[บันทึกที่ 6] การสะท้อนคิดและใคร่ครวญจากการฟังเรื่องการมโนราห์


จากการสนทนาในวง Retreat and Reflection เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรื่องราวของมโนราห์ยังวนเวียนอยู่ในใจของเราอยู่เลย ดู ๆ ไปแล้วเราน่าจะเป็นพวกเรียนรู้ได้ดีจากการนำเอาเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ มาบูรณาการเข้ากับทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ละมั้งเนี่ย 55555 (เดาเล่น ๆ แบบนั้นอะนะ)

ในวง Retreat and Reflection เริ่มต้นด้วยการที่พี่นุช (สมาชิกคนหนึ่งในวง และพักอาศัยอยู่ที่สงขลา) ได้มาเล่าให้ฟังถึงการเดินทางตามอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธุ์ไปล้อมวงพูดคุยเรื่องมโนราห์และการพลิกฟื้นชุมชนว่า ณ ตอนนี้มาคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจจะนำวิถีและพิธีกรรมแบบโนราห์ซึ่งเป็นนาฏกรรมชั้นสูงของทางภาคใต้ให้กลับมามีชีวิตชีวา สืบสาน และส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ๆ อีกครั้ง สิ่งที่พี่นุชเล่ามามันมีชีวิตและมีพลังมาก ๆ ก่อนที่อาจารย์ชัยวัฒน์จะเข้ามาเติมเรื่องของการลงไปใต้ครั้งนี้ว่า “การเรียนรู้ในการนำปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในมโนราห์มาปรับใช้กับการทำงานทางสังคม เป็นการฝึกการร่ายมนตร์สร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และการสนทนาให้ชีวิต อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนเองในวิถี Mentoring ไปในตัว”

สิ่งที่เราสนใจอย่างมากคือช่วงหนึ่งที่พี่นุชเล่าว่า “โนราห์จะมีช่วงที่ผู้รำเข้าไปใกล้ ๆ กับวงปี่พาทย์ เป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้คนดูได้รับรู้ว่า 'อย่าดูแค่โนราห์นะให้ฟังดนตรีด้วย” และอาจารย์ชัยวัฒน์เสริมต่อว่า “การที่โนราห์เข้าไปหาวงปี่พาทย์นี้เป็นเหมือนกับการย้ำเตือนให้เรานั้นสนใจกับเสียงดนตรีและสรรพสิ่งทั้งหลายรอบตัว เพื่อจะได้ร่ายรำไปอย่างสอดคล้องกับจังหวะของดนตรี หรือท่องทำนองแห่งชีวิตของเราเอง" ข้อความนี้ทำให้ผุดเรื่องราวต่าง ๆ มากมายขึ้นในหัวของเราเอง แต่ทิ้งท้ายก่อนจบวงเราได้บอกว่า “แม้ได้ฟังเรื่องโนราห์ของทางใต้ แต่เรามีภาพและเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมมากมายที่ผุดปรากฏขึ้นมาในใจ” แต่เนื่องด้วยตอนนั้นไม่อยากกินเวลาคนอื่นมาจึงไม่ได้เล่าอะไรออกไป งั้นก็ขอหยิบมาเล่าในบล็อกนี้เลยละกัน

เมื่อพูดถึงเรื่องจังหวะและการร่ายรำให้สอดคล้องไปกับจังหวะนั้น ทำให้เรานึกถึงมหรสพอย่างหนึ่งในสมัยโบราณที่เรียกว่า “รำสวด” หรือ “สวดคฤหัสถ์” ซึ่งเป็นมหรสพที่มีมาแต่โบราณ เป็นการสวดเลียนแบบพระ (จากหลักฐานพบว่าเดิมที่เดียวอาจจะเริ่มจากพระด้วยซ้ำไป) แต่มีความสนุกสนานเข้ามาปะปน เป็นมหสพที่จัดขึ้นเพื่อการอยู่เฝ้าศพและทำให้คนในงานศพคลายจากความโศกเศร้า การเล่น 1 คณะมี 4 คน เหมือนกับพระเวลาสวดพระอภิธรรมในงานศพ เริ่มต้นด้วยการว่าเนื้อพระธรรม ก่อนจะถ่ายลงด้วยเพลงไทยเดิมประเภทต่าง ๆ และจับเป็นเรื่องเป็นราวออกสิบสองภาษา (ออกเป็นชุดการแสดงภาษาต่าง ๆ เช่น ไทย มอญ ญวน จีน เป็นต้น)

สิ่งที่น่าสนใจของการสวดคฤหัสห์แต่โบราณนั้นไม่ได้มีเครื่องดนตรี ใช้ปากในการทำเสียงดนตรี และทั้งสี่คนที่เป็นผู้สวดนั้นต้องสามารถที่จะรับส่งและถ่ายทอดต่อเสียงและต่อเรื่องราวกันไปได้ ดังที่พระเวลาสวดอภิธรรมท่านสามารถถ่ายทอดและต่อเสียงกันไปได้อย่างไม่ขาดสาย และรู้ว่าจังหวะไหนต้องทอดสั้นทอดยาว หยุดหายใจ ตอนไหนควรขึ้น หรือตอนไหนควรจบ สิ่งเหล่านี้การฝึกเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือการที่ต้องฟัง สังเกต และสอดรับกับจังหวะต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันเราได้ยินกันมากในทฤษฎีต่าง ๆ ที่บอกให้พวกเรานั้นต้องเฝ้าสังเกต มีสติ และจับจังหวะของสรรพสิ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องอธิบายได้ยาก แต่ในวิถีโบราณกลับสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ไว้ได้อย่างคมคายและน่าอัศจรรย์

ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจคือเรื่องของการโฟกัส หรือการสนใจ หากใครที่ได้เรียนรู้เรื่องศิลปะการต่อสู้มาคงจะถูกสอนให้มองภาพกว้างและอย่ามองเฉพาะจุด เพราะไม่อย่างงั้นเราอาจจะเพลี่ยงพล้ำให้คูต่อสู้ได้ทุกเมื่อ แต่เรานั้นผู้ร้างราเรื่องราวนี้มานานมากก็ได้แต่ฟังมาแหละ 55555 (ถ้าเป็นตอนที่เรียนเทคควันโดอยู่น่าจะเข้าใจได้มากขึ้น) แต่การได้ฟังเรื่องโนราห์ทำให้เราคิดถึงตอนเด็ก ๆ ที่ได้ไปดูการแสดงหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ จำได้ว่าตอนนั้นเราสนุกมาก ๆ เลยกับการดู ไม่ใช่แค่ตัวที่หุ่นละครมามีปฏิสัมพันธ์กับคนดูเท่านั้นนะ แต่ตอนเขาแสดงเรื่องรามเกียรติ์บนเวทีก็สนุก ความเนิร์ดก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ทำให้เราสนุกคือ “การได้ดูภาพกว้างบนเวทีว่ามีอะไรเกิดขึ้น แสงสี ท่าทาง การแสดงของตัวละครต่าง ๆ เป็นอย่างไร เสียงดนตรีและจังหวะที่ใช้ บทรำ บทพูดที่ไพเราะ งดงามมันทำให้เราต้องมนตร์สะกดในการแสดงชุดนั้นไปเลย และเมื่อโตมาครั้งหนึ่งเคยนั่งดูโขนผ่าน Youtube ที่บ้านแล้วรู้สึกว่า ”เอ๊ะ… ทำไมวันนี้รู้สึกเบื่อการดูโขนนะ" มีทบทวนดี ๆ จึงพบว่าหูของเราไปจับอยู่ที่จังหวะและท่วงทำนองที่เนิบช้าของตัวนาง และใจที่อยากดูตลกโขนมากกว่า !!! มันเลยว่าให้เกิดความรู้สึกเบื่อขึ้นมาทันที

และสิ่งเหล่านี้แหละที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในพื้นที่การสนทนา… หลายครั้งที่เรามักเผลอพุ่งไปจับจ้องอยู่บางเรื่องราว วนเวียนอยู่กับบางความรู้สึก หรือใครบางคนทั้งในทางบวก ลบ และไม่บวกไม่ลบ จนทำให้เราไม่ได้อยู่ในปัจจุบันขณะจริง ๆ หรือกระทั่งเราพยายามจะดันให้บทสนทนานั้น ๆ ก้าวไปข้างหน้าตามที่เราต้องการ โดยที่ไม่ได้ดูบริบทแวดล้อมว่าเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้กรสร้างพื้นที่สนทนาติดขัดและมีปัญหา และหลายครั้งเหมือนกันที่เราไม่ได้รู้สึกตัวถึงเรื่องราวเหล่านั้นเลย หรือบางกระทั้งบางครั้งเราลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าความตั้งใจของการทำวงสนทนานี้คืออะไรกันแน่ เพราะหากขาดความตั้งใจแล้ว การเคลื่อนไปของวงสนทนาก็ไร้ทิศทางและอาจสร้างความงุนงงสงสัยให้กับสมาชิกได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าจะสร้างการสนทนาที่มีชีวิตชีวาการที่เราสามารถปรับโฟกัส ร่ายรำไปตามจังหวะ หรือการเคลื่อนไปข้างหน้าโดยมีความตั้งใจเป็นแกนในการหมุนนั้นจะช่วยในวงสนทนาเคลื่อนไปอย่างมีทิศทาง การมีสติรู้ตัวอยู่เป็นระยะช่วยให้เรากลับเข้ามา และสามารถประคับประคองวงสนทนาให้ไหลลื่นได้มากขึ้นด้วย

อีกประเด็นที่เราแอบเดาว่าพี่นุชน่าจะอินมาก ๆ กับเรื่องนี้ (ถ้าผิดของอภัยนะครับ) คือ ในวิถีของโนราห์จะมีคล้ายกับการบวชแบบโนราห์ที่ต้องถือศีล ๕ มีการตัดจุก และครอบเทริด ตอนพี่นุชแกเล่านี้ฟังน้ำเสียงแล้วแกมันเหมือนพบกับวิธีการดูแลเด็กและเยาวชนในรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นและห่างไกลจากอบายมุขได้ ซึ่งเราก็เห็นด้วยนะว่า “นี่เป็นวิถีและเรื่องที่ดีมาก ๆ เลย”

แต่มันก็ทำให้เราได้แอบคิดว่า… “เอ๊ะ… แล้วในวิถีวัฒนธรรมภาคอื่น ๆ มันมีไหมนะ” และในช่วงท้ายทายคุณยงยศ (สมาชิกอีกท่านในวง) พูดถึงเรื่องการครอบครูขึ้นมา มันทำให้แว้บได้คำตอบเลยว่า “ใช่… การครอบครูนี่แหละที่มันคล้ายกับวิถีโนราห์” เพราะจริง ๆ การครอบครูไม่ว่าครูโขน ละคร ดนตรี หรืออะไรก็ตามทีพิธีกรรมโบราณเหล่านี้หากคนที่ไม่เข้าใจและไม่เคยสัมผัสมาก่อนจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องอำนาจนิยมหรืองมงายไร้สาระ แต่หากเราลองวางใจเป็นกลาง มองเข้าไปให้ดี ๆ จะพบว่า “พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการที่ในศิษย์ทั้งหลายได้ระลึกไว้เสมอว่า… ครูและศิษย์นั้นแม้อยู่ในสถานะที่แต่ต่างกัน แต่เรานั้นอยู่ภายใต้สิ่งเดียวกันคือ ‘ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และคำสัญญา’ ที่จะนำสรรพวิชาความรู้ที่ได้รับมาไปส่งมอบและส่งต่อให้กับผู้คนเพื่อประโญชน์และความสุขแก่พวกเขา และการครอบครูนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า “เมื่อเรามีจิตใจที่เมตตาและเปิดรับ เราจะสามารถก้าวข้ามจากตัวตนอันคับแคบไปสู่ขุมปัญญาอันยิ่งใหญ่ภายในตนได้” และการครอบครูแต่โบราณทั้งผู้ครอบ (เจ้าพิธี) และผู้ถูกครอบนั้นจำเป็นที่จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นพื้นฐาน และประพฤติปฏิบัติตนตัวกฎเกณฑ์ของสำนักอย่างไม่ขาดตกบกพร่องอีกด้วย

ยังมีอีกมากมายที่ถูกเฝ้าเร้นเอาไว้ในเรื่องที่ดูลึกลับและงมงายกับสิ่งที่เรียกว่า “พืธีกรรม” แต่หากเราเรียนรู้และเข้าใจมันอย่างแท้จริงแล้ว “พิธีกรรม” นั้นเป็นเพียงสารตั้งต้นที่เราให้ตัวเราได้ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะขยายขอบเขตของจิตใจอันคับแคบ เปิดรับ เชื่อมโยง ประสาน และหลอมรวมกับจิตวิญญาณที่ใหญ่กว่า เพื่อการสร้างสรรค์ รับใช้ และประพฤติปฏิบัติในหนทางที่สูงขึ้นและเป็นประโยชน์ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่น่าเรียนรู้จากเรื่องศิลปะวัฒนธรรมเหล่านั้น ทั้งในเรื่องการสร้างความร่วมไม้ร่วมมือ (Collaboration) กับการแสดงหุ่นละครเล็ก หรือการทำงานกับตัวตน อารมณ์และความรู้สึกผ่านการละคร เรื่องราวเหล่านี้น่าสนใจมาก ๆ และถ้าเรามีโอกาสได้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องราวเหล่านี้แล้วพบอะไรที่สนใจคงได้มาเขียนเล่าให้ฟังอีกนะ

เขียนมาถึงตรงนี้ก็แค่อยากบอกว่า “ดีใจจัง… ที่ได้เรียนรู้กับพี่ ๆ ในวง Retreat and Reflection และดีใจมาก ๆ ที่สิ่งที่เราเคยเข้าใจในตัวเด็ก ๆ นั้นมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระอย่างที่เราคิดจริง ๆ ด้วย ทั้งในเรื่องเทพปกรณัม ศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาต่าง ๆ เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ และเราก็พยายามที่จะฝึกปฏิบัติต่อไป ขณะเดียวกัน… แม้เราตั้งชื่อบันทึกนี้ด้วยคำว่าโนราห์ แต่จริง ๆ มันคือการใช้ศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ มาบวกกับทฤษฎีสมัยใหม่เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองและดูแลผู้คนไปเรื่อย ๆ เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้เรารู้อย่างหนึ่งชัดเจนขึ้นมาว่า 'การเราทำวงสนทนากับเด็ก ๆ ได้ง่ายกว่าวงผู้ใหญ่เพราะ เราไม่เคยรู้สึกว่าต้องพิสูจน์อะไรกับเด็ก ๆ และเด็ก ๆ ก็ไม่ต้องพิสูจน์อะไรกับเรา เขาเป็นเขา เขาเก่ง และสวยงามอยู่แล้ว เราเพียงแต่เป็นผู้สังเกตการณ์ ผู้ให้ข้อมูล แนะนำ และสนับสนุนเขาก็เท่านั้นเอง แต่กลับผู้ใหญ่นั้นเรารู้สึกต่างออกไป อื้ม… พัฒนาตัวเองต่อไป 55555”

หมายเลขบันทึก: 717484เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2024 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2024 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท