PTOT Meeting ครั้งที่สาม


การฟื้นฟูสภาพเพื่อเพิ่มทักษะการดำเนินชีวิตอยู่ที่สถานการณ์จำลองหรือสถานการณ์จริง...ลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

เสวนาวันนี้น่าสนใจ เมื่อคุณอำนวย (fascilitator) ในการจัดการความรู้ของเราคือ คุณขนิษฐา หัวหน้ากายภาพบำบัดมหิดล ตั้งประเด็นต่อจากคราวที่แล้ว คือ การจัดการผู้ป่วยวัยรุ่น Right Hemiparesis เข้าเรียนต่อ โดยมีประเด็นความรู้ที่ได้รับดังนี้

  • การจัด family group discussion สร้างโอกาสให้ครอบครัวและผู้ป่วยวัยรุ่นได้พูดคุยถึง หนทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการเรียน เช่น ข้อจำกัดจากการใช้แขนและขาข้างถนัด การมีอารมณ์หงุดหงิดเมื่อมีคนบังคับ การไม่ยอมจัดระบบการเรียนให้กับตนเอง การไม่มีแรงจูงใจในการใช้ชีวิตที่มีคุณค่า และการไม่รู้จักแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง กลุ่มที่เคยแก้ไขปัญหาได้จะแนะนำและช่วยเป็นที่ปรึกษากลุ่มที่ยังไม่มีประสบการณ์ (peer support group)
  • การพูดคุยปัญหาในการทำกิจกรรมหนึ่งร่วมกันระหว่าง PT และ OT เช่น การวิเคราะห์ motor component ในการกินข้าวของผู้ป่วยจาก PT กับการวิเคราะห์ adaptive/modified task into eating activity ทั้งกินข้าวจริงๆ กับฝึกกิจกรรมที่นำไปสู่การกินข้าว การทำงานเป็นทีมน่าจะทำให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะการกินข้าวในรูปแบบที่เหมาะสม คือ รูปแบบที่เป็นธรรมชาติของผู้ป่วยเอง และ/หรือ รูปแบบที่ใกล้เคียงกับรูปแบบของคนปกติทั่วไปโดยผู้ป่วยพิจารณาร่วมกับผู้บำบัด ทั้งนี้การบันทึกวิดีโอรูปแบบการเคลื่อนไหวเพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกันก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
  • บทบาทของผู้บำบัดต้องมีการปรับเปลี่ยนตามบริบทของผู้ป่วยและสภาพแวดล้อม เช่น การลดกิจกรรมการรักษาที่ต้องเน้นรูปแบบของผู้บำบัด มาเป็น การให้ผู้บำบัดเป็นคนกลางในการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ญาติหรือครอบครัวของผู้ป่วยมีโอกาสฝึกกิจกรรมการรักษาต่อเนื่องเองที่บ้าน
  • กรณีที่ผู้ป่วยรายนี้เริ่มเข้าเรียน ผู้บำบัดต้องติดตามผลในด้านทักษะการเรียนรู้ที่อาจมีผลจากพยาธิสภาพทางสมอง และควรได้รับการประเมินอย่างละเอียดในกรณีที่มีนักฝึกพูด นอกจากนี้การทราบผล CT Scan จากแพทย์ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
  • การใช้ Independent Living (Home Model) Approach ก็เป็นสื่อการรักษาหนึ่งแต่ผู้บำบัดควรใช้ทักษะการเหตุผลทางคลินิกที่เหมาะสมว่าจะฝึกผู้ป่วยอย่างไร และจะนำสิ่งที่ได้จากสถานการณ์จำลองไปใช้ในชีวิตจริง (นอกคลินิก) ได้อย่างไรในระยะยาว
  • Rehab Cousellor คือบุคคลหนึ่งที่มีหน้าที่ประสานงาน OT และ PT และมีการตั้งเป้าหมายระยะสั้นและยาวร่วมกัน เช่น Individual/ family planning หรือ Assessment of level independent living for individuals เน้น Client centred approach

หากท่านมีประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติม ขอให้แสดงความคิดเห็นได้นะครับ ขอบคุณสำหรับเวทีที่มีประโยชน์ครั้งนี้ และพบกันอีกครั้งในเช้าวันศุกร์ที่ ๒๒ มิถุนายนครับ

 

    หมายเลขบันทึก: 98509เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2007 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (3)
    ในประเด็นที่ว่า ผู้ป่วยรับการบำบัดจากกายภาพบำบัดก่อนหรือกิจกรรมบำบัดก่อน อย่างไหนน่าจะดีกว่า จึงได้ลองสอบถามผู้ป่วยอยู่ 5 ราย คนที่หนึ่งบอกว่า ทำกิจกรรมบำบัดก่อนดีกว่า เนื่องจากว่า ถ้าทำกายภาพก่อนโดยมีการฝึกเดิน,ยกขา ฯลฯ จะทำให้มือเกร็งไปด้วย และพอมาฝึกกิจกรรมบำบัด จึงทำให้รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีนัก คนที่สองบอกว่าทำกิจกรรมบำบัดก่อนจะดีกว่าเนื่องจากว่า พอทำกิจกรรมทุกอย่างเสร็จแล้วจะมีอาการเกร็ง ก็ลงไปทำกายภาพบำบัดต่อ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายและลดเกร็ง มีอยู่สองคนบอกว่าทำอะไรก่อนก็ได้ไม่มีผลอะไร ส่วนคนสุดท้ายบอกว่าทำกายภาพก่อนก็จะดี เพราะทำให้กล้ามเนื้อยืด จึงทำให้ทำกิจกรรมบำบัดได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าจะทำกายภาพก่อนหรือกิจกรรมบำบัดก่อน ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละรายค่ะ แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยคงจะเลือกไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดว่าจะมีชั่วโมงให้บำบัดเวลาไหนได้บ้าง ทั้งสองวิชาชีพและผู้ป่วยจึงควรจะพูดคุยปรึกษาหารือกันให้มากขึ้นกว่าเดิมนะคะ ....ขอบคุณค่ะ...
    เห็นด้วยกับคุณดารณีคะ  จากการสอบถามผู้ป่วยหลายๆราย ก็ตอบคล้ายๆกับคุณดารณี และบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่สามารถเลือกลำดับในการรักษา ได้มากนัก แต่ก้อเป็นที่น่าสังเกตุว่าแค่ลำดับก็มีผลต่อการรักษาจริงปะ

    แต่จากประสบการณ์รักษา กลับค้นพบว่า  การทำกายภาพและกิจกรรมบำบัด  ควรทำไปพร้อมกัน  ไม่เน้นอันใดอันหนึ่งก่อนกัน  และควรทำไปเท่าๆกันด้วย  เคยทำโดยเน้นทางกิจกรรมมือมากๆแล้ว    ปรากฎว่าไปเกร็งทาง ร่างกาย ส่วนของขาเท้า  และเคยทดลองทำเน้นทางขาเท้า   ร่างกายด้านล่าง  มันก็โผล่มาออกการเกร็งที่มือ   เป็นอย่างนี้มาตลอด  หรืออาจเพราะร่างกายและอาการของโรคฯ  แตกต่างกันไปของแต่ละคน  ไม่เหมือนกัน  เคยถามเพื่อนๆร่วมโรคที่มาทำการบำบัด  มีไม่น้อยที่ออกอาการดัง่ที่เล่ามา   นี่ก็มาเล่าสู่กันฟ้ง  แบ่งปันความรู้  และประสบการณ์  เดินสายกลาง  ดีที่สุด..

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท