เฉิงตู เมืองเอกอันยิ่งใหญ่แห่งมณฑลเสฉวน (2) ทะเลสาบเต๋อซีกับจามรีขนนุ่ม


เฉิงตู เมืองเอกอันยิ่งใหญ่แห่งมณฑลเสฉวน (2) ทะเลสาบเต๋อซีกับจามรีขนนุ่ม

ทะเลสาบเต๋อซี (Dexi Lake) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงเกือบ 3,000 เมตร เป็นทะเลสาบสีเขียวเทอคอยซ์แต่ เลื้อยยาวไปตามแอ่งหุบเขา เป็นภูมิทัศน์อันยิ่งใหญ่ตระการตา ผิวน้ำราบเรียบปราศจากริ้วคลื่นหรือแท่งตอไม้ สีของทะเลสาบเข้มสดใส เงาสะท้อนจนดูราวเป็นกระเบื้อง

ทะเลสาบเต๋อซีเป็นผลพวงจากการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2478 ซึ่งได้กลืนสิ่งก่อสร้างและสรรพชีวิตให้หายไปในพริบตา ความงามของธรรมชาติบางครั้งก็แฝงไว้ด้วยความโหดร้าย รอบๆทะลสาบมีบริการให้เช่าจามรีเพื่อขี่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วย

จามรีมีจุดเด่นคือ มีขนยาวมากและละเอียดอ่อนสีขาว หรือสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ หรือสีขาวเฉพาะบริเวณสวาบจะมีสีดำห้อยยาวลงมาเกือบถึงพื้น ช่วงเขากว้างมาก หางยาวเป็นพู่ จามรีจะพบกระจายพันธุ์ในเขตเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของเอเชียกลาง ในที่ราบสูงทิเบต และทางตอนเหนือ ไปจนถึงมองโกเลียและรัสเซีย ซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศหนาวเย็น จามรีที่มีอยู่โดยมากเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็มีจามรีป่าจำนวนหนึ่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นชนิดย่อยต่างหาก เรียกว่า Bas  mutus

จามรีเป็นสัตว์ที่มนุษย์ผูกพันมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะชนพื้นเมือง เช่น ชาวทิเบต ชางภูฏาน ชาวเซอร์ป่า เป็นต้น มีการเลี้ยงในฐานะปศุสีตว์ มีการบริโภคเนื้อ และนมของจามรีเป็นอาหาร อีกทั้งขนของจามรีก็ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และใช้เป็นสัตว์พาหนะ ซึ่งจามรีสามารถบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนัก และสามารถใช้เป็นพาหนะในการเดินขึ้นเขาหรือที่ราบสูงได้เป็นอย่างดี จามรีเป็นสัตว์ค่อนข้างเชื่อง แต่มักจะตื่นกลัวคนแปลกหน้า

จามรีเป็นสัตว์มงคลคู่บ้านคู่เมืองของธิเบต ซึ่งชาวทิเบตโบราณเชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งโชคลาภ ขจัดสิ่งชั่วร้ายให้แก่ผู้สวมใส่ อีกทั้งเขาจามรีมีความเย็นจึงมีความเชื่อว่าสามารถช่วยดับพิษร้อนในร่างกายได้ ส่วนความเชื่อของคนไทยตั้งแต่โบราณกาลเชื่อว่าการสวมใส่กำไลมงคลจะนำพากำไรมาสู่ผู้สวมใส่ ทำให้ทำมาค้าขึ้น เงินทองไม่ขาดมือ นำโชคลาภมาให้ผู้สวมใส่ไม่ขาดสาย

จามรีไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทย แต่ทว่าคนไทยมีความรับรู้เกี่ยวกับจามรีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  อยุธยา เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าเรื่องราวเกี่ยวกับจามรีเผยแพร่เข้ามาผ่านการเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาซิกซ์ และศาสนาพุทธจากประเทศอินเดีย หรือผ่านเส้นทางการค้าของพ่อค้าชาวอินเดีย อาหรับ และจีน ที่มีการผลิตผ้าขนสัตว์จากจามรี จะเห็นได้ว่า ขนจามรีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบในโบราณราชประเพณีของราชสำนักสยามหลากหลายประการ เช่น

พระแส้จามรี 
หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นสัญลักษณ์แสดงพระราชอำนาจของกษัตรืย์ และยังใช้เป็นส่วนประกอบของคชาภรณ์หรือเครื่องประดับช้างคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พู่หู ทำจากขนหางจามรีสีขาว ใช้สำหรับห้อยจากผ้าปกตระพองลงมาจนถึงหูทั้งสองข้าง

ในกระบวนพยุหบาตราทางชลมารค ขนของจามรีใช้เป็นเครื่องประกอบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ในส่วนที่เป็นพู่ห้อย ปรากฏอยู่ในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร 

   สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย

งามช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์

ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

นอกจากนี้ขนจามรียังใช้เป็นพู่ยอดประดับบนหมวกของทหารตำรวจและราชองครักษ์ในพิธีสวนสนาม และเป็นส่วนประกอบของเครื่องแขวนตามประตูหน้าต่าง และเป็นเครื่องประดับอาวุธจำพวกหอกและทวนตามตำราพิชัยสงคราม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้นิพนธ์ไว้ในโคลงโลกนิติ โดยนำลักษณะนิสัยของจามรีมาเปรียบเทียบกับอุปนิสัยของคนเรา เพื่อเป็นคติสอนใจ ดังนี้

จามรีขนข้องอยู่   หยุดปลด

ชีพบ่รักรักยศ  ยิ่งไซร้

สัตว์โลกซึ่งสมมติ  มีชาติ

ดูเยี่ยงสัตว์นั้นได้  ยศซ้องสรรเสริญ

ขอขอบคุณ

  • ข้อมูลเกี่ยวกับจามรีจากอินเทอร์
  • คุณนวลแห่งTeam Travel Service จัดหาทริปดีๆ
  • ไกด์ดรีมแห่ง Let's go อำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว
  • บันทึกต่อไป

    เฉิงตู เมืองเอกอันยิ่งใหญ่แห่งมณฑลเสฉวน (3) จิ่วจ้ายโกวสถานที่ท่องเที่ยว ระดับ AAAAA

     

หมายเลขบันทึก: 718170เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2024 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2024 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท