กัจฉปชาดก


ว่าด้วย ตายเพราะปาก

กัจฉปชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๕. กัจฉปชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๒๑๕)

ว่าด้วยเต่า

             (อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้อนุศาสน์อรรถและธรรมแก่พระราชาได้กราบทูลว่า)

             [๑๒๙] เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนแล้วหนอ เมื่อคาบท่อนไม้อยู่ดีแล้ว กลับฆ่าตนเองเสียด้วยคำพูดของตนนั่นแหละ

             [๑๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่วีรชน นรชนผู้เป็นบัณฑิตเห็นเหตุนี้แล้ว ควรพูดให้ดี ไม่ควรพูดให้เกินเวลา ทรงทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า เต่าถึงความพินาศเพราะการพูดมาก

กัจฉปชาดกที่ ๕ จบ

------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

กัจฉปชาดก

ว่าด้วย ตายเพราะปาก

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุโกกาลิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               เรื่องราวจักมีแจ้งใน มหาตักการิชาดก.
               ก็ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โกกาลิกะมิใช่ฆ่าตัวเองด้วยวาจาในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็ฆ่าตัวตายด้วยวาจาเหมือนกัน จึงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญวัย ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระองค์ แต่พระราชาพระองค์ช่างพูด เมื่อพระองค์ตรัสคนอื่นไม่มีโอกาสพูดได้เลย พระโพธิสัตว์ประสงค์จะปรามความพูดมากของพระองค์ จึงคิดตรองหาอุบายสักอย่างหนึ่ง.
               ก็ในกาลนั้น มีเต่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่สระแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ มีลูกหงส์สองตัวหากิน จนสนิทสนมกับเต่า. ลูกหงส์สองตัวนั้น ครั้นสนิทสนมแน่นแฟ้น วันหนึ่งจึงพูดกับเต่าว่า เต่าสหายรัก ที่อยู่ในถ้ำทองที่พื้นภูเขาจิตรกูฏ ในป่าหิมพานต์ของพวกเรา เป็นประเทศน่ารื่นรมย์ ท่านจะไปกับเราไหม. เต่าถามว่า เราจะไปได้อย่างไรเล่า. ลูกหงส์กล่าวว่า เราจักพาท่านไป หากท่านรักษาปากไว้ได้ ท่านจะไม่พูดอะไรกะใครๆ เลย. เต่าตอบว่า ได้ พวกท่านพาเราไปเถิด. ลูกหงส์ทั้งสองจึงให้เต่าคาบไม้อันหนึ่ง ตนเองคาบปลายไม้ทั้งสองข้างบินไปในอากาศ. พวกเด็กชาวบ้านเห็นหงส์นำเต่าไปดังนั้น จึงตะโกนขึ้นว่า หงส์สองตัวนำเต่าไปด้วยท่อนไม้. เต่าอยากจะพูดว่า ถึงสหายของเราจะพาเราไป เจ้าเด็กถ่อย มันกงการอะไรของเจ้าเล่า จึงปล่อยท่อนไม้จากที่ที่คาบไว้ ในเวลาที่ถึงเบื้องบนพระราชนิเวศน์ในนครพาราณสี เพราะหงส์พาไปเร็วมาก จึงตกในอากาศ แตกเป็นสองเสี่ยง.
               ได้เกิดเอะอะอึงคะนึงกันว่า เต่าตกจากอากาศแตกสองเสี่ยง.
               พระราชาทรงพาพระโพธิสัตว์ไป มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม เสด็จไปถึงที่นั้น ทอดพระเนตรเห็นเต่า จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนท่านบัณฑิต ทำอย่างไรจึงได้ตกมา. พระโพธิสัตว์คิดว่า เราคอยมานานแล้ว ใคร่จะถวายโอวาทพระราชา เที่ยวตรองหาอุบายอยู่ เต่าตัวนี้คงจะคุ้นเคยกับหงส์เหล่านั้น พวกหงส์จึงให้คาบไม้ไปด้วยหวังว่า จะนำไปป่าหิมพานต์ จึงบินไปในอากาศ ครั้นแล้ว เต่าตัวนี้ได้ยินคำของใครๆ อยากจะพูดตอบบ้าง เพราะตนไม่รักษาปาก จึงปล่อยท่อนไม้เสีย ตกจากอากาศถึงแก่ความตาย จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาคนปากกล้าพูดไม่รู้จบ ย่อมได้รับทุกข์เห็นปานนี้แหละ พระเจ้าข้า แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
               เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้วหนอ เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสียด้วยวาจาของตนเอง.
               ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐในหมู่นรชน บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เห็นเหตุอันนี้แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจานั้นให้ล่วงเวลาไป ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรเต่าผู้ถึงความพินาศ เพราะพูดมาก.
               พระราชาทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์กล่าวหมายถึงพระองค์ จึงตรัสว่า ท่านพูดหมายถึงเราใช่ไหม ท่านบัณฑิต. พระโพธิสัตว์กราบทูลให้ชัดเจนว่า ข้าแต่มหาราช ไม่ว่าจะเป็นพระองค์หรือใครๆ อื่น เมื่อพูดเกินประมาณย่อมถึงความพินาศอย่างนี้.
               พระราชา ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงงดเว้น ตรัสแต่น้อย.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก
               เต่าในครั้งนั้น ได้เป็น โกกาลิกะ ในครั้งนี้
               ลูกหงส์สองตัวได้เป็น พระมหาเถระสองรูป
               พระราชาได้เป็น อานนท์
               ส่วนอำมาตย์บัณฑิตได้เป็น เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถากัจฉปชาดกที่ ๕

----------------------------

 

คำสำคัญ (Tags): #อำมาตย์บัณฑิต
หมายเลขบันทึก: 718178เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2024 04:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2024 04:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท