กกัณฏกชาดก


ว่าด้วยกิ้งก่าได้ทรัพย์ ไม่นอบน้อมเหมือนก่อน

กกัณฏกชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๑๐. กกัณฏกชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๗๐)

ว่าด้วยกิ้งก่าได้ทรัพย์

             (พระราชาทรงทอดพระเนตรกิริยาของกิ้งก่านั้นซึ่งไม่นอบน้อมเหมือนก่อน จึงตรัสถามว่า)

             [๓๙] กิ้งก่าบนยอดเสาค่ายตัวนี้ไม่ลงมาอ่อนน้อมเหมือนวันก่อน ท่านมโหสธบัณฑิต ท่านรู้ไหมว่า กิ้งก่ากลายเป็นสัตว์กระด้างกระเดื่องไปเพราะเหตุไร

             [๔๐] กิ้งก่าได้ทรัพย์กึ่งมาสกซึ่งตนไม่เคยได้มาก่อน จึงดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลา

กกัณฏกชาดกที่ ๑๐ จบ

สันถววรรคที่ ๒ จบ

-----------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

กกัณฏกชาดก

ว่าด้วย กกัณฏกชาดก

               กกัณฏกชาดกนี้ จักมีแจ้งใน มหาอุมมังคชาดก ดังนี้
               พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปพระราชอุทยานกับมโหสถบัณฑิต. กาลนั้น มีกิ้งก่าตัวหนึ่งอยู่ที่ปลายเสาค่าย. มันเห็นพระราชา เสด็จมาก็ลงจากเสาค่ายหมอบอยู่ที่พื้นดิน. พระราชาทอดพระเนตร เห็นกิริยาของกิ้งก่านั้น. จึงตรัสถามว่า แน่ะบัณฑิต กิ้งก่าตัวนี้ทำอะไร. มโหสถทูลตอบว่า กิ้งก่าตัวนี้ถวายตัว พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า การถวายตัวของกิ้งก่าอย่างนี้ ไม่มีผลก็หามิได้. ท่านจงให้โภคสมบัติแก่มัน. มโหสถกราบทูลว่า กิ้งก่านี้หาต้องการทรัพย์ไม่ ควรพระราชทานเพียงแต่ของกินก็พอ. ครั้นตรัสถามว่า มันกินอะไร. ทูลตอบว่า มันกินเนื้อ. แล้วตรัสซักถามว่า มันควรได้ราคาเท่าไร. ทูลว่า ราคาราวกากณึกหนึ่ง. จึงตรัสสั่งราชบุรุษหนึ่งว่า รางวัลของหลวง เพียงกากณึกหนึ่งไม่ควร. เจ้าจงนำเนื้อราคากึ่งมาสกมาให้มันกินเป็นนิตย์. ราชบุรุษรับพระราชโองการ ทำดังนั้นจำเดิมแต่นั้นมา. วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ คนไม่ฆ่าสัตว์. ราชบุรุษนั้นไม่ได้เนื้อ จึงเจาะเหรียญกึ่งมาสกนั้น เอาด้ายร้อยผูกเป็นเครื่องประดับที่คอมัน. ลำดับนั้น ความถือตัวก็เกิดขึ้นแก่กิ้งก่านั้น อาศัยมันมีกึ่งมาสกนั้น. วันนั้น พระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน. กิ้งก่านั้นเห็นพระราชาเสด็จมา. ก็ทำตนเสมอพระราชาด้วย เหมือนจะเข้าใจว่า พระองค์มีพระราชทรัพย์มากหรือ. ตัวเราก็มีมากเหมือนกัน ด้วยอำนาจความถือตัว อันอาศัยทรัพย์กึ่งมาสกนั้นเกิดขึ้น. ไม่ลงจากปลายเสาค่ายหมอบ ยกหัวร่อนอยู่ไปมาบนปลายเสาค่าย นั่นเอง. พระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรเห็น กิริยาของมัน. เมื่อจะตรัสถามว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต วันนี้ มันไม่ลงมาเหมือนในก่อน เหตุเป็นอย่างไรหรือ. จึงตรัสคาถานี้ว่า
               กิ้งก่านี้ไม่ลงจากปลายเสาค่ายหมอบเหมือนในก่อน เจ้าจงรู้กิ้งก่ากระด้างด้วยเหตุไร.
               ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตรู้ว่า ในวันอุโบสถ คนไม่ฆ่าสัตว์. มันอาศัยกึ่งมาสกที่ราชบุรุษผูกไว้ที่คอ เพราะหาเนื้อให้กินไม่ได้. ความถือตัวของ มันจึงเกิดขึ้น ดังนี้. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               กิ้งก่าได้กึ่งมาสกซึ่งไม่เคยได้ จึงดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงสงเคราะห์ชาวกรุงมิถิลา.
               พระราชาตรัสให้เรียกราชบุรุษนั้นมาตรัสถาม ก็ได้ความสมจริงดังนั้น ก็ทรงเลื่อมใสในพระโพธิสัตว์เกินเปรียบ. ด้วยเห็นว่า อัธยาศัยของกิ้งก่า มโหสถไม่ได้ถามอะไรๆ ก็รู้ได้ ดังพระสัพพัญญูพุทธเจ้ารู้อัธยาศัยเวไนยสัตว์ ฉะนั้น. จึงพระราชทานส่วยที่ประตูทั้ง ๔ แก่มโหสถบัณฑิต. แต่กริ้วกิ้งก่า ทรงปรารภจะให้ฆ่าเสีย. มโหสถทูลทัดทานพระราชาว่า ธรรมดาสัตว์ดิรัจฉานหาปัญญามิได้. ขอพระองค์โปรดยกโทษให้มันเถิด ขอเดชะ.
               จบ ปัญหากิ้งก่า
               จบอรรถกถากกัณฏกชาดกที่ ๑๐.
               จบ สันถวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------

 

คำสำคัญ (Tags): #มโหสถ
หมายเลขบันทึก: 717759เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2024 04:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2024 04:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท