บ้านสวนขวัญข้าว ๑๑ "สวนหยิบสิบ"


นับย้อนเวลาก็ผ่านไป ๑ ปีกว่า ๆ แล้ว สำหรับการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ภาคปฏิบัติ เพื่อนำไปสอนในรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บทที่ ๗ เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อศึกษาและนำมาทำด้วยตนเอง มุมมองหลายอย่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะมุมมองเรื่องการเกษตร สิ่งที่รายวิชานี้ต้องทำให้นิสิตเข้าใจและปลูกฝังไว้ในใจคือ

  • "การเกษตรคือชีวิต" คือการผลิตอาหาร ทุกคนสามารถจะทำการเกษตรได้โดยไม่ต้องยึดเป็นอาชีพ ไม่เรียกว่าอาชีพ ไม่เรียกว่าเป็นอาชีพเสริม เพียงแค่ต้องรู้จักอาหาร สามารถเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารได้เองตามอัตภาพ
  • "การเกษตรไม่ใช่อาชีพ" การผลิตอาหาร แปรรูปอาหาร และค้าขายแลกเปลี่ยนอาหาร อาจจะถือเป็นอาชีพได้  แต่ต้องเป็นมุมมองของคนที่เห็นแล้วว่า "เกษตรคือชีวิต" 
ตัวอย่างเช่น ผมเป็นครู การเกษตรจึงไม่ใช่อาชีพ อาชีพคือการเป็นอาจารย์สอน แต่ตอนเช้าหรือตอนเย็นหลังเลิกงาน ผมจะแบ่งเวลาไปออกกำลังกายด้วยการทำการเกษตรง่าย ๆ ขุดดิน ปลูกต้นไม้ ปลูกผักปลอดภัยไว้กินเอง เบื้องต้น เช่น พริก โหรพา ต้นหอม ถั่ว ผักชี เพกา มะกอก แมงลัก ตะไคร้ ใบชะพู มะเขือ มะเขือเทศ ผักบุ้ง ฟักทอง ตำลึง ฯลฯ  เงินเดือนที่ได้ก็ไม่ต้องถึงขั้นว่าต้องซื้อทุกอย่าง ปรัชญาของความพอเพียงยังทำให้ห่างไกลจากอบายมุขต่าง ๆ ด้วย 

ใครที่มีอาชีพรับเหมาหรือก่อสร้าง หากทำแบบนี้ก็ไม่ต้องเสียค่ากินอยู่ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ทำงานรับจ้างรายวัน ถ้าเลี้ยงสัตว์ด้วยก็แทบจะไม่ต้องซื้อเลย เงินที่ได้จากการรับเหมาหรือรับจ้าง ก็จะเหลือเป็นเงินเก็บเกือบทั้งหมดให้ใช้จ่ายในการที่ไม่อาจพึ่งตนเองได้ ... แบบนี้จะทำให้ทุกคนพออยู่พอกินได้ 

ปัญหาหนักสุดของบ้านสวนขวัญข้าวก็ยังเป็นปัญหาเดิมคือ ขวัญข้าวไม่ยอมมา ศรัทธายังไม่เกิด ต้องค่อยคิดต่อไป  ถามทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ได้ความว่า ยังไม่ปลอดภัย ต้องทำให้ร่มรื่นสะอาด ... คงต้องรอหน้าแล้งต่อไป หน้าฝนปีนี้น่าจะเป็นปีแห่งการปลูก  คำถามคือจะปลูกอะไร ปลูกจำนวนเท่าไหร่ถึงจะดี เหมาะกับพื้นที่ ๆ มีอันน้อยนิด 

ทำไปทำมาและคิดไปคิดมา สรุปได้ว่า จะใช้สูตร "สวนหยิบสิบ" คือปลูกไม้ที่เหมาะกับดินทุ่งน้ำกร่อยหน่อย ๆ ได้แก่ ยางนา มะม่วง เพกา มะพร้าว มะขามเทศ น้อยหน่า ฝรั่ง ฯลฯ  อย่างละ ๑๐ ต้น อย่างไรก็ดี กำลังทดลองพืชผลราคาดีของโลกด้วย คือ ทุเรียน แต่เพื่อศึกษาทดลองเป็นหลัก  


ทุเรียน เพาะเองจากเมล็ด

เพกา หรือ ลิ้นฟ้า หรือ ลิ้นไม้

ถั่วพุ่ม

มะกอกซาอุ (ทนมา ต้นนี้ปลูกหน้าแล้ง)

โหรพา ต้นเดียวกินไม่หมด

อโวคาโด

ต้นหูกวางซาอุ

อินทะผาลัม เพาะเองจากเมล็ด

หมากแดง จากปั็มน้ำมันทางกาฬสินธุ์ เก็บมาเพาะเอง

มะเขือ พุ่มนี้อายุปีกว่าแล้ว 

ยางนาเพิ่งจะปลูกเมื่อวันก่อน

ดอกกระเจียว

ยางนา

ไฝ่กิมซุง

ไผ่เลี้ยง

มะพร้าวน้ำหอม
ฯลฯ

ความจริงน่าจะตั้งชื่อว่า "สวนนาป่าแฝก" จะเหมาะกว่า เพราะแฝกเยอะมาก งามนัก มีหนู งู และอื่น ๆ กำลังเพิ่มปริมาณขึ้น ....ฮา

ขอบันทึกเท่านี้ครับ ผ่านไปอีกปีจะลองเอาภาพต้นไม้เหล่านี้มาแลกเปลี่ยน 



หมายเลขบันทึก: 661990เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2019 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2019 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์-เห็นการจัดการเรื่องพื้นที่แล้วน่าสนใจนะครับ-เริ่มมีพืชที่หลากหลาย-เห็นด้วยกับอาจารย์ที่สรุปเรื่องการเกษตร-ขอเพิ่ิมเติมว่า”การเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จรูป”ด้วยนะครับ-เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้และยึดถือมาปฏิบัติและเพิ่มพลังกาย พลังใจในการทำการเกษตรครับ-เป็นในแบบของเรา เพราะ”การเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จรูป”-หากมีโอกาสคงได้แลกเปลี่ยนกันนะครับอาจารย์-ขอบคุณครับ

ขอบคุณอาจารย์เพชรน้ำหนึ่งมากครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ การเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จ….

สำหรับ ไร่ “ เคียงตะวันพันดาว” ของคุณมะเดื่อ เป็นแบบ “ เกษตรอิรุงตุงนัง” (ตามอารมณ์ผสมผสาน) มากกว่า เพราะ ปลูกทุกอย่างที่คนปลูกชอบกิน ปน ๆ กันไป มากบ้างน้อยบ้าง อย่างเช่น ตะไคร้ กล้วย มะพร้าว (ทุกชนิด ทั้งมะพร้าวแกง มะพร้าวน้ำหอม น้ำหวาน) กาแฟ โกโก้ มะม่วง มะปราง มะนาว ฝรั่ง ไผ่ มะกอก มะเดื่อฝรั่ง แค หมามุ่ยอินเดีย ขนุน ส้ม มะรุม ละมุดมะไฟ ลองกอง ทุเรียน ฯลฯ แล้วแต่ว่า ต้นไหนจะมีชีวิตรอดได้ยืนยาวจ้าา แต่เพิ่งเริ่มปลูกได้ยังไม่ถึงปีจ้ะ อีกสัก 2-3 ปี คงจะพอได้เห็นเต็มตา

-สวัสดีครับอาจารย์-ตามมาอีกรอบ 555-สำหรับครอบครัวเล็กๆ ของเราแล้วไม่ได้มีการวางแผนอะไรมากมายไปกว่าการได้ทำอะไรแบบสบายๆ เป้าหมายของเราคือ”กำไร”ที่เรียกว่า”ความสุข”ครับ…-หากพื้นที่ของเราที่ทำอยู่แบบวิถีของเราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครๆ ได้แล้วนั้นผมว่านี่คือความสำเร็จที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ครับ-ยินดี และดีใจในทุกครั้งที่ได้มีโอกาสบอกเล่าและทราบว่าพื้นที่ของบางคนที่ก้าวเข้ามา ณ บ้านของเรา เขามักจะบอกว่า”ของเค้าก็ทำได้”นี่ไงครับ คือคำตอบที่ชุ่มใจ…และมักจะบอกว่าทำเลยๆ ขนาดของเรามีข้อจำกัดเรื่องน้ำ เรื่องดินยังทำได้ ของเค้าเหล่านั้นดินดี น้ำดี มีหรือจะไม่สำเร็จ….-ค่อยๆ ทำไปเพียงแต่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า”ชอบ”หรือ”รัก”กับสิ่งนี้…คงไม่พอจนกว่าจะได้ลงมือทำครับอาจารย์-ขอบคุณพื้นที่ของ G2K ที่ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท