แหลงใต้วันละคำ (27) : หัวนา, หัวหมู, บิ้ง, ทำเทือก,....(ว่าด้วยศัพท์การทำนา)


มาแหลงกันเกี่ยวกับคำที่ใช้และพบเกี่ยวกับการทำนาในปักษ์ใต้ กันนะครับ มาเริ่มกันเลยนะครับ รบกวนท่านๆ ช่วยกันนึกคำต่างๆ ด้วยนะครับ บางพื้นที่อาจจะเรียกแตกต่างกันนะครับ เอาทุกคำที่เกี่ยวกับการทำนา ไม่ว่าจะเป็น นาม กิริยา และ อื่นๆ นะครับ

สวัสดีครับทุกท่าน

         วันนี้ลานคำใต้ มาแหลงกันเกี่ยวกับคำที่ใช้และพบเกี่ยวกับการทำนาในปักษ์ใต้ กันนะครับ มาเริ่มกันเลยนะครับ รบกวนท่านๆ ช่วยกันนึกคำต่างๆ ด้วยนะครับ บางพื้นที่อาจจะเรียกแตกต่างกันนะครับ เอาทุกคำที่เกี่ยวกับการทำนา ไม่ว่าจะเป็น นาม กิริยา และ อื่นๆ นะครับ

  • หัวนา (คันนา)

  • บิ้ง (พื้นที่นาที่ล้อมรอบด้วยหัวนา เรียกว่า หนึงบิ้ง)

  • ฉากหัวนา (การถากหญ้าที่คันนาออกเป็นการกำจัดวัชพืช ก่อนจะทำนา และอุดรูรั่วที่เกิดจาก การเจาะของปู หรืออื่นๆ)

  • ป๊ะหัวนา, ป้าหัวนา หรือ ปากหัวนา (การเอาโคลนในนาไปโบกทับที่หัวนาด้านข้าง หลังจากที่ฉากไปแล้ว ให้หนาขึ้น ไม่งั้น หัวนาจะแคบมาก อาจจะส่งผลให้ไปเฉียงคนเจ้าของนากันได้ เรื่องเขตแดน ฮ่าๆๆ)

  • หลึด  หรือ คราบหลึด (ขี้โคลนที่เกาะตามตัว หรือผ้าของเรา ที่ทิ้งรอยคราบเอาไว้ เช่น อาบน้ำแล้วออกไม่หมด หรือว่าซักผ้าแล้วยังมีรอยคราบหลึดติดอยู่)

  • กล้า (ต้นกล้าข้าว ที่ยังอ่อน รุ่นเยาว์ อยู่ ก่อนจะนำไปปักดำเป็นกอๆ ในขั้นต่อไป)

  • หัวหมู (คือเครื่องมือที่ทำหน้าที่ขุดดินหรือทำหน้าที่พลิกหน้าดินจากการไถนา โดยตัวหน้าใบมีดที่ทำหน้าที่กินดินเรียกว่า ผาน)

  • ทำเทือก (เป็นการเตรียมพื้นที่นา ในการไถนาแล้วมีการราดนา หรือคราดนา ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ราด หรือคราด ทำหน้าที่ในการตัดดินออกเป็นชิ้นๆ ให้ละเอียดตอนที่มีน้ำอยู่หรือไม่มีตามแต่ลักษณะของพื้นที่และสภาพ แต่คำว่าเทือกนั้นจะต้องมีนำประกอบด้วยครับ การทำเทือกเป็นการเตรียมพื้นที่ ก่อนจะหว่านเมล็ดพันธุ์ หรือก่อนจะปักดำต้นกล้า หลังจากมีการถอนกล้าไปแล้วครับ)

  • โพง (เป็นเครื่องมือในการวิดน้ำ เมื่อมีน้ำในนามากเกินไป ทำจากปี๊บสังกะสี)

  • .....อื่นๆ เชิญท่านบรรเลงครับ รับรองว่ามีอีกเพียบครับ...อิๆๆ

ขอบคุณมากๆ นะครับ

เม้ง

หมายเลขบันทึก: 99520เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 04:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • ลูบเทือก (การใช้ไม้ในการเกลี่ยหน้าดิน ระดับผิวโคลนให้เรียบเพื่อให้การดูแลต้นกล้าได้ง่าย และไม่มีน้ำขังตลอดการปลูกต้นกล้า)
  • หรองน้ำ (ร่องน้ำ ที่ทำให้น้ำไหลลงมาอยู่ในร่องเพื่อสะดวกในการใช้โพง วัดน้ำออกจากบิ้งนา)
  • แสก (อุปกรณ์สำหรับหาบเลียงข้าว จากที่นาเข้าบ้าน ทำจากหวาย หรือไม่ไผ่คลาน ครับ, ไม้ไผ่คลาน เป็นไม้ไผ่ที่เลื้อยไปตามผิวดิน)
  • ไว้จะมาเพิ่มให้อีก เวลานึกออกนะครับ
หวัดดีคะ เด็กใต้คะ แล้วก้อเด็กใหม่ในบล๊อคนี้ด้วยคะ ได้อ่านคำใต้แล้วคิดถึงตอนหน้านา ^_^
ไม่มีรูป
หนูตะเภา

สวัสดีคุณหนูตะเภา

  • เชิญนั่งก่อนนะครับ ยินดีต้อนรับนะครับ อาจจะสมัครแล้วเข้าระบบก่อนแสดงความเห็นก็ได้คับ จะได้เข้าไปเยี่ยมได้ด้วยนะครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ ที่คิดถึงหน้านา..ร่วมกันเสนอคำต่างๆ คำบ้านเรา ที่ห่างหายไปเยอะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

ขาดอุปกรณ์สำคัญไปอีกอย่างครับ "แม่งัว" ไงครับ ไม่มีอันนี้ละยุ่งเลย

ก่อนจะขนเลียงข้าวใส่แสกก็ต้อง"เก็บข้าว"ก่อน แถวบ้านไม่เรียกเกี่ยวข้าวเพราะไม่ใช้เคียว แต่จะเก็บข้าวโดยใช ้"แกะ" ครับ คุณเม้งรู้จักไหมครับ ถ้ารู้จักหรือหารูปมาลงได้น่าจะดีครับ 

เวลาเก็บข้าวในนาที่มี"ปลัก"อยู่สนุกมากครับ เพราะมันจะตามมาด้วย"ปลาบก"ที่อยู่ในปลัก ก็จะทำการ "วิดปลัก"กันหล่าว ชาติหนุกจริงนิครับ 

อ้อ คนที่ไม่มีนาแต่จะปลูกข้าวในที่ราบ ในสวนต่างๆเช่น สวนยาง ก็ไมีมีการไถนา แต่จะใช้วิธีการหาไม้ขนาดพอดีมือมาตัดปลายให้แหลมแล้วใช้ทิ่มในดินพอเป็นรูก็หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไป ใช้เท้าเขี่ยดินกลบเป็นอันเสร็จพิธี ลักษณะนี้แถวบ้านเรียกว่า "หน่ำข้าว" ครับ

P

สวัสดีครับอาจารย์

  • เชื่อไหมครับ ว่าตั้งแต่ผมคุยกับอาจารย์ ผมไม่คิดว่า อาจารย์อยู่บ้านข้างๆ บ้านผมเสียอีกนะครับ เพราะการใช้คำ และรูปแบบเหมือนกันมากๆ นะครับ ทำให้ผมรู้สึกอยากสนใจความเป็นมาของคนสะกอม มากๆ เลยครับ
  • แกะ หรือว่า แกก ผมก็เคยเก็บข้าวด้วยแกกครับ สนุกมากๆ ครับ สิ่งที่อาจารย์เล่ามาผมนึกภาพเห็นหมดเลยครับ ยอดเยี่ยมมากๆ นะครับ
  • หน่ำข้าว นี่จะสำหรับการปลูกข้าวไร่ น้ำน้อย แต่ได้รสกลิ่นของข้าวตอนหุงหอมมากๆ นะครับ เหมือนกับว่า ใช้น้ำน้อย แล้วความเข้มข้นของสารกลิ่นหอมที่เมล็ดข้าวมีอยู่มากครับ
  • หรอยๆ ครับ ข้าวที่เก็บได้ เราจะเอาไปสี เรียกว่า สารข้าวใหม่  เวลาหุงใช้น้ำน้อยกว่า สารข้าวเก่า เพราะว่า ปริมาณน้ำในเมล็ดอาจจะมีอยู่มากกว่าสารข้าวเก่า และความแข็งของเมล็ดสาร (เม็ดสาร) จะน้อยกว่าสารข้าวเก่าก็ได้
  • แต่หากสีข้าวเปลือกแล้วได้ข้าวสาร ที่เป็นผง จะเรียกว่า ข้าวผง ห้าๆๆ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ...คุณเม้ง

  • ก่อนที่จะ "ทำเทือก ต้อง "ไถดะ" คือการไถพื้นที่ทำนาครั้งแรก
  • เมื่อ ไถดะ เสร็จ ตากดินไว้ระยะหนึ่ง แล้วจึงจะ "ไถแปร" ไถครั้งที่ 2 
  • "คอรวง" คือก้านชูรวงข้าว (ข้าวปีนี้สมบูรณ์จังแลคอรวงเท่าๆ "เลาแกะ"
  • "เลาแกะ" คือด้ามที่ใช้จับของ "แกะ" ทำด้วยไม้ไผ่ต้นเล็กๆ
  • "คอเลียง" คือการที่นำ"คอรวง"มารวมกันแล้วใช้ "ซัง" ผูกมัดรวมกันเรียกว่า "เลียง" ตรงที่เราใช้ "ซัง"ผูกเรียกว่า "คอเลียง"
  • "ลอม" คือการนำเอาเลียงข้าวมากองเป็นรูปวงกลมสูงขึ้นไปเรื่อยโดยหัน "หัวเลียง"ไปข้างใน
  • "หย่องแหย่ง" เครื่องมือสำหรับหาบ ต้นกล้า หรือ "เลียงข้าว"
  • มากจังหู...ให้คนเอินมั่งเล่า เท่านี้กะแลคุณเม้ง ยิ้มหน้าบานเท่า "ด้งมอญ" ใช้สำหรับตากข้าว ถ้าบอกว่า "เท่าด้ง" กลัวอียิ้มหีดเดียว เพราะหมายถึง ด้ง ที่ใช้สำหรับ ควั๊ดข้าวเพื่อเอาแกลบและสิ่งแปลกปลอมที่ติดมาออก
  • ขอบคุณ.... โอกาสหน้าจะมาใหม่

                           ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ

 

 

P

สวัสดีครับคุณครูราญ ที่เคารพ

  • สบายดีไหมครับ
  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่มาช่วยเติมเต็ม และบอกกระบวนการทำนาให้มองเห็นภาพมากขึ้นนะครับ
  • หรอยดีครับ หนุกหนานคิดถึงบ้านครับ
  • โชคดีในการทำงานนะครับ
ดีน้องบ่าว เม้ง
ว่าด้วยการทำนาช่ายม้าย  ตามเท่คุณ อัสสะกอมี
บอว่าวิดปลักนั้น พอวิดเสร็จก้าจะพบ โลกคลัก บ้านพี่เรียกว่า "วิดโลกคลัก" ครับผม คนวิดลู้หลา กันเพ
   หนุกดีครับ ได้ปลากัน สุดยอด
   หมายเหตุ  โลกคลัก หมายถึง ปลาที่อยู่ในปลักน้ำ
   วิดโลกคลัก หมายถึง  การวิดน้ำออกจากปลักน้ำเพื่อจับปลาที่อยู่ในปลัก
   ลู้หลา หมายถึง สกปรก
  
      
P
  • สวัสดีครับพี่บาว
  • สบายดีไหมครับ
  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ อิๆๆๆ
  • ได้โลกคลัก กะลักกะลุย จ้านจม
  • ทั้งเนื้อทั้งตัวหลูกหลาก (ลู้หลา)แหม็ดฉาด
  • ขอบคุณมากครับ ว่าแล้วก้าคิดถึงคลักปลา แล้วหล่าวครับ
  • โชคดีนะครับ

หวางเท่คนฒาวเคาแก็บคาวโอย๋ โบ๋เราแด็กๆ กะไป๋ตัดซังคาวมาทำเป๋(ปี่) เป๋าเป๋กันเทือนถ่องเลย

แก็บคาวแสร็จกะขนไป๋หว่ายเท่เริ่นคาว เวลาจีกิ๋นกะเอ๋าคาวมาหนวด เรียกว่า หนวดคาว ฟัดคาวและกะ สีคาว หุงแสร็จกะคู่กะแกงส็อมปลาบ็อกเท่หวิดดายแหล็กเดี๋ยวนีและ นำชุบ พักเหนาะเรียงเข้ามา..

อึหห เหงือแตกหล่าว งานนี..... 

เอ้า..คุณเม้ง คุณแสงนั่งเข้าต๊ะ เดี๋ยวเย็นแหล่วไม่หรอยน่าน  

P

หวัดดีครับอาจารย์

  • แกงส้มหรอยจ้านครับ วันหน้ามากินแกงน้ำเคยบ้านผมมั่งนะครับ เดียวจะแกงโชว์ฝีมือเลย อิๆๆ
  • แกงน้ำเคยปลาช่อนย่าง ใส่ผักสมรม หรอยเดี้ยนแม่นครับ
  • เชิญหมดทุกคนเลยครับ

หวัดดี...คุณเม้ง

  • กดไม่ติดต้องเข้ามาเล่า
  • คุณอัสสะกอมี บอกว่าเอาซังมาทำปีี่เป่าดังกันทั้งท่อง... ถ้าแถวบ้านผมที่สงขลา เป่าปี่ซัง ในนาไม่ได้เพราะคนเฒ่าบอกว่าขวัญข้าว หรือแม่โพสพจะตกใจ ....เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กคนใหนเป่าปีในนาจะโถกยิกให้ไปเป่าไกลๆ.
  •   ผมคิดว่าไม่เกี่ยวกับขวัญข้าว หรือแม่โพสพ  หรอกครับ ....แต่เด็กที่เป่าปี่มีกันหลายคน  พอคนเฒ่าพูดกันไม่ได้ยินไหรก็โทษเด็กที่ มาเป่าปี่เอาเรื่องของขวัญข้าวและเรื่อง แม่โพสพมาอ้าง...เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นครับ...
  • อ่านทุกทีมีอารมณ์ ข่มใจไม่ได้ ขอตอดๆๆๆ....
  • ขอบคุณครับ
P

สวัสดีครับคุณครูราญ

  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ
  • แถวๆบ้านโผม ก็เหมือนกันครับ แต่รู้สึกว่าจะมีกลอนขออนุญาตพระแม่โพสพ ก่อนครับ หากจะเป่าปี่ ผมจำไม่ได้แล้วว่าต้องว่าอย่างไรบ้าง
  • หรือว่าจะเป่าก็ทำพิธีขอบคุณพระแม่โพสพก่อนครับ
  • ทุกวันนี้ มีการนวดข้าว เก็บออกมาเป็นเมล็ดแล้ว ดังนั้น บางทีคนลืมไปหมดแล้วเรื่องการทำขวัญข้าวขอบพระคุณพระแม่โพสพครับ
  • เมื่อก่อนมีการนำข้าวเป็นเลียง มาเรียงกันในฉางข้าว แล้วบนชั้นบนสุดมักจะอยู่ใต้หลังคา พ่อผมก็จะขึ้นไปแล้วเอาข้าวมาสามเลียงที่เคยแรกเก็บไว้ก่อน มาทำพิธีขอบพระคุณนะครับ
  • ทุกวันนี้หาคนได้น้อยครับ ที่ทำพิธีเหล่านี้ได้ ต่อไปก็จะสูญหายไปหมดครับ
  • ต่อไปเครื่องจักรอาจจะมีการอบเมล็ดหลังจากเก็บเกี่ยว เผลอๆ ได้ออกมาเป็นข้าวสารเลยก็ได้ อิๆ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ มาเขียนไว้อีกนะครับ KM ในทุ่งนา มีอีกตรึมใช่ไหมครับ

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์.....

หาหม้ายคำว่า ข้าวตก

ข้าวตก คือ รวงข้าวที่เหลือภายในนาหลังจากมีการเก็บข้าวเสร็จแล้ว... ซึ่งโดยทั่วไป ใครๆ ก็สามารถไป เก็บข้าวตก ได้

การเก็บข้าวตก เป็นการเล่นกึ่งทำงานอย่างหนึ่งของเด็กสมัยก่อน โดยพาสอบปุ๋ยคนละหน่วย พร้อมแกะ และข้าวห่อ (บางที)... ได้เท่าไหร่ก็เอามาไว้ในลอมข้าวของตนที่บ้าน...

เวลาไปเก็บข้าวตก บางครั้ง เจอเป็นเรียง ที่เค้าลืมเก็บไป เรียกกันว่า ข้าวหลง ... ใครได้เป็นเรียง ถือว่า โดนแจ๊กพ้อต ก็ว่าได้ ....

ผู้ใหญ่บางครั้งก็ไปเก็บข้าวตกเหมือนกัน แต่เป็นงานเป็นการ... ส่วนเด็กๆ ก็ไปเก็บข้าวตกตามประสาเด็ก มักจะไม่ได้เท่าไหร่ กล่าวคือ พอเก็บได้สักเดียว ก็ชวนกันเล่นลักหยบ เล่นเก้ หรือเล่นอย่างอื่นกันมากกว่า....

จบเรื่องข้าวตก

เจริญพร

 

P

กราบนมัสการหลวงพี่

  • กราบขอบพระคุณมากๆ ครับ
  • ตกคำว่า ข้าวตก  เลยได้คำนี้จากหลวงพี่ครับ
  • แถวบ้านผม บางทีเรียก ข้าวตก ว่า ข้าวหล๊อง
  • แต่กระบวนการคงประมาณเหมือนกับที่หลวงพี่กล่าวมาครับ
  • บางทีชาวนาบางคนเผาซังในนา ไฟไหม้ไปกินข้างตก เลยทำให้ได้กิน ข้าวตอก เหมือนกันครับ
  • แต่แม่บอกว่า ขวัญข้าว เพราะควรจะเก็บข้าวให้หมด พระแม่โพสพอาจจะโกรธเอาได้ครับ
  • กราบขอบพระคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท