เก็บตกในบางมุมมอง (พิธีไหว้ครูชมรมรุ่นสัมพันธ์)


ผมไม่กังขาเลยว่า พวกเขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างบ้างแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องทักษะทางสังคม (Soft skills) เช่น ทักษะการบริหารโครงการ – บริหารงาน-บริหารคน ทักษะของการออกแบบ ทักษะการลื่อสารสร้างสรรค์ ทักษะการประสานงาน ทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทักษะของการอยู่ร่วม ทักษะของการทำงานในบริบทสถานการณ์จริงที่ต้องปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่น

การจัดโครงการ “พิธีไหว้ครูชมรมรุ่นสัมพันธ์ ปีการศึกษา 2565” ของชมรมรุ่นสัมพันธ์  เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565  ณ ห้องประชุม 1 อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงอยู่บ้างเหมือนกัน 

 

 

โครงการดังกล่าวนี้จัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์หลักๆ  ที่ประกอบด้วย 1) เพื่อให้นิสิตได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กร หรือที่ปรึกษาชมรมฯ  2) เพื่อเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม

 

 

ประเด็นแรก คือการแสดงความรักความเคารพ –ความกตัญญูต่ออาจารย์ที่ปรึกษาชมรม ซึ่งนับว่าสำคัญไม่ใช่ย่อย เพราะยึดโยงอยู่กับวิธีคิดตามครรลองวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่เราเชื่อว่า “ศิษย์ได้ดี เพราะมีครู” 

ทว่าครูในมิตินี้  ไม่ใช่ครูในวิชาชีพ-ในหลักสูตร หากแต่เป็นครูที่คอยให้คำปรึกษา แนะนำ และกำกับดูแลการดำเนินงานด้านกิจกรรมนอกหลักสูตรของนิสิต

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังหมายถึงการเป็นครูที่ต้องทำหน้าที่ “ยืมเงินทดรองจ่าย” ให้นิสิตไปจัดกิจกรรม ทั้งเพื่อการพัฒนานิสิตและการพัฒนาสังคม –

 

หรือเรียกรวมๆ ก็คือ ความเป็นครูมีทั้งที่ต้อง “รับผิด” และ “รับชอบ” ในทุกกระบวนความที่องค์กรได้ก่อให้เกิดขึ้นนั่นเอง

 



ส่วนประเด็นที่สอง ถึงแม้จะโปรยถ้อยคำว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับอาจารย์ที่ปรึกษา  แต่จริงๆ ก็รวมความถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตกับนิสิต และระหว่างนิสิตกับรุ่นพี่- หรือแม้กระทั่งนิสิตกับศิษย์เก่าด้วยเช่นกัน

 

กระบวนการเช่นนี้  สะท้อนถึงการยืนยันว่า ความเป็นองค์กรนั้นมี “รากเหง้า”  มี “องค์ความรู้”  มี “พี่มีน้อง”  มีระบบและกลไกการ “สอนงานสร้างทีม” เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรเป็นสำคัญ

 




 

ทั้งสองประเด็น มองในภาพรวมๆ ก็เหมาะสมที่จะมีกิจกรรมในทำนองนี้ขึ้นในแต่ละปีการศึกษา เพียงแต่ต้องทำการบ้านให้มากขึ้นว่ารูปแบบกิจกรรมควรเน้นหนัก หรือให้ค่าน้ำหนักเช่นใด เพราะนอกเหนือจากการแสดงความเคารพรักต่ออาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรแล้ว  ประเด็นของการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยอย่างไร – 

ในมุมของผม  ประเด็นนี้ควรต้องลงให้ลึก


 

โดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากให้มีการต่อยอดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงลึกให้มากกว่าการพบปะให้โอวาทโดยอาจารย์ที่ปรึกษา หรือแม้แต่ศิษย์เก่าและรุ่นพี่  แล้วจบด้วยการล้อมวงรับประทานอาหารในแบบ “กินข้าวฮวมพา กินปลาฮวมปิ้ง”

 

ผมอยากเห็นเวทีการสะท้อนความคิดร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม  ไม่ว่าจะเป็นมิติการเรียน การใช้ชีวิต การจัดกิจกรรม และนั่นอาจรวมถึงประเด็นทางสังคมที่นิสิตควรรับรู้และเรียนรู้ – 

เช่นเดียวกับการเชิญศิษย์เก่ามาถ่ายทอดประสบการณ์เชิงลึกให้น้องนิสิตได้รับรู้  พร้อมๆ กับการบอกเล่าเรื่องราวในแต่ละยุคสมัยให้รุ่นน้องฟัง แล้วขมวดเป็นการเรียนรู้ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน


 



 

อีกประเด็นที่ผมมองว่าควรหยิบจับขึ้นมาสื่อสารให้ชัดๆ  ก็คือ การสะท้อนข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ของชมรมรุ่นสัมพันธ์ ทั้งในมิติการจัดตั้ง / ปรัชญา / กิจกรรม ฯลฯ   เพราะนี่คือการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกใหม่ได้เข้าใจในวัฒนธรรมของชมรม  รวมถึงการชวนให้สมาชิกเดิมๆ ได้ร่วมทบทวนร่องรอยการเดินทางขององค์กรไปในตัว

 

กรณีดังกล่าว  ผมมองว่านิสิตสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ  อาทิเช่น  นิทรรศการ  แจกเอกสาร สไลด์  เวทีบอกเล่า เวทีเสวนา ถ่ายทอดผ่านบทเพลง ถ่ายทอดผ่านละคร  หรืออื่นๆ ที่นิสิตสามารถออกแบบด้วยตนเอง โดยกระบวนการทั้งหมดไม่ใช่แค่ช่วยประชาสัมพันธ์องค์กรให้รู้จักในวงกว้างมากขึ้น  แต่ยังหมายถึงการช่วยให้คณะกรรมการบริหารชมรมได้ทบทวนตัวเองว่ารู้จักองค์กรของตนเองมากน้อยแค่ไหน

 

ถ้าทำได้ กระบวนการที่ว่านั้นย่อมหมายถึงการ SWOT ตัวตนขององค์กรด้วยเช่นกัน

 


ท้ายที่สุดนี้ ผมยืนยันว่า โครงการ “พิธีไหว้ครูชมรมรุ่นสัมพันธ์” เป็นกิจกรรมอันดีงาม ทรงคุณค่าและควรต่อการสืบสานไว้อย่างไม่ต้องสงสัย  เพียงแต่อยากชวนให้นิสิตลองยกระดับกิจกรรมให้เด่นชัดมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา  ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมก็เข้าใจว่าสองปีที่ประสบกับโควิด   ทำให้สายธารการเรียนรู้บางอย่างเจือจางและหล่นหาย-ไปบ้าง  นิสิตแกนนำจึงอาจปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ยากพอตัว

กระนั้น่ก็คงไม่สายเกินไป  หากจะลองทบทวนอีกรอบ 

 

ในทำนองเดียวกัน  ในส่วนของมหาวิทยาลัย ก็คงต้องทบทวนตัวเองเกี่ยวกับระบบของการดุแลอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิตให้เป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน  จะมีวิธีการหนุนเสริม หรือเชิดชูอย่างไรบ้าง  ตรงนี้ก็จำต้องหยิบจับมาพิจารณาใหม่อย่างเร่งด่วน

 

 

ผมยืนยันว่า โครงการดังกล่าว เป็นกิจกรรมอันดีงาม – อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ควรต้องสานต่อ  อะไรที่พอจะปรับแต่งยกระดับได้ก็ต้องเปิดใจที่จะปั้นแต่ง-ขยายผล

 

ส่วนที่นิสิตแกนนำที่ขับเคลื่อนโครงการนี้  ผมไม่กังขาเลยว่า พวกเขาได้เริ่มเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างบ้างแล้ว  โดยเฉพาะในเรื่องทักษะทางสังคม (Soft skills)  เช่น ทักษะการบริหารโครงการ – บริหารงาน-บริหารคน ทักษะของการออกแบบ  ทักษะการลื่อสารสร้างสรรค์ ทักษะการประสานงาน ทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทักษะของการอยู่ร่วมกันในสังคม  ทักษะของการทำงานในบริบทสถานการณ์จริงที่ต้องปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่น ฯลฯ

เพียงแต่นิสิตแต่ละคน ใครจะตกผลึกช้า หรือเร็วไปกว่ากันเท่านั้นเอง  เพราะแต่ละคนต่างมีต้นทุนที่ต่างกัน


ชื่นชม – และให้กำลังใจ นะครับ

 

……………………………………….

เรื่อง  : พนัส  ปรีวาสนา
ภาพ  : ชมรมรุ่นสัมพันธ์

 

หมายเลขบันทึก: 706007เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2022 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2022 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท