ชีวิตที่พอเพียง 4552. คนดีวันละคน  รศ. นพ. ยงชัย นิละนนท์  ผู้สร้าง ‘ชีวิตที่ปราศจากโรคหลอดเลือดสมอง’


 

มีคนส่งต่อๆ กันมา ดังนี้ 

รองศาสตราจารย์​ นายแพทย์ยงชัย​ นิละนนท์

ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช

“ผมเรียนจบแพทย์เฉพาะทางจากแคนาดาปี 2548 แล้วกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ดูแลเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่ศิริราช ผมเริ่มจากทำวิจัยว่าคนไทยได้รับการดูแลโรคนี้ดีแค่ไหน สำรวจทั่วประเทศเลย พบว่ายังทำได้ไม่ค่อยดี คนไข้ได้แอดมิทแค่ 25% ได้ยาสลายลิ่มเลือดที่ 3.4% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 20%    เราสำรวจด้วยว่าผลการรักษาเป็นยังไง คนเดินกลับบ้านได้เองและหายใกล้เคียงปกติมี 25% อีก 70% พิการ และ 5% เสียชีวิต ปัญหามาจากความล่าช้า    คนเป็นสโตรคไม่ค่อยเจ็บปวด คนทั่วไปเลยไม่มองว่าฉุกเฉิน ทำให้มาถึงโรงพยาบาลช้า รวมทั้งการรักษาในโรงพยาบาลก็ช้าด้วย

“ตอนนั้นผมพยายามสร้างช่องทางเร่งด่วนขึ้นมา ถ้าคนไข้มาด้วยอาการแบบนี้ อยู่ในวินโดว์ที่ให้ยาสลายลิ่มเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือดได้ เราจะเปิดทางโล่ง    คุณไม่ต้องไปต่อคิวเลย คนไข้สโตรคถือว่าฉุกเฉิน    คนส่วนใหญ่ในเมืองนอกจะโทรเรียกรถฉุกเฉิน แต่คนในบ้านเรามาด้วยรถฉุกเฉินน้อยมาก เพราะติดอยู่กับคำว่าไปเองดีกว่า ทั้งที่คุณโทรเรียกรถเบอร์ 1669 ก็ได้ สมัยนั้นจากประตูไปจนถึงได้ฉีดยา (Door to Needle Time) บอกว่าไม่ควรเกิน 60 นาที ของศิริราชคือ 90 นาที พอผมได้เป็นคนดูแลสโตรคทั้งหมด ก็เข้าไปวางระบบให้ขั้นตอนต่างๆ ทำงานได้รวดเร็วขึ้น จนเหลือ 50 นาที 

“เวลาผ่านไปก็เกิดศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช (Siriraj Stroke Center) เมื่อ 15 กรกฎาคม 2558 การเป็นศูนย์จะช่วยให้มีอำนาจในการทำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เป้าหมายของศูนย์ฯ คือ ‘ชีวิตที่ปราศจากโรคหลอดเลือดสมอง’ (A life without Stroke) สโตรคเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อย 1 ใน 6 คนมีโอกาสเป็นโรคนี้ สิ่งทำได้คือ ‘ป้องกัน’ และ ‘รักษา’ ถ้าป้องกันได้ดีโรคนี้จะไม่เกิด แต่ถ้าเป็นแล้ว การรักษาต้องทำให้เร็วที่สุด ทำให้ความพิการเหลือน้อยที่สุด ศูนย์ฯ พยายามพัฒนาช่องทางเร่งด่วนมากขึ้นอีก จนตอนหลังก็เหลือแค่ 30 นาที ถือว่าน้อยมากนะ และศิริราชทำเวลานี้มาได้ 5 ปีแล้วด้วย

“ในเมื่อความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญของสโตรค เราเลยคิดถึงการทำให้เร็วขึ้นอีก เลยเกิดเป็นรถ Mobile Stroke Unit เหมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่เลย มี CT Scan แล็บเจาะตรวจ เครื่องช็อคหัวใจ ยาที่จำเป็น และระบบปรึกษาทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คนไข้โทรไป 1669 แล้วเจ้าหน้าที่จะตาม 2 อย่าง คือ ตามรถพยาบาลปกติไปรับผู้ป่วยที่บ้าน แล้วตามรถของเรา รถทั้งสองคันจะมาเจอกันที่จุดนัดพบ เหตุผลที่ทำแบบนี้คือ รถของเราคันค่อนข้างใหญ่ บางครั้งก็เข้าตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ ไม่ได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรถพยาบาลปกติมีทักษะในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ดีกว่าเราด้วย รถคันนี้ทำเวลาเหลือแค่ 18 นาที

“เราให้บริการด้วยรถ Mobile Stroke Unit ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2561 ปัจจุบันมีคนไข้ใช้บริการรถคันนี้เกิน 1,400 ราย เราเก็บข้อมูลคนไข้ 3 กลุ่ม คือ คนไข้ที่เดินทางมาเอง คนไข้ที่เรียก 1669 แล้วใช้รถพยาบาลปกติมา และคนไข้ที่ใช้รถคันนี้ นอกจากเวลาสั้นกว่ากันชัดเจน คนที่มาด้วยรถคันนี้มีโอกาสได้รับยาหรือการเปิดหลอดเลือดด้วยใช้สายสวนมากกว่าถึง 3 เท่า และโอกาสหายมากกว่า 2 เท่า รถของเรามีขอบเขตให้บริการอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธน และนนทบุรี ปัจจุบันมี 6 คันที่ให้บริการแล้วในหลายจังหวัด ราคารถคันละ 30-35 ล้าน งบได้มาจากการบริจาค ผมหวังว่าผู้มีอำนาจจะมองเห็นปัญหา ถ้าประเมินแล้วคุ้มก็หวังว่าจะเกิดการขยาย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

“แน่นอนว่าการรักษาให้เร็วเป็นเรื่องดี แต่สำคัญกว่านั้นคือการป้องกัน   10 อย่างที่ทำแล้วป้องกันได้ 90% คือ 4 โรค 6 พฤติกรรม – 4 โรค คือ ความดันสูง โรคเบาหวาน ไขมันสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ คุณต้องรักษาให้ถึงเป้าหมาย    และ 6 พฤติกรรมคือ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เครียด ไม่อ้วน กินผักเยอะๆ และออกกำลังกาย    เป็นเรื่องที่ทำไม่ยากเลย บางคนไม่รู้ แต่บางคนรู้แล้วไม่ทำ สิ่งที่ศูนย์ฯ ทำคือให้ความรู้ประชาชนในทุกช่องทาง ขณะเดียวกัน เราจัดงานวิ่งด้วย ครั้งนี้คือ ‘แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต เฉลิมพระเกียรติ’ ครั้งที่ 9 เป้าหมายคือต้องการให้คนตระหนักเรื่องป้องกัน เพื่อไปสู่ชีวิตที่ปราศจากโรคหลอดเลือดสมอง

“หนึ่งในเครื่องหล่อเลี้ยงใจของแพทย์ คือความปิติ คนไข้ที่รู้สึกดีจากการช่วยเหลือของเรา และได้รับประโยชน์จากการมีรถคันนี้ มันก็ให้กำลังใจเราด้วย ผมมองว่าเป็นผลของการร่วมมือของทีม เรามองภาพเดียวกัน เจออุปสรรคระหว่างทางเต็มไปหมด ไม่ใช่แค่ทำรถให้ดี แต่ต้องคิดเรื่องขั้นตอนการรักษาด้วย มีหลายคนไม่เห็นด้วย   บางคนมองว่างานในโรงพยาบาลก็หนักอยู่แล้ว ทำไมไม่เอาเวลามาทำงานในโรงพยาบาลให้ดี   บางคนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง สำหรับผม ถือเป็นบทเรียนอีกบทเลยนะ เรากำลังทำสิ่งใหม่ แต่ก็ดุ่ยๆ ไปต่อด้วยความเชื่อมั่นและความบ้า

“ถ้าประชาชนพร้อมใจกันดูแลตัวเอง ภาระงานของระบบสาธารณสุขจะน้อยลงมาก บุคลากรจะได้ไปทำเรื่องอื่น เช่น ทำเรื่องสุขภาพสมองให้ดีขึ้น ทุกวันนี้หลายคนอายุไม่เท่าไรก็เป็นสโตรค บางคนต้องกลายเป็นคนพิการ แล้วครอบครัวจะไปเหลืออะไร ต้องบอกว่า 10 อย่างในการป้องกันเป็นความรู้พื้นฐาน แต่หลายคนยังไม่ทำ ไลฟ์โค้ชบอกว่า ‘ทำแบบนี้สิ ชีวิตของคุณจะประสบความสำเร็จ’ แต่เราไม่มีสโตรคโค้ช ถ้าให้ผมเป็นคนบอก ‘อนาคตของคุณขึ้นกับร่างกายและสมอง ถ้าคุณดูแลตัวเองให้ดี ร่างกายที่ดีและสมองที่ดีจะช่วยให้คุณได้ประกอบอาชีพตามฝันนะ’ นั่นคือสิ่งที่คุณได้ให้กับตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน มันคือสุดยอดปรารถนาของคนเป็นหมอเช่นกัน”

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0335ykyDrj8AGKAmrN2hPhxbcYnRVDjkPUUeLVoTipqQqjyyUCJhBCYo6VzGpyKUe8l&id=100044573823321

วิจารณ์ พานิช

๒ ส.ค. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 714405เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2023 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2023 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Salute to รศ. นพ. ยงชัย นิละนนท์
What an exemplary role model!

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท