ใช้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายใน เพื่อการพัฒนา


 

บันทึกนี้มาจากการสะท้อนคิดจากการประชุมของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่ฝ่ายบริหารนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการของสภามหาวิทยาลัย ว่าเมื่อคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายในให้ข้อเสนอแนะมาเป็นรายประเด็น เป็นข้อๆ ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยนำไปเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยว่า มีแผนดำเนินการพัฒนาคุณภาพตามข้อเสนอแนะอย่างไร    แล้วสภามหาวิทยาลัยสั่งการว่า ให้นำความคืบหน้าของการดำเนินการมารายงานต่อคณะอนุกรรมการชุดนี้ทุกๆ ๓ เดือน    โดยที่ผมเป็นกรรมการอยู่ในคณะอนุกรรมการชุดนี้ด้วย   จึงได้โอกาสสะท้อนคิดเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง    และนำมาแชร์ โดยไม่มั่นใจว่าข้อสะท้อนคิดของผมจะถูกต้องเหมาะสม   

ประเด็นแรกที่ผมบอกตัวเองคือ   โจทย์ที่ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ของมหาวิทยาลัย (สมมติว่าชื่อ มฮ.) แค่ไหน   ถ้าผมเป็นผู้บริหารผมจะเอาข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาปรุงเป็นโจทย์ใหม่ให้คม ชัด และสอดคล้อง (relevant) กับบริบทของ มฮ.   ที่ในสภาพของการปฏิบัติ แต่ละวิทยาเขตมีต้นทุน หรือสภาพปัจจุบันแตกต่างกัน   หากคิดหลักการและวิธีการแบบเหมารวมทั้งมหาวิทยาลัยจะไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ   

คิดเช่นนี้แล้ว ผมก็เกิดความคิดต่อว่า หากผมเป็นอธิการบดี หรือรองอธิการบดีที่มีหน้าที่รับผิดชอบ   ผมจะนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นไปจัด workshop กับรองอธิการบดีประจำวิทยาเขต (หรือผู้แทน)    เพื่อร่วมกันตีความโจทย์ ทำความเข้าใจระดับยุทธศาสตร์   แล้วให้แต่ละวิทยาเขตเสนอแผนการดำเนินการพัฒนาคุณภาพของวิทยาเขตในแต่ละประเด็นที่ตกลงกัน   รวมทั้งบอกความต้องการการสนับสนุนจากส่วนกลาง     นำมารวมเป็นแผนระดับมหาวิทยาลัย   

ที่สำคัญคือ ต้องมีตัววัดการดำเนินการ และผลที่เกิดขึ้น ทุกๆ ๓ เดือน    เพื่อนำมาเสนอต่อคณะอนุกรรมการ   

หัวใจสำคัญคือ ไม่ใช่ดำเนินการเพื่อสนอง คณะกรรมการประเมินคุณภาพภายใน    ไม่ใช่ดำเนินการเพื่อสนองสภามหาวิทยาลัย   และไม่ใช่ดำเนินการเพื่อสนองคณะอนุกรรมการที่สภามอบหมาย    แต่ดำเนินการเพื่อสร้างการพัฒนามหาวิทยาลัย ให้เป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพสูง       

ข้อเสนอของคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายใน เป็น means   ไม่ใช่ end    โดยที่ end คือ พัฒนาการของ มฮ.

ข้อนี้ มฮ. สอบผ่าน   คือเมื่อผมย้อนกลับไปอ่านเอกสารวาระการประชุมสภามหาวิทยาลัย    พบชัดเจนว่า คณะกรรมการประเมินคุณภาพภายในให้ข้อเสนอแนะไว้เป็นเรื่องๆ    แล้วทีมงานด้านวางแผนนำมาจัดทำข้อเสนอแผนพัฒนาคุณภาพเป็นข้อๆ รวม ๕ แผน    และมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการเอง    แต่ผมมองว่าข้อเสนอนั้นมีลักษณะเน้นหลักการ ไม่เน้นการปฏิบัติ   

นำสู่ ประเด็นที่ ๒ ของการสะท้อนคิด    ว่าเรื่องนี้ เราต้องการแผน หรือต้องการการปฏิบัติ และผลจากการปฏิบัติ   รายงานที่เอามาเสนอคณะอนุกรรมการในวันนี้ เป็นเรื่องแผน    และเน้นการดำเนินการที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย    ในขณะที่งานในภาคปฏิบัติส่วนใหญ่ทำที่ภาควิชา คณะ และวิทยาเขต    ผมจึงเกิดข้อสงสัยว่า เป้าหมายบางเรื่องอาจมีบางภาควิขา บางคณะ หรือบางวิทยาเขตทำได้ดีมากอยู่แล้ว    น่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษา จัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้   

ประเด็นสำคัญในเอกสารเสนอคือ ไม่มีข้อมูลสภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ในแต่ละเรื่อง   ข้อเสนอจึงลอยอยู่บนหลักการ ไม่อยู่บนฐานความเป็นจริงของ มฮ.      

ข้างบนนั้น เขียนก่อนการประชุม    ในการประชุม มีการนำเสนอตามเอกสารที่แจก   แต่เมื่อซักถามสู่การปฏิบัติ ก็พบว่า มฮ. มีการดำเนินการในลักษณะ policy implementation ตามแผนยุทธศาสตร์แต่ละข้อมากมาย แต่ไม่มีการนำมาเสนอ   จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้เตรียมเสนอเข้าใจผิด ว่าสิ่งที่ต้องเสนอคือ policy process    ในขณะที่กรรมการต้องการทราบไปถึง implementation  เพื่อคาดคะเนว่าน่าจะเกิด impact ที่ต้องการหรือไม่   

สิ่งที่เสนอเน้นการปฏิบัติของฝ่ายบริหารระดับมหาวิทยาลัย    ที่เมื่อซัก ว่ามีการนำไปปฏิบัติในระดับภาควิชา คณะ และวิทยาเขตแค่ไหน    ก็ได้รู้ว่ามีกลไกดำเนินการอยู่แล้ว    โดยที่มีการดำเนินการทั้ง bottom-up และ top-down action และ communication  แต่ทีมนำเสนอไม่คิดว่าเป็นประเด็นที่จะต้องเสนอ    ทำให้ผมได้สะท้อนคิดกับตนเองว่า   มนุษย์เราตกหลุมเอาใจใส่เฉพาะกิจกรรมรอบตัวเอง หรือของตนเอง    แทนที่จะมองทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จุดปฏิบัติ    การทำหน้าที่หนุนหรือ empower คนอื่นเป็นงานที่คิดถึงได้ยาก        

ประเด็นที่สาม ของข้อสะท้อนคิดของผมคือ หากผมเป็นผู้ปฏิบัติในเรื่องนี้ในระดับมหาวิทยาลัย    ผมจะอาศัยข้อแนะนำของคณะกรรมการประเมินภายนอก และคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย (หนุนด้วยคณะอนุกรรมการของสภา) เป็นข้ออ้างในการบริหารงานเชิงรุก   เพื่อสร้างพลัง synergy ของทุกส่วนของมหาวิทยาลัยในการประสานงานกันเพื่อยกระดับคุณภาพของผลงานส่วนที่เป็นเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม

สรุปว่า ผู้บริหาร มฮ. สามารถทำงานเชิงรุกด้านคุณภาพได้มากกว่านี้    ด้วยสไตล์การทำงานเชิง empowerment แก่ระดับปฏิบัติ 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.พ. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717769เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2024 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2024 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท