"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

​ปฏิบัติตามกรอบแนวคิดการปลูกไม้ 7 ระดับ


เก็บบันทึกจากเว็บไซต์บ้านสวนพอเพียง มาแบ่งปันกัลยาณมิตร โกทูโนว์...ปฏิบัติตามกรอบแนวคิดการปลูกไม้ ๗ ระดับ (ลงสู่ภาคปฏิบัติ)

ปฏิบัติตามกรอบแนวคิดการปลูกไม้ 7 ระดับ

ในสวนของพี่หนานที่เตรียมการเอาไว้ตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว คือช่วงที่แล้ง+ร้อน ยาวนานที่สุดนั้น ตนเองได้พยายามทำความสะอาดกิ่งไม้สักที่ตัดล้มระเนระนาดกลาดเกลื่อนไปทั่ว แผ้วถางหญ้าสาปเสือ หญ้าคอมมิวนิสต์ หญ้าคาให้โล่งเตียน พร้อมที่จะปลูกไม้อื่นๆ ได้ในช่วงฤดูฝน สร้างบ้านน้อย ๑ หลัง ทำห้องน้ำ ๑ ห้อง ทำที่พักผ่อนคลายร้อนมุงหญ้าคา ๑ หลัง ทำโรงเก็บขี้วัวและเก็บปุ๋ยหมักที่หมักเองอีก ๑ หลัง...

นอกจากนี้ก็ได้ทำเล้าไก่ ๑ หลัง และเลี้ยงไก่พื้นบ้านไว้จำนวน ๔๐ ตัวทั้งเล็กและใหญ่ ทำการขุดขยายสระน้ำที่แคบให้กว้างขึ้นอีก ๑ วา ต่อระบบน้ำประปาหมู่บ้านเข้าสวน ๔๐๐ เมตร ซื้อโอ่งปูนใหญ่มาเก็บน้ำ ๓ ใบ พร้อมกันนั้นในสระน้ำที่แห้งขอดได้ขุดสระเล็กเพื่อเลี้ยงปลาหมอนา ๔๐๐ ตัว และเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์อีก ๑๕๐ ตัว ขณะนี้ตัวโตพอที่จะรับประทานได้แล้ว...

Image

ช่วงนี้ฝนตกมาได้ขุดทางน้ำเข้าสระ โดยสระคือ “แก้มลิง” สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรของสวน และฝนตกหนักสองครั้งสามารถนำน้ำเข้าสระจนท่วมสระเล็กด้านใน และรื้อเอาตาข่ายที่ล้อมและคลุมออกจนหมดแล้ว(สแลนคลุมกันแดดยังไม่ได้เอาออก)...

...ไม้พยุง..ปลูกข้างบ้าน และหลังบ้าน...

ทำให้มองเห็นภาพฝันเริ่มจะชัดเจนขึ้น ฝันอะไรบ้าง ...ฝันจะทำให้เป็นศูนย์อาหารของตนเอง(ก่อน)ต่อไปอาจขยายเป็นศูนย์อาหารของชุมชนด้วยก็ได้...

Image

...ถ่ายภาพด้านหลังรถพ่วงข้าง...มีไม้หลากหลาย...

ต่อไปก็คือการนำแนวคิดการปลูกไม้ ๗ ระดับ จากสูงไปหาต่ำ มาปฏิบัติในสวนต่อไป ตอนนี้มีอะไรและปลูกอะไรไปบ้างแล้ว

Image

ไม้ที่เห็นคือ ยางนา ๒๐ ต้น เสี้ยวบ้าน แคขาว และมะรุม(หมะค้อนก้อม)อย่างละหนึ่งโหล มะกอกอีกสิบต้นครับ

1. ไม้ระดับที่ ๗ คือไม้ยืนต้น อายุ ๑๐ ปี ขึ้นไป เป็นไม้สร้างบำนาญหรือมรดกในอนาคตข้างหน้า ในสวนมีไม้สักเกิดจากตอเป็นหลักและต้นเล็กที่ยังไม่ได้ตัดอีกหลายต้น มียางนาใหญ่ ๓ ต้นแล้ว มีไม้คูณ ๒ ต้น มะยมหินข้างห้วย ๕ ต้น ที่ไม่รู้จักอีกหลายต้น และเมื่อวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ผมได้ปลูกไม้พยุงเพิ่มอีก ๒๐ ต้นบริเวณใกล้บ้านพัก หวังให้เป็นร่มเงา และป้องกันลมไปในตัว ปลูกไม้ยางนาเพิ่มอีก ๒๐ ต้น คิดไว้ว่าจะหามะค่าโมง มะค่าแต้ ตะเคียน ประดู่ แดง หาด เต็ง รัง และพยอม มาปลูกเสริมอีกอย่างละ ๑๐-๒๐ ต้น ในเร็วๆ นี้

2. ไม้ระดับที่ ๖ คือ ไม้ชั้นกลางอายุ ๓ ปีขึ้นไป ที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ผลหรือไม้รับประทานได้ ตอนนี้ปลูกผักเฮือดไป ๓ ต้น ผักเสี้ยว ๑๒ ต้น ผักมะรุม ๑๒ ต้น มะกอก ๙ ต้น แคบ้านหรือแคขาว ๑๒ ต้น ลำไย ๑ ต้นแล้ว และกะว่าจะหาไม้ผลกินได้อื่นๆ มาปลูกเสริมอีกอย่างละ ๕ ต้น คือ ฝรั่ง ขนุน มะพร้าวน้ำหอม ขี้เหล็ก สะเดา มะปราง(ยงชิด) ลำไย กระท้อน สมอ มะม่วงหิมพาน เอาให้เต็มสวนด้านบนไปเลย

3. ไม้ระดับที่ ๕ คือ ไม้ทรงพุ่มอายุ ๑ ปีขึ้นไป เน้นที่กินได้เป็นหลัก ตอนนี้ปลูกมะนาวกระถาง ไป ๓ ต้น ปลูกมะกรูดลงดินไป ๑ ต้น มะละกอไป 4 ต้น ตาย ๓ ต้นเหลือ ๑ ต้น มะเขือ ๑๐ ต้น กะว่าจะหาไม้อื่นมาเป็นหลักอีกสองสามอย่างคือ กล้วย(ส่วนใหญ่ของสวน) ไผ่กิมซุง ชะอม แม็ก(ไม้อีสาน) ผักเหลียง(ไม้ใต้) ด้วยครับ

4. ไม้ระดับที่ ๔ คือ พืชหน้าดินหรือพืชผักสวนครัว ตอนนี้ปลูกกะเพราหอมไป ๔ ต้น ปลูกโหระพาไป ๑ ต้น ปลูกพริกไป ๕ ต้น มะเขือข้างบ้านนำมาให้อีก ๑๐ หลุม ยังเหลืออีกหลายอย่าง ต้องค่อยๆ ปลูกตามฤดูกาล

5. ไม้ระดับที่ ๓ คือ ประเภทพืชหัวและผักพื้นบ้าน พวกที่อยู่ใต้ดินและบนดินนิดหน่อย ที่ตั้งใจเอาไว้มีหลายชนิด เช่น ขิง ข่า ตะไคร้(ปลูกแล้ว) กระชาย เผือก มัน ทูน บุก ผักหวานบ้าน(ปลูกแล้ว) ผักโก้นโถง ผักมะงับปิ๊ด ผักหนาม เป็นต้น ตอนนี้ยังไม่ได้นำมาปลูก

6. ไม้ระดับที่ ๒ คือ พืชที่ชอบน้ำ หรือพืชอยู่จำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด(หนองโป้ง) บัว(ปลูกในสระ) ผักกูด ผักแว่น ผักกันจ้อน ผักบอนหอม ผักป่อก้า เป็นต้น ผักเหล่านี้สามารถจำลองพื้นที่การปลูกได้ จักได้ทำการทดลองปลูกในโอกาสต่อไป

7. ไม้ระดับที่ ๑ คือ พืชเกาะเกี่ยว หรือพืชมีมือ จำพวกตำลึง มะระ ถั่วฝักยาว บวบ ฟักทอง น้ำเต้า ผักปลัง แตงกวา แตงไทย องุ่น ย่านาง ผักแส้ว ฯลฯ จะหามาปลูกเพิ่มเติมอีกเรื่อย ๆ ครับ

เน้นที่เห็นว่ารับประทานได้และหาได้ง่ายในชุมชนเป็นหลัก "ไม่เน้นให้มาก แต่เน้นให้มี"

บันทึกนี้นอกจากจะบอกแนวคิดการปลูกไม้ ๗ ระดับแล้ว ยังเป็นการเตือนความจำให้ตนเอง(ที่เป็นคนขี้ลืม)อีกด้วย เพื่อตอกย้ำให้ปฏิบัติตามและบอกย้ำว่า ยังขาดไม้ไหน ระดับไหน พันธุ์ไหนอีกบ้าง ที่ยังไม่ได้นำมาปลูก ให้ไปหามาปลูกเสียด้วยนะ ..

...

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม ขอบคุณบ้านสวนพอเพียง http://www.bansuanporpeang.com/node/29399

และขอบคุณโกทูโนว์มากครับผม

...

23/5/2559

หมายเลขบันทึก: 607639เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2016 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2016 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับ

-ถือเป็นการนำหลักการไปสู่การปฏิบัติได้จริงๆ นะครับ

-สร้างแหล่งอาหารให้กับตัวเราเองก่อน..ผมก็ฝันไว้เช่นนั้นครับ

-จนท.ส่งเสริมการเกษตรแบบผม..คงต้องปรับเปลี่ยนจากตัวเองก่อน..ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนคนอื่น..

-ตัวอย่างที่ดี..มีค่ากว่าคำสอน..นะขอรับ..

-ฝัน ๆ ๆ กำลังสานฝันนั้นเช่นเดียวกับพี่หนานครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท