บันทึกปลัดกระทรวง 8 - การศึกษาภาคบังคับเก้าปี


ถ้าถามว่างานในหน้าที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีเรื่องหนักใจบ้างหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่ามี
  ถ้าตอบว่าไม่มีก็เหมือนโกหก   หรือมิฉะนั้นก็แสดงว่าไม่ค่อยได้ทำงานอะไรมากมายนัก  ถามว่า  หนักใจเรื่องอะไร   คงต้องตอบว่าเรื่องงาน   งานที่หนักใจคือเรื่องการศึกษาพื้นฐานที่   “ต้องจัดให้
  บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้
  อย่างทั่วถึง   และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”    และเรื่องการศึกษาภาคบังคับที่กำหนดไว้ใน
  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติว่า   “ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี    โดยให้เด็กซึ่งมี
  อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้
  ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ…”    ทั้งสองเรื่องนี้ต้องดำเนินการให้ได้ภายในห้าปี   นับจาก
  วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใช้บังคับรัฐธรรมนูญฯ   ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม
  2540   ดังนั้น วันที่ครบห้าปี ขึ้นปีที่หก  เป็นวันแรก  คือ 12 ตุลาคม 2545  แปลว่าจะต้องจัด
  การศึกษาขั้นพื้นฐานสิบสองปีให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายให้ได้ในเดือนตุลาคม
  2545    และต้องจัดการศึกษาภาคบังคับเก้าปีให้ได้ในปี 2545  เช่นเดียวกัน   ตุลาคม 2545
  ถ้านับจากวันนี้ไป (มิถุนายน 2543) เป็นเวลาเพียงสองปีกับอีกสาม-สี่ เดือนเท่านั้นเองจะทำได้
  ทันหรือไม่   เอาเพียงเรื่องปริมาณอย่างเดียวก็เป็นที่หนักใจของทุกฝ่าย และถ้าให้ “มีคุณภาพ”
  ด้วย   ก็ยิ่งหนักเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว    และถ้ารวมเอาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาด้านอื่นด้วย   เช่น
  ปฏิรูปการเรียนรู้ ความยากลำบากคงเพิ่มเป็นอีกหลายเท่าทีเดียว

          ในตอนแรกนี้จะขอกล่าวเรื่องการศึกษาภาคบังคับเก้าปี   ในปี 2545 ก่อน  จะทำได้หรือไม่
  อย่างไร   คำว่าการศึกษาภาคบังคับเก้าปี หมายถึงการจัดการศึกษาให้ทุกคนได้เรียนตั้งแต่ระดับ  ประถมศึกษาหกปี  รวมกับมัธยมศึกษาตอนต้นสามปี รวมกันเป็นเก้าปี   ในสภาพปัจจุบันได้มีการ
  ส่งเสริมให้คนได้เรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นกันอยู่แล้วอย่างกว้างขวาง   ผู้จบประถมศึกษา
  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เรียนต่อมัธยมศึกษา แปลว่ามีไม่เกินร้อยละ 10 ไม่ได้เรียนต่อ  แต่ตาม
  สถิติพบว่าผู้ที่เรียนต่อนั้นมีจำนวนหนึ่งไม่น้อยเลยออกกลางคัน โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาส
  ประมาณว่าที่เรียนต่อร้อยคน เรียนได้จบมัธยมศึกษาปีที่สาม ประมาณ 90 คน ผู้ที่ไม่ได้เรียนต่อ
  และผู้ที่ออกกลางคันคือกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องให้คงอยู่ให้ได้ ถ้าจะจัดการการศึกษาภาคบังคับ
  ให้ได้เก้าปี

          ปัญหาไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ในระดับประถมศึกษาเองพบว่าประชากรวัยเรียนร้อยคน เรียนจนถึงชั้นประถมปีที่หก   และจบออกมาเพียงร้อยละ 90 ที่ตกหล่นหายไประหว่างทางถึงร้อยละ 10
  เอาเป็นว่าปัจจุบันประชากรวัยที่ควรจะเรียนเก้าปี ขณะนี้ได้เรียนประมาณร้อยละ 80 ไม่มากกว่านี้ ปัญหาที่จะต้องพยายามให้ทุกคนได้เรียนได้ครบถ้วน คือปัญหาของประชากรร้อยละ 20 ที่กล่าวถึง นี่เอง

          ที่จริงก็มีการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนได้เรียนถึงชั้นมัธยมศึกษา ตอนต้นกันอย่างทั่วถึง และ ไม่เก็บค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่เด็กอีกราวร้อยละ 20 ก็ยังไม่ได้เรียนหากจะจัดการศึกษาภาคบังคับ เก้าปีให้ได้  ก็จะต้องหาทางช่วยเหลือกลุ่มนี้ให้กลับมาเรียนให้ได้ เขามีปัญหาอะไรกันจึงไม่ได้
  เรียน   ปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกันกับเรื่องใหม่ ๆ เพียง 2-3 เรื่องเท่านั้น ที่คิดว่าเป็นต้นตอสาเหตุ
  ของปัญหา นอกนั้นเป็นส่วนประกอบ ปัญหาสำคัญ ๆ คือ

          1. ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ความยากจนไปเกี่ยวพันกับความด้อยการศึกษา
  ของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย   พื้นฐานสำคัญของกลุ่มนี้คือผู้ปกครอง ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของ
  การศึกษา จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษา มีผู้ปกครองจำนวนมากก็ให้บุตรหลานได้เรียน
  แต่ถ้ามีความจำเป็นอื่นก็อาจให้หยุดเรียน เด็กได้เรียนไม่เต็มที่   ในที่สุดก็หลุดหายไปจากระบบ
  เลยที่เรียกว่าออกกลางคัน   บางคนอพยพโยกย้ายไปตามผู้ปกครองที่ย้ายที่ทำกิน   แล้วก็ไม่เข้า
  เรียนอีก  บางคนก็ยากจนจริง ๆ จนไม่สามารถให้เรียนต่อได้ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการไป
  โรงเรียนอีกมาก  เช่น  ปากกา   ค่าสมุด  ดินสอ   เครื่องแต่งกาย   อาหารกลางวัน บางคนโตหน่อย  พอรับจ้างทำงานได้   พ่อแม่ก็ถือโอกาสให้ออกไปทำงานเสียเลย   การแก้ปัญหากลุ่มนี้จึงต้องช่วยเหลือให้เด็กได้มีสิ่ง ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน รวมทั้งอาหาร เสื้อผ้า บางคนอาจรวมถึงการจัดที่พักอาศัย   ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยถ้าต้องช่วยเป็นจำนวนมาก

          2. ปัญหาคนพิการ  มีอยู่ไม่น้อย ราว ๆ ร้อยละ 1-2   ที่มีความบกพร่องทางร่างกายอย่างใด
  อย่างหนึ่ง   เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปเรียน   เป็นอุปสรรคต่อการเรียน   บางทีผู้ปกครอง
  ไม่เข้าใจ   คิดว่าการศึกษาเขามีไว้สำหรับคนปกติ คนพิการไม่ต้องเรียน   ก็เลยไม่ให้เรียน
  เสียเลย ถึงจะเรียนก็เรียนไม่ได้   เพราะโรงเรียนไม่รับหรือครูสอนไม่เป็น จะไปเข้าเรียน
  การศึกษาพิเศษก็ไม่รู้อยู่ที่ไหนอย่างไร เด็กก็เลยไม่ได้เรียน การจะจัดการศึกษาภาคบังคับ
  ให้ครบถ้วน   ต้องเพิ่มบริการการศึกษาพิเศษเพื่อคนพิการให้ทั่วถึงครบถ้วนด้วย

        3. เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ขาดสถานศึกษา เด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่ขาดโอกาส
  ทางการศึกษาโดยสิ้นเชิง   บางครั้งอาจนึกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้   เพราะเรามีโรงเรียนประถม
  ศึกษาถึงสามหมื่นกว่าโรง    กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศแต่ก็ยังมีบางพื้นที่ขาดโรงเรียน
  เป็นพื้นที่ที่มีประชากรน้อย ตั้งโรงเรียนยาก   ตั้งแล้วก็หาครู ไปอยู่ยาก   กลุ่มนี้เมื่อรวมกัน
  มาก ๆ ก็มีจำนวนไม่น้อย มีความพยายามแก้ปัญหาโดยให้ไปเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์
  ก็จัดได้ไม่เพียงพอหลายคนก็ไม่อยากไป คือไม่อยากจากบ้านไปอยู่กับคนอื่น

          4. เด็กที่เร่ร่อน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอนขาดหลักฐาน บางคนก็ไร้สัญชาติ ไม่มี
  สัญชาติไทย   กลุ่มนี้มีทั้งในเมืองและในชนบท เพราะเร่ร่อนไม่มี หลักฐานหลักแหล่ง จึงเป็น
  การยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน   และยากที่จะนำเข้ามาสู่ระบบการศึกษา แต่ก็ได้มีความ
  พยายามกันมาโดยตลอด   จนแม้แต่เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยก็ให้เข้าเรียนที่จริงรัฐธรรมนูญ
  กำหนดว่าให้ทุกคนได้เรียนนั้นหมายถึงคนไทยไม่ใช่คนสัญชาติอื่น    ปัญหาเรื่องนี้จึงไม่ใหญ่
  โตนัก   แต่ถ้าพิจารณาความสำคัญด้านอื่นการให้เรียนก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
  โดยส่วนรวม 

          ที่กล่าวมาทั้งสี่ข้อเป็นปัญหาดั้งเดิม มีอยู่แล้วตั้งแต่จัดการศึกษาภาคบังคับหกปี ยังทำได้
  ไม่ทั่วถึง   เป็นปัญหาพื้นฐานที่จะต้องแก้กันไปอีกนาน พอขยายการศึกษาภาคบังคับเป็นเก้าปี
  ก็จะมีปัญหาใหม่ให้แก้เพิ่มขึ้นอีก   และส่วนนี้แหละที่เป็นเรื่องน่าหนักใจ ในส่วนของเก้าปี
  ปัญหาที่สำคัญคือ

          ในเมื่อเด็กจำนวนหนึ่งเรียนไม่จบประถมศึกษา   ซึ่งมีถึงร้อยละ 10    ถึงแม้จะให้ผู้จบ
  ประถมศึกษาทุกคนได้เรียนต่อหมด   ก็คงยังไม่สามารถทำให้ทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับ
  เก้าปี   จนกว่าจะแก้ปัญหาระดับประถมศึกษาให้ได้เสียก่อน  

          มีความสับสนระหว่างระดับการศึกษา กับการศึกษาภาคบังคับการศึกษาเก้าปี ประกอบด้วย
  ประถมศึกษากับมัธยมศึกษาตอนต้น   บางคนคิดว่าถ้าเป็นการศึกษาเก้าปีก็เป็นประถมปีที่หนึ่ง
  ถึงประถมปีที่เก้า   และต้องจัดอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน   ซึ่งไม่จำเป็นเลย   ที่จริงหากจัดอยู่ใน
  โรงเรียนเดียวกันก็ดี    เด็กไม่ต้องออกจากโรงเรียนมาวิ่งหาที่เรียนใหม่อีก    เมื่อจบประถม
  ศึกษา แต่ระบบโรงเรียนที่มีอยู่เป็นระบบโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา แม้จะมี
  การเปิดโรงเรียนขยายโอกาส คือเปิด ชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา แต่ก็ไม่ทั่วถึง
  ไม่เพียงพอ  ไม่เป็นที่นิยม   จึงมีการหาที่เรียนหลังจากจบประถมศึกษา   หากจะจัดการศึกษา
  ภาคบังคับเก้าปีให้ได้ทั่วถึง ต้องมีระบบประกันโอกาสผู้จบประถมศึกษาให้ได้เรียนมัธยมศึกษา
  ซึ่งก็เป็นเรื่อง ทำได้ยาก เพราะปัญหาที่จะกล่าวถึงในข้อต่อไป

          ยังมีค่านิยมเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โรงเรียนเหล่านี้ผู้บริหารก็ยังมีพฤติกรรม
  ปกป้อง   ไม่เปิดโอกาสให้เด็กทั่วไปได้เข้าเรียน ต้องการเลือกคนเก่ง ๆ โดยมีระบบสอบแข่งขัน
  คัดเลือก เคยถามเสมอว่าถ้าเด็กสอบไม่ได้จะให้เรียนที่ไหน   ก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจน
  การจัดการศึกษาภาคบังคับเก้าปีจะเกิดไม่ได้ถ้ายังมีค่านิยมและการปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ถ้าจะเป็น
  ไปได้จะต้องกำหนดได้ว่าเด็กที่เรียน   ชั้นประถมศึกษาอยู่ เมื่อจบแล้วจะให้ไปเรียนต่อที่ใด
  จึงจะสะดวกที่สุด และมีการส่งต่อนักเรียนระหว่างโรงเรียนประถมศึกษากับมัธยมศึกษา มิใช่
  ให้มีการสอบคัดเลือกใหม่ 

          โรงเรียนมัธยมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาสยังมีไม่ทั่วถึง ทำให้เด็กที่อยู่ห่างไกล  และ
  พื้นที่ที่ทุรกันดาร   ขาดโอกาสทางการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแต่การเปิดโรงเรียนรูปแบบ
  ขยายโอกาสที่ทำกันอยู่ก็มีความซ้ำซ้อนกับโรงเรียนมัธยมศึกษา คือบริการในพื้นที่ใกล้กัน
  ขาดการประสานงาน   และความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนประถมศึกษากับโรงเรียนมัธยม
  ศึกษาที่ต่างสังกัดกัน   จึงทำให้ขาดความทั่วถึง จำเป็นต้องเปิดโรงเรียนขยายโอกาสเพิ่มขึ้น
  แปลว่าให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเปิดสอนได้ทั้งชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียน
  เดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังรอบคอบ มิฉะนั้นจะกลายเป็นปัญหาว่าเปิด
  เท่าไร   ผู้ที่ควรได้รับโอกาสก็ยังไม่ได้รับโอกาสสักที         

          กลุ่มเด็กที่จะต้องช่วยเหลือให้ได้รับการศึกษาเก้าปีอย่างทั่วถึงอย่างจริงจังที่สำคัญยิ่งอีก
กลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มผู้ยากไร้   อยู่ห่างไกลที่จะต้องเอาใจใส่เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างโอกาส
ให้เป็นพิเศษ การช่วยอย่างเสมอภาคกัน คือ ช่วยทุกคน ทุกกลุ่ม เท่า ๆ กันจะทำให้กลุ่มเด็ก
ผู้ยากไร้และเด็กผู้เสียเปรียบขาดโอกาสมากขึ้น   ต้องช่วยเป็นพิเศษจริง ๆ ต้องลงทุนเพื่อการ
  ศึกษาของคนกลุ่มนี้   การทำเช่นนี้ต้องใช้ทรัพยากรและลงทุนไม่น้อย    แต่คงไม่มากเกินไป
  ทั้งหมดต้องอาศัยความจริงใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงจึงจะสำเร็จ

          กล่าวมาถึงตรงนี้อาจรู้สึกว่าไม่เห็นเป็นเรื่องน่าหนักใจแต่ประการใด แต่ที่ผ่านมาหลายเรื่องได้พยายามทำกันมามากแล้วแต่ไม่สำเร็จ    หลายคนเป็นห่วงว่าเป็นเรื่องหนักใจไม่น้อยที่ต้องช่วยให้ทุกคนได้รับการศึกษาเก้าปีอย่างทั่วถึง    เพราะงบประมาณจะไม่เพียงพอ   ดูแล้วไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงเลย    ปัญหาหลักจะอยู่ที่ว่า   ทำอย่างไรให้กลุ่มผู้เสียเปรียบและด้อยโอกาสได้เรียนมากกว่า   บางคนเป็นห่วงเรื่อง รัฐธรรมนูญกำหนดว่ารัฐจะต้องจัดการศึกษา โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเกรงว่าโรงเรียนจะไม่มีเงินเพียงพอมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็เป็น
  เรื่องจริง    แต่ปัญหานี้จะเกิดขึ้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น
  คือไม่ใช่การศึกษา ภาคบังคับแต่ยังเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานเหมือนกัน  

          สิ่งที่เป็นห่วงสุดท้ายคือ เมื่อทำให้เขามาเรียนอยู่ถึงเก้าปีแล้ว ทำอย่างไรเขาจึงจะได้อะไร
  ที่เป็นประโยชน์ติดตัวไปสมดังเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา   คือที่เรียกว่าการศึกษา
  เป็นของปวงชนและทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องมีส่วนเพื่อการศึกษาที่ได้คุณภาพ เรื่องนี้จะเป็น
  ปัญหาใหญ่มากที่ทุกคนต้องช่วยกันร่วมมือกันแก้ไข   รวมทั้งเสนอแนะหาทางออกที่เหมาะสม
  ต่อไป

   พนม พงษ์ไพบูลย์
                                                                    14 มิถุนายน 2543

หมายเลขบันทึก: 99679เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท