การดำเนินชีวิตตามวิถีพอเพียง


พอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวมากว่า 25 ปี   อันเป็นพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย   เพื่อให้คนไทยสามารถดำเนินชีวิตให้มีความสุขได้ในสังคมปัจจุบัน    ยิ่งประเทศประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจมากเท่าใด พระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากขึ้น   ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นประกอบด้วย 3 ห่วง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี  และ 2 เงื่อนไข ได้แก่ ความรอบรู้ คุณธรรม    โดยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนตามปัจจัยต่างๆ เช่น พฤติกรรมของบุคคล สภาพแวดล้อม รายรับ รายจ่ายและช่วงเวลาของแต่ละบุคคลหรือองค์กร เป็นต้น    ดังนั้นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ จึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวแน่นอน   แต่เป็นสิ่งที่บุคคลนั้นๆ รู้สึกถึงความเหมาะสมหรือความพอเพียงของตนเอง เช่น  เมื่อบุคคลมีความต้องการซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งาน   เราสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการเลือกชื้อได้   โดยคำนึงถึง 3 ห่วง ได้แก่ 1. ความพอประมาณ ไม่สุดโต่ง  เป็นการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ตามการใช้งานของตนเอง  คือ ไม่จำเป็นต้องซื้อคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งวางจำหน่ายและมีราคาแพง  โดยเราสามารถเปรียบเทียบกับการใช้งานของเรา รายรับ รายจ่ายและเงินสะสมที่มีอยู่  เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเงินที่เราสามารถใช้ได้  2. ความมีเหตุมีผล ใช้ในการช่วยตัดสินใจ แทนการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจอย่างปัจจุบันทันด่วน  เช่น คอมพิวเตอร์ที่เราสามารถใช้งานได้นั้น  อาจมีรูปลักษณ์ที่ไม่ทันสมัยหรือไฮเทค  แต่เมื่อเราเห็นเครื่องที่ดูดีกว่าทำให้เราต้องการซื้อเครื่องที่ดูไฮเทคกว่า มีราคาสูงกว่า  ซึ่งเราต้องพิจารณาด้วยเหตุผลของการใช้งานเป็นสำคัญในการเลือกซื้อ   3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดี  เป็นการมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ   โดยเฉพาะจากปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ที่อยู่นอกเหนือจากอิทธิพลของเรา เช่น การถูกออกจากงาน หรือ ปัญหาทางด้านการเงินต่างๆ   ซึ่งเมื่อเราเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ที่มีเหมาะกับการใช้งานและมีราคาที่เหมาะสม  ทำให้เราสามารถซื้อด้วยเงินสดหรือผ่อนจ่ายในอัตราที่ต่ำ   เมื่อเกิดปัญหาดังที่กล่าวมาจะมีผลกระทบต่อเราค่อนข้างน้อย    นอกจาก 3 ห่วงที่กล่าวข้างต้นยังมีอีก 2 เงื่อนไข ได้แก่ 1. คุณธรรม คือ ผู้ที่ตัดสินใจนั้น ควรตัดสินใจด้วยความซื่อสัตย์ ความเพียร ความอดทน เรียกว่า ไม่ทำอะไรแบบอยากได้ผลเร็วๆ  เช่น การซื้อคอมพิวเตอร์ของเรานั้น  บางครั้งอาจต้องอดทนสะสมเงินให้ได้จำนวนหนึ่ง  ก่อนตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อมาใช้งาน   2. ความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวัง  ไม่ใช่เป็นความรู้จากตำราหรือเอกสารเท่านั้น  แต่อาจเป็นความรู้ที่มาจากประสบการณ์  และอาศัยความรอบคอบ ระมัดระวังไปพร้อมๆ กัน  โดยการซื้อคอมพิวเตอร์นั้นเราควรต้องศึกษาถึงข้อดี ข้อด้อยของเครื่องแบบต่างๆ  โดยใช้เวลาในการศึกษาก่อนตัดสินใจซื้อ   ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่า เราสามารถใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในด้านต่างๆ ได้  เพียงแต่ยึดหลักการเดินทางสายกลาง อย่างมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยอาศัยความรู้คู่คุณธรรมเป็นสำคัญ 

บรรณานุกรม

คณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2548). เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : สำนักงานฯ.

มนตรี ฐิรโฆไท. (2549, ธันวาคม). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554). 7(87) 2.

วัชรินทร์ ตันทะชา. (2549, ธันวาคม). Sufficiency Economy วิถีสู่ความสำเร็จแบบยั่งยืน. นิตยสารเพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี. 2(25) 52-60.

สุเมธ ตันติเวชกุล. (2549?). สรุปการบรรยายพิเศษ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง”. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

http://www.sufficiencyeconomy.org

http://gotoknow.org/blog/thaieconomy/16474

คำสำคัญ (Tags): #พอเพียง
หมายเลขบันทึก: 98371เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ธรัลดีภัทร ธนัทรกิจกุล
เป็นบทความที่ดีมาก ถ้าได้ปรับใช้ในวิถีชีวิตของตนเอง ก็จะเกิดประโยชน์มาก
อ่านแล้วเข้าใจเกี่ยวกับปรัชาญาเศรษฐกิจพอเเพยงขึ้นนะครับ   จะลองใช้หลักการของในหลวงไปใช้กับการซื้อของบ้างครับ

เป็นแนวทางการศึกษาในสมัยใหม่ ในการดำเนินชีวิตควบคู่กับการเรียนรู้ที่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท