ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๔๓. สมองตื่นรู้ เปี่ยมพลัง 


 

หนังสือ The Awakened Brain : The New Science of Spirituality and Our Quest for an Inspired Life (2021) เขียนโดนศาสตราจารย์ Lisa Miller ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและจิตวิญญาณแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสังกัดทั้งคณะแพทยศาสตร์และคณะครุศาสตร์    บอกสาระที่ได้จากงานวิจัย และจากการปฏิบัติจิตภาวนาของผู้เขียนเอง   ว่าการฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณช่วยให้สุขภาพดี   

สาระในหนังสือเต็มไปด้วยผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของสมอง   ผลงานวิจัยในคู่แฝดบอกว่ามนุษย์เกิดมาพร้มกับธรรมชาติด้านจิตวิญญาณ (spirituality)    โดยขึ้นกับพันธุกรรมร้อยละ ๒๑  ขึ้นกับประสบการณ์ชีวิตร้อยละ ๗๙   

สมองของคนที่มีสมรรถนะทางจิตวิญญาณสูง จะมีความหนาของเปลือกสมองส่วนหน้ามากกว่าคนที่สมรรถนะต่ำ   

สมรรถนะทางจิตวิญญาณ ทำให้บุคคลนั้นมีความเชื่อมโยงออกภายนอกตน ไปยังสิ่งที่มีคุณค่าหรือพลังสูงส่ง   ช่วย ให้มีจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็ง   ป้องกันโรตซึมเศร้า (depression) ได้    โดยที่ประสบการณ์เผชิญความเครียดและซึมเศร้าแล้วเอาชนะได้ (มักเป็นช่วงวันรุ่น) จะช่วยให้เปลือกสมองส่วนหน้ามีความหนา    และผจญความไม่ราบรื่นในชีวิตได้ดี    ดังนั้นประวัติซึมเศร้าจึงไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญาณความก่อนแอของจิตใจของผู้นั้นเสมอไป   

เขาบอกว่า คนที่มีสมรรถนะทางจิตวิญญาณสูง กับคนเสี่ยงสูงต่อโรคซึมเศร้า ต่างก็มีเปลือกสมองส่วนหน้าที่หนากว่าปกติเช่นเดียวกัน    จึงสรุปว่า ความมีสมรรถนะทางจิตวิญญาณสูง กับความเสี่ยงสูงต่อโรคซึมเศร้าจึงเป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกัน   

คนมีสมรรถนะทางจิตวิญญาณ มี “สมองตื่นรู้” (awakened brain)    คนมีสมองตื่นรู้จะมีความสามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่น สิ่งอื่น และโลก ได้ดี    มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์บอกว่า สมองมนุษย์ที่ตื่นรู้สามารถเชื่อมโยงกันได้   ในลักษณะคล้าย “โทรจิต”    โดยวัดคลื่นสมอง พบว่าอยู่ในสภาพที่เหมือนกัน คล้ายหิ่งห้อยที่อยู่บนต้นไม้ต้นเดียวกันกระพริบจังหวะเดียวกัน ที่เขาเรียกว่า เกิดสภาพ “ประสาน” (synchronization - sync) กัน   เกิดการสื่อสารจากใจถึงใจกันได้โดยไม่รู้ตัว      

ผู้มีสมองตื่นรู้ จึงมีความสามารถรับรู้การสื่อสารจากโลกโดยรอบได้ดี    และสามารถรับเอาพลังธรรมชาติจากภายนอกมาใช้สร้างสรรค์ได้    หรือเอามาช่วยให้เห็นโอกาสดีๆ ในชีวิต    ในวัฒนธรรมไทยเรากล่าวว่า ช่วยให้สมหวัง   

ผู้เขียนสรุปจากประสบการณ์ชีวิตของตนเองว่า ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณช่วยลด “จิตมุ่งผลสำเร็จ” (achieving mind)  เพิ่ม “จิตตื่นรู้” (awakened mind)  โดยเขาค้นพบว่า ระหว่างที่บุคคลเล่าประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของตน สมอง ๓ ส่วนจะทำงาน   คือ fronto-temporal network  (เชื่อมโยงกับความรัก), parietal lobe (เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน)  และ ventral attention network (เกี่ยวข้องกับความรู้สึกว่าเชื่อมโยงกับโลก สื่อสารกับโลกได้)      

จะเห็นว่า สมองตื่นรู้ เป็นสมองที่ลด “ตัวตน”    เพราะมีพลังเชื่อมโยงกับความเป็นทั้งหมด     และเห็นคุณค่าของผู้อื่น และสรรพสิ่งในโลกและจักรวาล   เป็นจิตที่ยิ่งใหญ่           

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ม.ค. ๖๕

 

 

 

  

หมายเลขบันทึก: 697046เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2022 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2022 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท