เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ


การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๑๔. พุทธวรรค

หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖

 

๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ

เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ

             (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)

             [๑๘๓] การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว (การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว หมายถึงการทำจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากนิวรณ์ ๕ ประการ) นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

             [๑๘๔] ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

             [๑๘๕] การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความสำรวมในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต (อธิจิต ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ รวมถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาด้วย) นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

-------------------

คำอธิบายนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา

ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔

               ๔. เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ                
                              

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภปัญหาของพระอานนทเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้.


               กาลแห่งพระพุทธเจ้าต่างกัน แต่คำสอนเหมือนกัน               

               ได้ยินว่า พระเถระนั่งในที่พักกลางวัน คิดว่า "พระศาสดาตรัสบอกเหตุแห่งพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ทุกอย่าง คือ พระชนนีและพระชนก การกำหนดพระชนมายุ ไม้เป็นที่ตรัสรู้ สาวกสันนิบาต อัครสาวก อุปัฏฐาก, แต่อุโบสถมิได้ตรัสบอกไว้ อุโบสถแห่งพระพุทธเจ้าแม้เหล่านั้นเหมือนอย่างนี้ หรือเป็นอย่างอื่น."
               ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แล้วทูลถามเนื้อความนั้น. ก็เพราะความแตกต่างแห่งกาลแห่งพระพุทธเจ้าเหล่านั้นเท่านั้น ได้มีแล้ว ความแตกต่างแห่งคาถาไม่มี
               ด้วยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงกระทำอุโบสถในทุกๆ ๗ ปี, เพราะพระโอวาทที่พระองค์ประทานแล้วในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ ๗ ปี,
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขีและเวสสภู ทรงกระทำอุโบสถในทุกๆ ๖ ปี, (เพราะพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงประทานในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ ๖ ปี)
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะและโกนาคมนะ ได้ทรงกระทำอุโบสถทุกๆ ปี, (เพราะพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์นั้นทรงประทานในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ปีหนึ่งๆ);
               พระกัสสปทสพล ได้ทรงกระทำอุโบสถทุกๆ ๖ เดือน เพราะพระโอวาทที่พระองค์ทรงประทานในวันหนึ่ง พอไปได้ ๖ เดือน; ฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสความแตกต่างกันแห่งกาลนี้ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ส่วนโอวาทคาถาของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นอย่างนี้นี่แหละ" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงกระทำอุโบสถแห่งพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ซึ่งเป็นอันเดียวกันทั้งนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

          สพฺพปาปสฺส อกรณํ                กุสลสฺสูปสมฺปทา

          สจิตฺตปริโยทปนํ                    เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.

          ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา            นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

          น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี           สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต.

          อนูปวาโท อนูปฆาโต              ปาติโมกฺเข จ สํวโร

          มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ            ปนฺตญฺจ สยนาสนํ

          อธิจิตฺเต จ อาโยโค                 เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.

          ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม, ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ. ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ ความประกอบโดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต ๑ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

 

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่ อกุศลกรรมทุกชนิด.
               การยังกุศลให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ออกบวชจนถึงพระอรหัตมรรค และการยังกุศลที่ตนให้เกิดขึ้นแล้วให้เจริญ ชื่อว่า อุปสมฺปทา.
               การยังจิตของตนให้ผ่องใสจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่า สจิตฺตปริโยทปนํ.
               บาทพระคาถาว่า เอตํ พุทฺธานสาสนํ โดยอรรถว่า นี้เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์.
               บทว่า ขนฺติ ความว่า ขึ้นชื่อว่าความอดทน กล่าวคือ ความอดกลั้นนี้ เป็นตบะอย่างยอดยิ่ง คืออย่างสูงสุดในพระศาสนานี้.
               บาทพระคาถาว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ความว่า พุทธบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนี้ คือ พระพุทธะจำพวก ๑ พระปัจเจกพุทธะจำพวก ๑ พระอนุพุทธะจำพวก ๑ ย่อมกล่าวพระนิพพานว่า "เป็นธรรมชาติอันสูงสุด."
               บทว่า น หิ ปพฺพชิโต โดยความว่า บุคคลผู้ที่ล้างผลาญบีบคั้นสัตว์อื่นอยู่ ด้วยเครื่องประหารต่างๆ มีฝ่ามือเป็นต้น ชื่อว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต.
               บทว่า สมโณ ความว่า บุคคลผู้ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะด้วยเหมือนกัน.
               การไม่ติเตียนเอง และการไม่ยังผู้อื่นให้ติเตียน ชื่อว่า อนูปวาโท.
               การไม่ทำร้ายเอง และการไม่ใช้ผู้อื่นให้ทำร้าย ชื่อว่า อนูปฆาโต.
               บทว่า ปาติโมกฺเข ได้แก่ ศีลที่เป็นประธาน.
               การปิด ชื่อว่า สํวโร. ความเป็นผู้รู้จักพอดี คือความรู้จักประมาณ ชื่อว่า มตฺตญฺญุตา.
               บทว่า ปนฺตํ ได้แก่ เงียบ.
               บทว่า อธิจิตฺเต ความว่า ในจิตอันยิ่ง กล่าวคือจิตที่สหรคตด้วยสมาบัติ ๘. การกระทำความเพียร ชื่อว่า อาโยโค.
               บทว่า เอตํ ความว่า นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์.
               ก็ในพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศีลอันเป็นไปทางวาจาด้วยอนูปวาท.
               ตรัสศีลอันเป็นไปทางกาย ด้วยอนูปฆาต.
               ตรัสปาติโมกขสีลกับอินทริยสังวรสีล ด้วยคำนี้ว่า ปาติโมกฺเข จ สํวโร.
               ตรัสอาชีวปาริสุทธิสีลและปัจจัยสันนิสิตสีล ด้วยมัตตัญญุตา,
               ตรัสเสนาสนะอันสัปปายะ ด้วยปันตเสนาสนะ,
               ตรัสสมาบัติ ๘ ด้วยอธิจิต.
               ด้วยประการนี้ สิกขาแม้ทั้ง ๓ ย่อมเป็นอันพระองค์ตรัสแล้วด้วยพระคาถานี้ทีเดียว ฉะนี้แล.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ฉะนี้แล.

 

               เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------    

 

คำสำคัญ (Tags): #พระอานนทเถระ
หมายเลขบันทึก: 714554เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2023 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2023 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท