[บันทึกที่ 4] สะท้อนคิดจากการทดลองทำตามคำสอนของเหลาจื่อ


เมื่อความเศร้าโศกหรือวิตกกังวลมาเยือน ขอเพียงมีสติ ตระหนักรู้ และโอบรับความรู้สึกเหล่านั้นไว้ มันจะช่วยให้เธอเติบโตและผลิบาน นี่คือบทสรุปของบทของบทความและการสะท้อนคิดครั้งนี้ที่ฉันอยากจะบันทึกเอาไว้ และหยิบมันเอามาไว้ในย่อหน้าแรกสุดนี้เลยเพราะฉันคิดว่านี่คือบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ฉันได้พบเจอมาจากประสบการณ์เมื่อคืนนี้ แน่นอน… ฉันไม่ได้เพียงมาเขียนแค่ย่อยหน้าเดียวแล้วจากไปแน่ ๆ เพราะฉันเองก็อยากเล่าความรู้สึก ความคิด และข้อค้นพบของฉันไว้ในนี้เหมือนกัน

ก่อนอื่นเลยฉันอยากขอบคุณวง Zentangle ของครูยงยศที่นำพาให้ฉันได้รู้จักกับคำสอนนี้ของเหลาจื่อ เราได้พูดคุยและแบ่งปันมุมมองพร้อมวาดภาพกันด้วยความสุข สนุกสนาน และอบอุ่น อีกคนที่ฉันอยากขอบคุณมากเป็นพิเศษ คือ พี่หมอตี๋ ที่ต้องขอบคุณมาก ๆ ก็เพราะจริง ๆ ฉันเพียงตั้งใจจะออกแบบคำถามเพื่อชวนให้พี่ตี๋ได้ลองย้อนมองเรื่องราวในช่วงเดือนที่ผ่านก็เท่านั้น แต่เมื่อออกแบบเสร็จและได้ลองเขียนเอง ฉันจึงได้พบประสบการณ์พิเศษนี้

หลายครั้งเหมือนกันนะที่ในชีวิตของฉันเวลาย้อนกลับไปมองเรื่องราวในอดีต ฉันมักจะมองเห็นแต่เรื่องไม่น่าพอใจเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่แปลกหรอกเพราะนั่นคือ กลไกการทำงานของสมองมนุษย์หละ สมองมักส่งเรื่องราวที่ไม่น่าจำจด หรือเรื่องราวลบ ๆ มาให้ได้เกิดความรู้สึกวุ่นวายใจ หงุดหงิด และรำคาญอยู่เสมอ ๆ นั่นก็เพราะมันกำลังทำหน้าที่ปกป้องเราจากภัยอันตรายยังไงหละ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลาย ๆ เมื่อเรานึกถึงอดีตจึงมีแต่เรื่องน่าปวดหัว (แต่ก็มีนะที่เราคิดถึงเรื่องดี ๆ แต่อาจไม่บ่อยเท่าก็แค่นั้น) และในอีกด้านการคิดถึงอนาคตก็ไม่ต่างกัน เมื่อเรายังมองไม่เห็นความเป็นจริงสมองก็จะนำให้เราคิดลบก่อนเสมอ ใช่… และสิ่งนี้ก็เกิดกับฉันด้วย และฉันเกิดก็คิดว่าฉันเป็นคนหนึ่งเลยหละที่มีความสามารถในการคิดลบได้กับทุกเรื่อง ทุกอย่าง และทุกเวลา 55555

เอาและมาดูกันว่าเมื่อคืนนี้มันก็อะไรขึ้นกับตัวฉันบ้าง ?

อย่างที่บอกฉันแค่ตั้งใจจะออกแบบคำถามง่าย ๆ 5 ข้อที่เชิญชวนได้ลองกลับไปสำรวจในช่วงเดือนที่ผ่านมีมีอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง อะไรเป็นสาเหตุ มีมุมมอง ความคิด และความรู้สึกอะไรที่สำคัญเกิดขึ้นกับตัวเราบ้าง แต่เนื่องจากฉันเรียนรู้มาว่าการออกแบบคำถามนี้จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก หากชวนให้พวกเขาสามารถเล่าเรื่องราวของเขาออกมาได้ ฉันจึงคิดและทำแบบนั้น แต่เนื่องจากเราไม่ได้คุยกันผ่านเสียงและตอบทันทีผ่านโทรศัพ์ เราจะส่งคำถามนี้ผ่านข้อความ แต่เลยคิดว่างั้นเราลองเขียนตอบเป็นเพื่อนแกหน่อยดีกว่า เราเลยตัดสินใจที่จะเขียนเป็น “บันทึกที่ 3” ลงในบล็อกนี้เมื่อคืนนี้

ในระหว่างการเขียนฉันค่อย ๆ ค่อยพิมพ์และอ่านคำถามอย่างช้า ๆ และตั้งใจ จากนั้นค่อย ๆ ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเดือนที่ผ่านมาและค่อย ๆ พิมพ์เพื่อตอบคำถามไปทีละข้อ การตอบคำถามในข้อแรก ช่วยทำให้ฉันเห็นความมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และช่วยให้ฉันเห็นตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น

การตอบคำถามข้อที่สองมันช่วยให้ฉันเห็นว่าการทำงานในช่วงเดือนที่ผ่านเป็นอย่างไร ในงานที่สำเร็จ ฉันทำมันด้วยความรู้สึกแบบไหน อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันเกิดขึ้น และในทางตรงข้ามงานที่ไม่สำเร็จ ฉันก็ได้พบว่าอะไรคืออุปสรรคและความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ สิ่งที่ต้องปรับปรุงและทำเพิ่มเติมมีอะไร

การตอบคำถามข้อที่สาม เป็นการประมวลเอาข้อตอบจากข้อที่สอง มาเขียนในชัดเจนมากยิ่งขึ้น

คำถามข้อที่สี่… นี่เป็นคำถามที่สำคัญกับเรา เพราะมันเหมือนเปิดโอกาสให้เราได้ย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์นั้นและลองมองเรื่องราวนั้นอีกทีว่ามีอะไรน่าเก็บเกี่ยว มีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง มีความคิด ความรู้สึกอะไรที่เกิดกับตัวเราบ้าง ตรงนี้แหละที่สำคัญ อย่างที่เหลาจื่อและที่เราเขียนไว้ในตอนต้น หากเราย้อนมองกลับไปและปล่อยให้ตัวเองดำดิ่งและจมลงไปกับเรื่องราว ปัญหา หรือห้วงอารมณ์นั้น ๆ การย้อนกลับไปครั้งนี้มันก็เป็นเหมือนกันการกระโดดลงไปในหลุมพรางอีกครั้ง ไม่มีมากหรือน้อยอย่างไรก็ได้บาดแผลกลับมาแน่นอน ซึ่งนั้นคงไม่ใช่เป้าหมายของการสะท้อนคิด (Reflection) สำหรับเราแล้วการสะท้อนคิด (Reflection) คือการย้อนมองกลับไปในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตในฐานะผู้ดู หรือเป็นนักสำรวจที่สวมเครื่องป้องกันตัวลงไปสำรวจหลุมพราวเก่าที่เราเคยตกลงไป เครื่องป้องกันในที่นี้อย่างแรกคือ “สติ” เรารู้ตัวอยู่เสมอว่าเราเข้าไปหาในฐานะผู้ดู ไม่ใช่ผู้เล่น และทุกความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นเราทำหน้าที่เพียงรับรู้ และรับฟัง เราจะไม่มองไปที่ความรู้สึกอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราจะมองถึงบริบทรอบข้างที่ทำให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น เหมือนที่เราได้ดูคลิปวิดิโอ ละคร หรือภาพยนตร์สักเรื่อง และที่สำคัญก็คือเราจะไม่เอาความรู้สึก ณ ตอนนี้เข้าไปปะปนกับความรู้สึกในตอนนั้น ซึ่งนี้แหละเป็นเรื่องที่เราจำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องฝึกฝนกันอย่างเข้มข้น

ในการบันทึกคำตอบในข้อที่สี่นี้ สำหรับเรามันมีทั้งเรื่องราว ความรู้สึก และความอัดอึดตันใจบางอย่างปะปนมาด้วย ซึ่งเราอาจไม่ปลอดภัยพพอที่จะเขียนลงในพื้นที่สาธารณะ แต่อีกมุมหนึ่งก็รู้สึกถึงความยังไม่อยากจะสนใจที่จะเข้าไปวุ่นวายกับความเจ็บปวดนั้นด้วย (ข้อสังเกตจากการเขียนใน Diary ของตัวเองด้วยอะนะ) มันเลยเห็นได้ชัดว่าคำถามข้อนี้เป็นคำถามที่ทำให้เราได้ทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ และได้สำรวจตัวเองอย่างเข้มข้นมากเช่นกัน

และคำถามข้อที่ห้า คำถามข้อสุดท้ายเป็นคำถามที่เราได้ออกแบบมาเพื่อให้บอกกล่าวและชื่มชมตัวเอง คำถามข้อนี้แหละที่มีผลต่อหัวใจ (Impact) เรามากที่สุด เพราะปกติเราไม่ค่อยได้ชื่นชมตัวเองมากเท่าไหร่ แต่พอเมื่อคืนนี้ได้ลองตอบคำถาม 4 ข้อไปแล้ว และมาเขียนคำตอบข้อที่ 5 มันรู้สึกอบอุ่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนมีใครสักคนที่มองเห็น เป็นกำลังใจ เดินอยู่ข้าง ๆ และร่วมแสดงความยินดี เป็นห่วงเป็นใย รับรู้ทุกความรู้สึกและความเคลื่อนไหวของตัวเราอยู่เสมอ และเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้เลยได้ชมตัวเองอย่างจริง ๆ จัง ๆ มันทำให้รู้สึกว่าหัวใจของเรามันฟูเอามาก ๆ มันได้รับการเติมเต็ม และได้รับการเยียวยาแบบสุด ๆ ไปเลย 55555

นี่แหละคือประสบการณ์ที่ฉันได้พบมาเมื่อคินนี้… ในชีวิตของคนเรา มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะสงบนิ่งอยู่กับปัจจุบันขณะได้ตลอดเวลา (หากไม่ใช่ผู้ที่ฝึกฝนสภาวะจิตใจมาอย่างเข้มข้น หรือที่ในทางพุทธเราเรียกว่าระดับพระอรหันต์) มันมีบ้างที่เราจะกระโดดไปอดีตบ้าง อนาคตบ้าง คิดเรื่องดีบ้าง เรื่องร้ายบ้าง สุขบ้าง เศร้าบ้างปะปนกันไปเรื่อยเปื่อยในแต่ละวัน แต่เราสามารถที่จะฝึกให้รับค่อย ๆ รู้ตัวว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไร คิดอะไร รู้สึกอะไรอยู่ได้ และเมื่อมีความรู้สึกใด ๆ เกิดขึ้นมา เราก็รับรู้ สังเกต ยอมรับ อยู่ร่วม จนเขาจากไปตามธรรมชาติ แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่พิมพ์อยู่ตอนนี้หรอก เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องฝึกและต้องฝึกซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ จนชำนาญ และเมื่อชำนาญมากพอเธอก็จะพบความผลิบานและความงดงามภายในหัวใจของเธอได้เอง

ฉันเองก็อยู่ในขั้นของผู้ฝึกตน บันทึกนี้ก็เขียนเพื่อให้ตัวเองเห็นและเรียนรู้ถึงประสบการณ์นั้น ๆ เก็บไว้เป็นความรู้เฉพาะของตัวเอง และสนุกกับโลกและการใช้ชีวิตประจำวันไปเรื่อย ๆ ก็เท่านั้น นี่แหละการฝึกปฏิบัติตามคำสอนของเหลาจื่อในแบบของฉัน และบันทึกการเรียนรู้เรื่องการสะท้อนคิด (Reflection) ที่เพื่อการเติบโตของฉันด้วย

หมายเลขบันทึก: 717233เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2024 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2024 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท