การท่องเที่ยวแบบมีผู้นำเที่ยว (ไกด์) ได้อะไรมากกว่า


จะทำให้การบริการนั้น "จับต้องได้" และ "บริหารความรู้สึกคุ้มค่า" ของนักท่องเที่ยว

หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน "ชีพจรลงเท้า" มาเกือบทั้งสัปดาห์ครับ แต่ก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ชีพจรได้พาเท้าของผมย่างก้าวไปได้สัมผัสกับงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งนั่นก็คือ "งานพืชสวนโลก" หรืองานราชพฤกษ์ 2006 ที่จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากที่ผมได้ทำงานเสร็จเรียบร้อย ในช่วงบ่ายวันพฤหัส ผม คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ และพี่อ๊อด (สรส.) ก็ได้รับโอกาสอันดีจากท่าน ดร.รจเร ได้ชักชวนและพาเราเข้าเยี่ยมชมงานพืชสวนโลกก่อนกำหนดเปิดงานครับ

 

การไปในวันนี้ ความตั้งใจแรกของเราก็คือ พวกเราจะเดินทางท่องเที่ยวภายในงานด้วยรถส่วนตัวของ ดร.รจเร ครับ แต่พอเมื่อเราเดินทางไปถึงที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ก็ได้พบกับคณะฯ จากกรุงเทพฯ ที่กำลังจะเข้าไปเยี่ยมชมภายในที่จัดงานพืชสวนโลกพอดี คณะของเราจึงร่วมสมทบเดินทางเข้าไปพร้อมกันเลยครับ

หลังจากที่ผมขึ้นไปบนรถและล้อเริ่มหมุน สิ่งที่ผมได้สัมผัสและรู้สึกว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากในการมาครั้งนี้ก็คือ การเดินทางครั้งนี้เรามี "ไกด์" หรือผู้นำเที่ยวบรรยายให้ความรู้เราตลอดการเดินทางครับ

 

ซึ่งการเดินทางในทริปนี้เราได้ "ไกด์กิตติมศักดิ์"นั่นก็คือ ท่าน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แฟนของท่าน ดร.รจเร) เป็นผู้บรรยายให้ความรู้เราตลอดการเดินทางร่วม 2 ชั่วโมงครับ

จากการนั่งฟังการบรรยายไปตลอดทาง ทำให้ผมและทุก ๆ คนที่เดินทางไปในคณะฯ นั้นได้รับประโยชน์มาก ๆ ซึ่งนับตั้งแต่ความเป็นมาเป็นไปของการจัดการ รายละเอียดของสถานที่ รวมถึงสภาพปัญหาและการดำเนินงานต่าง ๆ ของงานครั้งนี้

 

ทำให้ผมย้อนกลับมานึกถึงครั้งที่เคยเข้าไปเที่ยวชมโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งครั้งนั้นผมพาเพื่อน ๆ มาเที่ยวที่คลองลานและแวะเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรครับ

สิ่งที่ทำให้ผมต้องย้อนกลับมาคิดมาก ๆ เลยก็คือ ในวันที่ผมพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวชมโบราณสถานวันนั้น ผมและเพื่อน ๆ รู้สึกว่า "ไม่ได้อะไรมากนัก" ครับ นอกจากจะได้ดูโบราณสถาน ดู ๆ ๆ ๆ แล้วก็ดูครับ เพราะพวกเราขับรถเข้าไปเยี่ยมชมกันเองครับ อยากขับไปตรงไหนก็ไป อยากจอดตรงไหนก็จอด อยากดูตรงไหนก็ดู อย่างมากก็ทำได้แค่อ่านป้ายที่ติดไว้ตรงโบสถ์ เจดีย์ หรือวิหารต่าง ๆ เหล่านั้นแค่นี้เองครับ

ความรู้สึกในวันนั้น (กำแพงเพชร) รู้สึกได้เลยว่าไม่คุ้มค่าเลยที่มา และรู้สึกว่าทำให้เพื่อน ๆ ไม่คุ้มค่าตามไปด้วยครับ โดยเฉพาะในฐานะเจ้าบ้านที่พาเพื่อนต่างถิ่นเข้ามาเที่ยวบ้านของตนเอง

 

ดังนั้น การท่องเที่ยวหรือการเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะเป็นสถานที่ที่เราไม่สามารถเข้าไปร่วมทำกิจกรรมสิ่งใดกับสถานที่นั้นได้มากนัก เช่น การเที่ยวชมโบราณสถาน พิพิทธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งงานพืชสวน งานต้นไม้ ที่เราปุถุชนคนทั่ว ๆ ไป ไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านนั้นโดยเฉพาะ สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารหรือผู้จัดงาน ที่ควบคุมดูแลสถานที่เหล่านั้นควรจะทำให้การบริการนั้น "จับต้องได้" และ "บริหารความรู้สึกคุ้มค่า" ของนักท่องเที่ยวอย่างง่ายที่สุดนั้นก็คือ การจัดให้มีพนักงานคอยแนะนำหรือ "ไกด์" คอยแนะนำ พาชม และบริการให้ความรู้ต่าง ๆ (สถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ อาทิเช่น ทะเล น้ำตก การเดินเขา เป็นต้น)

นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาเยี่ยมชมจะมีความรู้สึกที่ดี ๆ กลับไปบ้านเต็มกระเป๋าเลยครับ ดังเช่นที่ผมมีความรู้และความรู้สึกที่ "อิ่มและคุ้มค่า" มาก ๆ ที่ได้มางานพืชสวนโลกในครั้งนี้

 

ขอขอบพระคุณท่าน ผอ.ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ท่าน ดร.รจเร คุณทรงพล และพี่อ๊อด รวมถึงผู้ที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้ทุก ๆ ท่าน ที่ทำให้การเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวในครั้งนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งครับ

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 55193เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผมเห็นด้วยครับ ว่าการเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ โดยมีผู้รู้คอยอธิบายในเรื่องต่างๆ ช่วยให้อรรถรสในการชมสมบูรณ์ขึ้น และได้ความรู้ที่ถูกต้อง และเป็นจริงมากกว่า ดีกว่าที่จะเดินไปดูเอง อยากดูตรงไหน ก็ดู ก็แล แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างไร
  • ผมเห็นที่ญี่ปุ่นนี่เขามีทั้งแบบไกด์เป็นคนสำหรับคนมีสตางค์ กับไกด์พกพา สำหรับคนเบี้ยน้อย หอยน้อย ซึ่งผมคิดว่าเป็นความคิดที่ดีไม่น้อยทีเดียว แล้วสามารถทำให้เกิดขึ้นในบ้านเราได้ไม่ยาก
  • เขาใช้ ซาวด์อเบ้าท์ ครับ บันทึกลงเทป หรือไม่สมัยนี้ก็บันทึกลง mp3 โดยให้เช่า พร้อมมัดจำ จากนั้นก็เปิดเครื่องเล่นไกด์ฉบับพกพานี่แหละครับ ที่จะแนะนำ เส้นทางทุกอย่าง และอธิบายทุกภาพที่เห็น
  • พอใช้เสร็จก็เอากลับมาคืน รับเงินมัดจำกลับไป ซึ่งดีกว่าที่เราจะไปเดินดุ่มๆ ได้เห็นแต่ไม่รู้ไม่เข้าใจครับ
  • ที่นี่จะมีสองภาษา คือภาษาญี่ปุ่น กับภาษาอังกฤษ ก็สะดวกดีครับ
  • น่าจะมีคนมอง และพัฒนาเรื่องนี้ไปใช้กับสถานที่ท่องเที่ยวในบ้านเราบ้างนะครับ
  • ผมเคยวนเข้าไปขับรถเล่นในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยพาแม่ยายและลูกสาวของแม่ยายพร้อมทั้งหลานๆของแม่ยายไปเที่ยว อีกครั้งก็ที่กำแพงเพชรครับ ทั้งสองครั้ง เป็นการขับรถเข้าไปดูจริงๆ เพราะนอกจากการดูแล้ว ไม่รู้เรื่องอะไรเลย วนไปวนมา จนเวลาผ่านไปพอสมควรแล้วก็ขับรถกลับ ถือเป็นการท่องเที่ยวที่เพลิดเพลินแต่ไม่ได้ความรู้ครับ
- ขอบคุณมากค่ะที่เก็บบรรยากาศงานราชพฤกมาฝาก - ปริ๊นข้อความที่ฝากถึง ผศ.ดร.ปาจรีย์ นำเรียนให้แล้วค่ะ - ดูท่านดีใจ และก็ตื่นเต้นมากด้วยที่มีลูกศิษย์ฝากความคิดถึงมาให้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท