครอบคลุม  อาศัยแค่การสัมภาษณ์ หรือการสนทนาที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือศึกษาเอกสารในเวลา ๓ วัน  ย่อมทำให้ได้ข้อมูลไม่ละเอียดครบถ้วนทุกตัวบ่งชี้แน่นอน  แต่ต่อมา สมศ.ยุคหนึ่ง ไม่รู้เหตุผลเหมือนกัน (คงถูกสถานศึกษาร้องเรียน) ประกาศห้ามผู้ประเมินนำเครื่องมือประเมินไปใช้ทดสอบ หรือสอบถามครูอีก

.

๒. สถานศึกษา (ผู้บริหารและครู)

๒.๑ ผู้บริหารและครูยังไม่เห็นความสำคัญของการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา  คิดว่าทำๆไปตามนโยบายที่ทางกระทรวงและหน่วยงานต้นสังกัดสั่งมา ยังไม่ได้ทำจากการเห็นผลประโยชน์และคุณค่าของการประเมิน  เพราะแม้ผลการประเมินไม่ผ่าน หรือพอใช้  ก็ไม่มีการลงโทษ หรือเกิดผลกระทบต่อตำแหน่งหรือเงินเดือนแต่อย่างใด

๒.๒ การเตรียมพร้อมที่จะรับการประเมิน ก็มักจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่ให้สวยงาม จัดแสดงนิทรรศการด้วยสื่อที่หลากหลาย  จัดทำแฟ้มข้อมูลเอกสารหลักฐานตามตัวบ่งชี้แต่ละมาตรฐาน  นำเสนอสถานศึกษาด้านต่างๆด้วยวีดิทัศน์ และการจัดเตรียมห้องรับรองผู้ประเมิน บางแห่งถึงกับจัดเตรียมนักเรียนนักศึกษาตั้งขบวนรอรับผู้ประเมินตั้งแต่ประตูสถานศึกษา มีการแสดงดนตรีศิลปะต้อนรับ มอบพวงมาลัย ติดดอกไม้ที่เสื้อผู้ประเมิน จัดเลี้ยงอาหารทั้งกลางวัน ตอนเย็น รวมทั้งจัดหาที่พัก ดูแลซักเสื้อผ้าให้ผู้ประเมินอย่างเต็มที่

๒.๓ ผู้บริหารและครูยังไม่มีระบบการทำงานที่ครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาหรือการทำกิจกรรม/โครงการไม่ได้ใช้หลักการ/ทฤษฎีใดๆ มาเป็นแนวทาง เพื่อส่งผลบรรลุจุดประสงค์ หรือวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา 

๒.๔ ผู้บริหารและครูไม่เคยยึดถือหลักการ จุดมุ่งหมาย สมรรถนะ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรเป็นเป้าหมายสูงสุดในการจัดการศึกษา และในการจัดการเรียนการสอนก็ไม่มีกระบวนการขั้นตอน หรือไม่ใช้หลักการสอน หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ หลักการวัดผลประเมินที่ดีมาฝึกพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพนักเรียนอย่างจริงจัง  มีแต่อธิบายตามหนังสือแบบเรียนเท่านั้น

๒.๕  ผู้บริหารและครูส่วนมาก เริ่มขาดจิตวิญญาณความเป็นครู หรือขาดจรรยาบรรณในวิชาชีพครูไม่คิดจะสงสารเด็ก ช่วยเหลือเด็ก อยากพัฒนาเด็ก ใช้แต่อารมณ์ความรู้สึก บังคับ ขู่เข็ญวางกฏระเบียบเข้มงวดต่อนักเรียนมากไป เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ชอบทำงานพิเศษของสถานศึกษา ชอบมีตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน/หัวหน้าฝ่าย/ผู้ช่วยผู้แนวยการ/รองผู้อำนวยการ ไม่ชอบสอน สนใจแต่การสอบเลื่อนตำแหน่ง  ได้ ๒ ขั้นทุกปี หรือหาทางทำแต่ผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะเท่านั้น  

.

๓. ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา

๓.๑ ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา สั่งการให้นำผลการประเมินของแต่ละสถานศึกษามาจัดลำดับ อ้างว่าไว้เป็นข้อมูลในการพิจารณาความดีความชอบ หรือโยกย้าย โดยไม่สนใจเนื้อหา รายละเอียดการประเมิน ข้อเสนอแนะในรายงานการประเมิน  จึงทำให้สถานศึกษาพยายามหาทางให้ผู้ประเมินตัดสินระดับผลการประเมินอยู่ในระดับดีขึ้นไป

๓.๒ ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา ไม่สั่งการให้ศึกษานิเทศก์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรายละเอียดการประเมิน และข้อเสนอแนะในรายงานการประเมินไปศึกษาวิเคราะห์หาจุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุง โอกาส อุปสรรค ตามสภาพปัญหาและสภาพจริงของแต่ละสถานศึกษา  แล้วจำแนกจัดหมวดหมู่สถานศึกษาที่มีสภาพปัญหาสาเหตุคล้ายกัน  เพื่อส่งเสริม เร่งรัดยกระดับการทำงานของสถานศึกษาให้มีคุณภาพประสิทธิภาพได้มาตรฐานยิ่งขึ้น

๓.๓ ไม่ทราบว่าเป็นคำสั่งผู้ใด ที่ทำให้ศึกษานิเทศก์ของ สพป. จึงชอบแนะนำให้สถานศึกษาในสังกัดจัดทำกิจกรรม/โครงการขึ้นมารองรับตัวบ่งชี้ในแต่ละมาตรฐาน จึงทำให้บางสถานศึกษามีโครงการมากกว่า ๑๐๐ โครงการ มีกิจกรรมตามโครงการต่างๆ อีกไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ กิจกรรม ซึ่งเป็นภาระที่หนักหน่วงของบุคลากรสถานศึกษา  ถ้าสถานศึกษาทำตามกิจกรรม/โครงการที่ทาง สพป.แนะนำจริง ก็คงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามหลักสูตรเป็นแน่  เพราะต้องไปทำกิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตร หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตรเท่านั้น   

.

๔. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) 

๔.๑ สมศ. มีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงมาตรฐานและตัวบ่งชี้ใหม่ทุกระยะรอบการประเมิน และแม้ในรอบระยะการประเมินครั้งแรกก็มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาเกือบทุกปี ซึ่งถ้าปรับเปลี่ยนให้กระชับชัดเจนขึ้น และใช้ทุกมิติในการประเมินอย่างครบถ้วนก็เป็นการดีมาก  แต่ดูเหมือนบางอย่างก็ปรับเปลี่ยนเพื่อลดเกณฑ์การพิจารณาให้ต่ำลง  เพื่อช่วยสถานศึกษาให้ผ่านการประเมินในแต่ละตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานมากขึ้น  เช่น ในมาตรฐานที่ ๕ ปีแรก พิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่มีเกินร้อยละ ๘๐ ขึ้นไปจำนวนเท่าใดเป็นขั้นต่ำ ปีต่อมาให้พิจารณาจากร้อยละ ๕๐ ขึ้นไปเป็นขั้นต่ำ ปีต่อมาก็ให้พิจารณาจากจำนวนที่เกินขีดจำกัดล่าง (คะแนนเฉลี่ย) มีจำนวนเท่าใด  การปรับเปลี่ยนที่ดูเหมือนลดลง จึงทำให้สถานศึกษาส่วนมากไม่ต้องพยายามขวนขวายปรับปรุงวิธีการทำงาน หรือการสอน เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามหลักสูตร และพัฒนาศักยภาพ/สมรรถภาพของนักเรียนอย่างเต็มที่อีก   เพราะยังไงๆ เดี๋ยวก็ผ่าน  ถึงผลสัมฤทธิ์ไม่ผ่าน แต่ สมศ. ก็แนะนำให้ผู้ประเมินดูที่ความพยายามในการแก้ปัญหาของสถานศึกษา  ถ้ามีร่องรอยก็ปรับให้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำได้ (ส่วนมากก็ใช้ช่องทางนี้แหละ ที่ช่วยสถานศึกษาให้ผ่าน) 

๔.๒  สมศ. มีมาตรฐานและตัวบ่งชี้ใช้ในการประเมินคุณภาพของสถานศึกษาเป็นตัวเอง  ซึ่งแม้จะมีมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้เหมือนกันกับของ สพฐ. และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีรายละเอียดและการจัดลำดับหมวดหมู่ต่างกัน ทำให้สถานศึกษามีภาระในการบริหารจัดการมากขึ้นกว่าเดิม  ถึงแม้สถานศึกษาจะดำเนินการบริหารจัดการตามมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้ของหน่วยงานต้นสังกัด แต่ก็ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้กับการประเมินภายนอกของ สมศ.ด้วย  แม้ สมศ. จะบอกให้สถานศึกษาไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อการประเมินของ สมศ. เพราะผู้ประเมิน สมศ.จะเป็นคนหาข้อมูลหลักฐานเอาเอง  ซึ่งไม่มีสถานศึกษาปฏิบัติตาม มีแต่ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานเรียบเรียงเป็นแฟ้มมาตรฐาน/ตัวบ่งชี้ใหม่  และก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะครูจึงบ่นว่าต้องทิ้งห้องสอน ไม่มีเวลาในการสอนเต็มที่ เพราะต้องเตรียมเอกสารไว้รองรับการประเมินสารพัดหน่วยงานที่มีมากขึ้นทุกปี

๔.๓  ผมเป็นคนหนึ่งที่มักถูกตำหนิ วิจารณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิของ สมศ. ที่แต่งตั้งให้มาตรวจอ่านรายงาน ก่อนที่ สมศ.จะรับรองเป็นทางการบ่อยมากว่า “รายงานที่ผมเขียนมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกับข้อมูลเสนอแนะต่อโรงเรียนอื่นๆ”  พูดง่ายๆ ก็คือ ลอกของโรงเรียนไปยังอีกโรงเรียนหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนตัวเลขและชื่อโรงเรียนเท่านั้น  ซึ่งผมก็ชี้แจงแย้งไปว่า “การดำเนินการของทุกสถานศึกษาในแต่ละตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานต่างๆ ร้อยละ ๙๗ แทบไม่แตกต่างกันเลยทั้งการบริหาร ที่ทำตามกฎระเบียบทางราชการ/นโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด และการจัดการเรียนการสอนที่สอน/อธิบายตามหนังสือแบบเรียน  ข้อสอบก็ออกตามเนื้อหาในหนังสือแบบเรียน ไม่เคยสอน-สอบตามหลักสูตร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นของผู้บริหารและครูทุกสถานศึกษาล้วนมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญการจัดการศึกษาตามหลักสูตร  ไม่ตระหนักถึงการจัดการเรียนการสอนตามธรรมชาติวิชาให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของหลักการสอน  หรือ หลักทางจิตวิทยาการเรียนรู้  พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้บริหารและครูส่วนมากไม่รอบรู้  รู้ไม่ลึกซึ้ง แถมไม่ใส่ใจ ไม่สนใจนั่นแหละ  มีสถานศึกษาเพียงร้อยละ ๓ พอจะพูดได้ว่ามีผู้บริหารที่มีภาวะความเป็นผู้นำทางวิชาการสูง (เก่ง กล้า เอาจริง) จึงสามารถกำกับ ควบคุม ประเมิน ติดตาม นิเทศคณะครูให้ดำเนินการสอนอย่างมีคุณภาพและพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพนักเรียนอย่างจริงทั่วถึงทั้งโรงเรียน (schoolwide)  

และจากที่ผมประเมินมา ๓๐๐ กว่าแห่ง ผมยังไม่เคยพบสถานศึกษาใดที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ครบวงจรคุณภาพ ตั้งแต่มีการวิเคราะห์หลักสูตร นำผลการวิจัยในชั้นเรียนจากผลการทดสอบครั้งที่แล้ว และจากสภาพปัญหาการเรียนที่พบมาวางแผนการสอน/การจัดกิจกรรมตามขอบเขตวิชา ด้วยวิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ให้เป็นไปตามหลักสูตรในครั้งต่อไป  มีการวิเคราะห์ผู้เรียน และทดสอบความรู้ในวิชา/ความรู้พื้นฐานก่อนเรียน  ต่อจากนั้นสอนอธิบายเพียง ๑๕ นาที แล้วให้นักเรียนได้ฝึกทักษะหรือปฏิบัติกิจกรรมตามกระบวนการเรียนรู้ด้วยสื่อที่ตรงตามตัวชี้วัด  และเมื่อจบหน่วยการเรียนก็มีการทดสอบทันที  ถ้าผู้ใดไม่ผ่านร้อยละ ๘๐ ก็จัดการสอบซ่อมหรือแก้ไขจนผ่านเกณฑ์ จึงจัดการเรียนรู้ในหน่วยต่อไป เมื่อครบทุกหน่วยก็จัดให้มีการทดสอบความรู้องค์รวมตามหลักสูตร(ทดสอบปลายภาคเรียน)  ซึ่งข้อทดสอบก่อนจะนำมาใช้ก็ดำเนินการวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพตามหลักการวัดผลประเมินผล จนได้ข้อทดสอบที่เหมาะสม เที่ยงตรง หลังจากทดสอบเสร็จ  ครูก็ต้องนำผลการทดสอบนั้นมาวิเคราะห์ หาสาเหตุที่นักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ผ่านเป็นเพราะเหตุใด  ที่เราเรียกกันว่าวิจัยในชั้นเรียน (วิจัยหน้าเดียว)นั่นแหละ หลังจากพบสาเหตุครูก็นำผลนั้นมาช่วยเหลือนักเรียนให้แก้ไขปรับปรุงจนเกิดการเรียนรู้ตามที่คาดหวัง   

นี่คือกระบวนการที่วงการศึกษาคาดหวังอยากให้เกิดขึ้นจริงกับทุกสถานศึกษาทั้งประเทศ  แต่ความจริง ก็คือ แผนการสอนที่ใช้ในสถานศึกษาทั่วไป ครูส่วนมากสักแต่ว่าเขียนมั่วๆ ไปตามแบบฟอร์มที่โรงเรียนแจกให้  เวลาสอนก็สอน/อธิบายตามหนังสือแบบเรียนที่ใช้  ไม่เคยสอนตามแผนการสอนหรอก เมื่อเรียนจบแต่ละบท/หน่วยก็ไม่สอบทันที  นานๆ ถึงจะสอบเก็บคะแนนสักที หรือยกยอดไปสอบตอนกลางภาค และปลายภาคเรียนทีเดียว พอผลการสอบภาคเรียนออกมา ถ้าใครได้ ๐ ก็พยายามบีบบังคับให้นักเรียนผู้นั้นมาสอบซ่อมแก้ไขเกรดอย่างจริงจัง  (ทั้งๆที่ตามหลักการประเมินที่ดี  ถ้านักเรียนคนใดได้ ๐ แสดงว่าครูผู้รับผิดชอบคนนั้นไม่เคยสอบหรือประเมินชิ้นงานแต่ละหน่วยหรือบทเรียนเลย แล้วจะเป็น Formative assessment หรือ Assessment for learning ได้อย่างไร  ซึ่งถือว่าการทดสอบหรือประเมินแต่ละหน่วย/บท เป็นการวัดผลระหว่างเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้นั้นมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับเกณฑ์ และมีส่วนไหนที่นักเรียนยังไม่เข้าใจบ้าง ด้วยการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำแบบฝึกหัดเพื่อวัดความเข้าใจ การถาม-ตอบในห้องเรียน การสร้าง small group discussion เป็นต้น) 

และถ้า สมศ. ต้องการให้มีการประเมินสถานศึกษาตามตัวบ่งชี้ในแต่ละมาตรฐาน และตามเกณฑ์พิจารณาอย่างแท้จริง หรือเป็นไปตามสภาพจริงที่สถานศึกษานั้นปฏิบัติหรือดำเนินการกันอยู่   ผมก็พอจะเอ่ยได้ว่า  “รับรองไม่มีสถานศึกษาแห่งใดผ่านการประเมินระดับดีขึ้นไป” อย่างแท้จริงแน่นอน   อ้าว ! แล้วรายงานการประเมินภายนอกสถานศึกษาบางแห่งที่ผู้ประเมินส่วนมากให้ผ่านระดับดี เพราะผ่านเกณฑ์พิจารณาทุกตัวบ่งชี้นั้นไม่น่าเชื่อถือหรือ  ผมขอยืนยันว่า “ไม่น่าเชื่อถือเท่าใด” ผมเชื่อว่าผู้ประเมินส่วนหนึ่งไม่รู้ว่ารายละเอียดแต่ละตัวบ่งชี้จะใช้หลักฐานใด หรือไปดูจากที่ใดบ้าง ผู้ประเมินอีกส่วนหนึ่งเชื่อเอกสารหลักฐานที่สถานศึกษานำมาให้ดูเท่านั้น  ซึ่งก็ดูเหมือนเอกสารหลักฐานจะน่าเชื่อถือมากว่ามีการดำเนินการที่เป็นระบบจริง  แต่ผู้ประเมินไม่ได้ไปพูดคุยสนทนาหรือสอบถามจากนักเรียนบ้าง หรือขอตรวจสอบเอกสารเหล่านั้นให้ละเอียดว่าเป็นปัจจุบันหรือไม่  เพราะมีบางสถานศึกษานำเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงกระบวนการดำเนินการสอนที่เป็นระบบครบวงจร จากผลงานทางวิชาการของครูบางคนที่ส่งไปเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะมาแสดงให้ผู้ประเมินชม แต่เชื่อไหมครับว่าครูที่ส่งผลงานทางวิชาการแล้วผ่าน ของจริงกลับไม่เคยทำตามกระบวนการคุณภาพเหล่านั้นเลย (ขอฮา แบบสะอื้นไห้)

พูดง่ายๆ ก็คือ ให้ไปประเมินตามตัวบ่งชี้ในแต่ละมาตรฐาน และตามเกณฑ์พิจารณา รายงานการประเมินก็ต้องเป็นไปตามตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณานั่นแหละ ส่วนที่ดูแตกต่างก็คือ สำนวนภาษาที่ใช้ในการเขียนรายงานของผู้ประเมิน ที่เป็นไปตามภูมิหลัง ประสบการณ์มากกว่า  นอกนั้นในรายงานก็ไม่หนีไปจากการนำผลการประเมินไปเขียนว่าสถานศึกษาแห่งนั้นมีสภาพปัญหาอะไร  อย่างไร แต่ผู้ทรงคุณวุฒิกลับต้องการให้รายงานการประเมินของทุกสถานศึกษาที่ผมเขียนรายงาน  ไม่ควรมีสำนวนเหมือนกันทั้งสภาพปัญหา สาเหตุ และข้อเสนอแนะ  ทั้งๆที่การดำเนินการการทำงาน หรือวิธีการปฏิบัติของแต่ละสถานศึกษาส่วนมากที่ผมเข้าไปประเมินเหมือนกันทุกประการ  

ส่วนรายงานของผมจะเป็นไปตามสภาพจริง จากข้อมูลจริงของบุคลากรในสถานศึกษานั้นๆ เพราะผมใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียน ด้วยแบบสอบถาม แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบประเมิน และแบบจดบันทึกข้อมูลที่พบเห็น ได้พูดคุยอย่างละเอียดทุกรายชั่วโมง เรียกว่าครอบคลุมทุกมาตรฐาน ทุกตัวบ่งชี้ หรือทุกด้าน  ผมพอจะพูดอวดได้ว่า ผมเป็นผู้ประเมินที่มีเครื่องมือในการเก็บข้อมูลมากกว่าผู้ประเมินทุกท่านในขณะนั้น เช่น แบบสอบถามสภาพปัญหานักเรียน(20240510155524.doc) แบบสอบถามความรู้ความเข้าใจต่อการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของผู้บริหารและครู(20240510155602.doc) แบบสอบถามสภาพปัญหาการทำงานของครู และความเป็นครู (20240510155624.doc) แบบประเมินแผนการสอนของครู(20240510160611.doc) แบบสังเกตการจัดการเรียนการสอนของครู (20240510160448.doc)แบบบันทึกการเยี่ยมชมห้องเรียน(20240510160250.docx) เป็นต้น  ซึ่งถ้าผู้ทรงคุณวุฒิของ สมศ.ยุคนั้น จะไม่ให้ผมเขียนสำนวนเหมือนกัน ผมก็คงต้องนั่งจินตนาการเขียนเป็นนวนิยายแน่เลย  จะว่าไปรายงานการประเมินของผม พอจะถือได้ว่าเกือบสมบูรณ์แล้ว เพราะระบุถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใด จากใคร ซึ่งข้อเสนอแนะของผมในการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้บรรลุหรือสำเร็จได้ ก็ต้องไปแก้ที่สาเหตุ ด้วยวิธีการที่ผมเห็นว่าเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา หรือ ด้วยปัจจัยเงื่อนไขที่จะทำให้สำเร็จเสมอ   

ปี ๒๕๖๐ มีงานวิจัยคุณภาพชิ้นหนึ่งที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้สนับสนุนทุนให้กับ ดร.วารุณี ลัภนโชคดี  ทำวิจัยเกี่ยวกับ “ปัจจัยที่ส่งผลและพัฒนาการของระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกทั้งสามรอบของ สมศ.” ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถสนับสนุนเหตุผลของผมได้อย่างชัดเจน มีรายละเอียดข้อมูลตรงกับของผมหลายเรื่อง แต่ของ ดร.วารุณี ลึกซึ้งกว่าละเอียดกว่า เพราะท่านได้ศึกษาครอบคลุมทุกด้านกับผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ท่านที่สนใจลองหาอ่านได้ที่ (https://www.onesqa.or.th/th/contentlist-view/1214/2859/

๔.๔ ในทัศนะของผมจากประสบการณ์ที่ร่วมการประเมินกับ สมศ. มาหลายปี ผมคิดว่าการประเมินภายนอกไม่ควรแค่จดบันทึกข้อมูลไปตามที่พบเห็นว่าได้พบหรือไม่ได้พบ และมีหรือไม่มีลงไปในแบบบันทึกข้อมูลภาคสนามของ สมศ.เท่านั้น แต่ควรจะศึกษาลงไปในรายละเอียดแต่ละประเด็นในสิ่งที่พบเห็นว่าใช่หรือไม่ เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องหรือเปล่า เช่น แผนการสอนตรงกับหลักสูตรหรือไม่ แล้วแผนการสอนนั้นถ้าทำตามที่ตนเองวางแผนไว้จะบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่ หรือวิสัยทัศน์ของสถานศึกษาเป็นวิสัยทัศน์ที่สะท้อนสภาพจริงของสถานศึกษาหรือไม่ พันธกิจได้มีการวิเคราะห์จากวิสัยทัศน์หรือไม่  ใช้กลยุทธ์ใดที่จะทำให้พันธกิจนั้นสำเร็จ  โครงการเป็นไปตามกลยุทธ์/พันธกิจส่งผลต่อวิสัยทัศน์หรือไม่ และกิจกรรมแต่ละโครงการนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และสอดคล้องหรือส่งผลให้เป็นไปตามมาตรฐานตัวบ่งชี้ของสพฐ. และ สมศ.หรือไม่ เป็นต้น ทำอย่างนี้จึงจะถือว่าช่วยสถานศึกษาให้ทำงานอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพครบวงจรจริงๆ  แล้วถึงจะสรุปข้อมูลที่พบเหล่านั้นลงในบันทึกข้อมูลภาคสนามตามตัวบ่งชี้ต่อไป  การทำอย่างนี้ก็คล้ายกับวิธีการประเมินและการจดบันทึกข้อมูลของ ISO ที่ สมศ.ในอดีตพยายามดัดแปลงเอามาใช้กับวงการศึกษาของประเทศไทยนั่นแหละครับ

ในทัศนะของผม  ผมอยากให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการทดสอบและประเมินผู้เรียน(Achievement) ให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านความรู้ความสามารถ (O-net) สมรรถนะหรือทักษะการเรียนรู้ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เหมือนที่อดีตกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการเคยดำเนินการมาก่อน เช่น การประเมินคุณลักษณะนิสัย  การประเมินการอ่านคิดวิเคราะห์เขียน(SAT) การประเมินคุณลักษณะการทำงาน และการประเมินสมรรถภาพทางกาย(ให้สถานศึกษาจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ)  แล้ว สมศ. ใช้ผลการประเมินของ สทศ. นั้นแหละ เป็นโจทย์ให้ผู้ประเมินภายนอกเข้าไปยังสถานศึกษาต่างๆ เพื่อศึกษาหาสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใดสถานศึกษานั้นจึงประสบผลสำเร็จ หรือล้มเหลว ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวบุคลากร หรือจากวิธีการ หรือจากระบบ หรือจากปัจจัยเงื่อนไข หรือจากสังคมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ก็ได้  ผมเชื่อว่าน่าจะได้ประโยชน์ และผลสำเร็จมากกว่า เพราะผู้ประเมินจะได้ไม่มุ่งไปที่เป็นนักประเมิน และผู้ตัดสินผลการประเมินเท่านั้น จะได้ทำหน้าที่ผู้วิเคราะห์ หรือผู้ตรวจสอบแบบจริงจัง เพราะประเทศไทยทุกยุคขาดแคลนผู้วิเคราะห์/ผู้ตรวจสอบที่เจาะลึกจริงจังมากที่สุด 

.....

จากสภาพปัญหาและสาเหตุทั้ง ๔ ประการที่ผมได้กล่าวมา จึงทำให้ผลการประเมินสถานศึกษาของผู้ประเมินภายนอกส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามสภาพจริง หรือ สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงทั้งของการทำงาน การสอน การพัฒนาศักยภาพนักเรียนได้อย่างชัดเจน เช่น มาตรฐานที่ ๕ ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ถ้าเอาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนเป็นหลัก  โรงเรียนส่วนมากจะผ่านการประเมินของ สมศ. ระดับดีทันที  แต่ถ้าเอาผลการทดสอบแห่งชาติ (O-net) เป็นหลัก  ซึ่ง สมศ. ก็ให้ยึดผลนี้เป็นหลัก โรงเรียนส่วนมากจะมีผลการประเมินอยู่ในระดับปรับปรุงทันทีซึ่งในเมื่อผลการประเมินอยู่ในระดับปรับปรุง  แล้วเพราะเหตุใดผลการประเมินด้านผู้บริหารและครู กลับอยู่ในระดับดีมากด้วยล่ะ  เพราะถ้าทางสถานศึกษาดำเนินการจัดการศึกษาตามหลักสูตรและวิธีสอนที่ดีมีคุณภาพครบวงจรจริง ตั้งแต่ทดสอบก่อนเรียน วิเคราะห์ผู้เรียน  ปรับพื้นฐานนักเรียน ระหว่างเรียนก็เน้นการเรียนด้วยการปฏิบัติจริง(Active Learning) จัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ(ตามธรรมชาติและศักยภาพ) เมื่อเรียนจบแต่ละหน่วย ก็มีการวัดผลประเมินผลตามตัวชี้วัดและตามสภาพจริง  นักเรียนทุกระดับจะไม่มีทางเป็นไปได้ที่ผลการทดสอบแห่งชาติจะมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่งแน่นอน    

แม้ข้อเสนอแนะของผู้ประเมินในรายงานก็เสนอแนะไปตามผลการประเมินแต่ละตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานเท่านั้น  ไม่ได้เขียนจากสาเหตุจริงที่ทำให้เกิดปัญหานั้นๆ ขึ้นมา จึงทำให้ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆของสถานศึกษา แต่มีสิ่งหนึ่งที่สถานศึกษานำผลการประเมินภายนอกไปพัฒนา คือ “การทำเอกสาร” ที่แสดงถึงกิจกรรม/โครงการขึ้นมาให้ครอบคลุม เป็นหลักฐานรองรับว่าสถานศึกษาได้ดำเนินการแล้วตามตัวบ่งชี้แต่ละมาตรฐาน  ซึ่งเห็นได้ชัดจากการไปประเมินภายนอกในสถานศึกษา ระยะที่ ๒ (๒๕๔๙-๒๕๕๓)  จึงทำให้ผลการประเมินภายนอกในระยะที่ ๒ แทบจะทุกสถานศึกษาผ่านการรับรองมาตรฐาน   แต่ก็ทำให้ผลการประเมินภายนอกไม่เป็นที่ยอมรับเชื่อถือจากบุคคลในวงการศึกษาและบุคคลทั่วไป  ซึ่งต่อมาก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สมศ. และผู้ประเมินที่ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่รัฐจ่ายไป ไม่คุ่มค่ากับเวลาและความเสียสละของสถานศึกษาที่เสียไป รวมทั้งผลตามที่คาดหวังของ สมศ.ที่ทำสัญญา[MOU]กับรัฐบาลไว้  จนมีนักการเมือง นักการศึกษาบางท่านเสนอให้ยุบ สมศ.ก็มี

ผมเชื่อว่า ถ้า สมศ. ยังไม่สามารถทำให้ผู้ประเมินภายนอกเก็บข้อมูลสภาพจริงในการทำงาน การจัดการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพนักเรียนได้อย่างครบถ้วน  รวมทั้งทำให้ผู้ประเมินสามารถตรวจสอบ (Checklist) ว่าสิ่งที่ดำเนินการของสถานศึกษาตามตัวชี้วัดแต่ละมาตรฐานเป็นไปตามหลักการขั้นตอนของกระบวนการวงจรคุณภาพอย่างแท้จริงหรือไม่ และไม่แนะให้ผู้ประเมินยึดหรือเชื่อสิ่งที่สถานศึกษาเขียนไว้ในรายงานผลการประเมินตนเอง SAR

ซึ่งถ้าสมศ. ไม่พยายามเน้นไปที่วิธีการเก็บข้อมูลของผู้ประเมินอย่างเที่ยงตรงและซื่อสัตย์ ผมเชื่อว่าต่อให้ทาง สมศ. คิดหาวิธีพัฒนาผู้ประเมินด้วยเทคนิค รูปแบบต่างๆ หรือ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพผู้ประเมินอยู่เสมอก็ตาม และยิ่งปัจจุบันพยายามไปเน้นการประเมินอย่างมีความสุข ไม่ทำให้บุคลากรของสถานศึกษาเครียดจากการประเมิน  แถมยังมีการแนะให้พัฒนาห้องเรียนอารมณ์ดีขึ้นมา  ผมก็เชื่อว่า ผลการประเมินภายนอกน่าจะไม่สามารถบรรลุในสิ่งที่ สมศ.หวังไว้ เช่น “ประเมินสร้างคุณค่า สู่การพัฒนาการศึกษาไทย” หรือ “ประเมินคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับการพัฒนาการศึกษาไทยอย่างมั่นคง” หรือ “การประเมินคุณภาพภายนอกสะท้อนผลการพัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย” หรือ “ประเมินอย่างมีมาตรฐาน ลดภาระงานด้วยเทคโนโลยี ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน” ได้อย่างแน่นอน

สุดท้าย ผมขอยืนยันว่าการที่จะทำให้สถานศึกษาจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับเชื่อถือจากชุมชน สังคมได้นั้น  บุคคลที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีภาวะผู้นำทางวิชาการและการบริหารคน  พูดง่ายๆ คือ ถ้าสถานศึกษาใดมีผู้บริหารที่ “เก่งและกล้า” ก็จะสามารถกำกับ ควบคุม ประเมิน ติดตามให้บุคลากรทำงานอย่างเป็นระบบครบวงจรคุณภาพ จนประสบผลสำเร็จตามหลักสูตรการศึกษา และบรรลุจุดมุ่งหมายตามแผนหลักของประเทศชาติอย่างแน่นอน 

และยิ่งผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา  ผู้บริหาร สพฐ.  ผู้บริหารระดับกระทรวง  ช่วยกันสร้างหรือผลักดันหรือรณรงค์หรือสนับสนุนให้ผู้บริหารสถานศึกษา “เก่งและกล้า” ต่อการทำงานในสถานศึกษาจริงๆ รับรองว่านาวาการศึกษา จะสามารถแล่นฉลุยสู่มหาสมุทรไปยังโลกกว้าง ทัดเทียมกับนานาประเทศได้ในไม่ช้า  ไม่ใช่ยิ่งทุ่มงบประมาณในการจัดการศึกษาแต่ละปีอย่างมหาศาลเท่าใด แต่ก็ยังเดินตามหลังเขาทุกปี  ทั้งๆที่เราเดินมาก่อนใคร  ฝีมือการจัดการศึกษาเป็นที่ยอมรับในอาเซียนก่อนใครแท้ๆ  ตอนนี้ประเทศที่เคยเดินตามเรา เดินออกหน้าเราไปแล้ว (https://www.matichon.co.th/foreign/news_4561798)      

 

 

หมายเลขบันทึก: 718160เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2024 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2024 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท