ศึกษานิเทศก์ เป็นแกนนำหนุนการเปลี่ยนขาดระบบการศึกษาไทย


 

วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗ ในการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ของสำนักครู ของ กสศ. มีการเสนอรายงานกิจกรรม “การจัดอบรมพัฒนาศึกษานิเทศก์แกนนำ และศึกษานิเทศก์ในระดับพื้นที่ในโครงการพัฒนาผู้นำการจัดการเรียนรู้และระบบนิเวศทางการศึกษา”  ที่จัดโดยมูลนิธิเพื่อทักษะอนาคต เริ่มจากการอบรม ศน. ที่จะทำหน้าที่วิทยากรแกนนำ ๑๖ คน ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๗    หลังจากนั้นจะมีการจัดอบรม ศน. แต่ละพื้นที่ รวม ๔ ครั้ง    โดยครั้งแรกจัดไปแล้วเมื่อวันที่ ๑ - ๔ เมษายน ๒๕๖๗ ที่จังหวัดเชียงใหม่  มี ศน. สังกัด สพฐ. จากเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง เข้าร่วม รวม ๑๙ คน     

อ่านและฟังรายงานจากการประชุมแล้ว    ผมคิดว่า เป็นโครงการที่มีเป้าหมายน่าชื่นชมมาก   และการเน้นที่ประเด็นการเรียนรู้เชิงรุก และการจัดระบบนิเวศทางการศึกษา น่าจะเหมาะสมแล้ว    และที่น่าชื่นชมยิ่งคือ โครงการนี้ออกแบบโดยทีมกลางที่ทำหน้าที่บริหาร ศน. ของ สพฐ.   แต่ที่ไม่น่าชื่นชมคือ กสศ. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด   ที่ผมมองว่าไม่น่าชื่นชมก็เพราะจะทำให้ กสศ. เป็นเจ้าของงาน  แทนที่ สพฐ. จะเป็นเจ้าของงาน    และส่งผลให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง   

แต่ผมยังคิดถึงความเสี่ยงที่ ศน. ในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับการอบรม จะกลับไปประยุกต์ใช้ความรู้และเทคนิคที่ฝึกฝนมาได้ไม่เต็มที่    เนื่องจากระบบการบริหารงานของ สพฐ. ก็ยังเป็นแบบเดิมๆ คือเน้นควบคุมและสั่งการ (ใช้อำนาจ)    ดังนั้น ผมจึงมีข้อเสนอ (ไม่ทราบว่าจะเป็นข้อเสนอที่เร่อร่า หรือเหมาะสม) ว่า

  1. ในเรื่อง “การจัดระบบนิเวศทางการศึกษา” น่าจะรวมถึงระบบนิเวศในการทำงานของ ศน.   ที่ ศน. เน้นทำงานสนองโรงเรียน มากกว่าสนองนาย    นี่คือประเด็นที่ ๑ ของเรื่อง “การจัดระบบนิเวศทางการศึกษา”

ประเด็นที่ ๒ คือแนวทางทำหน้าที่ ศน.  ที่เน้นเข้าไปร่วมเรียนรู้กับครู  เชื่อมโยงการเรียนรู้ของครูต่างโรงเรียนในพื้นที่ของตน   ตามในหนังสือ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้    ไม่ใช่เข้าไป “นิเทศ” (supervise) ในฐานะผู้รู้ดีหรือรู้มากกว่าครู    ประเด็นนี้ ในการประชุมมีการชี้แจงว่า จะเน้นให้ ศน. เข้าไปทำ reflective coaching จากการเข้าร่วมสังเกตชั้นเรียน   ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของผม    

  1. เป้าหมาย “ผู้นำการจัดการเรียนรู้” สำหรับผมเป็นเรื่องที่ซ่อนเงื่อน   หากจะหนุนให้ระบบการศึกษาไทยฟื้นคุณภาพได้จริงต้องตีโจทย์นี้ให้แตก   

กล่าวแบบขวานผ่าทราก (กราบขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ) ได้ว่า ผู้นำการเรียนรู้ในที่นี้คือครู   ไม่ใช่ ศน.   หากหลงผิดว่า ศน. เป็นผู้นำการเรียนรู้ เราจะหลงทาง   กลับไปเน้นการเรียนแบบถ่ายทอดความรู้ (passive learning)  ไม่ใช่เรียนรู้เชิงรุก (active learning)   ที่ต้องใช้หลักการและวิธีการ การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์ ที่เน้น experiential learning - เรียนรู้จากประสบการณ์   ศน. ต้องเน้นลงพื้นที่เข้าไปร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์กับครู    โดยไปทำหน้าที่ โค้ช หรือ คุณอำนวย การเรียนรู้จากประสบการณ์แก่ครู ในลักษณะ “คุณอำนวย” (facilitator) ระมัดระวังไม่เผลอหลุดท่าที่ “คุณอำนาจ” ตามวัฒนธรรมกระทรวงศึกษาธิการออกมา 

ข้อกังวลนี้จางลงจากการชี้แจงในที่ประชุม ตามที่กล่าวแล้วในข้อ ๑    

  1. ควรเพิ่ม ศน. สังกัดหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน   กองส่งเสริมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น    เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ ว่า ศน. ต่างสังกัดสามารถนำหลักการที่ได้รับการอบรมไปดำเนินการได้ต่างกันอย่างไร    เพื่อหมุนวงจรการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน Online PLC ระหว่าง ศน. ต่างสังกัด
  2. นำไปสู่ข้อเสนอสุดท้าย   คือ จัด Online PLC ระหว่าง ศน. แกนนำในต่างภูมิภาค  และต่างสังกัด    หลังจากไปดำเนินการในพื้นที่ของตนแล้ว ๑ ภาคการศึกษา   และดำเนินการอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน   เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางที่ได้ผลดี    โดยอาจมีครูแกนนำจากโรงเรียนที่ดำเนินการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างชัดเจน เข้าร่วมด้วย  
  3. ในการประชุม มีการเสนอว่า ควรมีการนิยามคำว่า “นิเทศ” ในลักษณะที่ระบุว่า ศน. เข้าไปทำอะไรบ้าง  ไม่ทำอะไรบ้าง ที่โรงเรียน
  4. การเลือก ตัวบุคคลที่เป็น “ศน. แกนนำ” อย่างแท้จริง    ที่จะเอาเรื่องที่ได้รับการอบรมไปดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง  และเชื่อมโยงความร่วมมือ    ไม่ต่างหน่วยต่างทำเป็นไซโล   

 สิ่งที่ต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาคือ เราต้องช่วยกันพิสูจน์ว่า คนในระบบการศึกษาไทยระดับปฏิบัติการ สามารถร่วมกันยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่พิสูจน์ว่านักเรียนได้เรียนรู้อย่างบูรณาการ (holistic learning)   พัฒนาครบทุกด้านของ VASK ได้อย่างมีหลักฐานพิสูจน์   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ เม.ย. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 718181เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2024 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2024 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท