เก็บตกสัมมนาผู้นำนิสิต : BAR


ผมเชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกว่า คำถามเช่นนี้ เป็นคำถามง่ายๆ เป็นคำถามตามครรลอง หรือธรรมเนียมนิยมของการจัดอบรมสัมมนา หรือจัดการเรียนรู้อยู่แล้ว และอาจคาดเดาล่วงหน้าได้ว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “คงตอบกลับมาไม่ต่างจากครั้งก่อนๆ”

กว่าจะจัดโครงการ “สัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2564” ขึ้นมาได้ก็ใช้เวลามากโข เพราะสาเหตุหลายประการ แต่หลักๆ คือรอให้มีการประกาศแต่งตั้งชมรมและกลุ่มนิสิตใหม่อย่างเป็นทางการ และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 

โดยเฉพาะประเด็นหลังนั้นทรงอิทธิพลมาก ทำให้ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก - รอแล้วรออีก เพราะต้องการจัดในมิติ “ออนไซด์” มากกว่า “ออนไลน์” 

 

ในระยะเตรียมการ ทั้งผมและทีมงานได้ตระเตรียมกระบวนการบนฐานคิดของ “การมีส่วนร่วม” ของ “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” (ผู้นำนิสิต/ผู้นำองค์กรนิสิต) มาเป็นระยะๆ ยกตัวอย่างเช่น ประชุมหารือในประเด็นสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นวันเวลา สถานที่ รูปแบบกิจกรรม ประเด็นที่มีความสนใจ สัดส่วนของผู้เข้าร่วมงาน 

 

นอกจากนั้นยังสำรวจออนไลน์ถึงประเด็นเอกสารว่าผู้นิสิตประสงค์จะให้จัดทำเป็นรูปเล่มแจกจ่าย หรือแขวนไฟล์ให้ดาวน์โหลดตามนโยบายผู้บริหาร ที่ต้องการลดต้นทุนการผลิตเอกสารประกอบการเรียนรู้  ซึ่งผลการโหวตของผู้นำนิสิตก็ชี้ชัดว่า “ต้องการทั้ง 2 รูปแบบ” นั่นคือ ทั้งเอกสารที่เป็นเล่มและไฟล์การดาวน์โหลด แต่จนแล้วจนรอด เมื่อเสนอขออนุมัติประเด็นการผลิตเอกสารก็ไม่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ – 

 

การจัดสัมมนาครั้งนี้ ผมเริ่มทยอยส่งเอกสารบางประเด็นให้ผู้นำองค์กรนิสิตอ่าน หรือทำความเข้าใจล่วงหน้าเป็นระยะๆ บางเรื่องใช้เวลาล่วงหน้า 2-3 วัน บางเรื่องใช้เวลาส่งให้อ่านล่วงหน้า 1 วัน โดยส่งผ่านเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากร เพื่อให้ติดตามหนุนเสริมผู้นำองค์กรนิสิตไปในตัว หรือแม้แต่การกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ได้ตื่นตัวในการที่จะขับเคลื่อนกิจกรรม พร้อมๆ กับการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ได้ทบทวนชุดความรู้ในตัวเอง ไปพร้อมๆ กับ 

 

การสัมมนาผู้นำนิสิตในครั้งนี้ จัดขึ้น 2 วันผ่านระบบออนไลน์ ณ อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (วันที่ 18-19 กันยายน 2564) ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมายหลัก 175 คน กลุ่มแรกจัดขึ้นในวันที่18 กันยายน 2564 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ สภานิสิต องค์การนิสิต สโมสรนิสิตคณะ จำนวน 85 คน ส่วนในวันที่ 19 กันยายน 2564 เป็นกลุ่มชมรมและกลุ่มนิสิต จำนวน 90 คน 

 

ผมและทีมงานยังคงเลือกที่จะเปิดเวทีการสัมมนา (ออนไลน์) ผ่านกระบวนการตั้งคำถามในแบบฉบับ (Before Action Review : BAR) โดยสร้างประเด็นคำถามผ่านระบบแบบฟอร์มออนไลน์ (Google Form)  

และแทนที่จะสำรวจเพียงประเด็นเดียวที่ว่าด้วย “ความคาดหวังที่มีต่อการสัมมนา” ผมและทีมงานได้กำหนดประเด็นคำถามเพิ่มมา 2 ข้อ นั่นคือ 1) ความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัย /สิ่งที่อยากให้มหาวิทยาลัยพัฒนานิสิต 2) เหตุผลของการเข้ามาร่วมกิจกรรมนิสิต/เป็นผู้นำองค์กรนิสิต 

และนี่คือข้อมูลอัเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้นำองค์กรนิสิตได้สะท้อนออกมา 

 

ความคาดหวังในการสัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต (Before Action Review : BAR) 

  • อยากรู้แนวทางของการจัดกิจกรรมในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 
  • แนวทางการจัดกิจกรรมนิสิตในรอบ 8 เดือน 
  • อยากได้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมนิสิต เช่น การบริหารโครงการ กรอบเนวคิด/ทฤษฎี การทำ เอกสารราชการ การเบิกจ่ายงบประมาณ
  • อยากรู้เรื่องรูปแบบการดำเนินงานของแต่ละองค์กร เช่น การบริหารองค์กร กิจกรรมเด่นของแต่ ละองค์กร 1.5 อยากรู้เรื่องหลักการ/แนวคิดการเป็นผู้นำที่ดี 
  • อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้นำนิสิต 
  • อื่นๆ เช่น หลักการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม 


     

ความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัย /สิ่งที่อยากให้มหาวิทยาลัยพัฒนานิสิต 

     1) การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องกิจกรรมนอกหลักสูตร 

  •  การบริหารโครงการ/กิจกรรม/งบประมาณ 
  •  ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม/จิตอาสา 
  •  แนวทางการจัดกิจกรรมยุคโควิด-19 
  •  เอกสารราชการ

    2) การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องกิจกรรมในวิชาชีพ (Hard skills) 
  • วิชาชีพและการทำงานในศตวรรษที่ 21 
  • เวทีวิชาการของนิสิต 
  • ความรู้และทักษะพื้นฐานเรื่องภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยี 
  • อุปกรณ์การเรียนที่เพียงพอและทันสมัย 

    3) การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องทักษะทางสังคม (Soft skills
  • ทักษะการคิด เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ 
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 
  • การกล้าคิด กล้าแสดงออก 
  • การสื่อสารสาธารณะ/การสื่อสารสร้างสรรค์ 
  • ภาวะผู้นำ เช่น การใช้ชีวิต การเข้าสังคม การเสพสื่อ การบริหารงาน บริหารเวลา 
  • อื่นๆ เช่น สวัสดิการที่หลากหลาย ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การเปิดให้นิสิตเข้าถึงข้อมูลของมหาวิทยาลัยในเชิงลึก 

     

ความคาดหวัง/เหตุผลของการเข้ามาร่วมกิจกรรมนิสิต/เป็นผู้นำองค์กรนิสิต 

  • พัฒนาศักยภาพตนเองสู่การเป็นผู้นำที่ดี 
  • เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างมหาวิทยาลัยกับนิสิต 
  • เป็นกระบอกเสียงด้านสวัสดิการของนิสิต 
  • เรียนรู้กระบวนการพัฒนามหาวิทยาลัยและช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย 
  • เปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยและสังคม ผ่านกระบวนการของกิจกรรมนิสิต 
  • เรียนรู้ระบบเอกสารราชการ 
  • ฝึกฝนทักษะสำคัญๆ เพื่อเตรียมตัวออกสู่โลกความจริงหลังสำเร็จการศึกษา 
  • การแลกเปลี่ยนปะสบการณ์กับกัลยาณมิตร/ผู้นำองค์กรนิสิต
     

…………………………………………………..

 

จะว่าไปแล้ว  ผมเชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกว่า คำถามเช่นนี้ เป็นคำถามง่ายๆ เป็นคำถามตามครรลอง (ธรรมเนียมนิยม) ของการจัดการเรียนรู้อยู่แล้ว  ซึ่งผู้จัดสามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ว่า "ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคงตอบกลับมาไม่ต่างจากครั้งก่อนๆ”

หรือแม้แต่คำถามที่แว่วยินมาเนืองๆ ว่า  "ทำ BAR แล้วได้อะไร -ทำ BAR แล้วนำมาใช้อย่างไร"

แต่สำหรับผมและทีมงาน ยืนยันว่าให้ความสำคัญต่อทั้ง 3 ประเด็นเป็นอย่างมาก  เพราะทำให้เรารู้ข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้าร่วมกิจกรรม (คนหน้างาน) ว่ารู้สึกอย่างไร ปรารถนาสิ่งใด  -

บางประเด็นผมและทีมงานนำมาปรับในเวทีทันทีเพื่อให้สอดคล้องกับเจตารมณ์ของผู้นำนิสิต  บางประเด็นส่งให้วิทยากรได้รับรู้เพื่อปรับจูนประเด็นการบรรยาย  ขณะที่บางประเด็น ผมและทีมงานหาโอกาสสอดแทรกเติมเต็มเป็นช่วงๆ เท่าที่โอกาสจะอำนวย  

หรือแม้แต่การส่งต่อเข้าสู่ระบบไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อรับรู้ รับทราบ และพิจารณาขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นไปได้ 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงยืนยันว่า คำถามทั้ง 3 ประเด็นมีความสำคัญเสมอ  แม้จะเป็นคำถามเชยๆ ก็เถอะ  แต่สิ่งที่ผู้นำนิสิตได้สะท้อนกลับมานั้น ผมเชื่อว่าผู้นำนิสิตได้ทำการสื่อสารออกมาจากใจ -

ครับ,  ผมเชื่อว่าผู้นำนิสิตได้ทำการ “สื่อสารสร้างสรรค์" จาก "ต้นทุน”  ที่เขามีอยู่ในตัวเอง  ดังนั้นจึงควรให้ความเคารพต่อข้อมูลดังกล่าว  โดยยอมรับว่าเป็นข้อมูล หรือประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม และควรนำมาต่อยอดเพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนานิสิตอย่างจริงจัง 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693738เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2021 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2021 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กิจกรรมละเอียดมากๆเลยครับ

ขอบพระคุณครับอาจารย์ขจิต

ตอน BAR ก็อธิบายกับนิสิตว่าคืออะไร สำคัญอย่างไร และมันช่วยให้นิสิตได้ทบทวน หรือมีสติกับการเรียนรู้อย่างไร

รวมถึง การนำข้อมูลนี้มาแชร์กับวิทยากร หรือแม้แต่ส่งค่อไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัย สำหรับผมแล้ว ยืนยันว่าผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท