พระราชนิพนธ์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖


"แม้นชาติย่อยยับอับจน 
บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร"

พระราชนิพนธ์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖

พระองค์ทรงพระราชปรีชาญาณแห่งความเป็นพระมหาธรีราช หรือพระมหากษัตริย์นักปราชญ์ในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญที่สุดพระองค์หนึ่ง ในการก่อตั้งชุมชนไทยขึ้นเป็นชาติไทย หรือ ประชาชาติไทย (Thai Nation) 

ต่อเนื่องจาก รัชกาลที่ ๔ และ รัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะคือการเปลี่ยนธงชาติไทย จากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์ พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยต่อชาติไทยอย่างลึกซึ้งเพียงใด ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์อันมากหลาย ทั้งบทร้อยแก้วและบทร้อยกรอง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายอยู่แล้ว และจินตภาพของพระราชนิพนธ์ ได้ปรากฏเป็นจริงมากขึ้นทุกวัน ดังที่ได้ยกตัวอย่าง ในยามวิกฤตของบ้านเมืองในวันนี้

"แม้นชาติย่อยยับอับจน 

บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร"

ฟังดูแล้วธรรมดาๆใครๆก็รู้กันอยู่แล้วว่า ถ้าชาติย่อยยับอับจนแต่ละคนจะมีความสุขอยู่ได้อย่างไร ไม่น่าจะต้องเอามาสอนกันเลย ยิ่งคนไทยเป็นชนชาติที่ฉลาดอยู่แล้ว เรื่องอย่างนี้จะไม่รู้ได้อย่างไร แต่ความจริงมีอยู่ว่า ในบรรดาคนฉลาดนั่นแหละ ในบางเวลา ในบางสภาวการณ์ และในบางหมู่เหล่า ความฉลาดของคนเหล่านั้นอาจจะวิปริตไปได้ 
ดั่งสุภาษิตของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า

    " วินาสกาเล วิปรึตพุทธิ 
      ในกาลวินาศ  ความฉลาดก็วิปริต "

คนเหล่านั้น  ไม่ใช่ไม่มีการศึกษา ไม่ใช่ไม่มีความรู้  ไม่ใช่เป็นคนโง่ คนเหล่านั้นเป็นคนฉลาด แต่ความฉลาดของเขาวิปริตไป จึงวินาศ ทั้งๆที่ฉลาด 
ผมขอยกตัวอย่าง เช่น สมัยเมื่อพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ผู้ปกครองล้วนเป็นผู้มีความรู้ดี เป็นคนฉลาดทั้งสิ้น  แต่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งกลับไม่รู้ว่า ในขณะนั้นบ้านเมืองกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่างไร จึงทำให้กรุงแตกเสียง่ายๆ อย่างคำกลอนของท่านสุนทรภู่ได้ว่าไว้ เมื่อท่านได้ไปเห็นซากของ กรุงศรีอยุธยา ว่า

" กำแพงรอบขอบคูดูก็ลึก 
ไม่น่าศึกพม่าจะมาได้ 
ปล่อยให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย 
ดูกระไรเหมือนบุรีไม่มีชาย "

นี่คือตัวอย่างของ ความฉลาดวิปริต

แบบเดียวกันกับกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยนี้ เต็มไปด้วยนักวิชาการและนักการเมืองที่ฉลาดปราดเปรื่อง แต่ความฉลาดของคนเรานั้น ส่วนหนึ่งวิปริตไปมากทีเดียว  ทำไมในหลวง รัชกาลที่ ๖  พระองค์ท่านถึงกับทรงต้อง ยกเอาเรื่องธรรมดาๆ เรื่องง่ายๆ มาสั่งสอนคนไทย บางหมู่ บางเหล่าถึงขนาดนี้ คงจะเป็นด้วยเหตุที่ทรงทอดพระเนตรเห็นการณ์ไกลว่า

ในกาลข้างหน้า จะมีนักการเมืองและนักวิชาการส่วนหนึ่ง  ที่กุมอำนาจการปกครอง มองไม่เห็นภัยของชาติ ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า เพราะความฉลาดของเขาวิปริตไปเหมือนผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ กลอนคำนี้ เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน ซึ่งชาติไทย ยังอยู่ห่างไกลจาก " ความย่อยยับอับจน " แต่ก็จะทรงทราบด้วย พระปรีชาญาณ ล่วงหน้าว่า จะถึงเข้าสักวันหนึ่ง และเมื่อถึงวันนั้น คนส่วนหนึ่งก็จะยังมองไม่เห็น  และถึงจะมองเห็น ก็ไม่รู้ว่า ความย่อยยับอับจนนั้น จะเกี่ยวข้องอะไรกับตน

อาจารย์ วันชัย พรหมภา บรรยาย

ไพบูลย์ สถาปนาวิสุทธิ์ เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 714504เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2023 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2023 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท