กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชาวเขา ปีงบประมาณ 2550-2551


กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชาวเขา เผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และมูเซอ
              ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ประเทศไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศให้สังคมไทยเป็น สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน(Green and happiness society) โดยคนไทยมีความรู้คู่คุณธรรมรู้เท่าทันโลกของการเปลี่ยนแปลงของโลกมียุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และ 9 ตามกรอบแนวคิด 3 ด้าน คือ คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน หัวใจสำคัญของแผนฯ 10 อยู่ที่การเชื่อมโยงทั้งระบบ คือ การบูรณาการและการลงในรายละเอียดอย่างประณีตเป็นการพัฒนาแบบองค์รวมบูรณาการทุกด้านให้เชื่อมโยงกัน คือ คน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมมีการน้อมนำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแก่นความคิดทางสายกลาง ใช้ ความพอประมาณ มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีนำทางในการพัฒนาและการบริหารประเทศที่มุ่งหวังและต่อเนื่องจากแผนฯ 9 ให้บรรลุผล รวมถึงสร้างส่วนร่วมแบบ ภาคีคือ ประชาชน รัฐ ธุรกิจเอกชน สื่อ เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมในการสร้างแผนทุกระดับ ทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ราชการ ภูมิปัญญาชาวบ้าน นักวิชาการ สื่อมวลชน โดยใช้ ทุนทางสังคมเป็นหลักในการพัฒนาและสนับสนุนทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนในระดังรากหญ้า และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมมากขึ้น มีการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ริเริ่มพัฒนาชุมชนน่าอยู่ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ กระตุ้นให้ประชาชนได้ร่วมคิด ร่วมประเมินศักยภาพของพื้นที่ กำหนดวิสัยทัศน์ วางเป้าหมายกลยุทธ์การพัฒนา กำหนดแผนงานหรือกิจกรรม ตลอดจนติดตามประเมินผลบนพื้นฐานการพึ่งพาทรัพยากรของท้องถิ่นชุมชนเป็นหลัก โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคมระดับต่างๆ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมให้กระจายครอบคลุมทั่งประเทศเพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งและช่วยลดความยากจนในชนบทและเมือง
                จากการดำเนินโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อประชาชนด้อยโอกาสในเขตท้องถิ่นทุรกันดาร ระยะที่ 1 (21 ตุลาคม 2548-15 พฤษภาคม 2549) ของมูลนิธิ พอ.สว. ในชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ และม้ง ณ จังหวัดจาก เชียงใหม่ และพะเยา พบว่าในชุมชนชาวเขาเหล่านี้นอกจากจะพบปัญหาทันตสุขภาพแล้ว ยังพบปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ อาทิเช่น เด็กขาดสารอาหาร การเจ็บป่วยจากสาเหตุต่างๆ ในหลายกลุ่มวัย ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพรวมถึงปัญหาการจัดการทรัพยากร ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดจากการไหลบ่าของวัฒนธรรมและกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม พบว่าชุมชนยังขาดการพัฒนาและการขับเคลื่อนพลังชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาในองค์รวม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวเขา ดังนั้นกรมอนามัย โดยศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง ลำปาง ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพชาวเขา โดยการศึกษาวิจัย และ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนารูปแบบในการส่งเสริม สุขภาพและแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ชาวเขา ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งภาคีพันธมิตรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในระดับตำบล ได้ร่วมกันศึกษาโดยคัดเลือกตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อประชาชนด้อยโอกาสในเขตท้องถิ่นทุรกันดารระยะที่ 2 ของมูลนิธิ พอ.สว. มาศึกษานำร่อง (Pilot project) ได้แนวคิดของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ในการพัฒนาศักยภาพของคน ทั้งภาคประชาชน ภาคราชการ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบท วิธีคิด วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชนเผ่า กะเหรี่ยง มูเซอ และม้ง โดยออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพลังชุมชนและพัฒนาชุมชน ด้วยแผนแม่บทตำบล ผลการศึกษานี้ คาดว่าจะได้รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ในการเสริมสร้างพลังชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และมูเซอ พร้อมทั้งทราบปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่ การปรับปรุงแก้ไข วางแผนและการดำเนินการพัฒนาตำบล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวเขาต่อไป
                ขณะนี้การดำเนินการโครงการฯ ใน 3 พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการยกร่างแผนแม่บทตำบล และการพัฒนาโครงการ ในการนี้ศูนย์ฯ ได้รับความร่วมมือจาก นพ. พนัส พฤกษ์สุนันท์ ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี และทีมงานในการเป็นที่ปรึกษาและเป็นวิทยากรการจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดโครงการทั้ง 3 พื้นที่
หมายเลขบันทึก: 99338เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2007 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 01:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ที่จังหวัดน่าน มีชนเผ่า มลาบรี (ตองเหลือง) ที่มีแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนดดยให้ภาคีมีโอกาสร่วมเรียนรู้

ยินดี และอยากแลกเปลี่ยนการทำงานเพื่อการพัฒนาต่อไป

ยินดีค่ะ  ที่จะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ส่ง E-mail มาที่ [email protected] หรือ โทรมาที่ 081-5958224

  • มาชื่นชมด้วยคนค่ะ
  • กับกิจกรรมที่ดีๆ กับทีมที่ลุยๆ พัฒนางานอย่างเต็มที่ด้วยค่ะ

การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เป็นการพัฒนาที่แท้จริงหรือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่การยอมรับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท