เรียนโครงงานกับครูชำเลือง ตอนที่ 2


ทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่มทำโครงงานเดียวหรือมากว่า

เรียนโครงงานกับครูชำเลือง

ตอนที่ 2 (วางแผนโครงงาน)

      มาจนถึงวันนี้ คำว่า ยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้น และทำให้มีความเท่าเทียมกัน ยังเป็นความหวังที่อยากจะได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลง หรือว่าเพียงแค่ได้เห็นภาพจริง/ภาพลวง (นักเรียนทุกคนมีความแตกต่างกัน  มีความสามารถไม่เท่ากัน มีความสนใจไม่เหมือนกัน ให้ได้เรียนรู้วิชาพื้นฐานทุกคน ให้เขาได้เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติมตามความถนัด  ตามความสามารถ โดยการตัดสินใจของนักเรียนเอง)  จึงจะเรียกว่า   นักเรียนเป็นสำคัญ  ในตอนที่ 1 ผมได้เล่าถึงลักษณะของรายวิชาโครงงานในหลักสูตรเก่ามาจนถึงปัจจุบัน ในตอนที่ 2 นี้ จะขอนำประสบการณ์ในการสอนวิชาโครงงานซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า การจัดการเรียนรู้โครงงาน ความเป็นจริงผมเปิดสอนวิชาเพิ่มเติมในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รายวิชาโครงงานศิลปะ รหัสวิชา ศ 30226 มาโดยตลอด นักเรียนจะได้เลือกเรียนวิชาโครงงานตามความสมัครใจ แต่มาระยะหลัง ๆ จะเหลือแต่นักเรียนที่มีระดับความสามารถปานกลาง-อ่อนได้เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติมนี้ แนวคิดในการจัดหลักสูตรคือ เด็กเก่ง เรียนวิชาเพิ่มเติมมาก ๆ และเด็กอ่อน เรียนวิชาพื้นฐานมาก ๆ ในส่วนตัวผมยังมีความเชื่ออย่างนั้น ส่วนคนอื่นคิดอย่างไร ผมขอเคารพในความคิดส่วนบุคคล ไม่อาจที่จะกล่าวได้ใน

        ในแต่ละปี จะมีนักเรียนชั้น ม.3 เลือกมาเข้าเรียนวิชาโครงงานกับผมประมาณ 30 คน (อาจจะมีการเข้า ออกอีกบ้างตามกฎเกณฑ์) เมื่อเริ่มเรียนผมแจ้งนักเรียนว่า วิชาโครงงานที่นักเรียนมาเรียนรู้กับครูในรายวิชานี้ เป็นวิชาที่นักเรียนจะได้นำความรู้ ความสามารถ ความสนใจ ความถนัดออกมาใช้ การเรียนรู้มี 3 รูปแบบ คือ 1) เรียนรู้จนสามารถ บอกได้ อธิบายได้   2) เรียนรู้แล้วสามารถปฏิบัติได้ อย่างเป็นขั้นตอน  และ  3) ฝึกหัดจนชำนาญถึงขั้นเป็นอาชีพ เห็นคุณค่าของชีวิต  ส่วนนักเรียนจะไปได้แค่ไหนสุดแล้วแต่ความสามารถเฉพาะตัวที่ทุกคนมีมาไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน สิ่งที่นักเรียนมีเท่ากันในการเรียนวิชานี้คือนักเรียนมีโอกาสที่จะเลือกจัดทำโครงงานตามความสมัครใจของตนเองโดยแท้จริง

    ผมแจ้งผลการเรียนรู้ที่คาดหวังในการเรียนวิชาโครงงานให้นักเรียนทราบ ดังนี้               

       1. อธิบายหลักการและวิธีการเกี่ยวกับโครงงาน        

       2. วิเคราะห์ลักษณะของโครงงานและเลือกโครงงานได้อย่างเหมาะสม        

       3. วางแผนการทำงาน จัดลำดับขั้นตอนในการทำงาน        

       4. สามารถปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่วางแผนไว้ด้วยความชื่นชม

       5. ประเมินผลงาน หาจุดเด่น จุดด้อยได้        

       6. ปรับปรุงผลงานให้มีคุณภาพตามทีกำหนดไว้        

       7. เขียนรายงานอธิบายวิธีการจัดทำโครงงานของตนเอง  

       8. นำเสนอผลงานให้เห็นภาพตั้งแต่เริ่มต้นจนงานสำเร็จ  

       9. รายงานผลการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ได้จริง

       ต่อไปนี้ขอนำเอาภาพรวมของการเรียนรู้กับครูชำเลือง (เท่านั้น) มาเล่าโดยนำมาจากประสบการณ์จริงครับ         

 1. อธิบายหลักการและวิธีการเกี่ยวกับโครงงาน ในความคาดหวังข้อนี้ ผมให้นักเรียนศึกษาจากเอกสารเกี่ยวกับคุณลักษณะของโครงงาน ซึ่งจัดทำเป็นเอกสารให้นักเรียนศึกษา ค้นหาอ่านได้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ความหมายของโครงงาน ประเภทของโครงงาน ลักษณะของการจัดทำโครงงาน ซี่งอยู่ในการเล่าเรื่อง ตอนที่ 1 นั่นเอง ผมย้ำในข้อคิดที่ว่า โครงงานจะต้องมาจากความคิด วิเคราะห์ของนักเรียนเอง นะ   

 2. วิเคราะห์ลักษณะโครงงานและเลือกโครงงานได้อย่างเหมาะสม            

    2.1 ผมแนะนำให้นักเรียนวิเคราะห์ตนเอง  เพื่อค้นให้พบว่า ตนเองมีความสามารถที่จะทำโครงงานประเภทใด ใน 4 ประเภทคือ ประเภทพัฒนางาน  ประเภทค้นคว้าทดลอง  ประเภทสิ่งประดิษฐ์  และประเภทสืบค้นหรือสำรวจ แนะนำให้นักเรียนเขียนชื่องานที่นักเรียนมีความสามารถทำได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เข้าเรียนชั้น ม.1 หรือก่อนหน้านั้นก็ได้ เรียงกันลงมาจะได้กี่สิบงานมากแค่ไหนก็ได้  ส่วนเนื้อที่กระดาษทางขวามือ แบ่งออกเป็น 4 ช่อง ช่องที่ 1 เขียนว่า ประเภทพัฒนา  ช่องที่ 2 เขียนว่า ค้นคว้าทดลอง  ช่องที่ 3  เขียนว่า สิ่งประดิษฐ์  และช่องที่ 4 เขียนว่า สำรวจ/สืบค้นนักเรียนบางคนสามารถเขียนชื่องานที่ตนเองมีความสามารถทำได้มากกว่า 25 อย่าง (มีคุณภาพ) ให้จำแนกออกมาว่า งานนั้น จัดอยู่ในประเภทโครงงานใด เช่น งานวาดภาพ อยู่ในประเภทสิ่งประดิษฐ์  งานสำรวจแหล่งบุคคลเพลง อยู่ในประเภท สืบค้น  งานทดลองเกี่ยวกับเทียนไข อยู่ในประเภท การศึกษาค้นคว้า  และงานร้องเพลงแหล่  เป็นประเภทพัฒนา เป็นต้น ให้นักเรียนจัดกลุ่มทุกงาน และวิเคราะห์ว่า นักเรียนมีชื่องานอยู่ในกลุ่มประเภทใดมากที่สุด เช่น ถ้าชื่องานที่เขียนส่วนใหญ่อยู่ใน ประเภทสิ่งประดิษฐ์ แสดงว่า นักเรียนความสามารถในการจัดทำโครงงาน ประเภทนั้น        

    2.2 ต่อไปให้นำเอางาน ที่อยู่ในประเภทที่ตนถนัดมาวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า งานใดตรงกับความรู้ ความสามารถของตนมากที่สุดแนะนำให้นักเรียนเขียนชื่องานเฉพาะประเภทโครงงานที่มีความสามารถ ในที่นี้คือ สิ่งประดิษฐ์ที่วิเคราะห์ได้ในครั้งแรก นำเอาชื่องาน มาเขียนเรียงต่อกันตั้งแต่งานที่ 1 จนถึงสุดท้าย เช่น มีอยู่ 7 งาน ได้แก่ 1) งานวาดภาพด้วยดินสอ 2) งานประดิษฐ์ดอกไม้  3) งานเขียนสีบนขวดกาแฟ  4) งานระบายสีโปสเตอร์  5) งานภาพปะติด  6) งานร้องเพลงอีแซว  7) งานแต่งคำประพันธ์  ต่อจากนั้นที่ด้านซ้ายของกระดาษ แบ่งออกเป็น 10 ช่องเล็ก ๆ เพื่อใส่คุณสมบัติ ของเรา ได้แก่  1) ความสนใจ   2) ความถนัด   3) ความสามารถ  4) ประสบการณ์   5 ) ความพร้อม  6) ประโยชน์  7) ประหยัด  8) ปลอดภัย  9) ได้ชิ้นงาน  10) ไม่ซับซ้อน  ผมแนะนำให้นักเรียนคิดถึงความสัมพันธ์ของชื่องานกับคุณสมบัติของตนเองในแต่ละข้อ เช่น งานที่ 1 การวาดภาพด้วยดินสอ พิจารณา ตัวงานกับตัวนักเรียน ตั้งแต่ 1 จนถึง 10 ถ้าเป็นจริง ให้ใส่ 1 คะแนน  ถ้าไม่เป็นจริง ให้ใส่ 0 คะแนน ทำจนครบ 7 ผลงาน และครบคุณสมบัติทั้ง 10 ประการ (อาจจะวิเคราะห์เพียง 5 ประการก็ได้) เมื่อทำจนครบทุกงานแล้ว รวมคะแนนว่าทุกงานมีคะแนนเท่าไร  เช่น งานร้องเพลงอีแซว ได้คะแนนสูงสุด ได้ 10 คะแนนเต็ม แสดงว่างานเพลงอีแซว เป็นงานที่เรามีความสามารถ ครูแนะนำนักเรียนว่า ควรที่จะทำโครงงานเกี่ยวกับเพลงอีแซว ต่อไป     

    

3. วางแผนการทำงาน ลำดับขั้นตอนในการทำงานลำดับขั้นตอนในการวางแผนทำงาน มีดังนี้             

     3.1 ชื่อโครงงาน (ตั้งชื่อให้น่าสนใจ สอดคล้องกับประเภทโครงงานและงานที่เลือก            

     3.2 หลักการและเหตุผล (บอกความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะทำ บอกเหตุผลว่าทำไมต้องทำ)             

    3.3 วัตถุประสงค์ของโครงงาน (บอกความคาดหวังว่าทำแล้วได้อะไร ทำเพื่ออะไร)            

    3.4 เป้าหมาย (บอกปริมาณว่า จะทำงานกี่ชิ้น และบอกถึงคุณภาพว่า อยู่ในระดับใด)            

    3.5 ระยะเวลาในการดำเนินงาน (บอกระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนงานแล้วเสร็จ)            

    3.6 ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน (บอกขั้นตอนของการทำงานโดยย่อ) 

    3.7 กำหนดการปฏิบัติงาน (จัดทำตารางหรือปฏิทินการปฏิบัติงานตามขั้นตอน) ได้แก่ การทำงานหรือรายการปฏิบัติ  ระยะเวลา สถานที่ และผู้รับผิดชอบ            

    3.8 งบประมาณ (บอกค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงงานทั้งหมด)            

    3.9 วิธีประเมินผลการปฏิบัติงาน (เพื่อการตรวจสอบคุณภาพของงาน นำไปปรับปรุง)            

    3.10 ผลที่คาดว่าจะได้รับ (ให้เขียนบอกถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อทำโครงงานเสร็จ)            

    3.11 ชื่อผู้รับผิดชอบโครงงาน (บอกชื่อสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด)            

    3.12 ชื่อครูที่ปรึกษาโครงงาน (เขียนชื่อครูที่ปรึกษาทุกท่านที่เป็นที่ปรึกษาโครงงาน)

        ถึงตรงนี้ ผมให้กรอบแนวคิดแก่นักเรียนไปว่า  การวางแผนจะต้องกระทำโดยละเอียด ดังนั้น นักเรียนควรใช้เวลา และเขียนบอกในสิ่งที่นักเรียนจะทำงานให้ได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์  โดยเขียนวางแผน จำนวน 3-5 หน้ากระดาษ และบอกให้คำแนะนำนักเรียนว่า  ในการจัดทำโครงงานของนักเรียนนั้นมีทางเลือกได้อีก 2 ทางคือ

       1.   จัดทำโครงงานเพียงคนเดียว  หรือทำเป็นกลุ่ม (3-5 คน) หรือตามความจำเป็น

       2.   จัดทำโครงงานเพียงโครงงานเดียว หรือมากกว่า 1 โครงงาน คือ 2-3 โครงงานก็ได้ 

(ในตอนที่ 3 ผมจะเล่าถึงขั้นตอนในการปฏิบัติงานต่อไป)

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 99890เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • การให้เด็กเรียนรู้จากการทำโครงงาน ตามความสนใจจะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น  เพราะเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงดว้ยตนเอง
  • วันหลังนำเด็กมาเขียนเล่าวิธีทำโครงงานของเขาในบันท฿กของครูชำเลืองบ้างนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท