๔. เนมิราชชาดก


ว่าด้วยพระเจ้าเนมิทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี

๔. เนมิราชชาดก (อธิษฐานบารมี)

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

ว่าด้วยพระเจ้าเนมิทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี

 

            (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)

            [๔๒๑] น่าอัศจรรย์หนอ การที่พระเจ้าเนมิผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์ด้วยกุศล ทรงเกิดขึ้นในคราวที่บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายเกิดขึ้นในโลก

            [๔๒๒] พระเจ้าเนมิผู้ทรงทรมานอริราชศัตรู ของชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวงได้บริจาคแล้ว เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานอยู่นั้น ก็เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก

            [๔๒๓] ท้าวมฆวานเทพกุญชรสหัสสเนตร ทรงทราบพระดำริของพระเจ้าเนมิแล้ว ปรากฏพระองค์ ทรงกำจัดความมืดด้วยพระรัศมีแล้ว

            [๔๒๔] พระเจ้าเนมิจอมมนุษย์ทรงมีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสถามท้าววาสวะว่า ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกะผู้บำเพ็ญทานในภพก่อนกันแน่

            [๔๒๕] รัศมีเช่นนั้นข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็น หรือไม่เคยได้ยินมาเลย แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร

             [๔๒๖] ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิมีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสตอบว่า หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาในสำนักของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ พระองค์อย่าทรงมีพระโลมชาติชูชัน เชิญตรัสถามปัญหาที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด

            [๔๒๗] พระเจ้าเนมินั้นเมื่อท้าวเธอทรงถวายโอกาส จึงได้ตรัสกับท้าววาสวะว่า ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ข้าพเจ้าขอถามพระองค์ ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี อย่างไหนมีผลมากกว่ากันเล่า

            [๔๒๘] ท้าววาสวะถูกพระเจ้าเนมิผู้เป็นเทพแห่งนรชนตรัสถามแล้ว เมื่อจะตรัสตอบพระเจ้าเนมิ ท้าวเธอทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์อยู่ จึงได้ตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๒๙] บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ เข้าถึงความเป็นเทวดาได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง

            [๔๓๐] เพราะพรหมจรรย์เหล่านี้มิใช่จะหาได้ง่ายๆ ด้วยการประกอบพิธีวิงวอนขอร้องอะไรๆ บุคคลผู้ที่เกิดในหมู่พรหมได้ต้องออกบวชบำเพ็ญตบะ

            (ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเรื่องที่พระราชาทั้งหลายในอดีต ผู้บริจาคมหาทานแล้วไม่สามารถพ้นไปจากกามาวจรภพได้ จึงได้ตรัสว่า)

            [๔๓๑] ๑. พระเจ้าทุทีปะ ๒. พระเจ้าสาคระ ๓. พระเจ้าเสละ ๔. พระเจ้ามุจลินท์ ๕. พระเจ้าภคีรสะ ๖. พระเจ้าอุสินนะ ๗. พระเจ้าอัตถกะ ๘. พระเจ้าปุถุทธนะ

            [๔๓๒] พระราชาเหล่านั้น พระราชามหากษัตริย์เหล่าอื่น และพวกพราหมณ์เป็นอันมาก ต่างก็บูชายัญเป็นอันมากแล้วก็ยังไม่ล่วงพ้นภพแห่งเปรตได้ ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อน อยู่คนเดียว ไม่ยินดีกับใคร ย่อมไม่ได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก ชนเหล่านั้นถึงจะมีสมบัติเสมอกับทิพยสมบัติของพระอินทร์ก็จริง ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นแลยังชื่อว่า ผู้ตกยาก เพราะมีความสุขเนื่องด้วยผู้อื่น

            (ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเหล่าดาบสผู้ล่วงภพแห่งเปรตได้แล้วบังเกิดในพรหมโลกด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า)

            [๔๓๓] ฤๅษีทั้ง ๗ เหล่านี้ คือ ๑. ยานหนฤๅษี ๒. โสมยาคฤๅษี ๓. มโนชวฤๅษี

            [๔๓๔] ๔. สมุททฤๅษี ๕. มาฆฤๅษี ๖. ภรตฤๅษี ๗. กาลปุรักขิตฤๅษี กับฤๅษีอีก ๔ ตน คือ ๑. อังคีรสฤๅษี ๒. กัสสปฤๅษี ๓. กีสวัจฉฤๅษี ๔. อกัตติฤๅษี ออกบวชบำเพ็ญตบะ ล่วงพ้นกามาวจรภพได้แน่นอน

            (ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงเล่าเรื่องที่ตนเคยเห็นมา จึงตรัสว่า)

            [๔๓๕] แม่น้ำที่ชื่อสีทามีอยู่ทางทิศเหนือ เป็นแม่น้ำลึก ข้ามได้ยาก ภูเขาทองมีสีดังไฟไหม้ต้นอ้อ โชติช่วงอยู่ทุกเมื่อ

            [๔๓๖] ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น มีต้นกฤษณาขึ้นงอกงาม มีภูเขาซึ่งมีป่าไม้ขึ้นงอกงาม ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์อย่างนี้นั้น มีฤๅษีรุ่นเก่าประมาณหมื่นตนอาศัยอยู่

            [๔๓๗] หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐ เพราะทาน ความสำรวม และความฝึก หม่อมฉันได้อุปัฏฐากดาบสเห็นปานนี้ ที่บำเพ็ญวัตรซึ่งไม่มีวัตรอื่นยิ่งกว่า ละคณะไปอยู่ผู้เดียวมีจิตเป็นสมาธิ

            [๔๓๘] หม่อมฉันจักนอบน้อมนรชนผู้มีชาติและไม่มีชาติ ผู้ปฏิบัติตรงตลอดกาลเป็นนิตย์ เพราะเหล่าสัตว์เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

            [๔๓๙] ฉะนั้น วรรณะทั้งปวงที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมตกนรกเบื้องต่ำ วรรณะทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ได้ เพราะประพฤติธรรมสูงสุด

            (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)

            [๔๔๐] ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราชครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว จึงทรงสั่งสอนพระเจ้าเนมิผู้ครองแคว้นวิเทหะแล้ว ได้เสด็จจากไปสู่หมู่เทพชาวสวรรค์

            (ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงตรัสเหตุนั้นอีกว่า)

            [๔๔๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย ผู้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ประมาณเท่าใด จงตั้งใจฟังคุณเป็นอันมากทั้งสูงและต่ำนี้ ของเหล่ามนุษย์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม

            [๔๔๒] เหมือนพระเจ้าเนมินี้ผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์กุศล เป็นพระราชาผู้ทรงปราบอริราชศัตรูได้ ได้ทรงให้ทานแก่ชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวง

            [๔๔๓] เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานนั้นอยู่ ก็ได้เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก

            (มหาชนร่าเริงยินดี จึงกล่าวว่า)

            [๔๔๔] ความขนพองสยองเกล้าที่ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ได้เกิดขึ้นแล้วในโลก รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ

            (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)

            [๔๔๕] มาตลีเทพบุตรผู้เป็นเทพสารถีมีฤทธิ์มาก ได้เชื้อเชิญพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า

            [๔๔๖] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ ขอเชิญเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งนี้เถิด เทพชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ประสงค์จะเฝ้าพระองค์ เพราะเทพเหล่านั้นกำลังระลึกถึง นั่งกล่าวสรรเสริญคุณของพระองค์อยู่ ณ สุธรรมสภา

            [๔๔๗] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาผู้ทรงธรรม ด่วนรีบเสด็จลุกขึ้นจากพระราชอาสน์ บ่ายพระพักตร์ขึ้นสู่รถพระที่นั่ง

            [๔๔๘] มาตลีเทพบุตรได้ทูลถามพระเจ้าเนมิผู้เสด็จขึ้นรถทิพย์แล้วว่า ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ ข้าพระองค์จะนำพระองค์ไปทางไหน คือ ทางที่คนทำบาปหรือทำบุญไว้

            (ลำดับนั้น พระเจ้าเนมิจึงตรัสกับมาตลีเทพสารถีนั้นว่า)

            [๔๔๙] มาตลีเทพสารถี ขอให้ท่านจงนำเราไปทั้ง ๒ ทางนั่นแหละ คือ ทางที่คนทำบาปและทางที่คนทำบุญไว้

            (ต่อจากนั้น มาตลีเทพสารถีทูลถามว่า)

            [๔๕๐] ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ ข้าพระองค์จะนำเสด็จพระองค์ไปทางไหนก่อน คือ ทางที่คนทำบาปหรือทางที่คนทำบุญไว้

            (พระเจ้าเนมิตรัสว่า)

            [๔๕๑] เราจะดูนรกซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมเป็นบาป สถานที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมหยาบช้า และคติของเหล่านรชนผู้ทุศีลก่อน

            (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)

            [๔๕๒] มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว จึงแสดงแม่น้ำที่ชื่อเวตตรณี (แม่น้ำชื่อเวตตรณี เป็นแม่น้ำที่ตั้งขึ้นตามฤดูซึ่งมีกรรมเป็นเหตุ เหล่านายนิรยบาลในนรกนั้นถืออาวุธ มีดาบ หอก หอกซัด ฉมวก และพลองเป็นต้นที่ลุกเป็นไฟ เข้าประหาร ทิ่มแทง ทุบตีสัตว์นรกทั้งหลาย) ที่ข้ามได้ยาก ประกอบด้วยน้ำด่างที่ร้อนเดือดพล่าน เปรียบด้วยเปลวเพลิง

            [๔๕๓] พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสัตว์ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี ที่ข้ามได้ยาก จึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า มาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรหนอ จึงตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี

            [๔๕๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงได้ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๕๕] ชนเหล่าใดในมนุษยโลก ผู้มีกำลัง มีกรรมอันเป็นบาป ย่อมเบียดเบียน ด่าว่าผู้อื่นซึ่งมีกำลังน้อย ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้วย่อมตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี

             [๔๕๖] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกาปากเหล็กที่น่ากลัว รุมกัดจิกกินสัตว์นรก ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นฝูงสัตว์รุมกัดจิกกินสัตว์นรก ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน

            [๔๕๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๕๘] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น มีธรรมลามก บริภาษ เบียดเบียน ด่าว่าสมณะและพราหมณ์ ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน

            (พระเจ้าเนมิทรงเห็นสัตว์นรกเหล่านั้น ทรงสะดุ้งกลัว ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๔๕๙] สัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายลุกโชน เดินเหยียบแผ่นดินเหล็กที่ลุกโชน นายนิรยบาลทั้งหลายโบยตีด้วยกระบองเหล็กอันร้อน ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ที่ถูกโบยตีด้วยกระบองเหล็ก เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่

            [๔๖๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๖๑] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกเป็นผู้มีธรรมอันชั่วช้า เบียดเบียน ด่าว่าชายหญิงผู้ไม่มีธรรมอันชั่วช้า ชนเหล่านั้นผู้มีธรรมอันชั่วช้า มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่

            (พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามว่า)

            [๔๖๒] สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งตกหลุมถ่านเพลิง ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย ร้องครวญครางอยู่ ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงตกหลุมถ่านเพลิงอยู่

            [๔๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๖๔] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งอ้างพยานโกงลบหนี้ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ของประชุมชน ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ชนเหล่านั้นครั้นทำทรัพย์ของหมู่ชนให้สิ้นไปแล้ว มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้วตกอยู่ในหลุมถ่านเพลิง

            (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)

            [๔๖๕] โลหกุมภีใหญ่มีไฟลุกโพลงโชติช่วงปรากฏอยู่ ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นโลหกุมภีนั้น ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงต้องดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี

            [๔๖๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๖๗] ชนเหล่าใดสุดแสนจะชั่ว เบียดเบียน อาฆาตสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี

            (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)

            [๔๖๘] นายนิรยบาลย่อมตัดคอหรือผูกคอสัตว์นรก ฉุดลากโยนลงไปในน้ำร้อน ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่

            [๔๖๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๗๐] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกสุดแสนจะชั่ว จับนกมาฆ่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ชนเหล่านั้นครั้นฆ่านกแล้ว มีกรรมหยาบช้าทำบาปแล้ว จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่

            (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)

            [๔๗๑] แม่น้ำนี้มีน้ำมาก มีฝั่งไม่ลึก มีท่าน้ำงดงาม ไหลอยู่เสมอ น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วก็กลายเป็นแกลบไป

            [๔๗๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วจึงกลายเป็นแกลบไป

            [๔๗๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๗๔] สัตว์นรกเหล่าใดมีการงานไม่บริสุทธิ์ เอาข้าวลีบปนข้าวเปลือกล้วนๆ ขายให้แก่ผู้ซื้อ น้ำที่สัตว์นรกผู้ถูกความร้อนแผดเผากระหายเหล่านั้นดื่มแล้ว ก็กลายเป็นแกลบไป

            (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)

            [๔๗๕] นายนิรยบาลใช้ลูกศร หอก และโตมร แทงสีข้างทั้ง ๒ ของเหล่าสัตว์นรกผู้คร่ำครวญอยู่ ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่

            [๔๗๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๗๗] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกมีการงานไม่ดี ลักทรัพย์ของผู้อื่น คือ ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง แพะ แกะ ปศุสัตว์ และกระบือ มาเลี้ยงชีวิต ชนเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๔๗๘] เพราะเหตุไร สัตว์นรกเหล่านี้จึงถูกนายนิรยบาลล่ามคอไว้ สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งถูกนายนิรยบาลหั่นแล้วสับนอนอยู่ ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกสับนอนอยู่

            [๔๗๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๘๐] สัตว์นรกเหล่านี้เคยเป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา ครั้นฆ่าปศุสัตว์ คือ กระบือ แพะ และแกะแล้วจึงวางบนเขียงเพื่อขายเลี้ยงชีพ สัตว์นรกเหล่านั้นทำบาปแล้วจึงต้องถูกสับเป็นชิ้นๆ กองอยู่

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๔๘๑] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป สัตว์นรกถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินอุจจาระและปัสสาวะนั้น ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงต้องมากินอุจจาระและปัสสาวะ

            [๔๘๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๘๓] สัตว์นรกเหล่านี้บางพวกมักก่อเหตุ เกรี้ยวกราด รังแกมิตรสหาย ตั้งมั่นในการเบียดเบียนผู้อื่นทุกเมื่อ สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า เป็นพาล ประทุษร้ายมิตร ทำบาปแล้ว จึงกินปัสสาวะและอุจจาระ

            (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)

            [๔๘๔] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยเลือดและหนอง ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป สัตว์นรกทั้งหลายถูกความร้อนแผดเผา เกิดความกระหาย จึงดื่มเลือดและหนอง ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงกินเลือดและหนอง

            [๔๘๕] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๘๖] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกฆ่ามารดาบิดา หรือพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้) ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงกินเลือดและหนอง

            (เมื่อมาตลีเทพสารถีแสดงเรื่องนั้นแล้ว พระเจ้าเนมิจึงตรัสถามว่า)

            [๔๘๗] ท่านจงดูลิ้นของสัตว์นรกที่นายนิรยบาลเกี่ยวด้วยเบ็ด และจงดูหนังที่นายนิรยบาลถลกด้วยขอเหล็ก สัตว์นรกเหล่านี้ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาถูกโยนขึ้นบนบก ร้องไห้น้ำลายไหล เพราะเหตุไร

            [๔๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงกลืนกินเบ็ดนอนอยู่

            [๔๘๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๙๐] สัตว์นรกบางพวกเคยเป็นมนุษย์ มีตำแหน่งหน้าที่ให้ลดราคาซื้อลงจากราคาขาย ทำการโกงด้วยตาชั่งโกง เพราะโลภในทรัพย์ ปกปิดการโกงไว้เหมือนคนเมื่อจะฆ่าปลาเอาเหยื่อปกปิดเบ็ดไว้

            [๔๙๑] บุคคลผู้ทำการโกงถูกกรรมของตนหุ้มห่อไว้ ไม่มีการป้องกันได้เลย สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงต้องกลืนกินเบ็ดนอนอยู่

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๔๙๒] นางสัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายแตกเยิ้ม น่าเกลียด เปรอะเปื้อน เกรอะกรังไปด้วยเลือดและหนอง เหมือนพวกโคหัวขาดในที่ฆ่า ยกแขนทั้ง ๒ ข้างขึ้นร้องคร่ำครวญอยู่ นางสัตว์นรกนั้นถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้

            [๔๙๓] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของนางสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน นางสัตว์นรกเหล่านี้ ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้

            [๔๙๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๙๕] หญิงเหล่านั้นเป็นกุลธิดาในมนุษยโลกที่เป็นอยู่นี้ มีการงานไม่บริสุทธิ์ ประพฤติไม่สงบเสงี่ยม ทำตัวเป็นนักเลง ทอดทิ้งสามีแล้วไปคบหาชายอื่น เพราะเหตุแห่งความเริงรมย์และเล่นสนุก หญิงเหล่านั้นทำจิตของตนให้เริงรมย์อยู่กับชายอื่นในมนุษยโลกแล้ว มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๔๙๖] เพราะเหตุไร นายนิรยบาลอีกพวกหนึ่งนี้ จึงจับเท้าสัตว์นรกให้มีศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก

            [๔๙๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๔๙๘] สัตว์นรกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก ต่างทำกรรมไว้ไม่ดี ล่วงละเมิดเหล่าภรรยาของชายอื่น เช่นนั้นชื่อว่าเป็นผู้ลักของสำคัญที่สุด จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก

            [๔๙๙] สัตว์นรกเหล่านั้นเสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้น สิ้นปีเป็นอันมาก เพราะบุคคลผู้ทำบาปกรรมเป็นปกติ ถูกกรรมของตนเชิดไว้ข้างหน้า ไม่มีการต้านทานได้เลย สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามว่า)

            [๕๐๐] สัตว์นรกทั้งเล็กและใหญ่เหล่านี้ มีการประกอบเหตุการณ์ต่างๆ กัน มีรูปร่างแสนจะน่ากลัว ปรากฏอยู่ในนรก ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันร้ายแรงแข็งกล้า และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่

            [๕๐๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๐๒] เหล่าสัตว์นรกที่เมื่อมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีทิฏฐิสุดแสนชั่ว (ทิฏฐิสุดแสนชั่ว หมายถึงมีบาปธรรมมากด้วยความเห็นผิดที่มีวัตถุ ๑๐ คือ การให้ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การเสวยผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ แม้สมณ-พราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี) หลงทำกรรมเพราะความชะล่าใจ และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐิเช่นนั้น มีทิฏฐิชั่ว จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันแรงแข็งกล้า และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่

             (มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสแล้ว จึงแสดงนรกมากมายในทิศทั้ง ๔ ว่า)

            [๕๐๓] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า และคติของเหล่าสัตว์ผู้ทุศีลแล้ว ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้ ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด

            (เทพมาตลีสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงเทพธิดา จึงกราบทูลพยากรณ์แด่พระองค์ว่า)

            [๕๐๔] วิมาน ๕ ยอดนี้ย่อมปรากฏนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างมีดอกไม้เป็นต้น นั่งอยู่ในท่ามกลางที่ไสยาสน์ แสดงเทพฤทธิ์ได้ต่างๆ สถิตอยู่ในวิมานนี้

            (พระเจ้าเนมิตรัสว่า)

            [๕๐๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของนางเทพธิดาผู้สถิตอยู่ในวิมานนี้ เราขอถามท่าน นางเทพธิดานี้ได้ทำกรรมอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๐๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๐๗] บางทีพระองค์จะทรงเคยได้ยินว่า ในมนุษยโลกมีนางทาสีเรือนทาสของพราหมณ์ชื่อว่า พีรณี คราวหนึ่งนางทราบว่า แขกมาถึงแล้วตามกาล ก็ชื่นชม ยินดีเหมือนมารดาชื่นชมบุตรของตน นางมีการสำรวมและการบริจาค บันเทิงอยู่ในวิมาน

            (มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมที่โสณทินนเทพบุตรทำแล้ว จึงทูลตอบแด่พระองค์ว่า)

            [๕๐๘] วิมานทั้ง ๗ หลังถูกนิรมิตขึ้น เรืองรองผ่องใส มีเทพบุตรตนหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์มาก ประดับประดาด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง มีหมู่เทพธิดาแวดล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่โดยรอบ ในวิมานทั้ง ๗ หลัง ซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ตามลำดับนั้น

            (พระเจ้าเนมิตรัสว่า)

            [๕๐๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของเทพบุตรผู้อยู่ในวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๑๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๑๑] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดีชื่อโสณทินนะ เป็นทานบดีให้สร้างวิหาร ๗ หลังอุทิศแก่บรรพชิต

            [๕๑๒] เขาได้อุปัฏฐากภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในวิหาร ๗ หลังนั้นด้วยความเคารพ ได้บริจาคผ้านุ่ง ผ้าห่ม อาหาร เสนาสนะ เครื่องประทีป ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตเลื่อมใส

            [๕๑๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

            [๕๑๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

            (มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเหล่าเทพอัปสร จึงทูลตอบว่า)

            [๕๑๕] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยเรือนยอดประกอบไปด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ อย่าง ส่องแสงสว่างไสวอยู่

            (พระเจ้าเนมิตรัสว่า)

            [๕๑๖] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปแห่งวิมานนี้ เราขอถามท่าน นางเทพอัปสรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๑๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๑๘] นางเทพอัปสรเหล่านั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เคยเป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ยินดีในการให้ทาน มีใจเลื่อมใสเป็นนิตย์ ตั้งอยู่ในสัจจะ ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถศีล เป็นผู้สำรวมและทำการบริจาคทาน จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรเหล่านั้นว่า)

            [๕๑๙] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ ประกอบด้วยภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วนๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่

            [๕๒๐] เสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ

            [๕๒๑] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียงที่น่ารื่นรมย์ใจอย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย

            [๕๒๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๒๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๒๔] เทพบุตรบางพวกเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เคยเป็นอุบาสกผู้มีศีล ได้สร้างสวนดอกไม้ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปรนนิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ

            [๕๒๕] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย (คำว่า ปัจจัย ได้แก่ คิลานปัจจัย (ยาเพื่อคนไข้)) ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส

            [๕๒๖] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

            [๕๒๗] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ ทั้งมีความสำรวมและบริจาคทาน เทพบุตรเหล่านั้นจึงมาบันเทิงอยู่ในสวรรค์

             (พระเจ้าเนมิทรงมีพระทัยยินดี จึงตรัสถามกุศลกรรมของเทพบุตรนั้นว่า)

            [๕๒๘] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด

            [๕๒๙] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่ และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยไม้ดอกนานาชนิด ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น

            [๕๓๐] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๓๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๓๒] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดีเป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ

            [๕๓๓] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส

            [๕๓๔] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

            [๕๓๕] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรผู้ประกอบด้วยสมบัตินั้นว่า)

            [๕๓๖] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรนารีผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด

            [๕๓๗] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่ และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยต้นไม้ดอกนานาชนิด ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น

            [๕๓๘] มีไม้เกด ไม้มะขวิด ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หว้า ไม้มะพลับ และไม้มะหาดเป็นจำนวนมาก มีผลตลอดฤดูกาล

            [๕๓๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๔๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๔๑] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ

            [๕๔๒] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส

            [๕๔๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

            [๕๔๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๕๔๕] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ ประกอบด้วยภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ ที่จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วนๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่

            [๕๔๖] มีเสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ

            [๕๔๗] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียงที่น่ารื่นรมย์อย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย

            [๕๔๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๔๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๕๐] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงพาราณสี ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ

            [๕๕๑] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส

            [๕๕๒] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

            [๕๕๓] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

            (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๕๕๔] วิมานทองที่นิรมิตขึ้นนี้ รุ่งเรืองสุกใส เหมือนดวงอาทิตย์ดวงใหญ่โผล่ขึ้นมาเป็นสีแดง

            [๕๕๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๕๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๕๗] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ

            [๕๕๘] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส

            [๕๕๙] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

            [๕๖๐] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

            (พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสมบัติของเทพบุตรที่อยู่ในวิมานนั้น จึงตรัสว่า)

            [๕๖๑] วิมานทองเป็นอันมากนี้ที่ได้นิรมิตไว้ ลอยอยู่ในอากาศ รุ่งเรืองสุกใสเหมือนสายฟ้า ส่องแสงเรืองๆ อยู่ในระหว่างก้อนเมฆทึบ เหล่าเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง มีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนกัน อยู่ในวิมานเหล่านั้นโดยรอบ

            [๕๖๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน

            [๕๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๖๔] เทพบุตรเหล่านี้เคยเป็นสาวกในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อศรัทธาตั้งมั่นแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระสัทธรรมดีแล้ว ได้ทำตามพระดำรัสของพระศาสดา ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตร สถานที่สถิตของเทพบุตรเหล่านั้นเถิด

            (มาตลีเทพสารถีเมื่อจะทำอุตสาหะเพื่อจะให้พระเจ้าเนมิเสด็จไปสำนักของท้าวสักกเทวราช จึงทูลว่า)

            [๕๖๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่ ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว และทรงทราบสถานที่สถิตอยู่ของเหล่าเทพเจ้าผู้มีกรรมดีแล้ว ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้ เชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด

            (พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นแล้วตรัสถามมาตลีเทพสารถีให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า)

            [๕๖๖] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน เทียมด้วยม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นภูเขาทั้งหลายในระหว่างมหาสมุทรสีทันดร ครั้นแล้วจึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า ภูเขาเหล่านี้ชื่ออะไร

            [๕๖๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบ

            (มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามอย่างนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)

            [๕๖๘] ภูเขาหลวงทั้ง ๗ เทือก คือ ภูเขาสุทัศนะ ภูเขากรวีกะ ภูเขาอิสินธร ภูเขายุคันธร ภูเขาเนมินธร ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ

            [๕๖๙] ภูเขาเหล่านี้สูงขึ้นไปตามลำดับ อยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นเถิด

            (พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นพระอินทร์นั้นแล้ว จึงตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๕๗๐] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว

            [๕๗๑] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นประตูนี้ เราขอถามท่าน ประตูนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไรหนอ น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ที่ไกลทีเดียว

            [๕๗๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๗๓] ประตูนี้เขาเรียกว่า จิตรกูฏ เป็นที่เสด็จเข้าออกของท้าวสักกเทวราช ประตูนี้เป็นซุ้มประตูของเทพนคร ที่ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งภูเขาสุทัศนะ

            [๕๗๔] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้เถิด ขอเชิญพระองค์ทรงเหยียบภาคพื้นอันเป็นทิพย์

            (พระศาสดาตรัสว่า)

            [๕๗๕] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน ที่เทียมด้วยม้าสินธพประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้แล้ว

            (พระเจ้าเนมิได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภาชื่อสุธรรมา จึงตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)

            [๕๗๖] วิมานที่นิรมิตไว้แล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ ปรียบเสมือนอากาศ ส่องแสงสว่างไสว ทอสีเขียวในสารทกาล

            [๕๗๗] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้ เราขอถามท่าน วิมานนี้เขาเรียกว่าอะไรหนอ น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ไกลทีเดียว

            [๕๗๘] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า

            [๕๗๙] วิมานนี้นั้นเป็นเทวสภา เขาเรียกชื่อปรากฏว่า สุธรรมา รุ่งเรืองด้วยแก้วไพฑูรย์ตระการตา ที่นิรมิตไว้อย่างดี

            [๕๘๐] มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว ทุกต้นล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ เป็นที่อยู่ของเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งมวล ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธาน

            [๕๘๑] ประชุมกันคิดถึงประโยชน์ของเหล่าเทวดาและมนุษย์ ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปสู่ทิพยสถาน เป็นที่บันเทิงกันและกันของเหล่าเทวดาโดยทางนี้เถิด

            (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)

            [๕๘๒] เทพเจ้าทั้งหลายเห็นพระเจ้าเนมิเสด็จมาถึง ต่างพากันยินดีต้อนรับว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมิได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้ ขอพระองค์ประทับนั่ง ณ ที่ใกล้ท้าวเทวราชเถิด

            [๕๘๓] ถึงท้าวเทวราชก็ทรงยินดีต้อนรับพระองค์ ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวแคว้นวิเทหะ ทรงปกครองกรุงมิถิลา ท้าววาสวะก็ทรงเชื้อเชิญด้วยทิพยกามารมณ์และทิพยอาสน์ว่า

            [๕๘๔] ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นความดีแล้วที่พระองค์ได้เสด็จมาถึงทิพยสถาน เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาผู้บันดาลสิ่งที่ตนต้องประสงค์ ให้เป็นไปตามอำนาจ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ในหมู่เทพเจ้า ผู้ประกอบด้วยความสำเร็จแห่งทิพยกามารมณ์ทั้งปวง ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยกามทั้งหลาย ที่มิใช่ของมนุษย์อยู่ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด พระเจ้าข้า

            (พระเจ้าเนมิถูกท้าวเทวราชเชื้อเชิญด้วยกามทิพย์และให้ประทับนั่ง เมื่อจะทรงปฏิเสธ จึงตรัสว่า)

            [๕๘๕] ยานที่ขอยืมเขามา ทรัพย์ที่ขอยืมเขามาสำเร็จประโยชน์ฉันใด ของที่บุคคลอื่นให้ก็สำเร็จประโยชน์ฉันนั้นเหมือนกัน

            [๕๘๖] หม่อมฉันมิได้ประสงค์สิ่งที่ผู้อื่นให้ บุญทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้เอง เป็นทรัพย์ของหม่อมฉันแผนกหนึ่งต่างหาก

            [๕๘๗] หม่อมฉันนั้นจักกลับไปทำบุญให้มากขึ้นในหมู่มนุษย์ ด้วยการบริจาคทาน การประพฤติสม่ำเสมอ ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์ที่บุคคลทำแล้ว จะได้รับความสุขและไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง

            (พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์เมื่อจะตรัสยกย่องคุณของมาตลีเทพสารถี จึงตรัสว่า)

            [๕๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถีได้แสดงสถานที่อยู่ของทวยเทพผู้มีกรรมดี และสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์นรกผู้มีกรรมชั่ว ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา

            (พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์บวชแล้วให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)

            [๕๘๙] พระเจ้าเนมิแห่งชนชาวแคว้นวิเทหะทรงปกครองกรุงมิถิลา ครั้นได้ตรัสพระคาถานี้แล้วทรงบูชายัญเป็นอันมากแล้ว จึงทรงเข้าถึงความสำรวม

เนมิราชชาดกที่ ๔ จบ

--------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา

เนมิราชชาดก

ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระราชอุทยานอัมพวันของพระเจ้ามฆเทวราช ทรงอาศัยกรุงมิถิลา เป็นที่ภิกษาจาร. ทรงปรารภการทำความแย้มพระพระโอษฐ์ให้ปรากฏ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               เรื่องย่อมีว่า วันหนึ่ง พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จจาริกไปในอัมพวันนั้น. ในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศแห่งหนึ่งเป็นรมณียสถาน ทรงใคร่จะตรัสบุรพจริยาของพระองค์ จึงทรงแย้มพระโอษฐ์. ท่านพระอานนทเถระกราบทูลถาม เหตุที่ทรงแย้มพระโอฐ จึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ภูมิประเทศนี้ เราเคยอาศัยอยู่ เจริญฌาน ในกาลที่เราเสวยชาติเป็นมฆเทวราชา. ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอนเพื่อให้ทรงแสดง. จึงประทับนั่ง ณ บวรพุทธาสนะที่ปูลาดไว้ ทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ณ กรุงมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐ ได้มีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่ามฆเทวราช. พระองค์ทรงเล่นอย่างราชกุมารอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ครองไอศวรรย์ ๘๔,๐๐๐ ปี. เมื่อเสวยราชย์เป็นพระราชาธิราชได้ ๘๔,๐๐๐ ปี มีพระราชดำรัสกะเจ้าพนักงานภูษามาลาว่า เมื่อใดเจ้าเห็นผมหงอกในศีรษะเรา เจ้าจงบอกข้าเมื่อนั้น. ครั้นกาลต่อมา เจ้าพนักงานภูษามาลาได้เห็นเส้นพระศกหงอก จึงกราบทูลแด่พระราชา พระองค์ตรัสสั่งให้ถอนด้วยแหนบทองคำ ให้วางไว้ในพระหัตถ์ ทอดพระเนตรพระศกหงอก ทรงพิจารณาเห็นมรณะเป็นประหนึ่งว่ามาข้องอยู่ที่พระนลาต มีพระดำริว่า บัดนี้เป็นกาลที่จะผนวช จึงพระราชทานบ้านส่วยแก่เจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วตรัสเรียกพระเชษฐโอรสมา มีพระดำรัสว่า พ่อจงรับครองราชสมบัติ พ่อจักบวช. พระราชโอรสทูลถามถึงเหตุที่จะทรงผนวช
               เมื่อจะตรัสบอกเหตุแก่พระราชโอรส จึงตรัสคาถานี้ว่า
               ผมหงอกที่งอกบนศีรษะของพ่อนี้ นำความหนุ่มไปเสีย เป็นเทวทูตปรากฏแล้ว คราวนี้จึงเป็นคราวที่พ่อจะบวช.
               ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็อภิเษกพระราชโอรสในราชสมบัติ แล้วพระราชทานพระโอวาทว่า แม้ตัวเธอเห็นผมหงอกอย่างนี้แล้ว ก็พึงบวช. ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จออกจากพระนคร ทรงผนวชเป็นฤาษี เจริญพรหมวิหาร ๔ ตลอด ๘๔,๐๐๐ ปี บังเกิดในพรหมโลก. แม้พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวราช ก็ทรงผนวชโดยอุบายนั้นแหละ ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. กษัตริย์ผู้เป็นพระราชโอรสของพระราชาเป็นลำดับมานับได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ หย่อน ๒ องค์ ทอดพระเนตรเห็นเส้นพระศกหงอกบนพระเศียร แล้วทรงผนวชในพระราชอุทยานอัมพวันนี้ เจริญพรหมวิหาร ๔ บังเกิดในพรหมโลก.
               บรรดากษัตริย์เหล่านั้น กษัตริย์มีพระนามว่ามฆเทวะ บังเกิดในพรหมโลกก่อนกว่ากษัตริย์ทั้งปวง สถิตอยู่ในพรหมโลกนั่นแหละ ตรวจดูพระวงศ์ของพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นกษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ หย่อน ๒ องค์ ผู้บวชแล้ว ก็มีพระมนัสยินดี ทรงพิจารณาว่า เบื้องหน้าแต่นี้ วงศ์ของเราจักเป็นไป หรือจักไม่เป็นไปหนอ. ก็ทรงทราบว่าจักไม่เป็นไป จึงทรงคิดว่า เรานี่แหละจักสืบต่อวงศ์ของเรา ก็จุติจากพรหมโลกนั้น ลงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสีของพระราชาในกรุงมิถิลา.
               กาลล่วงไป ๑๐ เดือน ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา. พระราชาตรัสเรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้ทำนาย มาถามเหตุการณ์ ในวันขนานพระนามพระราชกุมาร พราหมณ์ทั้งหลายตรวจดูพระลักษณะแล้ว กราบทูลว่า พระราชกุมารนี้สืบต่อวงศ์ของพระองค์เกิดแล้ว. ด้วยว่าวงศ์ของพระองค์เป็นวงศ์บรรพชิต ต่อแต่พระกุมารนี้ไปเบื้องหน้า จักไม่มี. พระราชาทรงสดับดังนั้น มีพระดำริว่า พระราชโอรสนี้สืบต่อวงศ์ของเรามาเกิด ดุจวงล้อรถ ฉะนั้น. เราจักขนานนามพระโอรสนั้นว่า เนมิกุมาร ทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงพระราชทานพระนามพระโอรสว่าเนมิกุมาร. พระเนมิกุมารนั้นเป็นผู้ทรงยินดีในการบำเพ็ญรักษาศีลและอุโบสถกรรม จำเดิมแต่ยังทรงพระเยาว์.
               ลำดับนั้น พระราชาผู้พระชนกของเนมิราชกุมารนั้น ทอดพระเนตรเห็นเส้นพระศกบนพระเศียรหงอก ก็พระราชทานบ้านส่วยแก่เจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส ทรงผนวชในพระราชอุทยานอัมพวันนั่นเอง เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า โดยนัยหนหลังนั่นแล.
               ฝ่ายพระเจ้าเนมิราชโปรดให้สร้างโรงทาน ๕ แห่ง คือ ที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง ท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง ยังมหาทานให้เป็นไปด้วยความเป็นผู้มีพระอัธยาศัยในทาน พระราชทานทรัพย์ที่โรงทานแห่งละ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ทรงบริจาคทรัพย์วันละ ๕๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ทุกๆ วัน ทรงเบญจศีลเป็นนิจ. ทรงสมาทานอุโบสถทุกวันปักษ์ ทรงชักชวนมหาชนในการบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น. ทรงแสดงธรรมสอนให้ทราบทางสวรรค์ คุกคามประชุมชนให้กลัวนรก. ประชุมชนตั้งอยู่ในพระโอวาทของพระองค์ บำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น. จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก เทวโลกเต็ม นรกเป็นดุจว่างเปล่า.
               กาลนั้นหมู่เทวดาในดาวดึงสพิภพ ประชุมกัน ณ เทวสถานชื่อสุธรรมา กล่าวสรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ว่า โอ พระเจ้าเนมิราช เป็นพระอาจารย์ของพวกเรา ชาวเราทั้งหลายอาศัยพระองค์ จึงได้เสวยทิพยสมบัตินี้. แม้พระพุทธญาณก็มิได้กำหนด แม้ในมนุษยโลก มหาชนก็สรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ คุณกถาแผ่ทั่วไป ราวกะน้ำมันที่เทราดลงบนหลังมหาสมุทร ฉะนั้น.
               พระศาสดา เมื่อตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ ทรงทำเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสว่า
               เมื่อใด พระเจ้าเนมิราชผู้เป็นบัณฑิต มีพระประสงค์ด้วยกุศล เป็นพระราชาผู้ปราบข้าศึก ทรงบริจาคทานแก่ชาววิเทหะทั้งปวง.
               เมื่อนั้น บุคคลผู้ฉลาดก็ย่อมเกิดขึ้นในโลก ความเกิดขึ้นของท่านเหล่านั้น น่าอัศจรรย์หนอ.
               เมื่อพระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญทานนั้นอยู่ ก็เกิดพระราชดำริขึ้นว่า ทาน หรือพรหมจรรย์ อย่างไหนมีผลานิสงส์มาก.
               ได้ยินว่า พระเจ้าเนมิราชนั้นทรงสมาทานอุโบสถศีล ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทรงเปลื้องราชาภรณ์ทั้งปวง บรรทมบนพระยี่ภู่มีสิริ. หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ตลอดสองยาม. ตื่นบรรทมในปัจฉิมยาม ทรงคู้บัลลังก์ขัดสมาธิ ทรงดำริว่า เราให้ทานไม่มีปริมาณแก่ประชุมชนและรักษาศีล ผลแห่งทานบริจาคมีมาก หรือแห่งพรหมจริยาวาสมีผลมากหนอ ทรงดำริฉะนี้ ก็ไม่ทรงสามารถตัดความสงสัยของพระองค์ได้.
               ขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการเร่าร้อน. ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการเหตุนั้น ก็ทรงเห็นพระเจ้าเนมิราชกำลังทรงปริวิตกอยู่อย่างนั้น จึงคิดว่า เราจักตัดความสงสัยของเธอ จึงเสด็จมาโดยพลันแต่พระองค์เดียว ทำสกลราชนิเวศน์ให้มีรังสิโยภาสเป็นอันเดียวกัน เข้าสู่ห้องบรรทมอันมีสิริ แผ่รัศมีสถิตอยู่ในอากาศ ทรงพยากรณ์ปัญหาที่พระเจ้าเนมิราชตรัสถาม.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ท้าวมฆวานเทพกุญชรสหัสสเนตรทรงทราบพระดำริของพระเจ้าเนมิราช ทรงกำจัดความมืดด้วยรัศมีปรากฏขึ้น. พระเจ้าเนมิราชจอมมนุษย์มีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสกะท้าววาสวะว่า ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกะผู้ให้ทานในก่อน. รัศมีของท่านเช่นนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็น หรือไม่ได้ยินมาเลย ขอท่านจงแจ้งตัวท่าน แก่ข้าพเจ้า ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร.
               ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิราชมีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสตอบว่า
               หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาสู่สำนักพระองค์ท่าน ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ พระองค์อย่าทรงสยดสยองเลย. เชิญตรัสถามปัญหาที่ต้องพระประสงค์เถิด.
               พระเจ้าเนมิราชทรงได้โอกาสฉะนั้นแล้ว จึงตรัสถามท้าววาสวะว่า
               ข้าแต่เทวราชผู้เป็นอิสระแห่งปวงภูต หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์ท่าน ทานหรือพรหมจรรย์อย่างไหนมีผลานิสงส์มาก.
               อมรินทรเทพเจ้าอันนรเทพเนมิราชตรัสถามดังนี้ พระองค์ทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์ จึงตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิราชผู้ยังไม่ทรงทราบว่า
               บุคคลย่อมบังเกิดในขัตติยสกุล เพราะประพฤติพรหมจรรย์อย่างต่ำ. บุคคลได้เป็นเทพเจ้า เพราะประพฤติพรหมจรรย์ปานกลาง. บุคคลย่อมหมดจดวิเศษ เพราะประพฤติพรหมจรรย์สูงสุด. หมู่พรหมเหล่านั้น อันใครๆ จะพึงได้เป็น ด้วยการประพฤติวิงวอน ก็หาไม่. ต้องเป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนบำเพ็ญตบธรรม จึงจะได้บังเกิดในหมู่พรหม.
               ท้าวสักกเทวราชตรัสสรรเสริญว่า ดูก่อนพระมหาราช การประพฤติพรหมจรรย์เป็นคุณมีผลมากกว่าทาน ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า ด้วยประการฉะนี้. ครั้นทรงแสดงความที่การอยู่พรหมจรรย์เป็นคุณมีผลมาก ด้วยคาถาแม้นี้แล้ว. บัดนี้จะทรงแสดงพระราชาทั้งหลายในอดีต ผู้บริจาคมหาทานแล้ว ไม่สามารถจะก้าวล่วงกามาพจรไปได้ จึงตรัสว่า
               พระราชาเหล่านี้ คือ พระเจ้าทุทีปราช พระเจ้าสาครราช พระเจ้าเสลราช พระเจ้ามุจลินทราช พระเจ้าภคีรสราช พระเจ้าอุสินนรราช พระเจ้าอัตถกราช พระเจ้าอัสสกราช พระเจ้าปุถุทธนราช และกษัตริย์เหล่าอื่นกับพราหมณ์เป็นอันมาก บูชายัญมากมาย ก็ไม่ล่วงพ้นความละโลกนี้ไป.
               คาถานั้นมีความว่า ดูก่อนมหาราช พระราชาพระนามว่าทุทีปราช ณ กรุงพาราณสีในกาลก่อน ทรงบริจาคทานเป็นอันมาก สวรรคตแล้วบังเกิดในสวรรค์ชั้นกามาพจรนั่นแล. พระราชาแปดองค์มีพระเจ้าสาครราชเป็นต้นก็เหมือนกัน ก็พระราชามหากษัตริย์และพราหมณ์อื่นๆ เหล่านี้มากมาย ได้บูชายัญเป็นอันมาก บริจาคทานมีประการไม่น้อย ก็ไม่ล่วงพ้นความละโลกนี้ กล่าวคือกามาวจรภูมิไปได้. จริงอยู่ เหล่าเทพชั้นกามาพจร เรียกกันว่าเปตะ เพราะสำเร็จได้โดยอาศัยผู้อื่น เพราะเหตุกิเลสวัตถุมีรูปเป็นต้น
               สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า
               ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อนสอง อยู่คนเดียว ย่อมไม่รื่นรมย์ ย่อมไม่ได้ปีติเกิดแต่วิเวก. ชนเหล่านั้น ถึงจะมีโภคสมบัติเสมอด้วยพระอินทร์ ก็ชื่อว่าเป็นคนเข็ญใจ เพราะได้ความสุขที่ต้องอาศัยผู้อื่น.
               ท้าวสักกเทวราชทรงแสดงความที่ผลแห่งพรหมจรรย์นั่นแล เป็นของมากกว่าผลแห่งทาน แม้อย่างนี้แล้ว. บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงดาบสผู้ก้าวล่วงเปตภพ ด้วยการอยู่พรหมจรรย์ บังเกิดในพรหมโลก จึงตรัสว่า
               ฤาษีผู้ไม่มีเหย้าเรือนเหล่านี้บำเพ็ญตบธรรม ได้ก้าวล่วงกามาวจรภพแล้วโดยแท้ คือ ฤาษี ๗ ตน. อันมีนามว่า ยามหนุฤาษี โสมยาคฤาษี มโนชวฤาษี สมุททฤาษี มาฆฤาษี ภรตฤาษี และกาลปุรักขิตฤาษี และฤาษีอีก ๔ ตน คือ อังคีรสฤาษี กัสสปฤาษี กีสวัจฉฤาษี และอกันติฤาษี.
               ท้าวสักกเทวราชตรัสสรรเสริญ พรหมจริยวาสว่ามีผลมาก ตามที่ได้สดับมาอย่างนี้ก่อน.
               บัดนี้ เมื่อทรงนำเรื่องที่เคยทรงเห็น ด้วยพระองค์เองมาจึงตรัสว่า
               แม่น้ำชื่อ สีทา มีอยู่ทางด้านทิศอุดร เป็นแม่น้ำลึกข้ามยาก กาญจนบรรพตมีสีประหนึ่ง ไฟที่ไหม้ไม้อ้อโชติช่วงอยู่ในกาลทุกเมื่อ. ที่ฝั่งแม่น้ำนั้นมีต้นกฤษณางอกงาม มีภูเขาอื่นอีกมีป่าไม้งอกงาม.
               แต่ก่อนมามีฤาษีเก่าแก่ประมาณหมื่นตน อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้น. หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยทาน ด้วยสัญญมะและทมะ. หม่อมฉันอุปัฏฐากดาบสเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติวัตรจริยาไม่มีวัตรอื่นยิ่งกว่า ละหมู่คณะไปอยู่ผู้เดียว มีจิตมั่นคง. หม่อมฉันจักนมัสการนรชนผู้ปฏิบัติตรง จะมีชาติก็ตาม ไม่มีชาติก็ตาม เป็นนิตยกาล เพราะสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ วรรณะทั้งปวงที่ตั้งอยู่ในอธรรม ย่อมตกนรกเบื้องต่ำ. วรรณะทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ เพราะประพฤติธรรมสูงสุด.
               ครั้งนั้น มีดาบสรูปหนึ่งมาสู่กรุงพาราณสีทางอากาศ นุ่งห่มเรียบร้อย เที่ยวบิณฑบาตถึงประตูเรือนแห่งปุโรหิต. ปุโรหิตนั้นเลื่อมใสในความสงบของท่าน นำท่านมาสู่ที่อยู่ของตนให้ฉันแล้ว ปฏิบัติอยู่สองสามวัน. เมื่อเกิดความคุ้นเคยกันจึงถามว่า ผู้เป็นเจ้าอยู่ที่ไหน. ท่านตอบว่าอยู่ในที่โน้น. ปุโรหิตจึงถามต่อไปว่า ผู้เป็นเจ้าอยู่ในที่นั้นรูปเดียว หรือรูปอื่นๆ ก็มีอยู่. ท่านตอบว่า พูดอะไร ฤาษีนับด้วยหมื่นอยู่ในที่นั้น ล้วนแต่ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ กันทั้งนั้น. ปุโรหิตได้ฟังคุณสมบัติของฤาษีเหล่านั้นจากดาบสรูปนั้น จิตก็น้อมไปในบรรพชา. จึงกล่าวกะดาบสนั้นว่า ขอผู้เป็นเจ้าโปรดพาข้าพเจ้าไปบวช ในที่นั้นเถิด. ท่านกล่าวว่า เธอเป็นราชบุรุษ อาตมาไม่อาจให้บวชได้. ปุโรหิตจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น วันนี้ข้าพเจ้าจะทูลลาพระราชา พรุ่งนี้ผู้เป็นเจ้าโปรดมาที่นี้ ดาบสนั้นรับคำ.
               ฝ่ายปุโรหิตบริโภคอาหารเช้าแล้ว เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าพระบาทปรารถนาจะบวช. พระราชาตรัสถามว่า ท่านอาจารย์จะบวชด้วยเหตุไร. ปุโรหิตกราบทูลว่า ด้วยเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในเนกขัมม์. พระราชาทรงอนุญาตว่า ถ้าเช่นนั้น จงบวชเถิด แม้บวชแล้วจงมาเยี่ยมเราบ้าง. ปุโรหิตรับพระโองการแล้วถวายบังคมพระราชา กลับไปสู่เรือนของตน พร่ำสอนบุตรภรรยา มอบสมบัติทั้งปวง ถือบรรพชิตบริขารเพื่อตนนั่งคอยดาบสมา. ฝ่ายดาบสมาทางอากาศเข้าภายในพระนคร เข้าสู่เรือนของปุโรหิต. ปุโรหิตนั้นอังคาสดาบสนั้น โดยเคารพแล้วแจ้งว่า ข้าพเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร ดาบสนั้นนำปุโรหิตไปนอกเมือง ใช้มือจับนำไปที่อยู่ของตนด้วยอานุภาพของตน ให้บวชแล้ว. วันรุ่งขึ้นให้พราหมณ์ผู้บวชแล้วยับยั้งอยู่ในที่นั้น นำภัตตาหารมาให้บริโภค แล้วบอกกสิณบริกรรม. ดาบสที่บวชใหม่นั้นทำอภิญญาและสมาบัติ ๘ ให้เกิดโดยวันล่วงไปเล็กน้อย ก็เที่ยวบิณฑบาตมาฉันได้เอง.
               กาลต่อมา ดาบสนั้นคิดว่า เราได้ถวายปฏิญญาเพื่อไปเฝ้าพระราชา. เราจะไปเฝ้าตามปฏิญญาไว้ จึงไหว้ดาบสทั้งหลายไปสู่กรุงพาราณสีทางอากาศ เที่ยวบิณฑบาตลุถึงพระราชทวาร. พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นฤาษีนั้น ทรงจำได้ นิมนต์ให้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ ทรงทำสักการะแล้วตรัสถามว่า ผู้เป็นเจ้าอยู่ที่ไหน. ฤาษีนั้นทูลตอบว่า อาตมาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสีทา อันอยู่ในระหว่างกาญจนบรรพตในหิมวันตประเทศ ด้านทิศอุดร. พระราชาตรัสถามว่า ท่านอยู่ในที่นั้นรูปเดียว หรือมีดาบสอื่นๆ ในที่นั้นด้วย. ฤาษีนั้นทูลตอบว่า พระองค์ตรัสอะไร ดาบสนับด้วยหมื่นรูปอยู่ในที่นั้น และท่านเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ทั้งนั้น.
               พระราชาทรงสดับคุณสมบัติแห่งดาบสเหล่านั้น ทรงประสงค์จะถวายภิกษาหารแก่ดาบสทั้งหมด. จึงตรัสกะดาบสนั้นว่า ข้าพเจ้าใคร่จะถวายภิกษาหารแก่ฤาษีเหล่านั้น ผู้เป็นเจ้าจงนำท่านเหล่านั้นมาในที่นี้. ดาบสนั้นทูลว่า ฤาษีเหล่านั้นไม่ยินดีในรสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น. อาตมาไม่อาจจะนำมาในที่นี้ได้. พระเจ้าพาราณสีตรัสว่า ข้าพเจ้าจักอาศัยผู้เป็นเจ้าให้ฤาษีเหล่านั้นบริโภค ขอผู้เป็นเจ้าจงบอกอุบายแก่ข้าพเจ้า. ดาบสทูลว่า ถ้าพระองค์ประสงค์จะถวายทานแก่ฤาษีเหล่านั้น จงเสด็จออกจากเมืองนี้ ไปประทับแรมอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสีทา. แล้วทรงถวายทานแก่ท่านเหล่านั้น พระราชาทรงรับคำ. โปรดให้ถืออุปกรณ์ทั้งปวง เสด็จออกจากพระนครกับด้วยจตุรงคินีเสนา เสด็จลุถึงสุดแดนราชอาณาเขตของพระองค์. ลำดับนั้น ดาบสจึงนำพระราชาไปที่ฝั่งสีทานที พร้อมด้วยเสนาด้วยอานุภาพของตน. ให้ตั้งค่ายริมฝั่งแม่น้ำ ทูลเตือนพระราชามิให้ทรงประมาท. แล้วเหาะไปยังที่อยู่ของตน กลับมาในวันรุ่งขึ้น.
               ลำดับนั้น พระราชาให้ดาบสนั้นฉันโดยเคารพแล้วตรัสว่า พรุ่งนี้ผู้เป็นเจ้าจงพาฤาษีหมื่นรูปมาในที่นี้. ดาบสนั้นรับพระราชดำรัสแล้วกลับไป. วันรุ่งขึ้นในเวลาภิกษาจาร แจ้งแก่ฤาษีทั้งหลายว่า พระเจ้าพาราณสีมีพระราชประสงค์จะถวายภิกษาหารแก่ท่านทั้งหลาย เสด็จมาประทับอยู่แถบฝั่งสีทานที. พระองค์อาราธนาท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปยังค่ายหลวง รับภิกษาเพื่ออนุเคราะห์พระองค์. ฤาษีเหล่านั้นรับคำ จึงเหาะลงมาที่ใกล้ค่ายหลวง.
               ลำดับนั้น พระราชาเสด็จต้อนรับฤาษีเหล่านั้น แล้วอาราธนาให้เข้าในค่ายหลวง ให้นั่ง ณ อาสนะที่แต่งไว้. เลี้ยงดูหมู่ฤาษีให้อิ่มหนำ ด้วยอาหารประณีต ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของฤาษีเหล่านั้น จึงนิมนต์ให้ฉันในวันพรุ่งนี้อีก ได้ทรงถวายทานแก่ดาบสหมื่นรูป โดยอุบายนี้ ตลอดหมื่นปี. ก็แลเมื่อทรงถวายโปรดให้สร้างนครในประเทศนั้นทีเดียว ให้ทำกสิกรรม.
               ดูก่อนมหาราช ก็พระเจ้าพาราณสีในกาลนั้น มิใช่ผู้อื่น คือหม่อมฉันนี่เอง. หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐด้วยทานในครั้งนั้นโดยแท้ เพราะว่า ครั้งนั้นหม่อมฉันนี่แหละเป็นผู้ประเสริฐด้วยทาน ได้บริจาคมหาทานนั้น ก็หาสามารถจะก้าวล่วงเปตโลกนี้ บังเกิดในพรหมโลกไม่. แต่ฤาษีเหล่านั้นทั้งหมดนั่นแล บริโภคทานที่หม่อมฉันบริจาค ก้าวล่วงกามาวจรภพบังเกิดในพรหมโลก. ก็พรหมจริยวาสเป็นคุณธรรม มีผลานิสงส์มากอย่างใด ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนั้น ด้วยอุทาหรณ์ที่แสดงมาแล้วนี้. ท้าวสักกเทวราชประกาศความที่พระองค์เป็นผู้ประเสริฐด้วยทานอย่างนี้แล้ว ประกาศคุณธรรมแห่งฤาษีเหล่านั้น ด้วยบทสามบทนอกนี้.
               ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกเทวราชทรงโอวาทพระเจ้าเนมิราชนั้นว่า ดูก่อนมหาราช พรหมจริยวาสเป็นธรรมมีผลมากกว่าทานโดยแท้. ถึงอย่างนั้น ธรรมทั้งสองนั้นก็เป็นมหาปุริสวิตก เพราะฉะนั้น พระองค์จงอย่าประมาทในธรรมทั้งสอง จงทรงบริจาคทานด้วย จงทรงรักษาศีลด้วย. ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จไปสู่ทิพยสถานวิมานของพระองค์นั่นแล.
               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               องค์มฆวาสุชัมบดีเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงอนุศาสน์พระเจ้าวิเทหรัฐ แล้วเสด็จหลีกไปสู่หมู่เทพในสวรรค์.
               ลำดับนั้น หมู่เทพยดาได้ทูลถามท้าวสักกะว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ไม่ปรากฏเสด็จไปไหนหนอ. ท้าวสักกะตรัสตอบว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ความกังขาอันหนึ่งเกิดขึ้นแก่พระเจ้าเนมิราช กรุงมิถิลา. ข้าจึงไปกล่าวปัญหาทำให้เธอหายกังขาแล้วกลับมา.
               ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกเทวราชเพื่อตรัสเหตุนั้นอีกด้วยคาถา จึงตรัสว่า
               ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายที่มาประชุม ในที่นี้มีประมาณเพียงไร. จงตั้งใจสดับคุณที่ควรพรรณนา ทั้งสูงทั้งต่ำเป็นอันมากนี้ของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรม อย่างพระเจ้าเนมิราชนี้เป็นบัณฑิต มีพระราชประสงค์ด้วยกุศล. พระองค์เป็นราชาของชาววิเทหรัฐทั้งปวง ทรงปราบข้าศึก พระราชทานไทยธรรม. เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานอยู่นั้น เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานหรือพรหมจรรย์อย่างไหนมีผลมากหนอ.
               ท้าวสักกเทวราชตรัสคุณที่ควรพรรณนาของพระเจ้าเนมิราช อย่างไม่บกพร่องด้วยประการฉะนี้.
               หมู่เทวดาได้ฟังท้าวเธอตรัสดังนี้ ก็ใคร่จะเห็นพระเจ้าเนมิราช จึงทูลว่า ข้าแต่มหาเทวราช พระเจ้าเนมิราชเป็นพระอาจารย์ของพวกข้าพระเจ้า. พวกข้าพระเจ้าตั้งอยู่ในโอวาทของพระองค์ อาศัยพระองค์จึงได้ทิพยสมบัตินี้. ข้าพระเจ้าทั้งหลายใคร่จะเห็นพระองค์ ขอองค์มหาเทวราชเชิญเสด็จพระองค์มา. ท้าวสักกเทวราชทรงรับคำ จึงมีเทวบัญชามาตลีเทพสารถีว่า ท่านจงเทียมเวชยันตรถไปกรุงมิถิลา. เชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชขึ้นทิพยาน นำเสด็จมาเทวสถานนี้. มาตลีเทพบุตรรับเทพโองการแล้วเทียมเทพรถขับไป ก็เมื่อท้าวสักกะมีเทพดำรัสอยู่กับเทวดาทั้งหลาย ตรัสเรียกมาตลีเทพสารถีมาตรัสสั่ง และเมื่อมาตลีเทพสารถีเทียมเวชยันตราชรถ ล่วงไปหนึ่งเดือน โดยกำหนดนับวันในมนุษย์.
               เมื่อพระเจ้าเนมิราชทรงรักษาอุโบสถศีลในวันเพ็ญ เปิดสีหบัญชรด้านทิศตะวัน ออกประทับนั่งอยู่ในพระตำหนัก คณะอมาตย์แวดล้อมทรงพิจารณาศีลอยู่. เวชยันตราชรถนั้นปรากฏ พร้อมกับจันทรมณฑล อันขึ้นแต่ปราจีนโลกธาตุ. ชนทั้งหลายกินอาหารเย็นแล้ว นั่งที่ประตูเรือนของตนๆ พูดกันถึงถ้อยคำอันให้เกิดความสุข ก็พูดกันว่า วันนี้พระจันทร์ขึ้นสองดวง.
               ลำดับนั้น เทพรถนั้นก็ได้ปรากฏแก่ประชุมชนผู้สนทนากันอยู่. มหาชนกล่าวว่า นั่นไม่ใช่พระจันทร์ รถนะ. ในเมื่อเวชยันตรถเทียมสินธพ นับด้วยพันมีมาตลีเทพบุตรขับ ปรากฏแล้วในขณะนั้น. จึงคิดกันว่า ทิพยานนี้มาเพื่อใครหนอ. ลงความเห็นว่า ไม่ใช่มาเพื่อใครอื่น พระราชาของพวกเราเป็นธรรมิกราช องค์สักกเทวราชจะส่งมาเพื่อพระราชานั้นนั่นเอง. เทพรถนี้สมควรแก่พระราชาของพวกเราแท้ เห็นฉะนี้แล้ว ก็ร่าเริงยินดี กล่าวคาถาว่า
               เกิดพิศวงขนพองขึ้นในโลกแล้วหนอ รถทิพย์ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหรัฐ ผู้มียศ.
               ก็เมื่อประชาชนกล่าวกันอย่างนี้ มาตลีเทพบุตรมาโดยเร็ว กลับรถจอดท้ายรถที่พระสีหบัญชร ทำการจัดแจงให้เสด็จขึ้นแล้ว. ได้เชิญพระเจ้าเนมิราชเสด็จขึ้นทรง.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               เทพบุตรมาตลีผู้เป็นเทพสารถีมีฤทธิ์มาก อัญเชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหรัฐ ผู้ทรงสงเคราะห์ชาวเมืองมิถิลาว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ในทิศ ขอเชิญเสด็จมาทรงรถนี้ เทพเจ้าชาวดาวดึงส์ พร้อมด้วยพระอินทร์ใคร่จะเห็นพระองค์ ประชุมคอยเฝ้าอยู่ ณ เทพสภา ชื่อสุธรรมา.
               พระเจ้าเนมิราชได้ทรงสดับคำนั้น มีพระดำริว่า เราจักได้เห็นเทวโลก ซึ่งยังไม่เคยเห็น. มาตลีเทพบุตรจักสงเคราะห์เรา เราจักไป. ตรัสเรียกนางใน และมหาชนมาตรัสว่า เราจักไปไม่นานนัก ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท จงกระทำบุญทั้งหลาย มีการให้ทานเป็นต้น. ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จขึ้นทิพยรถ.
               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหรัฐผู้สงเคราะห์ชาวมิถิลา ผู้เป็นประมุข รีบเสด็จลุกจากอาสน์ขึ้นสู่รถ. มาตลีเทพสารถีได้ทูลถามพระเจ้าวิเทหราช ผู้เสด็จขึ้นทรงทิพยรถแล้วว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ในทิศ ทางไปสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบาปทางหนึ่ง ทางไปสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญทางหนึ่ง จะโปรดให้ข้าพระองค์นำเสด็จไปทางไหน.
               ลำดับนั้น พระราชามีพระดำริว่า สถานที่ทั้งสองเรายังไม่เคยเห็น เราจักดูทั้งสองแห่ง จึงตรัสว่า
               ดูก่อนมาตลีเทพสารถี ท่านจงนำเราไปโดยทางทั้งสอง คือทางไปที่อยู่ของผู้ทำบาป และทางไปที่อยู่ของผู้ทำบุญ.
               ลำดับนั้น มาตลีเทพบุตรทูลว่า ข้าพระองค์ไม่อาจจะแสดงสถานที่ทั้งสองในขณะเดียวกัน.
               จึงได้ทูลถามพระองค์ เมื่อจะทูลถาม จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ในทิศทางหนึ่งไปที่อยู่ของผู้ทำบาป ทางหนึ่งไปที่อยู่ของผู้ทำบุญ จะโปรดให้ข้าพระองค์นำเสด็จไปทางไหนก่อน.


               ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชเสด็จไปทอดพระเนตรนรก

               ลำดับนั้น พระราชาดำริว่า เราจักไปเทวโลกแน่ แต่จักดูนรกก่อน จึงตรัสคาถาติดต่อกันไปว่า
               เราจะดูนรกอันเป็นที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบาป สถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า และคติของเหล่าชนผู้ทุศีลก่อน.
               ลำดับนั้น มาตลีเทพสารถีได้แสดงแม่น้ำชื่อเวตรณี แด่พระเจ้าเนมิราชก่อน.
               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               มาตลีเทพสารถีได้แสดงแม่น้ำเวตรณี ซึ่งข้ามยาก ประกอบด้วยน้ำแสบ เผ็ดร้อน เดือดพล่าน เปรียบดังเปลวเพลิง แด่พระเจ้าเนมิราช.
               เวตรณีนทีนั้นดาดาษไปด้วยเครือเลื้อย อันมีหนามประมาณเท่าหอก มีเพลิงลุกโพลงข้างบน. สัตว์นรกเหล่านั้นต้องอยู่ในเวตรณีนทีนั้นหลายพันปี เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ในเพราะเถาวัลย์มีหนามแหลมมีคมอันคมกริบ มีเพลิงลุกโชติช่วง มีหลาวเหล็กลุกโพลงประมาณเท่าลำตาล ตั้งขึ้นภายใต้เถาวัลย์เหล่านั้น. สัตว์นรกทั้งหลายยังกาลให้ล่วงไปนานมาก พลาดจากเถาวัลย์ตกลงที่ปลายหลาว มีร่างกายถูกหลาวแทงไหม้อยู่ในหลาวนาน ดุจปลาที่เสียบไว้ในไม้แหลมย่างไฟ หลาวทั้งหลายลุกเป็นไฟ. สัตว์นรกทั้งหลายก็ลุกเป็นไฟ ก็ภายใต้หลาวทั้งหลายมีใบบัวเหล็กแหลมคม ดุจมีดโกนลุกเป็นไฟอยู่หลังน้ำ. สัตว์นรกเหล่านั้นพลาดจากหลาวทั้งหลายตกลงในใบบัวเหล็ก เสวยทุกขเวทนานาน. แต่นั้นสัตว์นรกเหล่านั้นก็ตกในน้ำแสบ แม้น้ำก็ลุกเป็นไฟ. แม้สัตว์นรกทั้งหลายก็ลุกเป็นไฟ. แม้ควันก็ตั้งขึ้น ก็พื้นแม่น้ำภายใต้น้ำดาดาษไป ด้วยเครื่องประหารอันคมกริบ. สัตว์นรกเหล่านั้นจมลงในน้ำ ด้วยคิดว่าใต้น้ำจะเป็นเช่นไรหนอ. ก็เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่เพราะเครื่องประหารอันคมกริบ. สัตว์นรกเหล่านั้นไม่สามารถจะอดกลั้นทุกข์ใหญ่นั้น ก็ร่ำร้องน่ากลัวมาก. กระแสน้ำบางครั้งก็ไหลลอยไปตามกระแส บางครั้งก็ทวนกระแส. ลำดับนั้น นายนิรยบาลผู้อยู่ที่ฝั่งก็ซัดลูกศร มีด โตมร หอก แทงสัตว์นรกเหล่านั้นดุจปลา. สัตว์นรกเหล่านั้นถึงทุกขเวทนาก็ร้องกันลั่น. ลำดับนั้น นายนิรยบาลก็เอาเบ็ดเหล็กที่ลุกเป็นไฟ เกี่ยวสัตว์นรกเหล่านั้นขึ้น คร่ามาให้นอนบนแผ่นดินเหล็กที่ลุกเป็นไฟโชติช่วง ยัดก้อนเหล็กที่ลุกแดงเข้าปาก.
               พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นเหล่าสัตว์ถูกทุกข์ใหญ่เบียดเบียนในเวตรณีนที ก็สะดุ้งกลัว. ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้. มาตลีเทพสารถีได้ทูลถวายพยากรณ์ให้ทรงทราบ.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นชน ซึ่งตกอยู่ในเวตรณีนทีภาค ซึ่งยากจะข้ามได้ จึงตรัสกะมาตลีเทพสารถีว่า แน่ะนายสารถี ความกลัวมากปรากฏแก่เรา เพราะเห็นสัตว์ตกอยู่ในแม่น้ำเวตรณี. แน่ะมาตลี เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงได้ตกในเวตรณีนที.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกเป็นผู้มีกำลัง มีบาปธรรมเบียดเบียน ด่ากระทบผู้ที่หากำลังมิได้. สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้ากระทำบาป จึงตกลงในเวตรณีนที.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์ ปัญหาแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว. เมื่อพระเจ้าเนมิราชได้ทอดพระเนตรเห็นเวตรณีนรกแล้ว ก็ทำประเทศนั้นให้อันตรธานไปแล้ว ขับรถไปข้างหน้า แสดงที่เป็นที่สัตว์มีสุนัขเป็นต้นเคี้ยวกินอันพระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นสถานที่นั้นแล้วก็ทรงกลัว. ตรัสถามปัญหาได้ทูลพยากรณ์แล้ว.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               พระราชาตรัสว่า สุนัขแดง สุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกา น่ากลัว เคี้ยวกินสัตว์นรก ความกลัวปรากฏแก่เรา เพราะเห็นสัตว์เหล่านั้นเคี้ยวกินสัตว์นรก. เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ที่ฝูงกาเคี้ยวกิน ได้ทำบาปอะไรไว้.
               มาตลีเทพสารถีอันพระเจ้าเนมิราชตรัสถามแล้ว ได้ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ ผู้ทำบาปตามที่ได้ทราบ แด่พระเจ้าเนมิราชผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น มีบาปธรรม มักบริภาษ เบียดเบียน ด่ากระทบสมณพราหมณ์. สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้ากระทำบาป จึงถูกฝูงกาเคี้ยวกิน.
               ปัญหาอื่นจากนี้ และการพยากรณ์ก็มีนัยนี้แล.
               แต่นั้น มาตลีเทพสารถียังประเทศนั้นให้อันตรธาน ขับรถไปข้างหน้า. สัตว์นรกทั้งหลายเหยียบแผ่นดินเหล็ก ๙ โยชน์ ลุกโชติช่วง. นายนิรยบาลติดตามไปประหารแข้งด้วยท่อนเหล็ก อันลุกโพลงประมาณเท่าลำตาลล้มลง โบยด้วยท่อนเหล็กนั้น ให้เรี่ยรายเป็นจุรณวิจุรณ. พระราชาเนมิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงสะดุ้งกลัว
               เมื่อจะตรัสถามมาตลีเทพสารถี จึงตรัสคาถาว่า
               สัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายลุกโพลง เดินเหยียบแผ่นดินเหล็ก และนายนิรยบาลโบยด้วยท่อนเหล็กแดง ความกลัวปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ทำบาปอะไรไว้ จึงถูกเบียดเบียนด้วยท่อนเหล็กนอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีบาปธรรม เบียดเบียน ด่ากระทบ ชายหญิงผู้มีกุศลธรรม. สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า กระทำบาปกรรมแล้ว จึงถูกเบียดเบียนด้วยท่อนเหล็กนอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีขับรถไปข้างหน้า นายนิรยบาลทั้งหลายทิ่มแทง สัตว์นรกด้วยอาวุธอันลุกโพลง. สัตว์นรกเหล่านั้นก็ตกลงในหลุมถ่านเพลิง. เมื่อสัตว์นรกเหล่านั้นจมอยู่ในหลุมถ่านเพลิงเพียงเอว. นายนิรยบาลก็เอากระเช้าเหล็กใหญ่ ตักถ่านเพลิงโปรยลงบนศีรษะสัตว์นรกเหล่านั้น. สัตว์นรกเหล่านั้นไม่อาจรับถ่านเพลิงก็ร้องไห้ มีกายไฟไหม้ทั่วดิ้นรนอยู่.
               พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               สัตว์เหล่าอื่นร้องไห้ มีกายไฟไหม้ทั่ว ดิ้นรนอยู่ในหลุมถ่านเพลิง ความกลัวปรากฏแก่เรา เพราะเห็นกิริยานี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงมาร้องไห้ ดิ้นรนอยู่ในหลุมถ่านเพลิงนี้.
               มาตลีเทพสารถีอันพระเจ้าเนมิราชตรัสถามแล้ว ได้ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบาป ตามที่ได้ทราบแด่พระเจ้าเนมิราชผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์นรกเหล่านี้ยังหนี้ให้เกิด เพราะสร้างพยานโกงเหตุแห่งทรัพย์ของประชุมชน ยังหนี้ให้เกิดแก่ประชุมชน มีกรรมหยาบช้าทำความชั่ว จึงมาร้องไห้ดิ้นรนอยู่ในหลุมถ่านเพลิง พระเจ้าข้า.
               มาตลีเทพสารถีขับรถไปข้างหน้า เหล่าสัตว์ถูกนายนิรยบาลที่น่ากลัว จับเอาเท้าขึ้นบนเอาศีรษะลงล่าง โยนไปตกในหม้อโลหะอันร้อนแรง.
               พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสว่า
               หม้อโลหะใหญ่ไฟติดทั่วลุกโพลงโชติช่วงย่อมปรากฏ ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนี้. แน่ะมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ทำบาปอะไรไว้ จึงตกในโลหกุมภี.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีบาปธรรม เบียดเบียน ด่ากระทบสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีศีล. สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า กระทำบาปกรรมแล้ว จึงตกในโลหกุมภี.
               มาตลีเทพสารถีขับรถไปข้างหน้า นายนิรยบาลเอาเชือกเหล็กลุกโพลง ผูกคอสัตว์นรก ให้ก้มหน้า ดึงขึ้นมาตัดคอให้ชุ่มในน้ำร้อนแล้วโบยตี. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               นายนิรยบาลผูกคอสัตว์นรกด้วยเชือกเหล็กลุกโพลง แล้วตัดศีรษะโยนลงไปในน้ำร้อน ความกลัวเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงมีศีรษะขาดนอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก มีบาปธรรม จับนกมาฆ่า สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้ากระทำบาป จึงมีศีรษะขาดนอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป ได้ยินว่า ในประเทศนั้นมีแม่น้ำมีน้ำเจิ่ง น่ารื่นรมย์ไหลอยู่โดยปกติ. สัตว์นรกไม่อาจทนความกระหาย เพราะเร่าร้อนด้วยเพลิง จึงเดินย่ำแผ่นดินโลหะลุกโพลงลงสู่แม่น้ำนั้น. ทันใดนั้นเองฝั่งน้ำทั้งสอง ก็ลุกโพลงทั่ว น้ำควรดื่มก็กลายเป็นแกลบ และใบไม้ลุกโพลง. สัตว์นรกไม่อาจจะทนความกระหาย ก็เคี้ยวแกลบ และใบไม้อันลุกโพลงกินแทนดื่มน้ำ แกลบและใบไม้นั้น ก็เผาสรีระทั้งสิ้นออกทางส่วนเบื้องต่ำ. สัตว์นรกไม่สามารถจะอดกลั้นทุกข์นั้น ก็ประคองแขนทั้งสองร้องไห้.
               พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               แม่น้ำนี้มีน้ำมาก มีตลิ่งไม่สูง มีท่าอันดี ไหลอยู่เสมอ. สัตว์นรกเหล่านั้นเร่าร้อนเพราะความร้อนแห่งไฟ จะดื่มน้ำ ก็แต่เมื่อสัตว์นรกเหล่านั้นจะดื่ม น้ำก็กลายเป็นแกลบไป ความกลัวย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนี้. แน่ะมาตลีเทพสารถี ข้าพเจ้าขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ เมื่อจะดื่มน้ำ น้ำจึงกลายเป็นแกลบไป.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์เหล่าใดมีการงานไม่บริสุทธิ์ ขายข้าวเปลือกแท้ เจือด้วยข้าวลีบแกลบแก่ผู้ซื้อ. เมื่อสัตว์เหล่านั้นมีความร้อนยิ่ง เพราะความร้อนแห่งไฟ กระหายน้ำ จะดื่มน้ำจึงกลายเป็นแกลบไป.
               มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป นายนิรยบาลทั้งหลายล้อมเหล่าสัตว์นรกในนิรยาบายนั้น เหมือนนายพรานล้อมฝูงมฤคในป่าไว้ แล้วทิ่มแทงข้างทั้ง ๒ แห่งสัตว์นรกเหล่านั้นด้วยอาวุธต่างๆ มีเครื่องประหาร คือลูกศรเป็นต้น ร่างกายของสัตว์นรกเหล่านั้นปรากฏเป็นช่องปรุไปหมดเหมือนใบไม้แก่ ฉะนั้น.
               พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น เมื่อจะตรัสถามมาตลีเทพสารถี จึงตรัสคาถาว่า
               นายนิรยบาลแทงข้างทั้ง ๒ แห่งสัตว์นรกผู้ร้องไห้อยู่ ด้วยลูกศร หอก โตมร ความกลัวปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงถูกฆ่าด้วยหอกนอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์เหล่าใด เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกเป็นผู้มีกรรม ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ถือเอาของที่เจ้าของไม่ให้ คือ ธัญชาติ ทรัพย์ เงิน ทอง แพะ แกะ ปศุสัตว์ และกระบือ มาเลี้ยงชีวิต. สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้มีกรรมหยาบช้าทำบาป จึงถูกฆ่าด้วยหอก นอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป แสดงนิรยาบายอื่นอีก นายนิรยบาลผูกคอสัตว์นรกในนรกนั้น ด้วยเชือกเหล็กลุกโพรงใหญ่ คร่าตัวมาให้ล้มลงบนแผ่นดินเหล็กลุกโพลง เที่ยวทุบตีด้วยอาวุธต่างๆ พระเจ้าเนมิราช เมื่อจะตรัสถาม มาตลีเทพสารถีถึงเหตุนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               สัตว์นรกเหล่านี้นายนิรยบาลผูกคอไว้ เพราะเหตุอะไร ยังพวกอื่นอีกพวกหนึ่ง อันนายนิรยบาลตัดทำให้เป็นชิ้นๆ นอนอยู่. ความกลัวย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ทำบาปอะไรไว้ จึงถูกทำให้เป็นชิ้นๆ นอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์นรกเหล่านี้เคยเป็นผู้ฆ่าแกะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา ครั้นฆ่าสัตว์ของเลี้ยง กระบือ แพะ แกะ แล้ววางไว้ในร้านที่ฆ่าสัตว์ขายเนื้อ เป็นผู้มีกรรมหยาบช้าทำบาปจึงถูกตัดเป็นชิ้นๆ นอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป แสดงนิรยาบายอื่นอีก พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นสัตว์นรกเหล่านี้กินมูตรและคูถ. เมื่อจะตรัสถามมาตลีเทพสารถี จึงตรัสคาถาว่า
               ห้วงน้ำนี้เต็มด้วยมูตรและคูถ มีกลิ่นเหม็น ไม่สะอาด เน่า ฟุ้งไป สัตว์นรกมีความหิวครอบงำ ก็กินมูตรและคูถนั้น. ความกลัวปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงมีมูตรและคูถเป็นอาหาร.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์นรกเหล่าใดก่อทุกข์ เบียดเบียนมิตรสหายเป็นต้น ตั้งมั่นอยู่ในความเบียดเบียนผู้อื่นทุกเมื่อ. สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้าเป็นพาล ประทุษร้ายมิตร จึงต้องกินมูตรและคูถ.
               มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป ในนรกอื่นๆ สัตว์นรกเหล่านี้อันความหิวถูกต้อง ไม่อาจอดกลั้นความหิวได้ จึงทำเลือดและหนองเป็นก้อนๆ เคี้ยวกิน. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               ห้วงน้ำนี้เต็มด้วยเลือดและหนอง มีกลิ่นเหม็นไม่สะอาด เน่า ฟุ้งไป. สัตว์นรกถูกความร้อนแผดเผาแล้ว ย่อมดื่มเลือดและหนองกิน. ความกลัวย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงมีเลือดและหนองเป็นอาหาร.
               มาตลีเทพสารถีทูลถวายพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์นรกเหล่าใด เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกฆ่ามารดาบิดาหรือพระอรหันต์ ชื่อว่าต้องปาราชิกในเพศคฤหัสถ์. สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้าทำบาป จึงมีเลือดและหนองเป็นอาหาร.
               มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป นายนิรยบาลที่อุสสุทนรกอื่นอีก เอาเบ็ดเหล็กลุกโพลง โตเท่าลำตาลเกี่ยวลิ้นสัตว์นรก คร่ามาให้สัตว์นรกเหล่านั้น ล้มลงบนแผ่นดินโลหะที่ลุกโพลง ให้นอนแผ่ เอาขอเหล็กสับดุจสับหนังโคฉะนั้น. สัตว์นรกเหล่านั้นดิ้นรนเหมือนปลาดิ้นอยู่บนบก ไม่อาจทนทุกข์นั้นร้องไห้เขฬะไหล.
               พระเจ้าเนมิราช เมื่อจะแสดงแก่มาตลีเทพสารถีนั้น ได้ตรัสว่า
               ท่านจงดูลิ้นของสัตว์นรกที่เกี่ยวด้วยเบ็ด และหนังที่แผ่ไปด้วยขอ สัตว์นรกย่อมดิ้นรน เหมือนปลาที่โยนไปบนบกย่อมดิ้นรนฉะนั้น ร้องไห้ น้ำลายไหล เพราะกรรมอะไร ความกลัวย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงกลืนเบ็ดนอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์นรกเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นมนุษย์อยู่ในตำแหน่งผู้ตีราคา ยังราคาซื้อให้เสื่อมไปด้วยราคา ทำกรรมอันโกงด้วยความโกง เหตุโลภทรัพย์ปกปิดไว้ ดุจคนเข้าไปใกล้ปลาเพื่อจะฆ่า เอาเหยื่อเกี่ยวเบ็ดปิดเบ็ดไว้ฉะนั้น. บุคคลจะป้องกันช่วยคนทำความโกง ผู้อันกรรมของตนหุ้มห่อไว้ ไม่มีเลย. สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้าทำบาป จึงมากลืนเบ็ดนอนอยู่.
               มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป สัตว์นรกในนรกนั้น ตั้งอยู่ในหลุมใหญ่เต็มด้วยถ่านเพลิงที่ลุกโพลง. ได้ยินว่า สัตว์นรกเหล่านั้นถูกนายนิรยบาลถืออาวุธต่างๆ แทงเข้าถึงนรกนั้น เหมือนนายโคบาลแทงฝูงโคที่ไม่เข้าคอก ฉะนั้น. นายนิรยบาลจับสัตว์นรกเหล่านั้นเอาเท้าขึ้นบนโยนไปในนรกนั้น. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นสัตว์นรกตกนรกอย่างนั้น เมื่อจะตรัสถามมาตลีเทพสารถี จึงตรัสคาถาว่า
               หญิงนรกเหล่านี้มีร่างกายแตกทั่ว มีชาติทราม มีแมลงวันตอม เปรอะเปื้อนด้วยเลือดและหนอง มีศีรษะขาด เหมือนฝูงโคที่ศีรษะขาดบนที่ฆ่า ประคองแขนทั้งสองร้องไห้ หญิงนรกเหล่านั้นจมอยู่ในภูมิภาคเพียงเอวทุกเมื่อ. ภูเขาไฟตั้งมาแต่สี่ทิศ ลุกโพลงกลิ้งมาบดหญิงนรกเหล่านั้นให้ละเอียด. ความกลัวปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน หญิงนรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงต้องมาจมอยู่ในภูมิภาคเพียงเอวทุกเมื่อ ภูเขาไฟลุกโพลงตั้งมาแต่สี่ทิศบดให้ละเอียด.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า หญิงนรกเหล่านั้นเป็นกุลธิดา เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก มีการงานไม่บริสุทธิ์ ได้ประพฤติไม่น่ายินดี เป็นหญิงนักเลง ละสามีเสียได้ คบหาชายอื่นเพราะเหตุยินดีและเล่น หญิงเหล่านั้นเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก ยังจิตของตนให้ยินดีในชายอื่น จึงถูกภูเขาไฟอันลุกโพลงตั้งมาแต่สี่ทิศ บดให้ละเอียด.
               มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป สัตว์นรกในนรกนั้นตั้งอยู่ในบ่อใหญ่ เต็มด้วยถ่านเพลิงลุกโพลง ได้ยินว่า สัตว์นรกเหล่านั้นถูกนายนิรยบาลถืออาวุธต่างๆ แทง เหมือนนายโคบาลแทงฝูงโคที่ไม่เข้าคอก เข้าถึงนรกนั้นด้วยประการนั้น. ลำดับนั้น นายนิรยบาลจับสัตว์นรกเหล่านั้นให้มีเท้าขึ้นข้างบนโยนลงในบ่อใหญ่นั้น.
               พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นสัตว์นรกตกลงในนรกอย่างนั้น เมื่อจะตรัสถามมาตลีเทพสารถี จึงตรัสคาถาว่า
               เพราะเหตุไร นายนิรยบาลทั้งหลายจึงจับสัตว์นรกเหล่านี้ อีกพวกหนึ่งที่เท้าเอาหัวลงโยนลงไปในนรก ความกลัวย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่านสัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงถูกโยนให้ตกไปในนรก.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีกรรมไม่ดี ล่วงเกินภรรยาทั้งหลายของชายอื่น. สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้ลักภัณฑะอันอุดมเช่นนั้น จึงมาตกนรก เสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นสิ้นปีเป็นอันมาก. บุคคลผู้ช่วยป้องกันบุคคลผู้มักทำบาป ผู้อันกรรมของตนหุ้มห่อไว้ ไม่มีเลย. สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้าทำบาป จึงมาตกอยู่ในนรก.
               ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว มาตลีผู้สังคาหกะได้ยังนรกนั้นให้อันตรธานไป ขับรถต่อไป แสดงนรกเป็นที่หมกไหม้แห่งพวกมิจฉาทิฏฐิ ได้พยากรณ์ข้อที่พระเจ้าเนมิราชตรัสถามว่า
               สัตว์นรกเหล่านี้ ทั้งน้อยใหญ่ต่างพวกประกอบเหตุการณ์ มีรูปร่างพิลึก ปรากฏอยู่ในนรก ความกลัวย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อนมีประมาณยิ่ง.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบาปทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีความเห็นเป็นบาป หลงทำกรรมอันทำด้วยความคุ้นเคย และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐิเช่นนั้น สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้มีทิฏฐิอันลามกทำบาป จึงต้องเสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อนมีประมาณยิ่ง.
               มาตลีเทพสารถีทูลบอก นรกเป็นที่หมกไหม้ของพวกมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย แด่พระเจ้าเนมิราช ด้วยประการฉะนี้.
               แม้หมู่เทวดาในเทวโลก ก็ได้นั่งประชุมกันในเทวสภาชื่อสุธรรมา นั่นแล คอยพระเจ้าเนมิราชเสด็จมา. ฝ่ายท้าวสักกเทวราชทรงใคร่ครวญดูว่า ทำไม มาตลีจึงไปช้านัก. ก็ทราบเหตุนั้น จึงทรงจินตนาการว่า มาตลีเทพบุตรเที่ยวแสดงนรกทั้งหลายว่า สัตว์เกิดในนรกโน้น เพราะทำกรรมโน้น ดังนี้. เพื่อแสดงความเป็นทูตพิเศษของตน แต่ชนมายุของพระเจ้าเนมิราช ซึ่งมีอยู่น้อยจะพึงสิ้นไป. ชนมายุนั้นจะไม่พึงถึงที่สุดแห่งการแสดงนรก ทรงดำริฉะนี้แล้ว. จึงส่งเทพบุตรองค์หนึ่งซึ่งมีความเร็วมาก ด้วยเทพบัญชาว่า ท่านจงไปแจ้งแก่มาตลีว่า จงเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชมาโดยเร็ว เทพบุตรนั้นมาแจ้งโดยเร็ว. มาตลีเทพสารถีได้สดับคำเทพบุตรนั้นแล้ว จึงทูลพระเจ้าเนมิราชว่า ช้าไม่ได้แล้ว พระเจ้าข้า. แล้วแสดงนรกเป็นอันมากใน ๔ ทิศพร้อมกันทีเดียว แด่พระเจ้าเนมิราช กล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทรงทราบสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า และทรงทราบคติของเหล่าสัตว์ผู้ทุศีลแล้ว เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นนิรยาบายอันเป็นที่อยู่ของเหล่าสัตว์นรก ผู้มีกรรมอันลามก. ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่. บัดนี้ ขอพระองค์เสด็จขึ้นไป ในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด.
               จบ กัณฑ์นรก


               ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชเสด็จไปทอดพระเนตรสวรรค์

               ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถมุ่งไปเทวโลก. พระเจ้าเนมิราช เมื่อเสด็จไปเทวโลก ทอดพระเนตรเห็นวิมานอันประดิษฐานอยู่ในอากาศของเทพธิดา นามว่าวรุณี มียอด ๕ ยอด แล้วไปด้วยแก้วมณี ใหญ่ ๑๒ โยชน์ ประดับด้วยอลังการทั้งปวง สมบูรณ์ด้วยอุทยานและสระโบกขรณี มีต้นกัลปพฤกษ์แวดล้อม และทอดพระเนตรเห็นเทพธิดานั้น นั่งอยู่เหนือหลังที่ไสยาสน์ภายในกูฏาคาร หมู่อัปสรพันหนึ่งแวดล้อม เปิดมณีสีหบัญชรแลดูภายนอก. จึงตรัสคาถาถามมาตลีเทพสารถี แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้พยากรณ์แด่พระองค์
               วิมาน ๕ ยอดนี้ปรากฏอยู่ เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ประดับดอกไม้ นั่งอยู่กลางที่ไสยาสน์ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ สถิตอยู่ในวิมานนั้น ความปลื้มใจปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพธิดานี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงได้ถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า ก็เทพธิดาที่พระองค์ทรงหมายถึงนั้น ชื่อวรุณี. เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นทาสี เกิดแต่ทาสีในเรือนของพราหมณ์. นางรู้แจ้งซึ่งแขก คือภิกษุผู้มีกาลอันถึงแล้ว นิมนต์ให้นั่งในเรือนของพราหมณ์ ยินดีต่อภิกษุนั้นเป็นนิตย์ ดังมารดายินดีต่อบุตร ผู้จากไปนานกลับมาถึงฉะนั้น. นางอังคาสภิกษุนั้นโดยเคารพ ได้ถวายสิ่งของของตนเล็กน้อย เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.
               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีได้ขับรถต่อไป แสดงวิมานทอง ๗ ของเทพบุตรชื่อโสณทินนะ. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานเหล่านั้น และสิริสมบัติของโสณทินนเทพบุตรนั้น จึงตรัสถามถึงกรรมที่เทพบุตรนั้นได้ทำไว้. แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
               วิมานทั้ง ๗ โชติช่วง อันบุญญานุภาพตกแต่งส่องแสงสว่างดั่งดวงอาทิตย์อ่อนๆ. เทพบุตรในวิมานนั้นมีฤทธิ์มาก ประดับด้วยสรรพาภรณ์ อันหมู่เทพธิดาแวดล้อม ผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่โดยรอบ ทั้ง ๗ วิมาน ความปลื้มใจปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่านเทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงได้ถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีชื่อ โสณทินนะ. เป็นทานบดี ให้สร้างวิหาร ๗ หลัง อุทิศต่อบรรพชิต. ได้ปฏิบัติบำรุง ภิกษุผู้อยู่ในวิหาร ๗ หลังนั้นโดยเคารพ ได้บริจาคผ้านุ่งผ้าห่ม ภัตตาหาร เสนาสนะ เครื่องประทีป ในท่านผู้ซื่อตรงด้วยจิตเลื่อมใส รักษาอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์ และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.
               ครั้นกล่าวกรรมของโสณทินนเทพบุตรอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถต่อไป แสดงวิมานแก้วผลึก วิมานแก้วผลึกนั้นสูง ๒๕ โยชน์ ประกอบด้วยเสาซึ่งแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการหลายร้อยต้น ประดับด้วยยอดหลายร้อยยอด ห้อยกระดิ่งเป็นแถวกรอบ มีธงที่แล้วด้วยทองและเงินปักไสว ประดับด้วยอุทยานและวนะวิจิตรด้วยบุปผชาตินานาชนิด ประกอบด้วยสระโบกขรณีน่ายินดี มีไพทีที่น่ารื่นรมย์ เกลื่อนไปด้วยอัปสร ผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้องและประโคม. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานแก้วผลึกนั้น มีพระหฤทัยยินดี. ตรัสถามถึงกุศลกรรมแห่งอัปสรเหล่านั้น. แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
               วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้วนี้ เกลื่อนไปด้วยหมู่อัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยยอด บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้อง เปล่งแสงสว่างจากฝาแก้วผลึก ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน อัปสรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า อัปสรเหล่านั้นเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ยินดีในทาน มีจิตเลื่อมใสเป็นนิตย์ ตั้งอยู่ในสัจจะ ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.
               ลำดับนั้น มาตลีเทพสารถีนั้นขับรถต่อไป แสดงวิมานแก้วมณีวิมานหนึ่งแด่พระเจ้าเนมิราช วิมานแก้วมณีนั้นประดิษฐานอยู่ในภูมิภาคที่ราบเรียบ สมบูรณ์ด้วยส่วนสูง เปล่งรัศมีดุจมณีบรรพต กึกก้องด้วยการฟ้อนรำขับร้องและประโคม เกลื่อนไปด้วยเทพบุตรเป็นอันมาก. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรเหล่านั้น แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
               วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งแล้วนี้ ประกอบด้วยภูมิภาคน่ารื่นรมย์ จัดสรรไว้เป็นส่วนๆ เปล่งแสงสว่างออกจากฝาแก้วไพฑูรย์. เสียงทิพย์ คือเสียงเปิงมาง เสียงตะโพน การฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี ย่อมเปล่งออก น่าฟัง เป็นที่รื่นรมย์ใจ. เราไม่รู้สึกว่าได้เห็น หรือได้ฟังเสียงอันเป็นไปอย่างนี้ อันไพเราะอย่างนี้ ในกาลก่อนเลย ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถามตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรเหล่านี้ เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นอุบาสกผู้มีศีล ได้ก่อสร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำและสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้เยือกเย็นโดยเคารพ ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย และเสนาสนะ ในท่านผู้ซื่อตรง ด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีนั้นทูลบอกกรรมของเทพบุตรเหล่านั้นแด่พระเจ้าเนมิราช ด้วยประการฉะนี้แล้ว ขับรถต่อไปแสดงวิมานแก้วผลึกอีกวิมานหนึ่ง วิมานแก้วผลึกนั้นประดับด้วยยอดมิใช่น้อย ประดับด้วยวนะรุ่น ซึ่งปกคลุมไปด้วยนานาบุปผชาติ แวดล้อมไปด้วยแม่น้ำมีน้ำใสสะอาด กึกก้องไปด้วยฝูงวิหคต่างๆ ส่งเสียงร้อง มีหมู่อัปสรแวดล้อม เป็นสถานที่อยู่ของเทพบุตร ผู้มีบุญองค์หนึ่งนั้นนั่นเอง. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานนั้น มีพระหฤทัยยินดี จึงตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรนั้น แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
               วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้วนี้ เกลื่อนไปด้วยหมู่อัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยเรือนยอดบริบูรณ์ ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ส่องแสงสว่างจากฝาแก้วผลึก มีแม่น้ำอันประกอบด้วย ไม้ดอกต่างๆ ล้อมรอบ ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีในกรุงมิถิลา เป็นทานบดี ได้สร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำ และสะพาน ได้ปฏิบัติบำรุงพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เยือกเย็นโดยธรรม ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัยและเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรง ด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์ และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงบันเทิงอยู่ในวิมาน.
               ครั้นทูลบอกกรรมที่เทพบุตรนั้นกระทำแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถต่อไป แสดงวิมานแก้วผลึก แม้อีกวิมานหนึ่งวิมานนั้นประกอบด้วยกอวนะรุ่น ซึ่งปกคลุมไปด้วยไม้ดอก ไม้ผลนานาชนิดยิ่งกว่าวิมานก่อน. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานนั้น จึงตรัสถามบุพกรรมของเทพบุตรผู้ประกอบด้วยสมบัตินั้น แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
               วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้วนี้ เกลื่อนไปด้วยอัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยยอด บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ส่องแสงสว่างออกจากฝาแก้วผลึก มีแม่น้ำอันประกอบด้วยไม้ดอกต่างๆ ล้อมรอบ และมีไม้เกด ไม้มะขวิด ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้ชมพู่ ไม้มะพลับ ไม้มะหาดเป็นอันมาก มีผลเป็นนิตย์ ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีในกรุงมิถิลา เป็นทานบดี ได้สร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำ และสะพาน ได้ปฏิบัติบำรุงพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เยือกเย็นโดยเคารพ ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย และเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงบันเทิงอยู่ในวิมาน.
               ครั้นทูลบอกกรรมที่เทพบุตรแม้นั้นกระทำแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถต่อไป แสดงวิมานแก้วไพฑูรย์อีกวิมานหนึ่ง เช่นกับวิมานก่อนนั่นแหละ พระเจ้าเนมิราชตรัสถามถึงกรรมที่เทพบุตรผู้เสวยทิพยสมบัติในวิมานนั้นกระทำ แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
               วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งแล้วนี้ ประกอบด้วยภูมิภาคน่ารื่นรมย์ จัดสรรไว้เป็นส่วนๆ เปล่งแสงสว่างออกจากฝาแก้วไพฑูรย์ เสียงทิพย์ คือเสียงเปิงมาง เสียงตะโพน การฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี ย่อมเปล่งออก น่าฟัง เป็นที่รื่นรมย์ใจ. เราไม่รู้สึกว่าได้เห็น หรือได้ฟังเสียงอันเป็นไปอย่างนี้ อันไพเราะอย่างนี้ ในกาลก่อนเลย ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีในกรุงพาราณสี เป็นทานบดี ได้ก่อสร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำ และสะพาน ได้ปฏิบัติบำรุงพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เยือกเย็นโดยเคารพ ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย และเสนาสนะ ในท่านผู้ซื่อตรง ด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีลอันประกอบ
               มาตลีเทพสารถีนั้นทูลบอกกุศลกรรมแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้ แล้วขับรถต่อไป แสดงวิมานทองซึ่งมีรัศมีเหมือนดวงอาทิตย์อ่อนๆ พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นสมบัติของเทพบุตรผู้อยู่ในวิมานทองนั้น มีพระหฤทัยยินดี จึงตรัสถามถึงกรรมที่เทพบุตรนั้นกระทำ แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ทูลบอกแด่พระองค์
               วิมานทองอันบุญญานุภาพตกแต่งดีนี้ สุกใส ดุจดวงอาทิตย์แรกอุทัย ดวงใหญ่สีแดงฉะนั้น ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นวิมานทองนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถามตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีอยู่ในกรุงสาวัตถี เป็นทานบดี ได้สร้างอาราม บ่อน้ำ สระน้ำและสะพาน ได้ปฏิบัติบำรุงพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เยือกเย็นโดยเคารพ ได้ถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย และเสนาสนะ ในท่านผู้ซื่อตรง ด้วยใจเลื่อมใส ได้รักษาอุโบสถศีล ประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ แห่งปักษ์ และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงบันเทิงอยู่ในวิมาน.
               ในเวลาที่มาตลีเทพสารถีทูลวิมาน ๘ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า มาตลีประพฤติช้าเกิน จึงส่งเทพบุตรผู้ว่องไว แม้อื่นอีกไปด้วยเทวบัญชาว่า ท่านจงไปบอกแก่มาตลีว่าท้าวสักกเทวราชเรียกหาท่าน. เทพบุตรนั้นไปโดยเร็ว แจ้งแก่มาตลีเทพให้ทราบ มาตลีเทพสารถีได้สดับคำแห่งเทพบุตรนั้น ดำริว่าบัดนี้เราไม่อาจจะชักช้า จึงแสดงวิมานเป็นอันมากพร้อมกันทีเดียว. พระเจ้าเนมิราชตรัสถามถึง กรรมของเหล่าเทพบุตรผู้เสวยทิพยสมบัติในวิมานนั้นๆ. มาตลีเทพสารถีได้ทูลบอกแล้ว
               วิมานทองเป็นอันมากเหล่านี้ อันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้ว ลอยอยู่ในนภากาศ ไพโรจน์โชติช่วง ดังสายฟ้าในระหว่างก้อนเมฆฉะนั้น. เทพบุตรทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มาก ประดับสรรพากรณ์ อันหมู่อัปสรห้อมล้อม ผลัดเปลี่ยนเวียนอยู่ในวิมานนั้นๆ โดยรอบ ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่านเทพบุตรเหล่านี้ได้ทำความดีอะไรไว้ จึงถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรเหล่านี้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีศรัทธาตั้งมั่นในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าให้รู้แจ้งแล้ว. ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา. ข้าแต่พระราชา ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสถานที่สถิตของเทพบุตรเหล่านั้นเถิด.
               มาตลีเทพสารถีนั้นแสดงวิมานที่ลอยอยู่ในอากาศ แด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว เมื่อจะกระทำอุตสาหะเพื่อเสด็จไป สำนักของท้าวสักกเทวราชจึงทูลว่า
               ข้าแต่มหาราชเจ้า สถานที่อยู่ของผู้มีกรรมลามกพระองค์ก็ทรงทราบแล้ว. อนึ่ง สถานที่สถิตของผู้มีกรรมอันงาม พระองค์ก็ทรงทราบแล้ว. ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราช ในบัดนี้เถิด.
               ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีก็ขับรถต่อไป แสดงสัตตปริภัณฑบรรพต ซึ่งตั้งล้อมสิเนรุราชบรรพต. พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นบรรพตเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามมาตลีเทพสารถีให้แจ้งชัด จึงตรัสว่า
               พระเจ้าเนมิมหาราชประทับอยู่บนทิพยาน อันเทียมม้าสินธพหนึ่งพันเสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นภูเขาทั้งหลายในระหว่างนทีสีทันดร. ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว ได้ตรัสถามเทพทูตมาตลีว่า ภูเขาเหล่านี้ชื่ออะไร.
               มาตลีเทพบุตรถูกพระเจ้าเนมิราชตรัสถามอย่างนี้แล้ว จึงทูลตอบว่า
               ภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ คือ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขากรวีกะ ภูเขาอิสินธระ ภูเขายุคันธระ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ และภูเขาอัสสกัณณะ. ภูเขาเหล่านี้สูงขึ้นไปโดยลำดับ อยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของท้าวจาตุมหาราช. ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า.
               มาตลีเทพสารถีแสดง เทวโลกชั้นจาตุมหาราชแด่พระเจ้าเนมิราชอย่างนี้แล้ว ขับรถต่อไป แสดงรูปเปรียบพระอินทร์ ซึ่งประดิษฐานล้อมซุ้มประตูจิตตกูฏแห่งดาวดึงสพิภพ. พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นทวารนั้นแล้วตรัสถาม แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์
               ประตูมีรูปต่างๆ รุ่งเรืองวิจิตรต่างๆ อันรูป เช่นรูปสักรินทรเทวราชแวดล้อมรักษาดีแล้ว ดุจป่าอันเสือโคร่งทั้งหลายรักษาดีแล้วฉะนั้น. ย่อมปรากฏความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นประตูนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน ประตูนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไร เป็นประตูที่น่ารื่นรมย์ใจ เห็นได้แต่ไกลทีเดียว.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า ประตูนี้เขาเรียกว่า จิตตกูฏ เป็นที่เสด็จเข้าออกของท้าวสักกเทวราช เพราะประตูนี้เป็นประตูแห่งเทพนคร ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสิเนรุราช อันงามน่าดูปรากฎอยู่ มีรูปต่างๆ รุ่งเรืองวิจิตรต่างๆ อันรูปเช่นรูปสักรินทรเทวราชแวดล้อมรักษาดีแล้ว ดุจป่าอันเสือโคร่งทั้งหลาย รักษาดีแล้วฉะนั้น ย่อมปรากฏ ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่. ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้ จงทรงเหยียบภูมิภาคอันราบรื่นเถิด.
               ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีได้เชิญพระเจ้าเนมิราช เสด็จเข้าเทพนคร เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               พระเจ้าเนมิมหาราชประทับอยู่บนทิพยาน อันเทียมม้าสินธพหนึ่งพัน เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้.
               พระเจ้าเนมิราชนั้นประทับอยู่บนทิพยานเสด็จไป ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภาชื่อ สุธรรมา จึงตรัสถามมาตลีเทพสารถี. มาตลีเทพสารถีแม้นั้น ก็ได้ทูลบอก
               วิมานอันบุญญานุภาพตกแต่งแล้วนี้ ส่องแสงสว่างจากฝาแก้วไพฑูรย์ ราวกะอากาศส่องแสงเขียวสด ปรากฏในสรทกาล ฉะนั้น. ความปลื้มใจย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นวิมานนี้. ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน วิมานนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไร.
               มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า วิมานนี้นั้นเป็นเทวสภา มีนามปรากฏว่าสุธรรมา ตามที่เรียกกัน รุ่งเรืองด้วยแก้วไพฑูรย์งามวิจิตร อันบุญญานุภาพตกแต่งดีแล้ว มีเสาทั้งหลาย ๘ เหลี่ยมทำไว้ดีแล้ว ล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ทุกๆ เสา รองรับไว้ เป็นที่ซึ่งเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมด มีพระอินทร์เป็นประมุข ประชุมกัน คิดประโยชน์ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ข้าแต่พระราชา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปสู่ ที่เป็นที่อนุโมทนาของเทวดาทั้งหลาย โดยทางนี้.
               ฝ่ายเทวดาทั้งหลายนั่งคอยพระเจ้าเนมิราชเสด็จมา. เทวดาเหล่านั้นได้ฟังว่า พระเจ้าเนมิราชเสด็จมาแล้ว ต่างก็ถือของหอม ธูป เครื่องอบและดอกไม้ทิพย์ ไปคอยอยู่ที่ทางจะเสด็จมา ตั้งแต่ซุ้มประตูจิตตกูฏ บูชาพระมหาสัตว์ด้วยของหอม และบุปผชาติเป็นต้น นำเสด็จสู่เทวสภาชื่อ สุธรรมา. พระเจ้าเนมิราชเสด็จลงจากรถเข้าสู่เทวสภา เทวดาทั้งหลายในที่นั้นเชิญเสด็จให้ประทับนั่งบนทิพยอาสน์. ท้าวสักกเทวราชเชิญเสด็จให้ประทับนั่งบนทิพยอาสน์ และเสวยทิพยกามสุข.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เทวดาทั้งหลายเห็น พระเจ้าเนมิราชเสด็จมาถึง ก็พากันยินดีต้อนรับว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว. อนึ่ง เสด็จมาแต่ไกลก็เหมือนใกล้ ข้าแต่พระราชา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญประทับนั่ง ในที่ใกล้ท้าวสักกเทวราช ณ บัดนี้เถิด.
               ท้าวสักกเทวราช ทรงยินดีต้อนรับพระองค์ผู้เป็นพระราชาแห่งชาววิเทหรัฐ ผู้ทรงสงเคราะห์ชาวกรุงมิถิลา ท้าววาสวเทวราชทรงเชื้อเชิญให้เสวยทิพยกามารมณ์ และประทับบนทิพยอาสน์ เป็นความดีแล้วที่พระองค์เสด็จมาถึงทิพยสถาน อันเป็นที่อยู่ของเทวดาทั้งหลาย ผู้ยังสิ่งที่ตนประสงค์ให้เป็นไปได้ตามอำนาจ. ขอเชิญประทับอยู่ในหมู่เทวดา ผู้สำเร็จด้วยทิพยกามทั้งมวล. ขอเชิญเสวยทิพยกามารมณ์ ในหมู่เทพเจ้าชาวดาวดึงส์เถิด.
               ท้าวสักกเทวราชเชิญเสด็จพระมหาสัตว์ให้เสวยทิพยกามารมณ์ และให้ประทับบนทิพยอาสน์อย่างนี้. พระเจ้าเนมิราชทรงสดับดังนั้น เมื่อจะดำรัสห้าม จึงตรัสว่า
               สิ่งใดที่ได้มาเพราะผู้อื่นให้ สิ่งนั้นเปรียบเหมือนยวดยาน หรือทรัพย์ที่ยืมเขามา ฉะนั้น. หม่อมฉันไม่ปรารถนาสิ่งซึ่งผู้อื่นให้. บุญทั้งหลายที่หม่อมฉันทำเอง ย่อมเป็นทรัพย์ที่จะติดตามหม่อมฉันไป. หม่อมฉันจักกลับไปทำกุศลให้มากในหมู่มนุษย์ ด้วยการบริจาคทาน การประพฤติสม่ำเสมอ ความสำรวม และการฝึกอินทรีย์ ซึ่งทำไว้แล้วจะได้ความสุข และไม่เดือดร้อนในภายหลัง.
               พระมหาสัตว์ทรงแสดงธรรมด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะแก่เทวดาทั้งหลายอย่างนี้. เมื่อทรงแสดงประทับอยู่ ๗ วัน โดยการนับในมนุษย์ ยังหมู่เทพเจ้าให้ยินดี ประทับอยู่ท่ามกลางหมู่เทวดานั่นเอง.
               เมื่อจะทรงพรรณนาคุณแห่งมาตลีเทพสารถี จึงตรัสว่า
               มาตลีเทพสารถีผู้เจริญ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่หม่อมฉัน ได้แสดงสถานที่อยู่ของผู้มีกรรมอันงาม และของผู้มีกรรมอันลามก แก่หม่อมฉัน.
               ลำดับนั้น พระเจ้าเนมิราชเชิญท้าวสักกเทวราชมาตรัสว่า ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันปรารถนาเพื่อกลับไปมนุษยโลก. ท้าวสักกเทวราชจึงมีเทวโองการสั่งมาตลีเทพสารถีว่า ท่านจงนำพระเจ้าเนมิราชเสด็จกลับไปในกรุงมิถิลานั้นอีก. มาตลีเทพสารถีรับเทวบัญชาแล้ว ได้จัดเทียมรถไว้. พระเจ้าเนมิราชทรงบันเทิงกับหมู่เทวดาแล้ว ยังเหล่าเทวดาให้กลับ. ตรัสอำลาแล้วเสด็จทรงรถ. มาตลีเทพสารถีขับรถไปถึงกรุงมิถิลา ทางทิศปราจีน มหาชนเห็นทิพยรถก็มีจิตบันเทิงว่า พระราชาของพวกเราเสด็จกลับแล้ว. มาตลีเทพสารถีทำประทักษิณกรุงมิถิลา ยังพระมหาสัตว์ให้เสด็จลง ที่สีหบัญชรนั้น แล้วทูลลากลับไปยังที่อยู่ของตนทีเดียว.
               ฝ่ายมหาชนก็แวดล้อมพระราชาทูลถามว่า เทวโลกเป็นเช่นไร พระเจ้าข้า. พระเจ้าเนมิราชทรงเล่าถึงสมบัติของเหล่าเทวดาและของท้าวสักกเทวราช. แล้วตรัสว่า แม้ท่านทั้งหลายก็จงทำบุญมีทานเป็นต้น ก็จักบังเกิดในเทวโลกนั้นเหมือนกัน. แล้วทรงแสดงธรรมแก่มหาชน.
               ครั้นกาลต่อมา พระมหาสัตว์เนมิราชนั้น เมื่อภูษามาลากราบทูล ความที่พระเกศาหงอกเกิดขึ้น จึงทรงให้ถอนพระศกหงอก ด้วยพระแหนบทองคำ วางในพระหัตถ์ ทอดพระเนตรเห็นพระศกหงอกนั้นแล้วสลดพระหฤทัย. พระราชทานบ้านส่วยแก่ภูษามาลา. มีพระราชประสงค์จะทรงผนวช จึงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส. เมื่อพระราชโอรสทูลถามว่า พระองค์จักทรงผนวช เพราะเหตุไร. เมื่อจะตรัสบอกเหตุแก่พระราชโอรส จึงตรัสคาถาว่า
               ผมหงอกที่งอกขึ้นบนเศียรของพ่อเหล่านี้ เกิดแล้วก็นำความหนุ่มไปเสีย เป็นเทวทูตปรากฏแล้ว สมัยนี้จึงเป็นคราวที่พ่อจะบวช.
               พระเจ้าเนมิราชตรัสคาถานี้แล้ว เป็นเหมือนพระราชาองค์ก่อนๆ ทรงผนวชแล้วประทับอยู่ ณ อัมพวันนั้นนั่นเอง. เจริญพรหมวิหาร ๔ มีฌานไม่เสื่อม ได้เป็นผู้บังเกิดในพรหมโลก.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงทำให้แจ้งซึ่งความที่พระเจ้าเนมิราชนั้นทรงผนวชแล้ว จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า
               พระเจ้าเนมิราชราชาแห่งแคว้นวิเทหะ ผู้ทรงอนุเคราะห์ชาวมิถิลา ตรัสคาถานี้แล้ว ทรงบูชายัญเป็นอันมาก ทรงเข้าถึงความเป็นผู้สำรวมแล้ว.
               ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าเนมิราชนั้น มีพระนามว่ากาลารัชชกะ ตัดวงศ์นั้น (คือเมื่อถึงคราวพระศกหงอกและทราบแล้ว หาทรงผนวชไม่).

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์. แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็ออกมหาภิเนษกรมณ์เหมือนกัน ตรัสฉะนี้แล้ว ทรงประกาศจตุราริยสัจ ประชุมชาดก.
               ท้าวสักกราชเทวราช ในครั้งนั้นมาเป็น ภิกษุชื่ออนุรุทธะ ในกาลนี้.
               มาตลีเทพสารถี เป็น ภิกษุชื่ออานนท์.
               กษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ เป็นพุทธบริษัท.
               ก็เนมิราช คือ เราผู้สัมมาพุทธะ นี่เองแล.

               ----------------------------------- 

 

คำสำคัญ (Tags): #เนมิราช
หมายเลขบันทึก: 717839เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2024 18:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2024 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท