ทักษะชีวิต จิตอาสา พัฒนาอาชีพ ตามไปดู..การเสริมสร้างการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนภาคใต้ (๕)


" การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้รักษ์วัฒนธรรมปักษ์ใต้ "...

                 

                        

                          20090119150904_158 

         ตอนที่ ๕ ของการถอดบทเรียนจากเวทีตลาดนัดจัดการความรู้ของเยาวชนในท้องถิ่นภาคใต้ ของ สรส.ด้วยความสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ครั้งที่ ๑ ณ โรงแรมลิกอร์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๖-๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ จะเล่าประสบการณ์การพัฒนาอาชีพเยาวชนเรื่อง " การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้รักษ์วัฒนธรรมปักษ์ใต้ "...

           ในภาคใต้ "โนราห์เด็ก" คือศิลปะโนราห์ปักษ์ใต้ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งถือเป็นฐานปฏิบัติฝึกซ้อม และเป็นแหล่งชุมนุมสะสมความดี กลุ่มเยาวชนจากตำบลวัดจันทร์ อำเภอสทิ้งพระ จ.สงขลา จะได้ช่วยกันเล่า "โนราห์เด็ก" ..

           น้องเจมส์ ผู้นำของสมาชิก "โนราห์เด็ก" ได้ไปฝึกรำที่อำเภอควนเนียง แล้วมาสอนเด็กๆ ซึ่งล้วนมีถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ในละแวกตำบลใกล้ๆ เช่น บ่อแดง บ่อโด ม่วงงาม ซึ่งจะค่อยๆเข้ามารวมตัวกันเอง ทั้งโดยเพราะเพื่อนชักชวน หรือด้วยใจรัก แต่เมื่อเริ่มฝึกจนรำเป็นแล้ว กลับมีปัญหาเรื่องเครื่องแต่งตัวชุดรำและเครื่องดนตรี ต้องซื้อ ต้องเช่าชุดละหลายร้อยบาท....

                         20090525112903_118

          น้องเจมส์ จึงไปฝึกทำเองจากครูที่อำเภอควนเนียง ครูภูมิปัญญาท่านนี้ เป็นทั้งครูสอนรำโนราห์และสอนทำเครื่องโนราห์ด้วย ในที่สุดสมาชิกกลุ่ม "โนราห์เด็ก"เริ่มทำเครื่องโนราห์ใช้เองได้มาหลายปีแล้ว ด้วยวัสดุที่ไม่แพง เครื่องชุดหนึ่งจึงมีต้นทุนเพียงประมาณ ๓,๐๐๐ บาท เปรียบเทียบกับกรณีที่ต้องซื้อเครื่องชุดละ ๑๐,๐๐๐ บาท

          ปัจจุบัน กลุ่ม "โนราห์เด็ก" ซึ่งแต่เดิมมีสมาชิกเพียง ๗ คน ในระดับชั้น ป.๓-ป.๔ ได้เพิ่มเป็น ๔๐ คน มีระดับมัธยมด้วย แม้ว่าสมาชิกบางคนจะเติบโตแล้ว ยังคงสมัครใจเป็นสมาชิกอยู่ เพื่อช่วยฝึกหัดเด็กรุ่นน้องๆ โดยใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดอย่างสม่ำเสมอด้วยใจรักอย่างแท้จริง

           กลุ่ม " โนราห์เด็ก " นี้เปิดกว้างสำหรับทุกคนแต่ มีเงื่อนไขว่า ถ้าเข้ากลุ่มแล้ว ต้องปฏิบัติตามข้อห้ามเรื่องสิ่งเสพย์ติด เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน รวมทั้งการวางตัวและการมีมารยาทในสังคม ด้วยเหตุนี้ ทำให้พ่อแม่ของเด็กๆ เกิดความไว้วางใจ นำลูกๆของตนที่มีใจรักศิลปะด้านนี้ เข้ามาฝากหัดรำโนราห์ที่นี่อย่างต่อเนื่อง

          ด้วยความที่มีจิตอาสา กลุ่ม "โนราห์เด็ก" จะออกไปแสดงตามงานสาธารณกุศลตามที่มีการขอมา และมีองค์กรบางแห่ง เช่น สสส.ได้อนุเคราะห์ให้ทุนมาสร้างเครื่องชุดรำ ๑๐ ชุด เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปะนี้...ความยั่งยืนของวัฒนธรรมท้องถิ่นจึงย่อมต้องการความร่วมมือร่วมใจทั้งจากชุมชนในท้องถิ่นและบุคคลภายนอกที่มองเห็นคุณค่าด้วย

                                    ---------------------------------

                

              

 

                            

       

            

หมายเลขบันทึก: 263286เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท