อันว่าด้วยเมตตาธรรม ตอนที่สอง


เมตตาจิตจะเกิดได้ดังนั้นต้องมีทุกข์เป็นอารมณ์ คือเห็นคนหรือสัตว์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากแล้วเกิดจิตเมตตา

      

  

       ว่าด้วยเรื่องของเมตตา ตอนต่อไป เรื่องของเมตตานั้นมีสาระยาวคงต้องขออนุญาตเขียนสักสี่ตอนครับ
 

        เมตตานั้นมีรากฐานมาจากความรักและความห่วงใยที่บริสุทธิ์ ที่มีต่อตน ที่มีต่อบุคคลอื่นและมีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  เมตตาจึงเป็นเรื่องของความรัก ความห่วงใยและความปรารถนาดีที่มีต่อตนและสัตว์บุคคล


       หากจะถามว่า จิตเมตตามีอะไรเป็นอารมณ์? คงต้องตอบว่า
   

       หัวใจของเมตตาอยู่ที่ ต้องมีความทุกข์เป็นอารมณ์


       เนื่องจากเมตตาจะเกิดขึ้นได้ในจิตของบุคคลใดได้ ต่อเมื่อบุคคลนั้นประสบต่ออารมณ์ของความทุกข์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า หรือตั้งจิตระลึกถึงความทุกข์นั้นๆให้มาปรากฏในดวงจิต


        คนที่เข้าใจดีในความทุกข์นั้นหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับความทุกข์มาก่อน จึงเกิดความเข้าใจและเห็นใจว่า คนหรือสัตว์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากอยู่นั้นมีความรู้สึกเช่นไร

        เช่น คนที่เคยเผชิญกับความยากจนและความหิวโหยมาก่อนย่อมเข้าใจได้ดีประสบการณ์ทุกข์นั้น เมื่อพบเห็นคนหรือสัตว์ที่ตกอยู่ในภาวะนั้น จิตเมตตาจึงเกิดขึ้น


        สังเกตดูได้ว่าในหมู่คนยากจนนั้น เขามีเมตตาจิตต่อกันเห็นอกเห็นใจกันและกันมากกว่าในกลุ่มของคนร่ำรวย เพราะล้วนแต่เข้าถึงและเข้าใจในสภาพทุกข์นั้นเป็นอย่างซาบซึ้ง


        ดังนั้น คนที่มีจิตเมตตาจึงต้องเป็นคนที่เข้าใจในเรื่องของความทุกข์ จึงปรารถนาให้สัตว์บุคคลอื่นประสบแต่ความสุขแทน ดังคำแผ่เมตตาที่เราได้ยินกันคุ้นหูอยู่ว่า
 

        “สัตว์ทั้งหลาย จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด

         (สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ)”
 

          คำว่าสัตว์ทั้งหลายนี้ มาจากคำว่า สัตตะวะ กินความหมายกว้างคือนับตั้งแต่ สัตว์ คน และอมนุษย์ทั้งหลายและคำว่าอมนุษย์นี้ มิได้จำกัดอยู่ที่พวกผีสางเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆที่ไม่ใช่มนุษย์ (เทวดา พรหม หรือมนุษย์ต่างดาวก็ได้เป็นไรมี)


          หากมีบางบทที่ย้ำเฉพาะเจาะจงลงไปว่า “สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดเจ็บตาย...” ก็หมายเอาเฉพาะสัตว์บุคคลและสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่เกิดอยู่ในภพภูมิเดียวกันและมีความทุกข์ร่วมอย่างเดียวกัน คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย


          คนที่เอ่ยคำแผ่เมตตานี้ออกมาได้และสัมฤทธิ์ผลได้นั้น ต้องเป็นบุคคลที่มีปัญญาเข้าถึงในประสบการณ์ของทุกข์นั้นจริงๆ


         เห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์  ความเจ็บและความตาย เป็นทุกข์จริง
 

         สำหรับคนที่ไร้คุณสมบัติดังกล่าว กล่าวคำแผ่เมตตาออกไป จึงเป็นเพียงแค่ลมที่อาศัยปากปล่อยออกมาเท่านั้น

         หมดลมก็หมดความหมาย

         เนื่องจากในจิตใจตนเองนั้นก็ไม่มีเมตตาจิตและไม่มีพลังแห่งความเมตตาที่จะแผ่ออกไปจริง จึงเห็นคนบางคนที่กล่าวคำแผ่เมตตาไปมือก็ตบยุงไปพลางๆ

         พอถามไถ่เข้าก็บอกว่า ที่ว่า สัพเพ สัตตา นั้น ยกเว้นยุง จ้ะ !
 

         ดังนั้น ในเรื่องของเมตตาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆและพากันปฏิบัติด้วยความไม่รู้คงต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องมือจึงจะเจริญเมตตาได้ถูกต้อง

         เมตตานั้นจัดอยู่ในประเภทของกุศลจิตคือจิตที่ดีงาม หรือมีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งคือ อโทสะ ที่หมายถึงภาวะของความไม่โกรธ
 

         ดังนั้น จึงกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าคนขี้โกรธเป็นคนที่มีเมตตาน้อย

         ผมไม่ได้ว่าใคร

         คนขี้โกรธอย่าเพิ่งโกรธผม!


         อย่างที่เคยยกตัวอย่างมาแล้วว่า เมตตาจิตจะเกิดได้ดังนั้นต้องมีทุกข์เป็นอารมณ์ คือเห็นคนหรือสัตว์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากแล้วเกิดจิตเมตตา นี้เป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อภาวะของทุกข์ที่เป็นบวก คือเป็นกุศลจิต หากคนบางพวกเกิดปฏิกิริยากลับกันคือเห็นแล้วกลับรู้สึกโกรธหรืออารมณ์ขุ่นมัว คือเป็นลบ จัดเป็นอกุศลจิต


          ท่านจึงแนะให้คนมักโกรธนั้นฝึกการแผ่เมตตา เพราะเป็นของแก้กัน

         โดยเริ่มต้นฝึกตั้งแต่หาอุบายทำใจให้สงบก่อน เพราะตามปกตินั้นจิตของเรามักซัดส่ายง่ายเรียกว่าไม่มีสมาธิ

         หรือไม่ก็ชอบไปหมกมุ่นอยู่กับการงานหรือเรื่องเครียดที่น่าปวดหัวเรียกว่ามีสมาธิหมกมุ่นเกินไป

         จิตสองสถานะนี้ไม่เหมาะสำหรับเจริญเมตตาเนื่องจากฐานจิตไม่เหมาะสม

        เปรียบได้ดังเหมือนกับการสร้างบ้านเรือนสิ่งแรกที่ต้องลงมือทำคือการปรับที่ปรับทางให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะอาศัยที่ทางอันเรียบนั้นปลูกบ้านสร้างเรือนลงไปได้ฉันใด ฐานที่เหมาะสมของเมตตาจิตจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ก็ต้องประกอบการงานที่ชักนำให้เกิดกุศลจิตก่อนฉันนั้น

         เช่นอาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อยแล้วไหว้พระสวดมนต์จะเป็นบทสวดของหลวงพ่อไหนวัดใดก็ไม่ขัดข้อง


         ขอเพียงอย่างเดียวว่า ให้สำรวมจิต


        ให้ตั้งมั่นอยู่ที่อากัปกิริยาอาการในขณะทำกิจนั้น เช่นการน้อมตัวลงกราบ การเปล่งเสียงออกมาและการน้อมจิตระลึกถึงพระพุทธองค์ ให้เกิดศรัทธาว่าที่เรากำลังทำอยู่นี้เป็นสิ่งที่ดีงามคือแสดงความกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้ปรากฏ ทั้งกาย วาจาและใจ

        หากทำได้ก็เป็นเบื้องต้นของกรรมฐานที่เรียกว่า พุทธานุสติ คือการมีจิตตั้งมั่นในการระลึกรู้ถึงพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ของพระพุทธองค์

         ต่อด้วย ธัมมานุสติ การระลึกรู้ในคุณค่าของพระธรรมคำสั่งสอน ว่าดีแล้วชอบแล้ว และสังฆานุสติ การระลึกรู้และชื่นชมในความประพฤติที่ดีงามของเหล่าอริยสาวกที่ประพฤติปฏิบัติดีตรงแล้ว ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์แล้ว ปฏิบัติสมควรแล้ว


         หากตั้งสติระลึกได้นานเท่าใดแสดงว่า เกิดกุศลจิตนานเท่านั้น ความนานที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้น เรียกว่าสมาธิ


         หลังจากนั้น รีบฉวยโอกาสที่จิตมีทุนอยู่ในกระเป๋า คือภาวะของกุศล จะได้รีบฝึกการเจริญเมตตาเพื่อที่จะให้มีสภาวะของเมตตาเกิดขึ้น แล้วอาศัยอำนาจพลังของเมตตาที่มีอยู่นั้นแผ่ออกไปได้

        เปรียบได้ว่าเมื่อปรับที่ทางเสร็จแล้ว ก็เริ่มขุดหลุมเพื่อปักหักปักเสา อย่าได้รอช้าเดียวหญ้าคาและวัชพืชจะถือโอกาสขึ้นแซมได้ แต่ช้าก่อน...

         ยังอย่าเพิ่งตาลีตาเหลือกแผ่เมตตาออกไปเพราะจิตยังไม่มีเมตตา

         พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณจรัลแห่งวัดอัมพวันเคยเปรียบว่า  คนสมัยนี้ไม่รู้เคล็ดของเมตตา ยังไม่มีบุญกุศลอะไรเลยรีบแผ่เมตตาเสียแล้ว

         ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาอะไรไปแผ่

         เหมือนคนที่ไม่เคยมีทุนรอนอยู่ในธนาคาร หรือมีแต่ใช้เงินไปหมดเกลี้ยงแล้วไม่เคยเอาเงินไปฝากแบงค์อีกเลย พอเห็นตู้เอทีเอ็ม กลับรี่ตรงไปกดเบิกเงิน


         ตู้มันก็ฟ้องร้องบอกว่า เงินไม่มี...เงินไม่มี


        ก็ต้องหน้าแตก กลับไปบ้านไป

        กลัวว่าจะยาวไป ขอยกยอดตอนต่อไปจะพูดเรื่องวิธีการแผ่เมตตาครับ

หมายเลขบันทึก: 99513เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2007 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะอ.พิชัย กรรณกุลสุนทร  

แวะมาจ่ายค่าลงทะเบียนเช่นเคยค่ะ ^ ^

อาจารย์อธิบายเรื่องการมีเมตตาได้ชัดเจนมากเลยค่ะ แถมยังอ่านสนุกอีกต่างหาก..

เป็นความรู้ใหม่สำหรับดิฉันที่ทราบว่าความเมตตานั้นมีทุกข์เป็นทุนค่ะ แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นจริงตามที่อาจารย์ว่าไว้ค่ะ

ถ้าเราไม่ถึงขนาดยากจนไม่มีอะไรจะกิน แต่เราเข้าใจถึงสภาวะที่จำเป็นต้องใช้และไม่มี แล้วเกิดเมตตาคนที่ยากจนไม่มีอาหารกินนี้ก็เป็นไปได้ใช่ไหมคะ...

การมีเมตตา น่าจะทำให้กรุณาเกิดตามมาได้ เมื่อเกิดกรุณา ก็อาจเกิดมุฑิตา และปล่อยวางเกิดตามมาได้ แต่ถ้าไม่ปล่อยวางในตอนท้ายน่าลงเอยด้วยทุกข์เหมือนกันใช่ไหมคะอาจารย์..

ได้อ่านแล้วทำให้ได้คิดว่าเวลามีเรื่องมาเยอะๆ เข้ากระทบเราเร็วๆ บางครั้งก็ทำให้ไม่เกิดเมตตาได้เหมือนกัน เจริญสติไม่ทันน่ะค่ะ..บางเรื่องมาเร็วมากๆ เหมือนโดนจู่โจม ... ต้องไปฝึกต่อค่ะ ไม่อยากขาดสติ..

ขอบคุณนะคะอาจารย์ ได้อ่านเรื่องดีๆ แต่เช้าเลย..วันนี้มีประชุมสำคัญเสียด้วยซิ น่าจะได้ใช้เรื่องนี้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ^ ^

จะระวังยิ่งขึ้นค่ะอาจารย์ จะได้มีทุนรอนเอาไว้แผ่เมตตาอีกค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะ ยิ้มๆ กับตอนท้าย

ตู้ร้องว่า เงินไม่มี เงินไม่มี อุ้ยยยย ถ้าตู้ร้องได้แบบนี้ คนข้างหลังคงจะแอบขำ

ขอบคุณค่ะ

 

จะแผ่เมตตาเราต้องทำตน จิตตน ให้มีทุนรอนเมตตาก่อนเน้อะ ...ชัดเจนดีค่ะ

 

^_____^

สวัสดีครับ ดร.กมลวัลย์

บันทึกเก็บค่าลงทะเบียนแล้ว ขอบคุณที่ทะยอยจ่ายตรงเวลาดีครับ

ผมอ่านพบว่าอาจารย์เป็นสมาชิกสภามหาวิทยาลัยในส่วนของผู้แทนคณาจารย์ ใช่ไหมครับ ผมเองเคยเป็นผู้แทนคณาจารย์มาสองสมัยและปัจจุบันเพิ่งหมดวาระในฝ่ายของตัวแทนผู้บริหารในวาระที่สาม อาจแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในส่วนนี้ได้อีกนะครับ

ขอบคุณที่ชม ทำให้ผมลืมกำหนดยินหนอ ฮึดเขียนติดต่อกันหลายตอนเลยครับ

เรื่องของเมตตา จัดเป็นกุศลจิตที่เป็นรากฐานคุณธรรมเบื้องต้นของสังคมได้อย่างดีเป็นมีคุณประโยชน์ส่วนตนจัดเป็นกรรมฐานส่วนหนึ่ง สามารถใช้เป็นบาทของวิปัสสนาได้ด้วย วันหลังจะเขียนต่อครับ

แน่นอนครับ เรื่องของพรหมวิหารสี่ เปรียบเหมือนยาชุด ที่เราไปหาหมอตี๋แล้วถูกสั่งจ่ายค่าเป็นชุดแล้วถูกกำชับว่า ต้องกินเป็นชุดนะ เช่น แก้ไอ เสมหะ หวัด เจ็บคอ เป็นต้น

แต่ต้องมีหลักการเจริญครับ ธรรมะหมวดสี่นี้จึงจะเจริญสอดคล้องกันเป็นเป็นที่พึ่งซึ่งกันและกัน

นำไปใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและเจริญกรรมฐานครับ

หนู is ครับ

เรียนปริญญาเอกต้องหัดแผ่เมตตาเหมือนนะครับ

คนแรกคือแผ่ให้ตนเอง เพราะกำลังทุกข์ใจอยู่ หากอกหักรักคุด ก็แผ่ได้นะครับ ฮิฮิ!

อ.ดร.กมลวัลย์ครับ

รู้สึกว่าผมยังตอบคำถามไม่หมดจึงขอต่ออีกนิด

เรื่องการที่เข้าใจสภาวทุกข์ของบุคคลอื่นนั้น  เกิดได้สองระดับครับ คือ หนึ่งเกิดจากประสบการณ์ตรง ที่เกิดมีกับตนเอง สองเกิดจากประสบการณ์อ้อม ที่ได้รู้เห็น ได้ยิน ได้ฟังจากบุคคลอื่น ครับ

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องใช้ประสบการณ์ตรงของเราที่มีอยู่ในเรื่องนั้นๆมาเทียบคียง จึงทำให้เข้าใจในทุกข์นั้นได้ แม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นกับตนเองจริงๆ

เช่น กรณีสึนามิ เป็นต้น ผู้ที่มีจิตเมตตาและกรุณาทั้งหลาย แม้มิได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่เคยมีประสบการณ์ตรง แต่สามารถใช้ประสบการณ์ทุกข์อื่นๆมาเทียบเคียงจนเกิดเมตตาและกรุณาจิตได้ครับ

เมตตาหากมทีท่าหรือใช้เมตตาไม่เป็น ก็อาจก่อทุกข์ให้ตนและคนที่อยู่รอบตัวได้ครับ ดังนั้นจึงต้องใช้ธรรมหมวดนี้เป็นชุดครับ คือต้องเจริญให้ครบ ส่วนใหญ่คนไทยรู้จักกันเรื่องของเมตตาดีแต่ยังเข้าใจในเรื่องของกรุณา มุทิตาและอุเบกขาน้อยไป

เช่นถ้าสังเกตุให้ดี คนไทยมีเมตตาจิตมากและทำไมสังคมไทยขาดมุทิตาจิต ลองสังเกตุสังคมของเราดูครับ คนในที่ทำงานของเรา กรณีสองขั้นน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะเป็นปัญหาทุกมหาวิทยาลัย

สุดท้าย จริงอย่างอาจารย์ว่าครับ อารมณ์ย่อมเข้ามากระทบจิตไวเสมอ เพราะเป็นธรรมชาติของจิต ที่เกิดดับเร็ว ดังนั้นจำต้องฝึกสติให้รู้เร็วด้วยครับ

รับเร็วและรู้เร็ว

เหมือนม้าอาชาไนย

ที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาจำแนกผู้ปฏิบัติธรรมเปรียบว่าเหมือนม้า...ว่าเป็นม้าชนิดใดเป็นม้าแกลบหรือม้าอาชาไนย

ดูที่การพัฒนาสติให้รับรู้ไวครับ (เอ! เรื่องนี้ก็น่าเขียนแฮะ)

สวัสดีค่ะอาจารย์

แวะมาเชียร์(ยุ) ให้เขียนเรื่องม้าอาชาไนย ค่ะ : ) อยากรู้ อยากเรียนค่ะ กิเลสพุ่งเลยค่ะ 5555

เรื่องการขาดมุฑิตาจิตของคนนั้นในมหาวิทยาลัยนั้นมีจริงค่ะ..บางทีกลายเป็นเรื่องการแข่งขัน เรื่องของพรรคพวก ไม่ใช่เรื่องของ merit อีกต่อไป.. เรื่องเงินและเรื่องอำนาจเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใครค่ะ..ดิฉันยังจำได้ว่าตอนที่ได้สองขั้นเป็นปีแรก (นาน....แล้วววว...) มีคนมาแสดงความยินดีด้วย หลายคนเลยค่ะ ซึ่งดิฉันรู้สึกตล๊กตลก..เพราะสองขั้นนั้นเงินเดือนขึ้นไม่เกิน ๓๐๐ บาท 5555 ตอนนั้นกลับจากเมืองนอกไม่นาน คิดในใจ what's the big deal กันเนี่ย..ไม่เข้าใจจริงๆ..

หลังจากนั้นหลายปี ก็ตลกอีก..ดิฉันได้ ๒ ขั้นอีก คราวนี้ คนให้ ๒ ขั้นดิฉัน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงงงงง... ถึงกับโทรมาบอกดิฉันด้วยตัวเองว่าท่านเป็นคนให้ ๒ ขั้นกับดิฉัน...เอ...มันแปลว่าอะไรหว่า...อ้อ..เรียกว่าบุญคุณนั่นเอง...อิอิ  เล่าประกอบตลกๆ ค่ะ ว่าทำไมมุฑิตาจิตไม่ค่อยเกิด เพราะมีพฤติกรรมแปลกๆ มุมมองแปลกๆ กับเรื่องเงินและอำนาจเนี่ยแหละค่ะ..

ขอบคุณอาจารย์ที่ตอบดิฉันละเอียดมากเลยค่ะ ได้เรียนรู้เยอะเลยค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ...

อาจารย์ขา

ตามมาเชียร์ด้วยคนค่า...อยากรู้เรื่องม้าอาชาไนยเหมือนกัน พุ่งปริ๊ดเป็นพลุดาวกระจายเลยค่ะ

อ่านเรื่องเมตตาแล้วเข้าใจตามอาจารย์บรรยายละเอียดมาก เห็นภาพและเข้าถึงวิธีการปฏิบัติได้ด้วย หนูเองก็รู้สึกว่าขาดมุทิตาจิตเหมือนกันค่ะ

ชอบหมั่นใส้เวลาเพื่อนที่ทำงานได้ดีกว่าเราเรื่อยๆเลย ต้องแก้อย่างไรคะ

มาขอบคุณสำหรับเรื่องดีดีอย่างนี้ครับ

อนุโมทนาด้วยครับ แปลว่าได้บุญไปกับอาจารย์ด้วยใช่ไหมครับ ๑๐ %  :) :) :) อยากอ่านต่อครับ

ตกลงครับ เรื่องม้าอาชาไนย หากจบเรื่องเมตตาแล้วจะว่าต่อครับ

กิเลสพุ่งสูงขนาดนั้นเชียวหรือครับ :)

อาจารย์ยังดีได้สองขั้น ผมนั้นตันเสียแล้ว ทำงานโดยไม่มีความดีความชอบมาสองปีแล้วครับ

ผมเลยแผ่เมตตา...อิเมโจได๋... อิเมโจได๋... ได้ผลแฮะตอนหลังท่านอธิการบดีกรุณาเขียนจดหมายน้อยมาให้ขึ้น ๒ % ครับ ตั้งหกร้อยกว่าบาทแน่ะ :)

หนูนา

หมั่นใส้คนที่ทำงานเหรอ แสดงว่ามีตาx-ray

ดีซิ จะได้มีเรื่องเจริญเมตตาบ่อยๆไงล่ะ

อนิรุต

จะเอาตั้ง ๑๐ % ระวังข้อหาค้ากำไรเกินควรนะครับ :)

ตามมาอ่านค่ะ เรียนเรื่องเมตตา ... อาจารย์ค่ะ การที่เรามีเมตตา แต่เราไม่ค่อยมีกรุณาเป็นเพราะเรายังไม่รู้จริงเกี่ยวกับทุกข์นั้นด้วยรึปล่าวค่ะ....

หนู paew ขอลงทะเบียนแบบไม่ขอจ่าย แต่ขอรับเมตตาได้มั้ยค่ะ...

หนู Paew ครับ

เชิญลงทะเบียนแบบรับเมตตาวันละสองครั้ง แถมวันหยุดมีรอบเช้า วันสำคัญทางศาสนาแถมรอบดึกนะครับ

มีเมตตา เป็นตัวก่อกรุณาครับ แต่ต้องกรุณานั้นต้องอาศัยโอกาสและเจตนาที่เป็นกุศลแรง จึงจะเกิดการกระทำทางกาย วาจาใจ

หาโอกาสซิครับ บางครั้งโอกาสมี แต่รู้ช้าจึงพลาดโอกาสกระทำกรุณาไปก็มี

ลองสังเกตุดูจิตและพฤติกรรมตนเองบ่อยๆครับ

แต่หนู Paew กรุณาเขียนบันทึกบ่อยๆๆๆมาก นับได้ให้คะแนนตนเองได้นะครับ:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท