"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

เกษตร คือ การร้อยรวมองค์ความรู้


การทำการเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป..
ผู้รู้บอกว่า "เกษตร คือ การร้อยรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน"
องค์ความรู้ที่ว่ามีอะไรบ้าง?.. เท่าที่ตนเองเข้าใจ พอมองเห็น
ดังนี้..
.
๑.การเขียนผัง หรือแปลน(วิชาศิลปะ)..
ก่อนที่ผู้ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่จะเขียนผังหรือแปลน ควรนั่งหลับตามองภาพพื้นที่ของตนเองทั้งหมดก่อนว่า เป็นยังไง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมคางหมู(เรขาคณิต) เสร็จแล้วเขียนหรือวาดภาพมันออกมา กำหนดว่าจะเอาอะไรไว้ตรงไหน สิ่งใดควรอยู่ตรงไหน..
.
๒.สภาพภูมิอากาศ(อุตุนิยาม)..
พื้นที่ที่ตนเองกำลังจะปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนใหม่นั้น มีความสูงต่ำ ลาดเอียง ความแตกต่างของพื้นที่ สภาพอากาศแต่ละฤดูเป็นอย่างไร มีฝนตกในแต่ละปีมากน้อยเพียงใด จะเก็บน้ำไว้ตรงไหน เก็บไว้อย่างไร หรือจะขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ตรงไหน ทิศทางของลม ลมตะวันตกเฉียงใต้ ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดอย่างไร พระอาทิตย์ขึ้นทางไหน ตกทางไหน มีผลต่อการสร้างบ้านพักและโรงเรือนต่าง ๆ อย่างไร หรือไม่ องค์ความรู้เหล่านี้ก็ควรมีเช่นกัน ..
.
๓.การคำนวณ(วิชาคณิตศาตร์)
เรียนรู้ว่า จะแบ่งพื้นที่อย่างไรให้ได้ตามแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ว่า ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ เช่น จะขุดสระในพื้นที่กว้าง ยาว ลึกเท่าไหร่ กี่ไร่ กี่งาน กี่ตร.วา ถึงจะเพียงพอต่อการใช้น้ำหล่อเลี้ยงพืชพรรณและสถานที่ได้ทั้งหมด จะใช้พื้นที่ตรงไหนเท่าไหร่ปลูกข้าว จะใช้พื้นที่ตรงไหนเท่าไหร่ปลูกพืชไร่ พืชสวน จะใช้พื้นที่เท่าไหร่ในการปลูกสร้างบ้านที่พัก โรงเรือนต่าง ๆ ..นอกจากนี้ยังต้องมีการจดบันทึกการใช้จ่ายและรายได้ที่พึงได้มาในแต่ละครั้งเอาไว้ด้วยเสมอ..
.
๔.การเลี้ยงสัตว์น้ำ(วิชาการประมง)
วิชาการประมงที่ว่าคือ ในน้ำหรือแหล่งน้ำนั้น ก็ต้องสร้างให้เกิดผลมากกว่าหนึ่งดั่งที่ "ในหลวง" ท่านสอนไว้ ควรมีการเลี้ยงปลาหลากหลายชนิด ปลาที่ไม่ควรขาดคือ "ปลานิล" ปลาที่พระองค์ทรงตั้งชื่อให้ ปลาหมอ ปลาดุก ปลาตะเพียน ฯลฯ ปลาแต่ละชนิดที่เรานำมาเลี้ยงมีอุปนิสัยอย่างไร กินอาหารแบบไหน เลี้ยงอย่างไรถึงประหยัดต้นทุน.. 

"หอย" ในสระนอกจากปลาแล้วยังสามารถเลี้ยงหอยได้อีก หอยเลี้ยงใส่ถุงแขวนก็ได้ ในกระชังก็ได้ ในบ่อซีเมนต์ก็ได้ หรือปล่อยตามธรรมชาติก็ได้ อาหารของหอยคือรำละเอียด.. 

"กุ้ง" ในสระก็ยังสามารถเลี้ยงกุ้งได้อีกเช่นกัน.. วิชาประมงที่ควรรู้ก็คือไม่ว่าเราจะเลี้ยง ปลา หอย กบ กุ้ง ปู อะไรอีกก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก็คือ อุปนิสัย อาหารการกิน สิ่งที่ชอบ สิ่งที่แพ้ โรคและวิธีการดูแลรักษาของสัตว์นั้นๆ ประกอบกันไปด้วย..
.
๕.การเลี้ยงสัตว์ปีกและสัตว์บก(วิชาการปศุสัตว์)
เกษตรกรที่นำสัตว์มาเลี้ยงเพื่อทำปุ๋ยหรือเพื่อจำหน่าย เช่น ไก่ เป็ด หมู วัว ควาย ก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจอุปนิสัยของสัตว์ดังกล่าวเช่นเดียวกันกับสัตว์น้ำ ปศุสัตว์ยิ่งมีความละเอียดอ่อน ยากกว่าประมงอีกหลายเท่าตัว..
.
๖.การเกษตรด้านพืชและการขยายพันธุ์(พีชนิยาม)..
การเรียนรู้พืชพรรณต่าง ๆ ที่เรานำมาปลูกหรือนำมาทดลองปลูกใหม่ ๆ ก็ต้องเข้าใจว่า พืชหรือไม้แต่ละชนิด เก็บและเพาะเมล็ดพันธุ์อย่างไร ต้องการอาหารแบบไหน ทำปุ๋ยอย่างไร อากาศอย่างไร แสงสว่างอย่างไร อุณหภูมิที่พอเหมาะขนาดไหน ต้องการน้ำมากน้อยเพียงใด และมีพืชใดที่สามารถทำให้ออกนอกฤดูได้บ้าง ทำอย่างไร?. สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการทำเงินในโอกาสต่อไปเช่นกัน..
.
๗.งานฝีมือหรือวิชาช่างด้านต่าง ๆ ..
อย่างที่สวนเราทำอยู่นี้ บางครั้งก็ต้องทำเล้าไก่ ทำเพิงที่พักร้อน ทำรั้วของสวน ทำเรือนเพาะชำ ทำเตาชีวมวล ทำรถตัดหญ้า ทำเครื่องปั่นหญ้าเนเปีย ทำรถมอไซค์พ่วงข้างใช้เอง..
เกษตรกรบางท่านอาจต้องทำชั้นวางกระถางต้นไม้ ชั้นวางอ่างไส้เดือน บ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้่ยงกบหรืออึ่งเพ้า คอกหมู คอกวัว คอกแพะ และซุ้มโค้งสำหรับปลูกผักเถาด้วยตนเอง 

สิ่งเหล่านี้เราปฏิบัติตามคำของพ่อหลวงที่ทรงสอนไว้ คือ "ให้รู้จักพึ่งพาตนเอง" สิ่งไหนเราทำเองได้ เราก็ไม่ต้องจ้าง เมื่อไม่จ้างเงินก็จะมีเหลือ ปัจจุบันค่าแรงของช่างต่าง ๆ มีราคาแพงมาก..
.
๘.ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี..
วิทยาศาสตร์จะแฝงอยู่ในวิชาช่างด้วย เช่น การหมุนของสายพานเครื่องปั่นหญ้า แรงเหวี่ยง แรงโน้มถ่วง ระบบสูบน้ำ กาลักน้ำ ระบบน้ำหยด ระบบประปา ระบบแก็สชีวภาพ ระบบโซล่าเซลล์ฯลฯ.. 

เทคโนโลยีหรือบางท่านอาจเรียกว่า "นวัตตกรรมการเกษตร" เช่น การใช้เครื่องผสมอาหารสัตว์ เครื่องผสมปุ๋ยหมัก โรงบ่มเพาะถั่วงอกหรือโรงบ่มเพาะเห็ด เครื่องตัดหญ้าอเนกประสงค์ที่ใช้สูบน้ำและใช้พรวนดินได้ เครื่องให้อาหารปลา ไก่ กุ้ง เครื่องพ่นยาและเครื่องไถนาแบบใช้วิทยุบังคับ เป็นต้น..

นอกจากนี้เทคโนโลยี ก็ยังหมายรวมถึง สื่อมัลติมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ก ไลน์ โทรศัพท ์โทรทัศน์ เวบเพจ ที่ใช้เชื่อมต่อเพื่อการแสวงหาความรู้อย่างกูเกิ้ลและเพื่อการค้าขายสินค้าอีกด้วย..

.
เกษตรกรรุ่นใหม่หรือเกษตรกรรุ่นต่อไป ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ..
สิ่งสำคัญคือ "ต้องพึ่งพาตนเอง"ให้ได้ อย่าหวังพึ่งพาภายนอก "ต้องระเบิดจากข้างใน"ออกไป สร้างหลักฐานของตนเองให้มั่นคง แล้วจึงค่อยขยับขยายออกไปข้างนอก หรือจะเดินไปพร้อม ๆ กันกับชุมชนก็ได้ ..

แต่เราต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดด ทฤษฎีใหม่มีหลายขั้นตอน..เราต้องทำขั้นตอนแรกให้สำเร็จกันเสียก่อน ..
.
ความรู้ที่เหลือด้านอื่น ๆ ขอวอนผู้รู้ช่วยต่อเติมและชี้แนะด้วยครับผม..

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม

ขอบคุณโกทูโนว์

"พี่หนาน"

20/12/2560

หมายเลขบันทึก: 643476เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2017 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2017 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับพี่หนาน

-อ่านบันทึกของพี่หนานติดต่อกันทำให้ได้แนวคิดมากมาย

-องค์ความรู้ที่ได้ถ่ายทอดออกมานับว่าเป็นประโยชน์มากๆ ครับ

-ลองเช็คดูประสบการณ์ต่างๆ ด้านเกษตรแล้วผมเองก็ยังทำไม่ครบ

-การเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จรูป...

-บางครั้งก็ต้องดูกำลังของตนเองที่่จะปฏิบัติได้มาประกอบด้วยครับ

-เท่าที่ผมสัมผัสเกษตรกรมือใหม่ๆ ที่พบเจอจะนำเอาหลักการต่างๆ มาเป็นข้อจำกัดของตนเอง

-ทำให้รู้สึกว่าปฏิบัติได้ยาก ทำไม่ได้ ไม่มีทุน ไม่มีเวลา ไม่มีอะไรอื่นๆ อีกมากมายที่หามาปิดกั้นตนเอง

-ทำทุกอย่างให้ดูง่ายๆ ผมเชื่อว่า"การเกษตรใครๆ ก็ทำได้"นะครับพี่หนาน

-ขอบคุณบันทึกดีๆ จากพี่หนานมากๆ ครับ

-ด้วยความระลึกถึงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท