บ้านจำรุงหมู่บ้านวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียง : ความพอประมาณ


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต อย่างมีความสุขได้อย่างแท้จริง.

      ตามที่ผมเคยเขียนบันทึก นี้ไว้ วันนี้ก็ขอขยายความต่อว่า หมู่บ้านจำรุงนี้มีวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ซึ่งบันทึกนี้ขอเล่าถึง เรื่องของ ความพอประมาณเป็นที่ตั้ง

       ชาวบ้านจำรุง มีสภาพความเป็นอยู่ ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง  โดยเริ่มตั้งแต่ความเป็นอยู่เรื่องของการอยู่การกิน อยู่ง่ายๆตามสถานภาพของตนเอง การกินก็กินง่าย อย่างเช่นการกินผักพิ้นบ้าน เช่น ดอกอัญชัน  ยอดมะระ  ขมิ้นชัน ชะอม ใบเชื้อพลู ยอดเสม็ดแดง และอีกหลายๆชนิด ผักทุกชนิดเป็นผัดที่ปลอดสารพิษ สะอาด น่ากินมากๆ ตอนแรกที่ผมเข้าไปนั่งกินส้มตำ  เห็นแม่ค้ายกผักมาให้ผมนึกว่ายกมาประดับโต๊ะ เพราะเห็นมีดอกอัญชัยเต็มจาน  พอแม่ค้าบอกว่าเอามาให้กินกับส้มตำ  ก็ยังไม่แน่ใจครับ ก็คนไม่เคยกิน  เอาน่าไหนๆก็ไหน อยากรู้ก็ต้องลอง  คำแรกก็ยังสงสัยอยู่ครับ เอาอีกคำน่า ..อืม..แซบครับแซบ..ก็ต้องยอมรับว่าอร่อยจริง

          นอกจากการกินผักพื้นบ้านที่มีอยู่แล้ว กลุ่มผู้สูงอายุ ก็ร่วมกันผลิตข้าวซ้อมมือ บรรจุถุงขายในร้านค้าของชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี โดยมีโรงสีของชุมชนเอง  มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง และนำแกลบ รำ ส่งให้กับกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเพื่อทำปุ๋ยชีวภาพ และนำปลายข้าว ขายให้กับกลุ่มเลี้ยงตะพาบน้ำ

          ผู้คนในชุมชนได้เห็นค่าของเศษของที่เหลือใช้ แม้แต่ขยะมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มธนาคารขยะสิ่งแวดล้อม  รับซื้อขยะทุกประเภท มีการคัดแยกขยะแต่ละประเภท สามารถนำไปใช้ประโยขน์  ทำให้เด็ก เยาวชนได้รับรู้ถึงค่าของขยะ  สิ่งของเหลือใช้ ปลูกฝังค่านิยม  ทัศนะคติในการรักษาสิ่งแวดล้อม

         กลุ่มสตรีอาสา  มีการรวมตัวกันแปรรูปผลผลิตตามฤดูกาล  จนมีชื่อเสียง  มีทั้งทุเรียนทอด  กล้วยกรอบแก้ว  ขนุนทอด  กะปิ น้ำปลา  ทุกอย่างมีรสชาดอร่อย และนำมาจำหน่ายในชุมชน เมื่อมีผู้มาศึกษาดูงาน ก็นำไปขายสร้างรายได้ให้กับตนเองและกลุ่ม

       นอกจากนี้บ้านจำรุงก็ยังมีการบริการที่พักชุมชนโฮมเสตย์  สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง โดยจัดบริการให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจพักผ่อนสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง  และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาพัฒนาตนเองได้เพราะเขามีการเรียนรู้ ยิ่งมีคนเข้ามาในชุมชนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เรียนมามากเท่านั้น

        เมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน  กลุ่มผู้ใช้น้ำจะรวมตัวกันทำอาหารเลี้ยง  รับรอง  โดยใช้ผักพื้นบ้าน เป็นอาหารหลักให้กินกัน  รายได้ที่เหลือจากค่าแรง ก็นำไปพัฒนาหมู่บ้าน และจัดเป็นเงินออมของสมาชิกด้วย

         เป็นตัวอย่างบางเรื่องบางตอนของวิถีการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงของชาวบ้านจำรุง  เรียกได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีครบวงจรในหมู่บ้าน ใช้ในสิ่งที่จำเป็น  ชาวบ้านอยู่อย่างรู้จักตนเอง  พอประมาณไม่ใช้จ่ายเกินตัว  ข้าวขอวเครื่องใช้เครื่องกินก็หมุนเวียนในหมู่บ้าน รายได้หมุนเวียนในหมู่บ้าน มีมากก็ขายออกนอกชุมชน หรือขายให้กับคนที่มาศึกษาดูงาน

          ชื่อเสียงของหมู่บ้านจำรุง เป็นที่ยอมรับมากขึ้นทุกวัน จนเป็นที่ยอมรับ ปัจจุบันมีผู้มาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดทั้งปี บางวัน มีมากถึง 3-4 คณะ หรือแม้แต่นักศึกษาบางแห่งก็ไปปักหลักศึกษาเรียนรู้อยู่ในชุมชน  ใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ หมู่บ้านจำรุงจึงเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต อย่างมีความสุขได้อย่างแท้จริง.....
คำสำคัญ (Tags): #บ้านจำรุง
หมายเลขบันทึก: 98950เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2007 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • หมู่บ้านจำรุงนี่ใช่อยู่ที่จ.ระยองหรือเปล่าคะ
  • ขอบคุณค่ะ  ที่นำเรื่องราวมาแบ่งปันกัน
  • น่าใจครับ...ผ่านไปแถวนั้นคงต้องแวะชมสักครั้ง
  • ขอบคุณเรื่องราวดีดีครับ

 

ขอบคุณครับ

อ.ลูกหว้า ถูกต้องแล้วคร๊าบ บ้านจำรุง  หมูที่ 7 ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง ครับผม

ย่ามแดง ถ้าแวะเข้าไปอย่าลืมชิมส้มตำบ้านจำรุงนะครับ

อยากทราบว่าถ้ากลุ่มอสม.จากตำบลสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะเข้าไปดูงานโดยทางหมู่บ้านจำรุงจะคิดค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ กรณีอาหาร๓มื้อ เช้า กลางวัน เย็น พร้อมที่พักโดยวัตถุประสงค์จะขอเข้าดูงานในด้านการคัดแยกขยะ

ได้ไปศึกษาดูงานที่บ้านจำรุงแล้วเป็นหมู่บ้านที่มีการจัดการที่ดีมากอาหารอร่อย โดยเฉพาะส้มตำจำรุงอร่อยมากรู้สึกทึ่งมากที่มีหมู่บ้านดีดีแบบนี้อยู่แต่เสียอย่างเดียวราคาค่อนข้างแพงหน่อยถ้าเราต้องไปพักหรือมีวิทยากรคอยดูแลถ้าลดราคาลงมาหน่อยจะดีกเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท