บทความชุด นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ (ตอนที่ 7)


การเขียนเป็นการพัฒนาตนเอง เป็นการบันทึกผลการปฏิบัติงาน การเขียนเป็นการสรุปบทเรียน และการเขียนเป็นการส่วนหนึ่งในจัดการความรู้ในองค์กร

          ผมเขียนบทความเพื่อการพัฒนาตนเอง/ฝึกฝนตนเอง ผมไม่ใช่ผู้รู้นะครับ แต่เขียนตามประสบการณ์ของสิ่งที่ได้เรียนรู้ และนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตนเอง เชิญอ่านเพื่อเป็นการ ลปรร.ครับ

ตอน “ การบันทึกและรายงานผลการปฏิบัติงาน (การเขียน) ”

           หากมีคนถามเราว่า ทำงานส่งเสริมการเกษตรมา 10 – 20 ปี ได้ทำอะไร ได้เรียนรู้อะไร มีองค์ความรู้เกี่ยวกับงานส่งเสริกการเกษตร หรือมีผลงานอะไรบ้าง ถ้าเจอคำถามเหล่านี้ หลายท่านอาจตอบว่าทำครับ ทำไว้มากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ การจัดตั้งกลุ่มอาชีพ การช่วยแก้ไขปัญหาการเกษตรในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา แล้วอะไรเป็นสิ่งยืนยันหรือคำพูดเหล่านั้น การทำงานส่งเสริมการเกษตร นอกจากเราจะทำงานตามแผนงานโครงการแล้ว ที่นอกเหนือจากสิ่งที่ถูกสั่งให้ทำ หลายท่านมีงานที่ทำนอกเหนือจากโครงการ/กิจกรรม ตามปกติแล้ว ยังมีเทคนิควิธีหรือผลงานส่งเสริมการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จจะมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับพื้นที่ ศักยภาพของตนเอง หรือความเอาใจใส่ต่อเกษตรกรที่รับผิดชอบ แต่สิ่งที่พวกเรายังขาดและต้องพัฒนาในการทำงานของพวกเราก็คือ การบันทึกบทเรียนและการรายงานผลการปฏิบัติงาน (นักส่งเสริมส่วนใหญ่ไม่ถนัดการเขียน)

การบันทึกและรายงานผลการปฏิบัติงาน หรือ การเขียน คืออะไร

            การบันทึกและรายงานผลการปฏิบัติงานหรือการเขียน ในงานส่งเสริมการเกษตรในบทความนี้ มีความหมายครอบคลุมทั้งการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงาน รานงานการศึกษาวิจัยในงาน การบันทึกเทคนิควิธีที่ทำให้งานสำเร็จ การเขียนบทความ การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งการบันทึกบทเรียนที่เกี่ยวกับสาเหตุหรืออุปสรรคที่ทำให้งานสำเร็จหรือไม่ประสบผลสำเร็จ และในบทความนี้จะเรียกว่า “การเขียน”

ทำไมจึงต้องเขียน..เขียนแล้วเกิดประโยชน์อะไร

  • การเขียนเป็นการพัฒนาตนเอง ในกระบวนการเขียนนั้น ย่อมมีจุดเริ่มต้นที่การคิด และมีการเรียนรู้เพื่อการเขียนควบคู่กัน เช่นการศึกษาวิธีการเขียน แล้วจึงลงมือฝึกเขียนและค่อยๆพัฒนาการเขียนของตนเองไปเรื่อยๆ การเขียนเป็นการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างหนึ่ง ดังที่เราเคยท่องหัวใจนักปราชญ์ คือ “สุ จิ ปุ ลิ” “ลิ” ซึ่งเป็นหัวใจขั้นสูงสุด ก็คือ “ลิขิต” หรือการเขียนนั่นเอง

  • การเขียนเป็นการบันทึกผลการปฏิบัติงานและการประชาสัมพันธ์งานส่งเสริมการเกษตร ดั่งคติพจน์จีนที่ว่า “ ความจำที่ดีนั้นสู้หมึกเพียง 1 หยดไม่ได้” คงจะไม่มีใครรู้ว่าเราได้ทำอะไร หากเขาไม่เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ที่เราทำงานนั้น แต่หากเราบันทึก เขียนรายงาน ก็เป็นการรวบรวมสะสมผลงาน หรือสามารถนำเสนอผลงานและประชาสัมพันธ์งานส่งเสริมการเกษตรได้ในวงกว้าง และที่สำคัญมันจะเป็นเอกสารหรือหลักฐานที่บันทึกอดีตที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนรู้และพัฒนางานในอนาคต และในแง่ของการประชาสัมพันธ์นั้น การเขียนมีประสิทธิภาพดีกว่าการพูด ดังภาษิตที่ว่า “นักเขียนพูดดังกว่านักพูด และพูดได้นานกว่า”

                ( เกรียงศักดิ์ เจริญวงค์ศักดิ์, 2547 )

  • การเขียนเป็นการสรุปบทเรียน การทำงานไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรือใหญ่ ทุกครั้งไม่ว่าจะระหว่างการทำงานหรือหลังการทำงานเสร็จแล้ว เราต้องสรุปบทเรียน “การขาดการสรุปบทเรียน ก็คือการหยุดอยู่กับที่ ผ่านงานชิ้นหนึ่ง ก็สรุปบทเรียนได้อย่างหนึ่ง สรุปบทเรียนครั้งหนึ่ง ก็ก้าวหน้าขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง” เพราะถ้าสำเร็จก็เป็นรางวัล ล้มเหลวก็เป็นบทเรียน

                ( ประสาร มฤคพิทักษ์ ,2547 )

  • การเขียนเป็นการจัดการความรู้ในองค์กร หากทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความรู้ ในงานส่งเสริการเกษตร การเขียนไม่ว่าจะเป็นการสรุปบทเรียน หรือการบันทึกเทคนิคการทำงานที่ทำให้งานประสบผลสำเร็จ ( Base Practice) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นกับบุคคล ( Tacit Knowledge ) และอยู่ในตัวบุคคล แต่หากเราเขียนและนำมาเผยแพร่ให้แก่บุคคลอื่นในองค์กรได้เรียนรู้ ก็เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่นำไปสู่การจัดการความรู้ในองค์กร คือเป็นการสกัดความรู้จากตัวคน มาเป็นความรู้ที่เป็นตำรา/เอกสาร ( Explicit Knowledge ) (วรภัทร์ ภู่เจริญ,2547 )

ฯลฯ

การพัฒนาการเขียนจะทำอย่างไร

            การพัฒนาการเขียนนั้น วิธีที่จะพัฒนาการเขียนก็คือการลงมือเขียนทันที่ที่มีเรื่องจะต้องเขียน ไม่ว่าจะเป็นรายงาน การสรุปบทเรียน หรือบันทึกการปฏิบัติงาน จุดสำคัญคือจุดตั้งต้น อย่ามัวรอที่จะเริ่มต้นในการเขียน วันนี้เราเขียน พรุ่งนี้เราอ่านแล้วเห็นว่าควรปรับปรุง แสดงว่าเราได้เริ่มต้นการพัฒนาการเขียนของเราแล้ว การเขียนที่ดีนั้นอาจมีหลักการกว้างๆ ดังนี้

  1. การศึกษาหลักการหรือวิธีการเขียนที่เป็นเอกสารหรือตำรา (ทฤษฎี)

  2. การคิดที่ที่จะเขียน เมื่อคิดที่จะเขียนอะไรหรืออย่างไรให้จดบันทึกความคิดนั้นไว้ทันที

  3. การอ่านงานเขียนของคนอื่น แล้วศึกษาดูว่าเขาเขียนอย่างไร

  4. จัดลำดับความคิดของเราเกี่ยวกับการเดินเรื่องที่จะเขียน คือการคิดก่อนที่จะเขียน

  5. การกำหนดเรื่อง และการวางโครงเรื่อง (เกรียงศักดิ์ เจริญวงค์ศักดิ์, 2547)

  6. ลงมือเขียนตามโครงเรื่อง โดยไม่ต้องพะวงความถูกผิด (ปฏิบัติ)

  7. เก็บงานเขียนไว้ 1 - 3 วัน เพื่อให้สมองของเราได้พักผ่อน แล้วจึงทำการอ่านทบทวนและปรับปรุงงานเขียน

  8. ให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้รู้อ่านงานเขียน เพื่อวิจารณ์ หรือให้ข้อคิดเห็น “เขียนให้คนอื่นเข้าใจ ไม่ใช่เขียนให้เราเข้าใจคนเดียว” ( ณรงค์วิทย์ แสนทอง, 2547 )

  9. ปรับปรุงงานเขียน แล้วจึงทำการเผยแพร่

  10. เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเขียน และศึกษาความรู้เพิ่มเติม เป็นวงรอบการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

            “การเขียน” เป็นกระบวนการทางปัญญาขั้นสูงสุด ดั่งที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้นำเสนอว่ากระบวนการทางปัญญาเริ่มจากการ “สังเกต” จึงถึงขั้นสุดท้ายที่ “การเขียน” เช่นเดียวกันกับนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนแนวคิด(สัมมาทิฐิ) การพัฒนาตนเอง การสสร้างเครือข่ายการทำงาน การสร้างระบบการทำงาน การปรับกระบวนการทำงานในพื้นที่ใหม่ จนสุดท้ายคือการบันทึกผลการปฏิบัติงาน หรือการเขียนในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งหลายท่านอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมแตกหน่อความคิดไปอีกก็จะเป็นการดี แต่อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การลงมือปฏิบัติ ต้องลงมือปฏิบัติจึงจะเกิดปัญญาปฏิบัติ เพราะ “รู้อะไรก็ไร้ค่าถ้าไม่ทำ”

            เราทำงานด้านการส่งเสริมการเกษตร ดังนั้นเราจะต้องพัฒนาตัวเราให้เป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ พัฒนาและเรียนรู้ให้เร็วกว่าคู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งก็คือตัวเรา กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราจึงต้องเรียนรู้ พัฒนาและปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบข้าง กรมส่งเสริมการเกษตร จึงจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือสู่การพัฒนา ยืนเคียงข้างอยู่คู่กับเกษตรกร และประเทศไทยตลอดไป

เอกสารอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงค์ศักดิ์, เขียนบทความอย่างไรให้น่าอ่าน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ซัคเซสมีเดีย,    กรุงเทพฯ : 2547.

ณรงค์วิทย์ แสนทอง, กล้าเปลี่ยนแปลง, ซีเอ็ดยูเคชั่น, กรุงเทพฯ:2547.

ประสาร มฤคพิทักษ์, วิธีคิด วิธีทำงาน, พิมพ์ครั้งที่ 10, สำนักพิมพ์ศยาม, กรุงเทพฯ:2547.

วรภัทร์ ภู่เจริญ, องค์การแห่งการเรียนรู้ และการจัดการความรู้, อริยชน, กรุงเทพฯ:2548

วีรยุทธ  สมป่าสัก 25 / 11 / 48

หมายเลขบันทึก: 9850เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท