ชีวิตที่พอเพียง  4689. ไปรับการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ที่ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 

กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จเปิด ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๗    ผมไปร่วมรับเสด็จด้วย ดังรูป   และเห็นโอกาสขอไปใช้บริการ    ขอให้คุณอ้อยแห่งสำนักงานสภามหาวิทยาลัยช่วยนัดไปตรวจสุขภาพผู้สูงอายุบ่ายวันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗    เพราะเช้าวันเสาร์ที่ ๑๗ มีการประชุมสภามหาวิทยาลัย   การตรวจใช้เวลาเกือบๆ ๒ ชั่วโมง   ผู้ให้บริการคือคุณแบ๊งค์ นักกายภาพบำบัดปริญญาโท   ผมได้ข้อมูลและคำแนะนำที่มีประโยชน์มากต่อการดูแลสุขภาพของตนเองในชีวิตประจำวัน     จึงนำมาเล่าต่อ    เพื่อผู้สูงอายุท่านอื่นจะได้ไปใช้บริการ 

การตรวจเน้นเพื่อหาข้อมูลแจ้งให้ปรับปรุงตนเองเพื่อป้องกันปัญหา ๓ ด้านคือ  (๑) การหกล้ม  (๒) การมีมวลกาย มวลกล้ามเนื้อ มวลไขมัน ในสัดส่วนที่ถูกต้องเหมาะสม  (๓) การมีท่ายืน เดิน ที่ถูกต้อง   

เครื่องมือตรวจแต่ละชิ้นล้ำสมัย  และราคาแพง   ผมถามท่านอธิการบดี ศ. ดร. นพ. พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ได้ความว่าเครื่องละหลายล้านบาท    ตัวที่ชื่อว่า Zebris แพงที่สุด    ตัวที่ชื่อ InBody สำหรับวัดดัชนีมวลกาย มวลไขมัน และมวลกล้ามเนื้อก็ราคาหลายล้าน       

เริ่มจากวัดการทรงตัวขณะยืนนิ่งๆ    แต่ให้ยืนแบบปลายเท้าชี้ตรง (ไม่เฉียง) เอาอีกท้าหนึ่งต่อเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า    ดูว่าทรงตัวอยู่ได้กี่วินาทีจึงเซ    พบว่าผมทำได้ไม่ดี    ตีความว่า โอกาสล้มขณะยืนมีได้สูง   

วัดกำลังกล้ามเนื้อด้านหลังขาอ่อน (hamstring muscle) พบว่า ด้านขวาแข็งแรกกว่ามาก (เพราะผมออกกำลังก่อนนอนทุกคืน)   ได้รับคำแนะนำวิธีออกกำลังกล้ามเนื้อหลังขาอ่อนทีเดียวทั้งสองข้างเพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง   

เครื่อง Inbody 270 มหัศจรรย์มาก   เขาวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนักแล้วกรอกเข้าเครื่อง    ให้เราขึ้นไปยืนเท้าเปล่าบนเครื่อง   มันบอกข้อมูลดัชนีมวลกาย (BMI – Body Mass Index)   มวลไขมัน   มวลกล้ามเนื้อง แยกขวาซ้ายได้เลย    กรณีไขมัน ก็แยกไขมันในกล้ามเนื้อกับไขมันในช่องท้อง ซึ่งของผมเกินทั้งสองแบบ   ผมถามคุณแบ๊งค์ว่าเครื่องวัดค่าต่างๆ ได้อย่างไร    ได้คำตอบว่า โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เข้าไปในตัวเราแล้ววัดกระแสไฟฟ้า นำมาคำนวณ   ผมไม่ทราบว่าเครื่องวัดได้แม่นแค่ไหน   แต่ผมก็ได้รับข้อมูลให้ปรับตัวแรงมาก   คือผมสูง ๑๗๐.๕ ซ.ม.  หนัก ๗๔.๒ กก.    ได้รับคำแนะนำให้ลดน้ำหนักลง ๑๐.๒ กก.   เหลือ ๖๔   ให้ลดไขมันในร่างกายลง ๑๓.๓ ก.ก.   และเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ๓.๑ ก.ก.           

วัดกำลังกล้ามเนื้อมือ โดยให้บีบเครื่องคล้ายมีสปริง ผมถนัดซ้าย แต่มือขวากลับมีแรงมากกว่า    ทั้งสองเข้าอยู่ในเกณฑ์ปกติ     

ใช้เครื่อง mobee med  วัดความโค้ง และความคด ของกระดูกสันหลัง   พบว่าของผมปกติทั้งสองอย่าง    แต่ mobee fit หาค่า  RoM score    พบว่า กล้ามเนื้อคอ highly limited โดยคุณแบ๊งค์บอกว่าไม่ต้องตกใจ คนแก่ก็ได้ค่าอย่างนี้เป็นปกติ    กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อขา slightly limited แปลผลว่าค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุโดยทั่วไป     เมื่อตรวจตรงไหน จะตามด้วยการฝึกท่าบริหารกล้ามเนื้อหรือกระดูกส่วนนั้นๆ   

ก่อนตรวจทางศูนย์ฯ ให้ลงทะเบียนและ add Line    ตรวจเสร็จเขาส่งท่า  (๑) ฝึกให้กระดูกสันหลังตรง    โดยให้ยืนพังกำแพงหรือผนังให้ศีรษะ ไหล่ และหลังส่วนล่าง ชิดกำแพง    ทำวันละ ๕ นาที  (๒) ท่ายืดกล้ามเนื้อคอและบ่า  (๓) ท่ายืดกล้ามเนื้ออก เพื่อลดอาการหลังค่อม  (๔) ท่ายืดกล้ามเนื้ออก  (๕) ท่าบริหารกระดูกสันหลังระดับอก  (๖) ท่าบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ท่านอนหงาย    เป็นการส่งท่าบริหารที่ได้ฝึกไปแล้ว ๑ ครั้ง    เพื่อให้นำไปปฏิบัติที่บ้าน อย่างสม่ำเสมอ   

เครื่อง Zebris medical แพงที่สุดใน ๓ เครื่อง  ให้รายงานท่ายืนและท่าเดินเร็ว    โดยผลของผมอยู่ในเกณฑ์สวยงาม    แต่ผมเดินลงน้ำหนักที่ส้นเท้ามากไปหน่อย ต้องฝึกปรับให้ลงน้ำหนักที่ส่วนหน้าของเท้ามากขึ้นหน่อย  รวมทั้งไม่แยกปลายเท้ามากนัก     

ผมได้แนวทางปรับปรุงสุขภาพหลายด้าน ในฐานะผู้สูงอายุ    เป็นความท้าทายว่าจะทำได้แค่ไหน

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.พ. ๖๗

สนามบินเชียงใหม่    ระหว่างรอเครื่องบินกลับกรุงเทพ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 717749เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2024 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2024 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท