เริ่มต้นรู้จักกับกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย


กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ

    ในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เนตทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวที่ มากขึ้น และเป็นการเติบโตที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เนตนับล้านคนในประเทศไทย อีกทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(PC: Personal Computer ) ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ไปซะแล้ว สังเกตุได้จากตามออฟฟิศ สำนักงานต่างๆหรือ แม้แต่ตามบ้านพักอาศัย ล้วนแต่มีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานด้วยเสมอ ซึ่งดูๆไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป

   เมื่อเกิดมีสังคมทางอินเทอร์เนตดังกล่าวขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อจะใช้บังคับให้คนในสังคม Cyber อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เช่นเดียวกับสังคมในชีวิตจริงของเรา โลกจำลองของสังคม Cyber นั้นนับวันยิ่งใกล้เคียงโลกของจริงเข้าไปทุกที ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมีกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น  

   สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบต่อนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ตามหนังสือที่ นร 0212/2718 โดยมีเป้าหมายหลักคือ การปฏิรูปกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศให้ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กำหนดหลักการสำคัญไว้ว่า “รัฐจะต้อง….พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ”

   ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกต่างก็มีการตื่นตัวต่อการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ในปี คศ. 1997 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบาย “ Toward the Age of Digital Economy “ สหรัฐอเมริกาประกาศนโยบาย “ A Framework for Global Electric Commerce “ และสหภาพยุโรปประกาศนโยบาย “ A European Initiative in Electronic Commerce” เป็นต้น

   นอกจากนั้นองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และสหประชาชาติ (United Nation ) ก็ให้ความสนใจจัดให้มีการประชุมเจรจาจัดทำนโยบายและรูปแบบของกฎหมายเกี่ยวกับการพานิชย์อิเล็คทรอนิกส์ไว้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีการจัดทำกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

   กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเกิดขึ้นเนื่องจากความจำเป็นของสังคม (Social Necessity) และเพื่อให้สังคมมีความเป็นปึกแผ่น (Solidality) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ตระหนักในปัญหาของประเทศชาติและความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะที่เป็น โครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมาย (Legal Infrastructure) โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Law) : เพื่อคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัว จากการนำข้อมูลของบุคคลไปใช้ในทางมิชอบ

2. กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ Computer Relate Crime) : เพื่อคุ้มครองสังคมจากความผิดที่ เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารอันถือเป็นทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง (Intangible Object)

3. กฎหมายพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Commerce) : เพื่อคุ้มครองการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เนต

4. กฎหมายการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange : EDI ) : เพื่อที่จะเอื้อให้มีการทำนิติกรรมสัญญาทางอิเล็คทรอนิกส์ได้

5. กฎหมายลายมือชื่ออิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Signature Law) : เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่คู่กรณีในอันที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อการลงลายมือชื่อ

6. กฎหมายการโอนเงินทางอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Funds Tranfer) : เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างหลักประกันที่มั่นคง

7. กฎหมายโทรคมนาคม (Telecommunication Law) : เพื่อวางกลไกในการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันที่ เป็นธรรมและมีประมิทธิภาพ ทั้งสร้างหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้อย่างทั่วถึง (Universal Service)

8. กฎหมายระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ

9. กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับอินเทอร์เนต

10. กฎหมายพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

   ปัจจุบันได้มีกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศออกมาประกาศใช้แล้ว 1 ฉบับคือ พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2545 ซึ่งได้รวมเอากฎหมายพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าไว้ด้วยกัน โดยกฎหมายดังกล่าวและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545 ที่ผ่านมา

   ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์อย่างมากทั้งต่อตัวผู้กระทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และแก่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพราะกฎหมายดังกล่าวได้ระบุเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานที่อยู่ ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าไว้ด้วย (เดิมปรับใช้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)

   ประเด็นสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศก็คือ การพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้เข้าใจในเบื้องต้น และศึกษาถึงธรรมเนียมประเพณีและสังคมการพาณิชย์ของไทย รวมทั้งปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทย

   สภาพปัญหาในปัจจุบันคือ กฎหมายไทยไม่เพียงพอที่จะให้ความคุ้มครองทางอิเล็คทรอนิกส์ ทำให้ นักธุรกิจและนักลงทุนไม่มั่นใจในการทำการค้าทางอิเล็คทรอนิกส์ เพราะเหตุความไม่มีประสิทธิภาพของระบบและโครงสร้าง ความไม่มั่นใจจากการถูกรบกวนและแทรกแซงจากบุคคลภายนอกผู้ไม่หวังดี รวมถึงความ หวาดกลัวต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีมากในประเทศของเรา

   ประกอบกับผู้ใช้งานยังมีความกังขาในข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของนิติกรรมที่เกิดจากการพานิชย์อิเล็คทรอนิกส์ว่าจะมีผลผูกพันเพียงใด ทั้งจะมีการยอมรับการสืบพยานในศาลได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบการทำธุรกรรมในประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 98530เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2007 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท