ยลสถาปัตยกรรมบ่าบ๋า-ย่าหยาที่ปีนัง


ยลสถาปัตยกรรมบ่าบ๋า-ย่าหยาที่ปีนัง

                ปัจจุบันการท่องเที่ยวได้กลายเป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นไลฟ์สไตล์ของผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ยึดแนวทางการสร้างสมดุลระหว่างงานกับการใช้ชีวิตหรือ Work-Life Balance จึงทำให้เกิดลักษณะร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือเวลาทำงาน คนพวกนี้จะทำงานกันอย่างจริงจัง แต่เมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็จะพักผ่อนกันอย่างเต็มที่ และยิ่งการเดินทางในยุคที่เครื่องบิน Low Cost ราคาไม่แพง ทำให้การท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น

                สำหรับนักเดินทางที่ชอบสัมผัสกับเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ของเมืองก็ย่อมจะมีความรู้สึกที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ การได้เดินเท้าชมอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมเก่าเป็นการดื่มด่ำกับการเสพบทบันทึกแห่งกาลเวลาที่มีคุณค่าได้อีกทางหนึ่งผู้ที่สนใจการท่องเที่ยวในแนวนี้ ส่วนใหญ่มักจะศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อเจาะลึกความเป็นมาและย้อนรำลึกวันเวลาที่สวยงามของเมืองนั้นๆ เป็นการล่วงหน้า

                “ปีนัง” เป็นเกาะขนาดเล็กที่อยู่ทางฝั่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย ในภาษามาเลย์จะเรียกว่าปูเลาปีนัง(Pulau Penang)ซึ่งมาจากคำว่าปีนังที่แปลว่าต้นหมากในสมัยก่อนจะพบต้นหมากขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ปีนังเป็นเมืองที่มีร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่ได้ส่งต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลานในฐานะเมืองเก่าที่มีบ้านเรือนเก่าแอบซ่อนตัวเองอยู่ท่ามกลางอาคารตึกสูงที่สร้างโดยใช้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวนับว่าเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรม และกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้โดยเฉพาะบ้านเรือนเก่า ซึ่งเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมแบบ บาบ๋า ย่าหยา ที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์

                บาบ๋า-ย่าหยา คือ กลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่มีวัฒนธรรมผสมผสานโดย บาบ๋า (Baba)จะเรียกชายที่เป็นลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซีย ส่วน ย่าหยา(Nyonya) ก็จะหมายถึงหญิงลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซีย ชาวจีนที่เป็นบรรพบุรุษจะเป็นชนชั้นสูงที่รับวัฒนธรรมมาเลเซียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตและสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้น โดยนำเอาส่วนดีระหว่างจีนและมลายูมารวมกัน ตามประวัติศาสตร์คนกลุ่มนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า400 ปีที่แล้ว เมื่อนายพลเอกเฉิงโฮ นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ชาวจีนได้นำชาวจีนกลุ่มแรกเข้ามาตั้งรกรากในเมืองมะละกาและหลายศตวรรษต่อมา ชาวบาบ๋า-ย่าหยาก็ได้พัฒนาวัฒนธรรมที่โดดเด่นและน่าสนใจของตนเองขึ้นบริเวณชายฝั่งตะวันตกของมาเลเซียโดยเฉพาะในเมืองมะละกา

             บ้านบาบ๋า-ย่าหยาส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Shophouse   2 ชั้น หรือมีบ้านแบบ 3 ชั้นอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนกว้างของบ้านอยู่ที่ประมาณ 5เมตร  ความยาวหรือความลึกของตัวบ้านจะอยู่ที่ประมาณ30 เมตรขึ้นไป ภายในบ้านจะแบ่งเป็นส่วนๆ ตามประโยชน์ใช้สอย บ้านแบบบาบ๋า-ย่าหยาถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับอากาศแบบร้อนชื้นของภูมิภาคที่เป็นที่ตั้งถิ่นพำนักของบาบ๋าและย่าหยา  ตรงกลางบ้านจะเปิดโล่งไม่มีหลังคาทำให้มีแสงสว่างส่องถึงภายในบ้าน อากาศถ่ายเทได้ดี โดยเป็นทั้งช่องที่เปิดรับ และระบายอากาศที่ใหญ่มากที่สุดของบ้านศัพท์ที่สถาปนิกใช้จะเรียกพื้นที่ตรงกลางบ้างที่เปิดโล่งว่าinternal courtyard

            

               ได้เห็นรูปความสวยงามของเมืองปีนังการเดินทางไปเก็บเกี่ยวสุนทรียะของงานสถาปัตยกรรมบาบ๋าและย่าหยาก็จะรู้สึกได้อย่างหนึ่งว่าไม่ว่ายุคใดสมัยใดหลักการออกแบบอาคารบ้านเรือนมีหลักคิด 2 อย่างที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน นั่นคือ Function& Form ซึ่งการใช้งานหรือ Functionในแต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไรนั้นส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนแต่ละยุคแต่ละสมัย และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เรามองเห็นวิถีชีวิตของผู้คนแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี....

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ใน https://housecondoshow.com/14-common-misconceptions-about-business-development/

หมายเลขบันทึก: 644102เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2018 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2018 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท