Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของคลองเจดีย์บูชา


คลองเจดีย์บูชา เป็นคลองที่ถูกขุดขึ้นเชื่อมต่อแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองนครปฐม  เพื่อการคมนาคมทางน้ำ ตั้งแต่ พ.ศ. 2401 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)  เมื่อครั้งทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ได้โปรดฯให้ขุดคลองจากแม่น้ำเมืองนครชัยศรี เข้าไปจนถึงบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อความสะดวกในการคมนาคมและการไปนมัสการพระปฐมเจดีย์จากกรุงเทพฯ มายังองค์พระปฐมเจดีย์ พระองค์พระราชทานนามคลองนี้ว่า คลองเจดีย์บูชา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2401 เนื่องจากพระองค์ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 600 ชั่ง จ้างชาวจีนให้ขุดคลองนี้ขึ้น ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ถึงแก่พิราลัย ขณะที่การยังค้างอยู่ จึงโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2405  

ความเป็นมาของการขุดคลองเจดีย์บูชานั้น มีความเชื่อมโยงกับพระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพระพุทธศาสนา ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้มีความรุ่งเรือง โดยในส่วนของพระปฐมเจดีย์ ปูชนียสถานอันสำคัญนั้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาบูรณปฏิสังขรณ์เป็นครั้งใหญ่ โดยสร้างครอบเจดีย์องค์ที่ 1 และองค์ที่ 2 ของเดิมไว้ (จังหวัดนครปฐม, 2562: ออนไลน์) โดยจุดเริ่มต้นของการปฏิสังขรณ์นี้เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งทรงผนวชซึ่งเป็นช่วงเวลาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ประมาณ พ.ศ.2374) พระองค์ได้เสด็จธุดงค์มายังเมืองนครปฐมพระด้วยคณะสงฆ์ และทอดพระเนตรเห็นเจดีย์เก่าแก่ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ทรงเชื่อมั่นว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเป็นแน่ หลังจากเสด็จกลับจากธุดงค์จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ กาลล่วงมาเมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้ว เมื่อปี พ.ศ.2395 ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ เมื่อท่านถึงแก่พิราลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เป็นแม่กองดำเนินการต่อไปดังกล่าวแล้วข้างต้น ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2400 (เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเมีย) พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระปฐมเจดีย์ การเสด็จครั้งนี้ได้เสด็จทางเรือขึ้นที่วัดไชยพฤกษมาลา แล้วเสด็จต่อทางสถลมารคไปประทับแรมที่พลับพลาท่าหาดคืนหนึ่ง ในวันรุ่งขึ้น คือ วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2400 (เดือน 5 ขึ้น 10 ค่ำ) ได้เสด็จทางชลมารคแล้วสลับการการเสด็จทางสถลมารคถึงวัดพระปฐมเจดีย์และทรงก่อพระปฐมเจดีย์เป็นปฐมฤกษ์ตามรูปแบบที่ช่างได้จัดทำรูปถวาย โดยจัดทำครอบองค์เดิมไว้ภายใน (ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐม, 2551: ออนไลน์)

จากข้อมูลเกี่ยวกับการเสด็จจากพระบรมมหาราชวังมาสู่วัดพระปฐมเจดีย์นี้ แสดงให้เห็นว่า การเดินทางในสมัยนั้นมีความยากลำบากเพราะถนนหนทางยังไม่สะดวก ทางน้ำก็ไม่เชื่อมต่อติดกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ขุดคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน สอดคล้องกับประวัติการขุดคลองมหาสวัสดิ์อีกคลองหนึ่งที่เป็นเส้นทางน้ำเชื่อมต่อจากคลองบางกอกน้อยมาสู่แม่น้ำท่าจีนซึ่งประวัติการขุดคลองมหาสวัสดิ์ปรากฎชัดอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุญนาค) และในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองและพระราชทานชื่อ “คลองมหาสวัสดิ์” ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลักในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระปฐมเจดีย์และเป็นคลองเปิดที่ให้เป็นนาสำหรับแจกพระเจ้าลูกยาเธอ” โดยพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) และพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ขุดคลองมหาสวัสดิ์ขึ้นในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2402 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 (ชุมชนมหาสวัสดิ์, 2562: ออนไลน์) คลองมหาสวัสดิ์นี้ขุดขึ้นหลังคลองเจดีย์บูชาทำให้การเชื่อมต่อการเดินทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่แม่น้ำท่าจีนเข้าสู่คลองเจดีย์บูชาเพื่อไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์มีความสะดวกสมบูรณ์ขึ้น

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าคลองเจดีย์บูชาเกิดขึ้นจากพระราชศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา พระราชหฤทัยที่ตั้งมั่นในการปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์และพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อราษฎรในการใช้คลองนี้เป็นเส้นทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์โดยสะดวก นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้า และการประกอบอาชีพต่าง ๆ ด้วย คลองเจดีย์บูชาจึงเป็นคลองที่มีคุณค่าและมีความสำคัญไม่เพียงแต่เป็นคลองระบายน้ำหรือเป็นแหล่งน้ำใช้สอยเท่านั้น แต่เป็นมรดกแห่งจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงผูกพันกับน้ำพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินของไทยที่ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพุทธศาสนิกชน ควบคู่กับการส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ วัฒนธรรมประเพณีและการประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขไปพร้อม ๆ กัน ทุกภาคส่วนจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลรักษาคลองแห่งนี้ เพื่อสืบสานและรักษาให้คงอยู่อย่างมีคุณค่าและเกิดคุณประโยชน์สืบต่อไปอย่างยั่งยืน

สภาพคลองเจดีย์บูชาเมื่อล่วงกาลเวลามามากกว่า 160 ปี ไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรเหมือนดังในอดีต และด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร แต่การผลิตแต่เดิมนั้น เป็นแต่เพียงให้พอมีพอกิน ไม่ได้ผลิตอย่างใหญ่โตเพื่อการแปรรูปและค้าขายทำกำไรให้คุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด หรือมิได้มุ่งผลิตเพื่อการส่งออกค้าขายกับต่างประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่มุ่งหวังผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อส่งออกไปขายนอกประเทศ การผลิตผลิตผลทางการเกษตรจึงเปลี่ยนมาเป็นการผลิตเป็นจำนวนมากโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยเข้ามาช่วย มีการลงทุน และการใช้ที่ดินอย่างกว้างขวาง มีการขยายเขตการเพาะปลูกพืชพันธุ์นานาชนิดไปตามบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะที่ดอน และที่ตามป่าเขา ก่อให้เกิดการรุกล้ำป่าสงวน และการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง (มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, 2563: ออนไลน์) คลองเจดีย์บูชาก็เช่นเดียวกัน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่ และการเติบโตของชุมชนเมือง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ยิ่งมีความเจริญขึ้นโดยลำดับ ทำให้สิ่งแวดล้อมของคลองเจดีย์บูชาเกิดความเสื่อมเสีย และประสบกับสภาพปัญหาหลายประการ ได้แก่ ปัญหาลำคลองตื้นเขิน การถูกรุกล้ำ วัชพืชแพร่ระบาด คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ (สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม), 2562: ออนไลน์) ในที่นี้ ปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ เป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศคลองเจดีย์บูชา รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนริมคลองเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือทำให้คลองสายประวัติศาสตร์นี้ด้อยคุณค่าลงอย่างไม่ควรจะเป็น ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) ที่ได้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองเจดีย์บูชามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 นั้น พบว่า จากสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำ 14 สถานี ตลอดแนวคลองเจดีย์บูชา มีเกณฑ์คุณภาพน้ำอยู่ในระดับเสื่อมโทรมมากถึง 10 สถานี ส่วนอีก 4 สถานีที่เหลือ อยู่ในระดับเสื่อมโทรม 3 สถานี อยู่ในระดับพอใช้ 1 สถานี
ทั้งนี้ เกณฑ์ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำนั้น ได้มีการพิจารณาจากผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำผ่านห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อหาค่าต่าง ๆ ได้แก่ ค่าออกซิเจนละลายน้ำ ความสกปรกในรูปของสารอินทรีย์ แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด แบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม แอมโมเนียไนโตรเจน ไนเตรทและไนไตรท์ และปริมาณฟอสฟอรัสทั้งหมด เป็นต้น

ในการอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชาในเชิงกายภาพหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพนั้น ปัญหาน้ำเสียนี้เป็นปัญหาเบื้องต้นที่ควรได้รับการแก้ไขโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเร่งด่วน แต่ในขณะเดียวกันปัญหาอื่น ๆ ที่มีอยู่ก็ควรได้รับการดูแล และแก้ไขควบคู่กันไปด้วย เช่น ปัญหาผักตบชวา การทิ้งขยะมูลฝอยในลำคลอง(โดยเฉพาะในชุมชนเมือง) และการรุกล้ำพื้นที่ลำคลอง เป็นต้น รวมทั้ง การส่งเสริมทัศนคติและจิตสำนึกรักคลองเจดีย์บูชาเพื่อให้ประชาชนริมคลองมีความรักและหวงแหนคลองสายประวัติศาสตร์นี้และร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแล รักษาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจหมายรวมถึงการฟื้นฟูวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมประเพณีที่จะเป็นการส่งเสริมให้คลองเจดีย์บูชากลับมามีคุณค่า ใช้ประโยชน์ได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นแหล่งน้ำใช้สอยในครัวเรือนและการเกษตร ทางสัญจรทางเลือก แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม เป็นต้น แต่จะต้องอาศัยพลังในการขับเคลื่อนที่มีเอกภาพ บูรณาการความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประกอบกับจะต้องมีแนวคิดในการดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

สรุปผลการศึกษา

จากข้อมูลที่กล่าวมานั้น สรุปได้ว่า คลองเจดีย์บูชาเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญยิ่งต่อชาวนครปฐม โดยเฉพาะชุมชนริมคลองในพื้นที่ 12 ตำบล ที่คลองเจดีย์บูชาพาดผ่าน ความสำคัญที่ว่านั้นมีทั้งในมิติคุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณค่าทางจิตใจ เพราะเป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯ ให้ขุดขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางเสด็จมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และเป็นเส้นทางคมนาคมในสมัยนั้น มีอายุมากกว่า 160 ปี (นับตั้งแต่ พ.ศ.2401) คลองสายนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชศรัทธาที่ทรงมีต่อพระพุทธศาสนา ดุจดังเส้นทางแห่งความดีที่มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายสูงสุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อล่วงกาลมานาน คลองเจดีย์บูชาไม่ได้ใช้สัญจรดังเดิม ประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรสู่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดสภาพปัญหาหลายประการตามมา โดยปัญหาที่สำคัญขณะนี้ คือ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม โดยภาพรวมแล้วอยู่ในขั้นเสื่อมโทรมมาก ปัจจัยสำคัญ คือ การปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองทั้งน้ำเสียจากบ้านเรือน ชุมชน การเกษตรที่มีสารเคมีปนเปื้อน โรงงานอุตสาหกรรม และฟาร์มสุกร สภาพปัญหาดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเริ่มต้นจากแนวคิดการอนุรักษ์เพื่อรักษาและสืบสานคลองเจดีย์บูชานี้ให้คงคุณค่าและมีสภาพแวดล้อมที่ดี ต่อยอดไปสู่การพัฒนาในมิติต่าง ๆ ต่อไป

แนวทางการอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชาเริ่มต้นจากการสร้างเสริมความตระหนักรู้ความเป็นมาและความสำคัญ ต่อด้วยการผลักดันให้เกิดนโยบายในส่วนราชการทุกระดับในจังหวัดนครปฐมให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงภารกิจระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และที่สำคัญที่สุด คือ การใช้พลัง “บวร” หมายถึง พลังความร่วมมือจากบ้าน คือ ชุมชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด และโรงเรียนหรือสถานศึกษาในพื้นที่ริมคลองร่วมกันดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชา โดยมีขั้นตอน ได้แก่ การสร้างการรับรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก การสร้างค่านิยมรักคลอง การฟื้นคืนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมริมคลอง และการรณรงค์การรักษาคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมตามลำดับ เพื่อรักษาและสืบสานสายน้ำแห่งพระราชศรัทธานี้ให้คงอยู่อย่างมีคุณค่าสืบไป

 

 ✨ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทความได้ที่นี่  ✨

 

แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคลองเจดีย์บูชา ตามแผนแม่บทบริหารจัดการและพัฒนาคลองเจดีย์บูชาอย่างยั่งยืน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564-2566)

https://www.gotoknow.org/posts/716423


เอกสารอ้างอิง

ญาณภัทร ยอดแก้ว. 2563. การอนุรักษ์คลองเจดีย์บูชา: สืบสานและรักษาสายน้ำแห่งพระราชศรัทธาสู่ความยั่งยืน. ในการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ครั้งที่ 12 วันที่ 9-10 กรกฎาคม 2563. นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

เรียบเรียงโดย

อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว  ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

หมายเลขบันทึก: 689753เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2021 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2023 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this piece of ‘history’ and evidence of ‘waterway network’ in olden days.

Conservation and revival of the waterway network is not only for history sake but also an important part of development for the future infrastructures in countering impacts from climate change and in support of food production.

;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท